bloggang.com mainmenu search




บุญบรรพ์ บรรพ ๑-๒
ผู้เขียน : ศรีฟ้า ลดาวัลย์
ผู้พิมพ์ : สนพ.เพื่อนดี
บรรพ ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
บรรพ ๒ พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๙



บรรพ ๑



จากปกหลัง(บางส่วนจากคำนำผู้เขียน):


จุดประสงค์ของการเขียนเรื่อง"บุญบรรพ์" ซึ่งน่าจะแสดงไว้ก่อนนั้นมีอยู่สองประการ
ประการหนึ่ง เพื้อเฉลิมพระเกียรติบุรพกษัตริย์ ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นต้นมา
อีกประการหนึ่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๓
ซึ่งเมื่อสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์แล้ว ท่านเป็นสามัญชนพระองค์แรกที่ทรงพระอิสสริยยศ"สมเด็จพระพันปีหลวง"
และเมื่อเสด็จสวรรตพระบรมศพได้ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ทว่ามิใช่เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระวาสนาบุญญาบารมีของพระองค์
หากแต่เฉลิมพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็น"แม่"ผู้ประเสริฐ
ทรงอบรมเลี้ยงดูพระบรมราชโอรส ให้ทรงคุณธรรมอันวิเศษ
จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์
ผู้ทรงเห็นแก่บ้านเมืองยิ่งกว่าประโยชน์สุขส่วนพระองค์

และในฐานะที่ทรงเป็น 'เมีย' ผู้ประเสริฐ
ยึดมั่นในความสุขสบายพระราชหฤทัยของพระบรมราชสวามีเป็นที่ตั้ง





ผู้เขียนเริ่มจับความตั้งแต่ปลายรัชสมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมา
โดยอาศัยเรื่องราวในชีวิตของสมเด็จพระศรีสุลาลัยเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง
นับตั้งแต่ถือกำเนิดนั่นทีเดียว

โดยมี "ทองมา" ตัวละครที่โดดเด่นที่คาดว่าผู้เขียนได้สร้างขึ้นมา
เพื่อให้เป็นประหนึ่งผู้บอกเล่าเรื่องราวและความเป็นไปต่าง ๆ
ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนพระองค์ และเหตุการณ์ภายนอก

ทองมาเป็นกึ่ง ๆ ญาติ กึ่ง ๆ พี่เลี้ยงของเจ้าจอมมารดาเรียม(พระนามเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาลัย)
ที่ดูแลกันมาตั้งแต่วัยเด็ก...
มีอุปนิสัยร่าเริงรักสนุก ช่างพูดช่างเจรจาและซื่อสัตย์ จงรักภักดีเป็นที่สุด

เรื่องราวต่าง ๆ ที่ดำเนินไปตามร่องรอยประวัติศาสตร์
ตามทีปรากฏในพงศาวดารบ้าง จากจดหมายเหตุบ้าง
รวมถึงเรื่องเล่าบอกต่อที่ผู้ขียนเรียกว่าเป็นพงศาวดารกระซิบกระซาบนั้น
เมื่อรับรู้ผ่านมุมมองของทองมาจึงกลายเป็นนิยายที่มีชีวิตชีวา
มีสีสัน อรรถรส ประกอบด้วยมุกด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน

ทั้งด้วยสำนวนโวหารอันดาลใจของผู้เขียนก็สามารถสะกดคนอ่านให้เกิดอารมณ์ร่วม
ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รัก ซาบซึ้ง ตลกขบขัน โศกเศร้า สะเทือนใจ...
จนอ่าน ๆ ไปเผลอน้ำตาซึมไม่รู้ตัว...

ในบรรพที่ ๑ นี้ ฉากที่สะเทือนใจที่สุดน่าจะเป็นตอนที่ร.๒ กำลังจะเสด็จสวรรคต
แล้วสมเด็จพระอัครมเหสี(พระราชชนนีในรัชกาลที่ ๔)จะเสด็จไปเฝ้า แต่ไม่ทันกาล...

หากได้พบกับพระราชชายานารี(เจ้าฟ้ากุณฑลฯ)...
ผู้ซึ่งจะว่าไปก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้พระองค์ขัดเคืองใจในพระราชสวามี
จนหันหลังให้พระองค์ท่านมาตลอดตราบสิ้นพระชนม์

"...ฉับพลันนั้น พระอัครมเหสีกลับทรุดองค์ลงโอบกอดพระราชชายาไว้ในอ้อมพระกร
น้ำพระเนตรซึ่งทรงกลั้นเก็บไว้ก็ไหลพรั่งพรู สองพระองค์ทรงกันแสงร่ำไห้อยู่ด้วยกัน ณ ที่นั้น..."



