bloggang.com mainmenu search
{afp}
2 อัจฉริยะสร้างได้...ที่โรงเรียนวนิษา
อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนวนิษา คุณชุมศรี รักษ์วนิชพงศ์ ตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นตามแนวความคิดซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ในเอกสารชื่อ ‘ปฎิรูปการเรียนรู้ ผู้เรียนสำคัญที่สุด’ ของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2543ว่า “ดิฉันไม่เชื่อวิธีที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทำอยู่ จับเด็กมาขังในคอก ไม่อยากจะใช้คำนี้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ บังคับเด็กมานั่งนิ่งๆ จำกัดศักยภาพการเติบโตของสมอง”

วันนี้โรงเรียนวนิษาเปิดมากว่า 20 ปีแล้ว รับเด็กตั้งแต่ก่อนอนุบาล (1.8 ขวบ) จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนว Project Approach ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ลุ่มลึก และบูรณาการทุกสาขาวิชาภายใต้หัวข้อที่เด็กสนใจ เพื่อให้เด็กทุกคนเห็นการเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่มีความสุข ซึ่งจะช่วยให้เด็กคงนิสัยใฝ่รู้ไว้ได้ตลอดไป ไม่ใช่เห็นการเรียนเป็นเรื่องทุกข์ทรมานที่อยากให้ผ่านพ้นไปวันๆ

กิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนวนิษา ไม่ว่าจะเป็นการนำแนวคิด งานวิจัย หรือทฤษฎีทางการศึกษา จึงเน้นไปที่ความหลากหลาย สนุกสนาน สอดคล้องกับธรรมชาติพัฒนาการ และตามความต้องการของเด็กแต่ละคนซึ่งมีความถนัด ความชอบ และลีลาในการเข้าถึงความรู้ที่แตกต่างกัน

อย่างที่ ครูโอ๊ะ ครูอนุบาลของโรงเรียนวนิษาเล่าว่า “เด็กจะมีโปรเจ็คท์ที่ทำร่วมกับคุณครูตั้งแต่เตรียมอนุบาล ที่มาของโปรเจ็คท์จะมีหลากหลาย เช่น เขาอาจไปเล่นที่สนามเด็กเล่นแล้วโดนมดกัด เด็กก็จะสนใจเรื่องมด...คุณครูก็จะต้องเป็นคนช่วยจัดประสบการณ์และสภาพแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจอยากจะเรียนรู้ และแสวงหาคำตอบให้ได้ด้วยตัวเอง”

อีกฝ่ายที่บอกเล่าได้ดีว่า วนิษา สอนอย่างไร และสอนอะไรก็คือเด็กๆ เช่น โปรเจ็คท์ชื่อ ‘ระลึกรู้บุญคุณ’ ซึ่งเด็กๆชั้น ป.4 ช่วยกันเล่าว่าเป็นโปรเจ็คท์ที่เด็กๆและคุณครูช่วยกันคิดจำลองสภาพตลาดแบบต่างๆขึ้นมา มีทั้งตลาดมือสอง ตลาดนานาชาติ ตลาดของดีประจำบ้าน เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายของไปซื้อของขวัญให้คุณพ่อคุณแม่

กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยเด็กทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม แต่ที่ชวนให้ชื่นใจก็เมื่อเด็กเล็กๆ ระดับเด็กอนุบาลเล่าว่า หนูเอาเงินที่ได้ไปซื้อกรอบรูปให้คุณพ่อ เพราะเห็นว่าที่คอนโดฯ ของคุณพ่อมีรูปเยอะ

อีกคนบอกว่า หนูเอาเงินไปซื้อรองเท้าให้คุณพ่อเพราะกบมันชอบแอบเข้ามากัดรองเท้าในตู้คุณพ่อ เลยอยากซื้อรองเท้าใหม่ให้ท่าน

นี่ย่อมสะท้อนปรัชญาโรงเรียนที่ต้องการให้เด็กๆ ‘โตวันโตคืน สดชื่นแจ่มใส ปัญญากว้างไกล และหัวใจงดงาม’ ได้เป็นอย่างดี

- รู้จักโรงเรียนวนิษาผ่านคนของโรงเรียนวนิษา
คุณพ่อชิว (ผู้ปกครอง) “ก่อนอื่นผมมองว่าโรงเรียนที่สำคัญที่สุดของลูกไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่เป็นโรงเรียนอนุบาล เพราะมันคือการปูพื้นฐานของเขาไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นผมซีเรียสเรื่องโรงเรียนอนุบาลมาก...และตั้งแนวทางว่าเราเลือกโรงเรียนแนวทางเลือกแน่นอน เราไม่เลือกโลกเรียนแนวเร่งเรียนแน่ อย่างน้อยที่สุดลูกมาเรียนแล้วต้องสนุก ไม่ควรไปเร่งเขา”

