bloggang.com mainmenu search
Mazda CX-5 2014 เป็นรถมาสด้ารุ่นแรกของไทย ที่มาพร้อมเทคโนโลยี 'สกายแอคทีฟ' ที่หลายคนต่างเฝ้ารอเพราะคาดหวังที่จะเห็นรถสมรรถนะเหนือกว่ารถในระดับเดียวกันและประหยัดเชื้อเพลิงเป็นเยี่ยม ซึ่งบอกได้เลยว่า CX-5 SkyActiv-G ทำได้ไม่ผิดหวัง!


     CX-5 SKYACTIV-G นั้น มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด ได้แก่ 2.0 ลิตร และ 2.5 ลิตร ซึ่งทั้งคู่มาพร้อมระบบ Direct Injection Spark Ignitions และวาล์วแปรผันคู่ Dual S-VT โดยเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุดที่ 165 แรงม้า และแรงบิดสูงสุดที่ 210 นิวตัน-เมตร ซึ่งเครื่องยนต์นี้มีจุดเด่นที่อัตราส่วนการอัดสูงถึง 14.0:1 ซึ่งทำให้มีแรงบิดเพิ่มขึ้น 15% ขณะที่ประหยัดน้ำมันขึ้น 15% ด้วยเช่นกัน

     ส่วนเครื่องยนต์ขนาด 2.5 ลิตร ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของรุ่นเบนซิน ให้กำลังสูงสุด 192 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุดถึง 256 นิวตัน-เมตร ที่ทางมาสด้าเคลมตัวเลขบริโภคน้ำมันไว้ที่ 15.2 กม./ลิตร

เริ่มออกเดินทาง

     เส้นทางที่เราใช้ในคาราวานทดสอบนี้ เป็นเส้นทางกรุงเทพฯ-กุยบุรี รวมระยะทางไปกลับร่วม 600 กิโลเมตร ที่ทางมาสด้าจัดให้ผ่านเส้นทางคดเคี้ยวเป็นบางช่วง เพื่อให้พวกเราได้ทดสอบสมรรถนะในแบบ Zoom-Zoom อันเลื่องชื่อของมาสด้านั่นเอง

     เริ่มต้นออกเดินทางจากโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์พาร์ค ผมถูกมอบหมายให้ทดสอบรุ่นเครื่องยนต์ขนาด 2.5 ลิตรก่อน สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือความโปร่งสบายของห้องโดยสาร ภายในสีดำให้ความรู้สึกสปอร์ต เบาะนั่งถูกออกแบบให้โอบกระชับ ช่วยไม่ให้ถูกเหวี่ยงขณะเข้าโค้ง การเก็บเสียงในความเร็วต่ำทำได้ดี ขณะที่ช่วงล่างให้ความรู้สึกแน่นกระชับ อาจไม่ถูกใจผู้ที่ถวิลหาความนุ่มนวลเสียเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความสนุกในการขับขี่ตามแบบฉบับมาสด้า ที่เพิ่มความมั่นใจในการเข้าโค้งได้เป็นอย่างดี

เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรน่าประทับใจสมการรอคอย

     ด้านอัตราเร่งของเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ทำได้อย่างน่าประทับใจ เข็มความเร็วสามารถตวัดจากศูนย์ไปยัง 100 กม./ชม.ได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คิดไว้ แม้จะไม่ได้เหยียบคันเร่งจมมิดก็ตาม จนผมมีความคิดแว่บขึ้นมาในหัวว่า 'เครื่องยนต์สกายแอคทีฟมันดีอย่างนี้นี่เอง!' การเปลี่ยนเกียร์เป็นไปอย่างนุ่มนวลจนแทบไม่รู้สึกถึงจังหวะการเปลี่ยนเลย

     ระบบช่วงล่างแม้ในเมืองอาจดูแข็งไปนิด แต่เมื่อต้องใช้ความเร็วระดับ 120-140 กม./ชม. กลับให้ความรู้สึกมั่นคง มั่นใจ ด้วยสไตล์แน่นหนึบ พวงมาลัยไฟฟ้าที่ความเร็วสูงอาจน้ำหนักเบาไปนิด แต่ก็ยังนิ่งอยู่จนไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

     ส่วนระบบเบรค แป้นเบรคถูกเซ็ทมาลึกกว่ารถญี่ปุ่นทั่วไป ทำให้ต้องเหยียบลงไปมากกว่าปกติ ทำให้สามารถชะลอความเร็วรถได้นิ่มและเนียน ขณะที่เมื่อต้องเบรคกระทันหัน ก็ทำได้อย่างมั่น่ใจ
ช่วงล่างเยี่ยม เข้าโค้งได้เนียนพอกับรถเก๋ง