ในบรรพ ๑ นี้ หนังสือได้จบความลงที่การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ด้วยการเห็นพ้องต้องกันของขุนนางผู้ใหญ่ รวมทั้งพระอัครมเหสี พระมารดาในเจ้าฟ้ามงกฏฯ
ซึ่งตามหลักแล้วน่าจะเป็นองค์รัชทายาทตัวจริง ที่จะต้องสืบสันตติวงศ์ต่อจากพนะชนกนาถ
หากเป็นด้วยพระองค์ทรงอ่อนชันษากว่าพระเชษฐา และไม่ทรงถนัดในการปกครองแผ่นดิน
โดยเฉพาะในยุคที่ยังมีศึกเสือเหนือใต้รุมเร้ารอบด้าน
พระองค์ทรงสมัครพระทัยผนวชเป็นพระภิกษุ ศึกษาพระธรรมต่อไป
ภายใต้การสนับสนุนของพระเชษฐาธิราช

ในตอนนี้ ประทับใจในคำเตือนของเจ้าจอมมารดาที่มีต่อองค์พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่...

ขออนุญาตคัดบางบทบางตอนมาลงไว้ที่นี้สักเล็กน้อย

"บัดเดี๋ยวนี้ขุนหลวงก็เป็นถึงเจ้าแผ่นดิน เจ้าชีวิตของคนทั้งหลายทั้งปวงแล้ว
เป็นที่สุดที่แม่จักสอนจักเตือน ด้วยทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่างแก่พระทัยเป็นอันดีแล้ว
ตะว่า...นั่นแล เถิงกระนั้นแม่ก็ยังมิอาจละห่วงใยเสียได้
ด้วยมนุษย์ปุถุชนคนเรานั้น มีอยู่มิน้อยที่ทอดทิ้งคุณงามความดีไปเสียด้วยสิ่งใดเล่า
คือด้วลืมตัวของตัว...
..............
ขอขุนหลวงจงอย่าได้เชื่อในบุญวาสนาของตัวเองจนลืมตัว
ด้วยบุญวาสนาตะปางใดก็ตามทีเถิด
หากแม้นมิประกอบคุณงามความดีในปรัตยุบันนี้ บุญวาสนาก็หาเป็นสิ่งยั่งยืนไม่...
..............

ขึ้นชื่อว่าขุนหลวงพระมหากษัตริย์เป็นเจ้า มิว่าดีมิว่าชั่ว
พระนามนั้นเขาต้องจดต้องจำกันไปในภายภาคหน้าหาลืมไม่
หากดีเขาก็จักยกขึ้นมาสรรเสริญ หากชั่วเขาก็จักขุดขึ้นมาด่าว่าประจาน
ร้อยปีพันปีมิมีลืมเลือน ขอให้ขุนหลวงของแม่จงเป็นประดุจเพชร
แม้นจักมีผู้กล่าวโทษใด ๆ ในภายภาคหน้าก็ยังคงเป็นเพชร มิมัวหมองไปได้ "







'บุญบรรพ์'บรรพ ๒


'บุญบรรพ์' บรรพที่สองนี้เป็นนวนิยายเฉลิมพระเกียรติบูรพกษัตริย์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ปกครองบ้านเมืองให้รอดพ้นจากอริราชศัตรูบ้านใกล้เรือนเคียง
และการล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก
นอกจากนั้นยังทรงปูพื้นฐานการปกครองและการค้า นำประเทศสยามสู่ยุคทองทางด้านเศรษฐกิจ


จากปกหลัง:


....ที่จะให้บังคับให้ท่านผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินบังคับไม่ได้
ขอเสียเถิด ให้พระญาติประยูรวงศ์กับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยประนีประนอมกัน
สมมติจะให้พระองค์ใดหรือผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน ก็สุดแต่จะเห็นพร้อมกันเถิด
ให้เห็นแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า
กับสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวด้วย อย่าให้ฆ่าฟันกันเสียนักเลย
จงช่วยกันรักษาแผ่นดินไปด้วยกันเถิด...





บอกเล่าหลังอ่าน...