คุณแม่นุก (ผู้ปกครอง) “เคยคิดว่าอาจจะทำโฮมสกูลอยู่ที่บ้าน แต่พอเข้ามาเจออาจารย์ชุมศรี อาจารย์หยิบหลักสูตรของโรงเรียนมาให้ดูตั้งหนึ่ง แล้วบอกว่าคุณแม่เอาไปอ่านว่าสามารถจัดการเรียนรู้ให้ลูกได้ขนาดนี้รึเปล่า...พอเปิดหลักสูตรอ่าน นั่งร้องไห้เหมือนคนบ้าเลย ว่าเราไม่มีทางที่ทำแบบนี้ให้ลูกได้ ไม่มีทางเลยจริงๆ หลังจากนั้น 1 เดือนก็พอลูกมาเข้าโรงเรียน

คุณครูยุ้ย (คุณครูอนุบาล) “ตั้งใจว่าถ้าไม่มีโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อมก็จะไม่สอน เพราะไม่อยากอยู่ในโรงเรียนที่เหมือนโรงงานที่ส่งเด็กเข้าไปแล้วออกมา เพราะเคยเห็นเพื่อนที่สอนโรงเรียนอื่นๆ ที่วันนี้ให้เด็กคัด ก ไก่ พรุ่งนี้ก็คัด ข ไข่ มันง่ายนิดเดียว...แต่มันไม่สนุก ทั้งเด็กและครู แล้วเซลล์สมองก็ไม่ได้แตกออกมา”

คุณครูฝน (คุณครูประถม อดีตคุณครูโรงเรียนสาธิตฯ แห่งหนึ่ง) “ตอนแรกก็คิดว่าสอนที่โรงเรียนวนิษาก็น่าจะคล้ายกับที่เคยสอนมา เพราะเป็นการจัดกิจกรรมเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าไม่เหมือนเลย ต้องเปลี่ยนหมดทุกอย่าง ตั้งแต่บุคลิกภาพ ท่าที การพูดคุยกับเด็ก...เพราะไม่ใช่แค่การนั่งวางแผนการสอน เขียนแผนการสอน เขียนโครงการการสอน แต่เราจะต้องมองว่า ในชั้นที่เราดูแลเราต้องการให้เกิดอะไรที่จะอยู่ในตัวเด็กตลอดไปด้วย”

วนิษา เรซ (ผู้บริหารโรงเรียนวนิษา) “เด็กของเราต้องเก่งค่ะ หนูดีมองว่าในเมื่อเรามีสมองอยู่อันหนึ่ง ทำไมไม่ใช้มันให้ดีที่สุด แล้วชีวิตคนเก่งเป็นชีวิตที่สนุก ได้รู้จักคนเยอะ ได้คืนให้สังคมเยอะ ซึ่งความรู้สึกว่าเราได้คืนให้ มันเป็นความรู้สึกที่เติมเต็มในใจ”

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ //www.vanessa.ac.th

ชั้นเรียน
บริบาล (1.8 ก่อน 3 ปีบริบูรณ์) ค่าเรียนเทอมละประมาณ 39,500 บาท
อนุบาล 1 - 3 ค่าเรียนเทอมละประมาณ 38,000 บาท
ประถม 1 - 6 ค่าเรียนเทอมละประมาณ 49,000 บาท

การรับนักเรียน
ผู้ปกครองส่งใบสมัครและสอบข้อเขียน หลังจากนั้นทางโรงเรียนจะนัดมาสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง
ผู้ปกครอง เด็กนักเรียน และผู้เลี้ยงดูต้องมาสอบสัมภาษณ์

จำนวนนักเรียน ประมาณ 330 - 360 คน
สำหรับ เตรียมอนุบาลอัตราส่วนต่อครูและเด็กอยู่ที่ 1 ต่อ 7
สำหรับอนุบาลคือ 1 ต่อ 9 ทุกห้อง
สำหรับประถมอัตราส่วนครูต่อเด็ก ประมาณ 1 : 15

นอกเหนือจากคุณครูประจำชั้น (อาจมี 1 หรือ 2 คน ตามจำนวนเด็กนักเรียน) จะมีคุณครูฟิลิปปินส์ 1 คน (ซึ่งทางโรงเรียนได้คัดสรรคุณครูฟิลิปปินส์ที่สำเนียงชัดไม่แพ้คุณครู อเมริกัน หรืออังกฤษ) เพื่อให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเด็กเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

ในแต่ละตึก ( ประถม และ อนุบาล) จะมีคุณครูอเมริกันประจำเพื่อสอนภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ
Create Date :29 มกราคม 2553 Last Update :6 กุมภาพันธ์ 2553 21:13:54 น. Counter : Pageviews. Comments :24