bloggang.com mainmenu search

updated: 23 ต.ค. 2556 เวลา 17:54:41 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คลังปิ๊งไอเดียจัดเก็บภาษีผู้มีทรัพย์มั่งคั่ง เสนอ "โต้ง" เก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า พร้อมปรับอัตราจัดเก็บใหม่ ของเดิมเก็บแค่ 0.5% ข้อเสนอให้เก็บเป็นอัตราภาษีแบบก้าวหน้า ยิ่งมีที่ดินมากยิ่งเสียภาษีมาก อสังหาฯขานรับ ชี้เป็นประโยชน์นำที่ดินมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างจัดเก็บภาษีโดยเน้นการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินมั่งคั่ง เป้าหมายเพื่อจัดทำงบประมาณสมดุลคือมีรายจ่ายและรายรับพอดีกันภายในปี 2560 ล่าสุดได้นำเสนอ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกครั้ง โดยจะแยกเฉพาะการจัดเก็บภาษี "ที่ดินรกร้างว่างเปล่า" บังคับใช้เป็นรูปธรรมก่อน จากเดิมที่จัดเก็บภาษีครอบคลุมทั้งที่ดินเปล่า กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สำหรับนิยามของที่ดินรกร้างว่างเปล่า แนวคิดเบื้องต้นอาจกำหนดว่าเป็นที่ดินใช้ประโยชน์ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ส่วนในรายละเอียดจะต้องหารือกันต่อไปว่า ลักษณะที่เข้าข่ายการใช้ประโยชน์มีอะไรบ้าง เช่น การปลูกพืชเกษตร ฯลฯ

ส่วนอัตราจัดเก็บภาษีในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เดิมกำหนดอัตราเริ่มต้น 0.5% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เบื้องต้นมีความเห็นว่าจะต้องทบทวนอัตราภาษีใหม่เนื่องจากจัดเก็บต่ำไป ข้อเสนอคือให้จัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า กล่าวคือยิ่งมีที่ดินรกร้างถือครองในมือมากเท่าใดก็ยิ่งเสียภาษีสูงมากเท่านั้น

ด้านนายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดเก็บภาษีที่ดินเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่า เนื่องจากจะทำให้เกิดการนำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์ทั้งในรูปแบบการขายหรือปล่อยเช่า ทำเป็นที่ดินการเกษตร หรือใช้สอยเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยืมใช้เป็นลานกีฬา หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น จึงเท่ากับเป็นการนำที่ดินรกร้างมาทำประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากอนาคตรัฐบาลจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้เจ้าของที่ดินที่ถือครองที่ดินไว้เป็นจำนวนมากต้องเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการใหม่ โดยนำที่ดินออกมาจำหน่ายหรือหาวิธีใช้ประโยชน์เพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งถือว่าเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์
Create Date :23 ตุลาคม 2556 Last Update :23 ตุลาคม 2556 19:47:43 น. Counter : 1651 Pageviews. Comments :0