bloggang.com mainmenu search













เป็นครั้งแรกที่ส่งโจทย์ตะพาบเข้าประกวด  แล้วก็ได้เข้ารอบมาในหลัก กม.ที่ 152


เพื่อน ๆ คงจะคาดเดาว่ารอยร้าวของเจ้าของโจทย์  น่าจะอกหักรักคุดใช่มั๊ยล่ะ
ม่ายยยยยช่ายยยยย 
เพราะวันนี้เราจะเอาความรู้เรื่องรอยร้าวของบ้านมาแบ่งปันจ้ะ


รอยร้าวที่เกิดขึ้นภายในบ้าน เป็นอะไรที่เจ้าของบ้านทุกคนเห็นแล้วเครียด
แถมยังสั่นคลอนขวัญเจ้าของบ้านได้ทุกครั้งที่เห็น  ที่ต้องมาลุ้นว่าบ้านจะทรุด
พัง ถล่มลงมาอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวมาแล้วหรือไม่  
หรือจะเป็นเพียงร้อยร้าวที่เพียงแค่ทำให้บ้านเราสวยน้อยลงแต่ไม่เป็นปัญหากับตัวโครงสร้าง


"ไม่มีบ้านหลังไหนในเมืองไทยไม่มีรอยร้าว"

เป็นคำกล่าวที่ อ.ยอดเยี่ยมพูดถึงไว้ในหนังสือ  “3 ร้อยพันบริหาร จากอีเมลล์ของยอดเยี่ยม”
ในหนังสืออาจารย์ได้พูดถึงรอยร้าว ๖ ประเภท 
โดยกล่าวถึงสาเหตุและเสนอวิธีแก้ปัญหาของรอยร้าวที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวบ้าน


1. รอยร้าวกลางคาน มักจะเกิดจากอะไร อันตรายถึงชีวิตหรือไม่  
รอยร้าวที่กลางคาน ที่เป็นรอยร้าวอันเกิดขึ้นจากคอนกรีต ไม่ใช่ปูนฉาบที่มีรอยร้าวเป็นแนวตั้ง 
ตั้งฉากกับแนวนอนของคานที่ตรงกลางของคาน หากร้าวมากหน่อยจะเห็นเป็นรอยร้าวที่ด้านใต้คาน 
จะกว้าง (อ้า) มากกว่าตอนช่วงบนของคาน


อาการแบบนี้แสดงว่า คานตัวนั้นต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จึงเกิดการแอ่นตัวลงมาเป็นแนวโค้ง 

พอแอ่นตัวก็จะทำให้คอนกรีตแตกแยกออกเป็นรอยที่เห็น

สิ่งที่น่าจะทำแรกสุดก็คือขึ้นไปดูข้างบนว่าตรงบริเวณของคานตัวนั้น เราวางอะไรหนัก ๆ ทับเอาไว้หรือไม่ 

หากวางของหนักเอาไว้ ก็ต้องรีบเอาน้ำหนักนั้นออกโดยเร็วและคานจะมีโอกาสกลับเข้าที่เดิมได้บ้าง 

แต่หากสำรวจแล้ว ไม่มีน้ำหนักอะไรวางไว้เป็นกรณีพิเศษเลย ก็แสดงว่าคานตัวนั้น

อาจจะรับน้ำหนักของระบบโครงสร้างของตัวเองก็ยังไม่ได้ 

ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่การใช้งานของเรา ต้องมีการตรวจสอบโดยผู้รู้ต่อไป

ปัญหาการผิดปกติของโครงสร้างนี้ เป็นสาเหตุเริ่มต้นของอาคารวิบัติ กรุณาอย่านิ่งนอนใจ 

ต้องปรึกษากับวิศวกรโครงสร้างเสมอ เพื่อประโยชน์สุขของตัวเราเอง



2.  รอยร้าวเฉียงๆ ที่ผนังจากมุมล่างซ้ายไปมุมขวาบน (หรือกลับกัน) 

