bloggang.com mainmenu search

ในวันที่ร้อนๆแบบนี้ หลังจากเจอเรื่องแย่ๆมาหลายวัน การไปอ่านหนังสือที่ค้างคาอยู่ในหัวอาจจะถือเป็นเรื่องที่ดี
เริ่มอ่าน 1Q84 มาตั้งแต่เดือนที่แล้วเห็นจะได้ 

ออกตัวก่อนเลยว่า ไม่เคยอ่านผลงานของมุราคามิมาก่อนเลย เคยเปิดๆ Norwegain Wood ดูอยู่บ้าง แต่เนื้อหาก็ไม่หลงเหลืออยู่ในความทรงจำแล้ว อาจจะเด็กเกินไปที่จะเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ มีคนบอกว่า 1Q84 เป็นตัวเลือกที่ดีในการเริ่มที่จะอ่านงานของมุราคามิ พอเมื่ออ่านไปแล้วก็สงสัยอยู่ ครั้งแรกอ่านได้เพียงร้อยกว่าหน้านิดๆเท่านั้น แต่ภาพของอาโอมาเมะขณะเดินลงบันไดฉุกเฉินของทางหลวงยังคงตราตรึงจนต้องไปหาอ่านต่อ


1Q84 มีวิธีการเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ คือสลับตัวละครสองตัวไปมา ระหว่างเท็งโกะ และ อาโอมาเมะ รวมถึงมีการพูดเรื่องเซกซ์ชนิดไม่ออมมือ เห็นภาพชัดเจน แบบที่ดูออกว่า คนเขียนเรื่องนี้เป็นผู้ชายแน่นอน ...จริงๆแล้วมันเป็นนิสัยส่วนตัวของเราที่อยากรู้ว่าคนเขียนนิยายเรื่องนั้นๆมีมุมมองแบบไหนต่อเพศ ความจริงเราคิดว่าทุกคนต้องมีแน่ๆ ไม่อันใดก็อันหนึ่งหรืออาจจะทั้งสองอัน อย่างเช่นเรารู้สึกถึงความนิยม strong female lead จากนิยายของทมยันตีอย่างชัดเจน แล้วก็รู้สึกถึงมุมมองทางการเมืองที่ค่อนข้างชัดเจนอีกด้วย(แต่เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ในที่นี้ เห็นพูดทีไร ดราม่ากันทุกที) หรือกับการ์ตูนญี่ปุ่น ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าสำหรับผู้หญิงหรือผู้ชาย (อันนี้ค่อนข้างแตกต่างชัดเจนอ่ะเนอะ) แต่กับงานของมุราคามิเรารู้สึกได้ถึงความเป็นผู้ชายในทุกๆส่วนของงานเขียน 

อ้อ...ตอนที่เขียนนี่เราอ่านแค่เล่มหนึ่งเท่านั้นนะ
เราเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของมุราคามิ เค้าบอกว่า นิยายของเค้ามักเป็นเรื่องราวความรักประหลาดๆ ซึ่งเราว่าก็จริง ณ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่า 1Q84 เป็นหนังสือที่สนุกสำหรับเราหรือเปล่า แต่มันแปลกใหม่สำหรับเรา อันนั้นแน่นอน และสร้างความสงสัยติดใจ ให้เราอยากรู้ จนจบเล่มหนึ่งเรารู้ว่า อาโอมาเมะรักเทงโกะมานาน และลัทธิคลั่งศาสนาประหลาดๆอันนึงกำลังจะชักนำทั้งสองมาหากัน(หรือเปล่า) ไม่แน่ใจ