เข้าโค้งสนุก เกาะถนนแน่น-หนึบ มั่นใจสไตล์เก๋ง

     เมื่อคาราวานมุ่งหน้าเข้าสู่ถนนสายรองที่มีโค้งให้เล่นมากมายนั้น ช่วงล่างของ CX-5 ให้ความกระชับเวลาเข้าโค้งได้ดีมาก แม้จะเป็นรถ SUV ที่มีตัวถังสูง แต่ก็มีอาการโยนน้อยมากๆ จนแทบใกล้เคียงกับรถเก๋งเลยทีเดียว ซึ่งมีรถ SUV ในเมืองไทยเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น ที่สามารถเข้าโค้งได้นิ่งและเนียนขนาดนี้ โดยในรุ่น 2.5 ลิตร มีแก้มยางค่อนข้างเตี้ย เนื่องจากใช้ล้ออัลลอยขนาด 19 นิ้ว พร้อมกับยางขนาด 225/55 ทำให้รู้สึกถึงความกระด้างบ้าง เมื่อต้องวิ่งผ่านบรรดาลูกรังบนถนน  ในขณะที่รุ่น 2.0 ลิตร ที่ใช้ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ที่มาพร้อมกับยางขนาด 225/65 จะให้ความรู้สึกนุ่มนวลมากกว่าเล็กน้อย แม้ช่วงล่างทั้งสองรุ่นจะถูกเซ็ทมาแบบเดียวกันก็ตาม

ลองเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ไม่รีบร้อนอะไรก็ไหวอยู่

     ขากลับกทม. ผมจึงได้มีโอกาสทดลองขับ CX-5 SKYACTIV-G รหัสรุ่น 'S' ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตรบ้าง ซึ่งอัตราเร่งด้อยกว่ารุ่น 2.5 ลิตรพอควร ไม่พุ่งปรู๊ดปร๊าดอย่างที่รุ่นใหญ่ทำได้ เมื่อเติมคันเร่งเพื่อเร่งแซงนั้น สมองกลเกียร์ต้องปรับเกียร์ต่ำลง 1 จังหวะแทบทุกครั้งเพื่อรีดกำลังออกมาใช้งาน แต่หากคุณผู้อ่านไม่ใช่คนรีบร้อนใจเร็วสักเท่าใหร่ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรก็เพียงพอกับการใช้งานประจำวันแล้ว เพราะเมื่อเดินทางเข้าสู่การจราจรอันคับคั่งในกรุงเทพฯ กลับไม่รู้สึกว่ามีปัญหาเรื่องพละกำลังเลย อัตราเร่งตีนต้นที่เรียกมาได้ค่อนข้างเร็ว สามารถซอกแซกไปตามการจราจรได้อย่างกระฉับกระเฉงผิดกับเมื่อวิ่งทางไกล

อัดอ็อพชั่นแน่นเอี๊ยดตั้งแต่รุ่นล่างสุด

     จุดเด่นของ CX-5 SKYACTIV-G นั้น นอกจากจะเป็นเรื่องของสมรรถนะและรูปร่างหน้าตาแล้ว อ็อพชั่นที่ให้มาเรียกว่าคุ้มค่าเงินมากทีเดียว เพราะมีตั้งแต่เบาะคนขับปรับไฟฟ้า, ระบบปรับอากาศ Dual-zone, กุญแจอัจฉริยะพร้อมปุ่มสตาร์ท, ระบบควบคุมความเร็วคงที่, เครื่องเสียงที่มาพร้อมหน้าจอขนาด 5.8 นิ้ว ต่อ AUX, USB และ Bluetooth ได้, ระบบเสียงเซอร์ราวด์จาก BOSE พร้อมลำโพง 9 จุด, ถุงลมและม่านนิรภัยรวม 6 ลูก, ไฟหน้าปรับตามองศาการเลี้ยว AFS, กล้องมองหลัง, ระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบช่วยออกตัวทางชัน HLA, ระบบเตือนความดันลมยาง และอีกมากมาย ซึ่งที่ว่ามาเกือบทั้งหมดมีให้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นเลยทีเดียว

บทสรุป Mazda CX-5 SKYACTIV-G เครื่องยนต์ 2.5 และ 2.0 ลิตร

     ชื่อเสียงของเทคโนโลยี SKYACTIV ทำให้ปัจจุบันมียอดจองไปแล้วกว่า 3,000 คัน กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของ CX-5 เป็นผู้ที่ชื่นชอบในสมรรถนะตัวรถมากกว่าชื่อเสียงของแบรนด์ เพราะกว่า 45% ของยอดส่งมอบทั้งหมดเป็นรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล

     มาสด้าสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยเทคโนโลยี SKYACTIV ได้ และทำได้ดีเสียด้วย  หากต้องการสัมผัสพลังอันโดดเด่นของ SKYACTIV-G แนะนำให้เล่นรุ่น 2.5 S ไปเลย เพราะคุณจะได้อรรถรสการขับขี่ดีเยี่ยมทั้งจากเครื่องยนต์และช่วงล่าง ที่เหนือกว่ารถ SUV ในระดับเดียวกัน ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เหมาะสำหรับขับขี่แบบสบายๆ เน้นการใช้งานในเมืองเป็นหลัก แต่ก็คุ้มค่าด้วยอ็อพชั่นที่แทบไม่เป็นรองรุ่นท็อปเลย

     ผู้เขียนอยากให้คุณผู้อ่านลองขับ CX-5 ใหม่ด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจ เพราะความยอดเยี่ยมของ SKYACTIV ต้องลองเองถึงจะรู้!


//auto.sanook.com/

Create Date :06 มกราคม 2557 Last Update :6 มกราคม 2557 21:33:36 น. Counter : 2788 Pageviews. Comments :0