รอยร้าวแบบนี้แสดงว่าโครงสร้างมีการบิดตัว มักจะเกิดเพราะเสาของบ้านเรามีการทรุดตัวที่แตกต่างกัน 

และคานที่รัดเสาก็พยุงเสาเอาไว้ให้อยู่ในระนาบเดียวกันไม้ได้

อาจจะเป็นเสาซ้ายมือทรุดตัวมากกว่าเสาขวามือ หรือเสาขวามือทรุดตัวลงมากกว่าเสาซ้ายมือก็ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ เสาที่ทรุดลงก็พยายามจะดึงโครงสร้างอื่นให้ตามลงไป ส่วนโครงสร้างอื่น

ก็ไม่ค่อยจะยอมตามไปง่ายๆ ผนังซึ่งเป็นตัวกลางของการชักเย่ออยู่ก็เลยทนไม่ไหว เกิดอาการแตกร้าวขึ้น



การแตกร้าวแบบนี้ หากเป็นรอยเพียงเล็กๆ สั้นๆ ก็ยังไม่เป็นไร แต่ต้องเอาดินสอขีดกาเอาไว้ (พร้อมลงวันที่) 

เพื่อบันทึกว่าจะมีการแตกร้าวขยายตัว (ทั้งทางยาวและทางกว้าง) หรือไม่ หากการแตกร้าวนั้นหยุดตัวไม่ขยายออกไป 

ก็ไม่เป็นอันตรายอะไรนักหนา แต่ถ้าหากว่ารอยแตกร้าวนั้นมีอาการลามตัวอย่างรวดเร็ว 

และเป็นรอยที่กว้างและยาว (บางครั้งจะเห็นอิฐของผนังโผล่ออกมาเป็นก้อนเชียว) 

ก็แสดงว่าอาคารบ้านเรือนของเรา ป่วยเป็นไข้ไม่เบาแล้ว รีบไปปรึกษาหาทางแก้ไขกับวิศวกรโครงสร้างดีกว่า

การป่วยไข้ของงานโครงสร้าง หรือการมีพฤติกรรมไม่ปกติของตัวบ้านของเรา 

เราต้องอย่าพยายามเอาอะไรไปปกปิดร่อยรอยเหล่านั้น เพราะไม่ได้ช่วยให้เกิดความปลอดภัยขึ้น



3.  เห็นรอยร้าวที่หัวเสา ต้องรีบไปทำประกันชีวิต
รอยร้าวที่นับว่าเป็นอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในบ้านของเราก็คือ รอยร้าวลักษณะเฉียงๆ ที่หัวเสา 
ตรงส่วนที่คานไปติดกับเสาทั้งสองด้าน
อาจจะเป็นรอยเฉียงๆที่ปลายคานหรือที่หัวเสาเลยก็ได้




อาการแบบนี้ แสดงว่าโครงสร้างของอาคาร (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ในแต่ละส่วนกำลังแยกออกจากกัน 

แยกกันทำงาน ไม่เชื่อมประสานกัน

คานและเสาซึ่งเคยถักทอเป็นโครงสร้างใหญ่ กำลังแยกออกจากกัน ต่างคนต่างอยู่ 

อาคารวิบัติที่ถล่มลงมา มักเกิดอาการเช่นนี้ให้เห็นก่อนเสมอ

เมื่อคานโครงสร้างตัวนั้น (ตัวที่มีรอยออกจากหัวเสา) ไม่สามารถจะรับน้ำหนักได้ เกิดแรงเฉือนขึ้น 

และคานอาจจะหลุดออกจากหัวเสา ครั้นเมื่อคานหลุดออกจากหัวเสา ระบบโครงสร้างก็วิบัติ 

อาจจะทำให้อาคารทั้งหลังพังราบลงมานอนกับพื้น และอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเราหนีออกจากบ้านไม่ทัน