อย่างที่บอกว่า ฉากอาโอมาเมะ เดินลงจากบันไดฉุกเฉิน ขณะมีซิมโฟนิเอตต้าของยานาเชค บรรเลงกระหึ่มอยู่ในสมอง นั้นติดตราตรึงใจเรามาก ไม่รู้เพราะอะไร คาดว่าก็คงติดตาใครหลายๆคนเหมือนกันนะ เราไม่ได้อ่านเรื่องย่อไปเลย เพราะฉะนั้นทิศทางการเดินเรื่องของอาโอมาเมะจึงประหลาดสำหรับเรามาก อาโอมาเมะบอกว่าอายูมิไม่เหมือนตำรวจเลย สำหรับอาโอมาเมะเราว่าก็ไม่เหมือนนักฆ่ามืออาชีพเช่นกัน จริงๆแล้วความคิดเรื่องอาชีพของอาโอมาเมะไม่เคยผ่านหัวสมองของเราเลย จนกระทั่งเธอแสดงให้เราดูเอง และการทารุณกรรม หรือข่มขืน คนในครอบครัวก็เป็นประเด็นหนักๆที่เราไม่คิดว่าจะมีเช่นกัน เป็นประเด็นหนักๆในเต็มไปด้วยความ Realistic ที่ไม่เข้ากันเลยกับ พระจันทร์สองดวง ลิตเติลพีเพิล หรือ โลกคู่ขนาน 1Q84 ที่สุดแสนจะ Surreal


ลัทธิประหลาดในหนังสือที่ผันตัวเองจากการทำเกษตรอินทรีย์ ไปเป็นลัทธิประหลาดที่มีการข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่าสิบขวบ! เป็นเรื่องน่าสนใจ และทำให้เรานึกถึงโอมชินรีเกียวที่เคยรมแก๊สคนในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของญี่ปุ่น จนกระทั่งจบเล่มหนึ่งเราก็ยังเดาทางต่อไปไม่ได้ และไม่คิดจะฟันธงอะไรทั้งสิ้น เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องนี้เป็นแฟนตาซีจริงๆ หรือเป็นเรื่องคิดเองเออเองของอาโอมาเมะและเทงโกะ

การบรรยายความมีเอกลักษณ์ อย่างที่นักเขียนไทยไม่นิยมเขียนแบบนั้น อย่างน้อยก็ที่เราอ่านผ่านตามา อาจจะบอกได้ว่ามีกลิ่นอายของนิยายแปลฝรั่ง แต่ก็นั่นอีกล่ะ เราไม่เคยอ่านงานวรรณกรรมญี่ปุ่นอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวรรณกรรมสมัยใหม่หรือร่วมสมัย หรือจะสมัยไหนๆของญี่ปุ่นมีลักษณะไหน

ตัวละครของอาโอมาเมะเป็นตัวละครที่เราพยายามทำความเข้าใจ เราว่านี่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเรื่อง คือ การแสดงออกของตัวละคร ความรู้สึกของเขา อดีตของเขา เรารับรู้อย่างเต็มที่ แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่เข้าใจเขาอย่างเต็มที่นั่นเอง

แต่ในด้านของเทงโกะ เรารู้สึกได้ว่าเสียดสีวงการวรรณกรรมอยู่มาก ทั้งการประกวดนักเขียนหน้าใหม่ บุคลิกของคนในวงการวรรณกรรม แนวคิดของโคมัทสึที่ทั้งรักทั้งชิงชังวงการนี้ อ้อ ตัวละครฝั่งเทงโกะที่เราถูกใจก็คือ ฟุคาเอริ เธอเป็นตัวละครที่เราพยายามจินตนาการไม่แพ้อาโอมาเมะ เราได้ยินเสียงสั้นๆเนิบๆ พูดไม่ครบประโยคแต่มีแต่ใจความสำคัญของเธอ เราว่าเธอเป็นตัวละครที่มีสปอตไลท์ส่องอยู่ตลอดเวลาที่พูดถึง

อีกอย่างคือเรานึกไม่ออกเลยว่า หนังสือเรื่องนี้ถ้าสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว จะออกมาได้รูปแบบใด เราว่ามันคงให้อารมณ์ประมาณ All about Lily Chou Chou ประเภท ถึงจะยังไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ว่าหยุดไม่ได้

Create Date :21 มีนาคม 2556 Last Update :16 มีนาคม 2565 23:48:56 น. Counter : 4973 Pageviews. Comments :2