bloggang.com mainmenu search


ราชนิเกลิง (ออกเสียง ราด-นิ-เกลิง) หรือ รานิเกลิง ถึงชื่อจะไม่คุ้นหูคนทั่วไป แต่ถ้าได้ยินเมื่อไหร่คนไทยทั้งประเทศจะรู้จักอย่างแน่นอน เพราะมันก็คือกลอนลิเก หรือเพลงลิเก ที่ถูกเอามาใช้จนคุ้นหู เตร๊ง เตรง เตร่ง เตร๊ง.... นั่นเอง

รานิเกลิงถูกนำเอามาใช้โดยทั่วไปในเพลงลูกทุ่งตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เพราะเป็นศิลปะแขนงที่อยู่ใกล้ชิดกันมาก และเพลงลูกทุ่งก็วิวัฒนาการมาจากลิเกด้วยส่วนหนึ่ง
เราจะได้ยิน หรือได้เห็นการใช้งานรานิเกลิงได้ในการแสดงลิเก โดยเฉพาะท่อนขึ้นเปิดเรื่อง เปิดตัวพระเอกนางเอก ที่จะชัดที่สุด ส่วนท่อนร้องท่อนอื่นอาจจะมีการดัดแปลงทำนองไปบ้าง

ถือกันว่าเพลงราชนิเกลิงเป็นกลอนลิเกที่ "ดอกดิน เสือสง่า" ศิลปินลิเกสมัย ร.6 เป็นผู้คิดค้นขึ้น โดยนำทำนองเพลงมอญครวญมาดัดแปลง ต่อมา "หอมหวน นาคศิริ” ได้ปรับปรุงดัดแปลงวิธีการร้องใหม่ โดยใช้กลอนแบบลำตัดเข้าผสม คือลงสัมผัสด้วยสระและตัวสะกดเหมือนกันตลอดทุกท่อน ทำให้ร้องด้นต่อไปได้ง่าย มีคำให้ใช้หลายคำ (โดยเฉพาะลงท้ายสระอา อี ไอ ที่เรียกว่ากลอนลา กลอนลี และกลอนไลมีคำในภาษาไทยเยอะมาก) แล้วค่อยจบลงให้ ปี่พาทย์รับ ทำให้น่าฟัง และบรรยายความได้มากขึ้น

ศิษย์สายตรงที่โด่งดังของ ดอกดิน เสือสง่า ได้แก่ หอมหวล นาคศิริ (ในรูปประกอบ) ที่เป็นต้นกำเนิดลิเกตระกูล ศิษย์หอมหวล และหลานหอมหวล ทั้งปวง รวมทั้งตลกตระกูล "เชิญยิ้ม" และตลกสายลูกทุ่ง/ลิเก ทั้งหมดด้วย

ผมขอยกตัวอย่างเพลงราชนิเกลิงจากลิเกคณะ "ศรราม-น้ำเพชร” คณะลิเกที่ดังที่สุดในยุคนี้ พ.ศ.นี้
จากลิเกเด็กเงินล้าน กลายมาเป็นลิเกวัยรุ่นร้อยล้าน มีงานแสดงแทบทุกวันจากวันนี้ไปจนอีก 5 ปีข้างหน้า
เรียกได้ว่า จะจัดลิเกศรรามน้ำเพชรมาแก้บนเจ้าแม่ไทรทองที่บนไว้ต
อนลูกช้างสอบเข้าเภสัชฯ เจ้าแม่ก็ต้องรอคิวลิเกกันจนถึงวันที่ไอ้ลูกช้างรับปริญญานั่นเทียวกว่าจะได้ดูลิเก

ราชนิเกลิงชัดที่สุดที่ท่อนเปิดตัวพระเอก ที่เวลาประมาณ 3:20 - 8:25



ส่วน เพลงลูกทุ่งทำนองราชนิเกลิงที่ดังที่สุดในยุคต้น ต้องยกให้เพลงนี้เลยครับ
เพลง "ลิเกชีวิต" ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย "ไพบูลย์ บุตรขัน” ต้นฉบับขับร้องโดย "ปรีชา บุณยเกียรติ” และ "ศิริ คุ้มอยู่” เมื่อปี พ.ศ.2497


ประโยคที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเพลงคือ "คนอื่นเข้ามาใต้ดิน จะอดกินไข่แดง" จนทำให้คำว่า “ไข่แดง” ไม่ได้แปลว่าไข่แดงแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
แต่คำอื่นที่น่าสนใจของเพลงนี้ ผมสนใจคำว่า "ใหม่ยังเอนโอนคว้า” น่าสนใจตรงที่ใช้คำ 5 คำแทนประโยคยาวได้ ว่ารักกันใหม่ๆ ก็ยังอยากอยู่ใกล้ชิดกันเอาอกเอาใจ อะไรๆ ก็ดีไปหมด
กับคำว่า “บ้านตาย” ที่หมายถึงบ้านที่จะอยู่ไปจนวันตาย เป็นครั้งเดียวที่ผมเห็นมีคนใช้คำนี้ไม่ใช้คำว่า “เรือนตาย” แบบในบทประพันธ์อื่น




ในยุคต่อมา มีเพลงทำนองราชนิเกลิงที่ดังสุดขีดเหมือนกัน ท่อนราชนิเกลิงนี้ "ไพรวัลย์ ลูกเพชร” จำมาจากการแสดงลิเก และนำเอาท่อนนี้มาร้องให้นายวง สุรพล สมบัติเจริญ ฟังตอนทดสอบเสียง สุรพล จึงเอามารวมแต่งเป็นเพลงใหม่ แล้วให้ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ขับร้อง 
ผมค้นไม่เ
จอว่านำมาจากคณะไหน หรือใครแต่ง แต่ภาษาของท่อนนี้มันเพราะจริงๆ “ช่างเหน็บแนมแกมประชด อรุณเอ๋ยแบบบท ของแม่ช่างหยดช่างย้อย....” บวกกับการแต่งเนื้อร้องและทำนองที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้วของ สุรพล สมบัติเจริญ

เพลง “คำเตือนของพี่” คือเพลงแจ้งเกิดให้ ไพรวัลย์ ลูกเพชร กลายเป็นที่รู้จักในวงการลูกทุ่ง



เพลงลูกทุ่งทำนองราชนิเกลิงที่เพราะมากอีกเพลงหนึ่งได้แก่เพลง "มือพี่มีพลัง” ผลงานประพันธ์ของไพบูลย์ บุตรขัน เสียงร้องต้นฉบับโดย ปรีชา บุณยเกียรติ 
เพลงนี้เพราะกว่าลิเกชีวิต และปรีชาร้องท่อนราชนิเกลิงได้ดีกว่าทุกเพลงของเขาเอง และน่าจะเป็นเพลงราชนิเกลิงที่ดีที่สุดของครูไพบูลย์ด้วย





ปิดท้ายด้วย “ดาวลูกไก่” น่าจะเป็นราชนิเกลิงแบบลิเกแท้ๆ ไม่ออกแนวเพลงลูกทุ่งสากล ที่ดังที่สุดแล้ว รองลงมาคือ “ริมไกลลาศ” เป็นผลงานของ "พร ภิรมย์” หนึ่งในอัจฉริยะ ของวงการเพลงลูกทุ่ง และน่าจะเป็นคนเดียวในยุคต้นที่เป็นพระเอกลิเกมาก่อน และเป็นคนเดียวที่แต่งเอง ร้องเองเสียด้วย


Create Date :24 กรกฎาคม 2557 Last Update :24 กรกฎาคม 2557 13:52:43 น. Counter : 9467 Pageviews. Comments :0