หากเราเห็นอาการร้าวแบบนี้แล้ว มีสองทางเลือกสำหรับเรา 

ทางเลือกแรกก็คือ รีบวิ่งไปติดต่อกับบริษัทประกันชีวิตไว้ เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังต้องลำบากเรื่องทรัพย์สิน 

หรือทางเลือกที่สองก็คือ รีบไปปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง ให้ท่านมาตรวจอาการให้คำแนะนำและแก้ไขอย่างทันท่วงที



4.  ร้าวแตกเป็นลายยังกับชามสังคโลก อันตรายแค่ไหน
ส่วนใหญ่อาการนี้มักจะเกิดตามผนังฉาบปูน รอยแตกร้าวจะกระจายเต็มไปหมด
รอยแตกร้าวแบบนี้ส่วนใหญ์จะไม่มีอันตราย แต่มักจะทำอารมณ์เสียเพราะความไม่น่าดู 
หรืออาจจะเป็นตัวเชื้อเชิญน้ำให้ซึมผ่านหนังนอกบ้านให้เข้ามาในตัวบ้านเราได้


ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดเพราะปูนฉาบคุณภาพไม่ดี หรือช่างฉาบปูนไม่มีความชำนาญ 

หรือเร่งฉาบปูนเกินไปเมื่อก่ออิฐเพิ่งเสร็จ (และปูนสอก้อนอิฐยังไม่เซ็ทตัว)

ลองเคาะดูที่ผิวปูนฉาบนั้น หากมีเสียงเป็นโพรงแสดงว่า ปูนฉาบไม่เกาะกับผนังและพร้อมที่จะหลุดร่วงลงมา 

หากเกิดปัญหานี้อย่าเอาปูนซีเมนต์ไปอุดรอยหรือไล้บางๆเด็ดขาด เพราะเจ้าปูนก็จะหลุดร่วงลงมาอีก 

ต้องทำการสกัดผิวปูนฉาบเดิมออกแล้วฉาบปูนใหม่ทับลงไป แต่หากเคาะแล้ว ไม่มีเสียงโปร่ง ๆ ยังคงเป็นเสียงทึบ ๆ 

แสดงว่าเจ้าปูนฉาบยังเกาะกับผิวผนังดีอยู่ ไม่หลุดออกจากกัน รอยแตกร้าวนั้นน่าจะเป็นรอยแตกร้าว

เพียงที่ผิวของปูนฉาบเท่านั้น การที่เราจะไปทุบปูนฉาบเดิมออกแล้วฉาบใหม่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยาก 

ก็อาจจะแก้ไขกันที่ปลายเหตุได้ด้วยการทาสีใหม่ทับลงไป โดยให้ช่างสีโป๊ว ให้เรียบร้อยก่อน อาการเหล่านี้ก็จะดียิ่งขึ้น



5.  รอยร้าวเฉียงๆ ที่มุมวงกบประตู
รอยร้าวที่มักจะเกิดที่มุมวงกบประตูหน้าต่างเป็นรอยเฉียงๆ พุ่งออกไปจากมุมของวงกบ 
บางทีก็มีสองมุม บางครั้งก็มีครบทั้งสี่มุมเลย



อาการแบบนี้มักไม่มีอันตรายอะไร แต่จะเป็นจุดที่เชื้อเชิญน้้ำอันไม่พึงประสงค์เข้ามาในบ้าน

ดูไม่สวยงาม และหากแตกมากๆ ก็จะเกิดอาการวงกบบิดตัวบานประตู หน้าต่างตก 

จะปิดจะเปิดประตูหน้าต่างแต่ละครั้ง ไม่ลื่นคล่องมือ อย่างที่เคยเป็น

วิธีการป้องกันเหตุไม่ให้เกิดก็คือ ต้องทำเสาเอ็นทับหลังให้ถูกต้อง 

การฉาบปูนจะต้องได้คุณภาพทั้ง วัสดุผสมและความหนา

แต่หากเหตุเกิดขึ้นแล้วแต่เป็นรอยไม่ใหญ่นัก ก็อาจจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการเอาวัสดุยาร่อง 