ในบรรพนี้ "ทองมา" ซึ่งตอนนี้ได้เป็นเจ้าคุณทองมาแล้ว ยังคงเป็นตัวชูโรงอยู่เช่นเดิม
แต่ความที่อายุมากขึ้น อาจจะประพฤติตัวเป็นเด็ก ๆ เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว
ผู้เขียนจึงเพิ่มตัวละครขึ้นมาอีกหนึ่งตัว
คอยทำหน้าที่เก็บคำกระซิบกระซาบ
จากทั้งนอกวังในวังมาเล่าต่อเจ้าคุณทองมาอีกที
นั่นก็คือ "หง" ซึ่งหากนับเนื่องไปก็เป็นญาติห่าง ๆ ของเจ้าคุณทองมานั่นเอง

ซึ่งบรรพนี้ได้เน้นให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓
ซึ่งทรงมีอยู่แทบจะทุกด้านทีเดียว...

ทั้งน้ำพระทัยที่เปี่ยมพระเมตตาและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล...
ท่านรัก เทิดทูนและเชื่อฟังพระชนนีเป็นอย่างยิ่ง

และในฐานะ"พี่ชายคนโต"ท่านก็รักและเมตตาน้อง ๆ ของท่านทุกคน
แม้บางคนจะต่อต้าน หรือปฏิบัติตนแหวกแนวออกไป ท่านก็ทรงอภัยให้มิถือสาหาความ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการสถาปนาพระอัครมเหสีกับการแต่งตั้งวังหน้า
(ซึ่งน่าจะเทียบเท่ากับการแต่งตังรัชทายาท) ท่านก็ไม่ทรงแต่งตั้งผู้ใด...
ด้วยมีพระดำริที่ไม่อยากให้มีการแย่งชิงบัลลังก์ แล้วต้องมีการฆ่าฟันกันเช่นในสมัยกรุงเก่า...

จะขอยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาให้เห็นกันสักเล็กน้อย

ในปลายรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการติดต่อสื่อสารกับฝรั่งที่เข้ามาในสยาม...ท่านได้มีพระดำรัสต่อผู้ใกล้ชิดไว้ว่า...

"การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว
จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้
การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจักร่ำเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”








ตอนที่ประทับใจที่สุดของจขบ.ในบรรพนี้ก็เห็นจะเป็นเรื่องราวของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง
คุณพุ่มเป็นธิดาของพระยาราชมนตรี(ภู่) เคยทำหน้าที่เป็นพนักงานเชิญพระแสงให้บิดา
เธอเป็นคนหัวสมัย ชมชอบและเชี่ยวชาญในเรื่องของบทกวี

วันหนึ่งเธอก็กราบถวายบังคมลาออกจากวังหลวงกลับไปอยู่บ้านเดิมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือจ้างนัก...

วันดีคืนดีก็มีคนมาเล่าให้เจ้าคุณทองมาฟังว่า
บัดนี้คุณพุ่มได้ตามเสด็จไปอยู่กับสมเด็จพระน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์(เจ้าฟ้าน้อย)แล้ว...
คนเล่าตบท้ายว่า....

"วงสักวาเลยเลิกเล่นเลิกร้อง ด้วยนางบุษบาเธอข้ามไปอยู่ถ้ำทองกะองค์อิเหนาระเด่นมนตรีเสียแล้ว"

ว่ากันว่าทูลกระหม่อมฟ้าน้อยนั้นทรงรูปงามยิ่งนัก
อีกทั้งถ้อยวาจาและบทสักวาก็ไพเราะอ่อนหวานจนจับหัวใจคุณพุ่ม

ดังสักวาบทนี้...

'สักรวาเวลาก็ดึกดื่น
น้ำค้างชื้นเมฆหมอกออกหนาวหนาว
เสียงไก่แจ้แซ่ขันกระชั้นเช้า
จนฟ้าขาวเดือนดับลับโพยม
จะขอลาครรไลไปสถาน
ไม่เนิ่นนานก็จะกลับมาชมโฉม
เสียดายนักความรักจะทรุดโทรม
จะทุกข์โทมนัสหาสุดาเอย'

กระนี้แล้วจะไม่ให้คุณพุ่มหลงเสน่ห์พระองค์ท่านได้อย่างไร...
ทว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในวังกับท่านเข้าจริง ๆ กลับเสมือนห่างไกล คุณพุ่มรู้สึกเงียบเหงา
หนำซ้ำยังบาดตาบาดใจเมื่อเห็นบรรดาหม่อมน้อยใหญ่หลายคนในวัง
จนเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไประยะหนึ่ง เธอจึงกลับเข้าวัง และเข้าถวายตัวตามธรรมเนียมราชประเพณี...

...ชะรอยจักทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้ว จึงเมื่อคุณพุ่มเปิดกรวยดอกไม้ และหมอบกราบถวายบังคมก้มหน้าอยู่นั้น
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ ทรงมีพระราชดำรัสเป็นกลอนสักวาขึ้นลอย ๆ ด้วยพระสุรเสียงมิดังมิเบานัก ทว่าได้ยินได้ฟังกันโดยชัดเจน

"เจ้าช่อมะกอก เจ้าดอกมะไฟ
เจ้าเห็นเขางาม เจ้าตามเขาไป
เขาทำเจ้ายับ เจ้ากลับมาไย
เขาสิ้นอาลัย เจ้าแล้วฤาเอย"

ตนอ่านอ่านแล้วเจ็บแปลบในอารมณ์...
แต่คุณพุ่มเธอกลับมิได้มีความน้อยเนื้อต่ำใจแต่อย่างใด
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทีทรงมีต่อเธอและบิดาเสมอมา





นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ประทับใจในนิยายอิงประวัติศาสตร์ชุดนี้
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่คงจะเล่าให้หมดไม่ไหวเป็นแน่...

ในท้ายเล่มทั้งบรรพที่ ๑ และ ๒ ผู้เขียนยังได้เรียบเรียงคู่มือการอ่านบุญบรรพ์
อันประกอบไปด้วยพระราชประวัติ พระประวัติ และประวัติของบุรพกษัตริย์
เจ้าจอมมารดาทั้งหลาย พระโอรสธิดาบางพระองค์ เชื้อพระวงศ์
ตลอดถึงขุนนางผู้ใหญ่ที่มีความใกล้ชิดในราชวงศ์บางท่าน

รวมทั้งเกร็ดน่ารู้ทางวัฒนธรรมและโบราณราชประเพณีบางอย่างที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้

เพื่อผู้อ่านจะได้ศึกษารายละเอียดของบุคคลและเหตุการณ์บางช่วง
ประดุจดัง'เบื้องหลัง'อันมีชีวิตชีวาและมีคุณค่าในความรู้...
ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้ว
เราจะได้ทราบว่าเหตุใดประเทศไทยจึงได้มีบุญมาแต่ปางบรรพ์

ขอปิดท้ายบล็อกนี้ด้วยโคลงบทนี้ค่ะ

บุญ บรรพ์กรุงจักรแก้ว ก่อมา
บรรพ์ บุญบุรพกษัตรา ท่านเกื้อ
ลุล่วง ถึงสมัยประชา เป็นใหญ่
ร่มเย็น เพราะพระเอื้อ โอบอุ้มแผ่นดิน






**สุดท้ายจริง ๆ
ขอหมายเหตุถึงสำนักพิมพ์นิดหนึ่ง เนื่องจากอ่านแล้วเจอคำผิดนิดหน่อย เล่มละสองสามจุด...

ในบรรพ ๑ หน้า ๓๐๓ ตรงหมายเหตุ บรรทัดรองสุดท้าย
"วันที ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๕๐" น่าจะเป็น "วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐" มากกว่า

หน้า ๓๘๙ คำว่า อุตส่าห์ พิมพ์เป็น อุตส่า

บรรพ ๒ หน้า ๓๑ บรรทัดที่ ๓ คำว่า นุ่งห่ม พิมพ์เป็น นุ่มห่ม
หน้า ๕๘ บรรทัดที่ ๖ จากล่าง คำว่า พระบรมมหาราชวัง ตกม.ม้าไปหนึ่งตัว
หน้า ๓๑๗ คำว่าโจทก์ พิมพ์เป็น โจทย์
หน้า ๓๒๒ คำว่า ตัดไปเสียแต่หัวลม น่าจะเป็นตัดไฟเสียแต่หัวลม(หรือเปล่า?)

อ่านแล้วสะดุด เสียดายนิด ๆ เลยหมายเหตุไว้
เผื่อทางสำนักพิมพ์จะได้แก้ไขในการจัดพิมพ์คั้งต่อ ๆ ไปค่ะ




Create Date :10 กันยายน 2555 Last Update :10 กันยายน 2555 15:17:34 น. Counter : 10857 Pageviews. Comments :9