ที่ยืดหยุ่นได้ไปฉีดอัดเสีย (เช่น พวกซิลิโคน หรืออะคริลิค) หากรอยนั้นใหญ่พอประมาณแล้ว 

ก็อาจจะต้องสกัดรอยแตกนั้น แล้วอุดยาด้วยวัสดุที่ไม่หดตัว เช่น ปูนซีเมนต์พิเศษชนิดไม่ยืดหดตัว (Non Shrink Cement) 

อุดไว้แล้วฉาบปูนใหม่ (อย่าใช้ปูนทรายธรรมดา เพราะเมื่อแห้งแล้วจะมีการหดตัว ทำให้เกิดร่องของการแตกร้าวได้อีก



6.   ไม่เข้าใจบางพลี-ดอนเมือง ร้าวจนพัง สร้างบ้านเหมือนกันที่บางพลีและดอนเมือง ใช้เข็มยาวเท่ากัน ??

การที่เราตอก (หรือเจาะ) เสาเข็ม ก็เพื่อให้เสาเข็มนั้นช่วยรับน้ำหนักของบ้านเสาเข็มนั้นรับน้ำหนักได้ 

ก็เพราะตรงผิวของเข็มนั้นมีแรงฝืดที่เสียดทานกับดินรอบๆ ตัวเข็ม แต่ถ้าหากเป็นเข็มที่มีความยาวมากหน่อย 

ปลายเข็มก็จะไปนั่งอยู่บนชั้นทรายหรือชั้นดินแข็ง ทำให้เข็มนอกจากจะรับน้ำหนักได้ด้วยแรงผืดแล้ว 

ยังมีการถ่ายน้ำหนักไปที่ชั้นทรายด้วย จึงทำให้เข็มยาวๆ สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น

แต่การพิจารณาการรับน้ำหนักของเสาเข็ม จะพิจารณาเฉพาะขนาดหรือความยาวของเสาเข็มไม่ได้ 

ต้องพิจารณาถึงสภาพของดินที่จะทำการก่อสร้างนั้นด้วย


ในกรณีของบางพลีและดอนเมืองนั้น ต้องพิจารณาคำไทยโบราณคงพอได้ความรู้สึกว่า “ดอน” 
จะเป็นพื้นที่ที่เป็นดอน ไม่ค่อยมีน้ำหรือดินเหลวๆ แต่ประเภท “หนอง” หรือ “บาง” จะเป็นที่มีน้ำ หรืออยู่ติดน้ำ 
ทำให้ลักษณะดินพื้นฐานจะมีความแตกต่างกัน โดยข้อมูลที่บันทึกเอาไว้จะพบว่า
 ดอนเมืองจะมีดินที่รับน้ำหนักได้มากกว่าบางพลี เพราะมีดินที่แน่นกว่า อีกทั้งชั้นทรายหรือดินแข็ง 
ของดอนเมืองก็จะอยู่ตื้นกว่าบางพลี ทำให้เข็มขนาดเดียวกันที่เหมาะสมกับการรับน้ำหนักที่ดอนเมือง 
จะไม่เพียงพอหากไปก่อสร้างที่บางพลี เพราะลักษณะดินที่บางพลีรับน้ำหนักสู้ดอนเมืองไม่ได้ 
(บางพลีต้องการเข็มที่ยาวกว่า) มิฉะนั้นจะเกิดการ “แตกร้าว” หรือเกิด “อาคารวิบัติ” ได้โดยไม่รู้ตัว



ขอบคุณอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพทรานนท์ 
ที่อนุญาตให้นำบทความมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณชนค่ะ



Create Date :06 เมษายน 2559 Last Update :20 เมษายน 2559 20:59:02 น. Counter : 1775 Pageviews. Comments :28