bloggang.com mainmenu search
โลกต้อง บันทึกว่าปี 2011 คือปีที่โอเอสหรือระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาทั้งหลาย ต้องออกแรงชิงดีกันอย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะเดือนกันยายน-ตุลาคมที่ผู้เล่นในสมรภูมิฮัลโหลอัจฉริยะมีการปรับเกม เดินหมากสำคัญมากมายในช่วงระยะเวลาเพียง 2 เดือน

เบี้ยโอเอสแต่ละตัวมีความหมายและจุดเด่นต่างกัน การเดินหมากแต่ละครั้งในสังเวียนมีผู้ได้และเสียคละกันไป และความยืดเยื้อในศึกมหากาพย์สงครามโอเอสครั้งนี้ส่อเค้าไม่จบง่ายๆแน่นอน

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น iPhone ผู้เปลี่ยนตลาดวงการมือถือให้เป็นสมาร์ทโฟน ***ปฐมบทสงครามอัจฉริยะ

นับตั้งแต่การเปิดตัว iPhone เมื่อปี 2007 เป็นต้นมา สงครามในวงการสมาร์ทโฟนได้ถูกจุดพลุขึ้นมาอย่างเงียบๆ แม้ขณะนั้นส่วนแบ่งตลาดทั้งหมดส่วนใหญ่จะอยู่ในอุ้งมือของโนเกีย ผู้ผลิตมือถือจากฟินแลนด์ที่ยังคงเชื่อมั่นในระบบปฏิบัติการซิมเบียนของตัว เอง และเพิกเฉยต่อการมาของแอปเปิลจนเป็นต้นเหตุที่ทำให้โนเกียต้องล้าหลังอย่าง ยิ่งในวงการสมาร์ทโฟน

การเปิดตัว iPhone ของแอปเปิลครานั้น ส่งผลให้เกิดแรงกระทบอย่างมหาศาลในวงการโทรคมนาคมทั่วโลก ในขณะนั้นโลกมีโทรศัพท์มือถือที่มีระบบปฎิบัติการในตัวหลายรุ่น และโทรศัพท์มือถือธรรมดาที่รองรับกับระบบสัมผัสอยู่มากมาย แต่ปัญหาคือมือถือไฮเทคเหล่านั้นสู้แอปเปิลไม่ได้ เพราะตัวเครื่องระบบขาดความเสถียรภาพ การตอบสนองทำได้ชักช้าอืดอาด

ผู้ท้าชิงรายใหม่ทุนหนาอย่างแอปเปิลจึงสามารถปลุกกระแสตลาดโลกได้ สำเร็จด้วยดีไซน์ตัวเครื่องที่แตกต่าง ตอบโจทย์การใช้งานได้ทุกประเภท มีระบบปฎิบัติการในตัว และระบบจอสัมผัสที่ดีกว่าชนิดที่เปรียบเทียบกันไม่ได้

จนกระทั่งนาทีนี้ การมาของระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ถูกขนานนามฉายาว่า "ศัตรูหมายเลข 1" ของทั้งสตีฟ จ็อบส์ (ผู้ล่วงลับ), แอปเปิล และไอโฟน ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่พร้อมจะแทรกตัวในตลาดแม้ว่าอาจจะได้แค่เป็นทางเลือก โดยเฉพาะโอเอสในอนาคตอันใกล้เช่น BBX ของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างแบล็กเบอรีกับระบบปฎิบัติการแบล็กเบอรี 7 และโอเอสอย่างวินโดวส์ โฟน แมงโก ซึ่งไมโครซอฟท์สามารถอัปเกรดและถีบตัวเองขึ้นมาเทียบชั้นขึ้นมาเคียงบ่า เคียงไหล่กับแอนดรอยด์ และไอโอเอสได้

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น ***กันยายน-ตุลาคม เริ่มต้นจุดพลุโอเอสใหม่

สงครามโอเอสนั้นร้อนระอุชนิดผิดปกติในช่วงกันยายน-ตุลาคมที่่ผ่านมา ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน วงการสมาร์ทโฟนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่แบล็กเบอรีนำระบบปฎิบัติการแบล็กเบอรี 7 มาใส่ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในซีรีส์โบลด์, ทอร์ช และเคิร์ฟ

ขณะเดียวกันเองเจ้าพ่อประจำวงการสมาร์ทโฟนอย่างแอปเปิลก็เผยโฉมระบบ ปฎิบัติการไอโอเอส 5 ขึ้นมา ในเวลาใกล้เคียงกับผู้ท้าชิงอันดับ 1 อย่างแอนดรอยด์ที่ส่งเวอร์ชัน Ice Cream Sandwich ที่โชว์เหนือโดยสามารถรันได้ทั้งบนอุปกรณ์แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน

ปีหน้านับจากนี้ สงครามโอเอสจึงมีแนวโน้มร้อนระอุกว่าปีที่เป็นอยู่นี้อย่างแน่นอน

***ทุกค่ายส่งพี่เบิ้มขึ้นสังเวียน

แอปเปิล, แอนดรอยด์ และบีบี พร้อมใจส่งสมาร์ทโฟนระดับพี่เบิ้มขึ้นสังเวียนเดือดในช่วงปี 2011 ที่ผ่านมา เริ่มจากแบล็กเบอรีที่ส่ง Bold 9900 เป็นสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ พร้อมชูระบบปฏิบัติการแบล็กเบอรี 7 แถมด้วยการปรับปรุงเครื่องให้บาง เบา มีการเปลี่ยนหน้าจอให้เป็นรูปแบบของจอทัชสกรีน แต่ยังคงความเป็น เอกลักษณ์เฉพาะของแบล็กเบอรีด้วยรูปแบบคีย์บอร์ด QWERTY ที่ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ตามที่หาญกล้าทำคีย์บอร์ด QWERTY ก็ไม่เคยมีแบรนด์ไหนแข่งกับ บีบี ในด้านคีย์บอร์ดได้เสียที

ขณะเดียวกันแอปเปิลเองก็ตีฆ้องด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ อย่าง iPhone 4S ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับแฟนๆ หรือเหล่าสาวกแอปเปิลจำนวนไม่น้อยที่คาดหวังอยากจะเห็น iPhone 5 มากกว่าที่จะเห็น iPhone 4S ที่มีการเปลี่ยนแปลงแค่ในระดับไมเนอร์ เชนจ์ แต่ ถึงอย่างไรก็ดี ยอดสั่งจองของ iPhone 4S นั้นกลับมียอดขายที่สูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันที่มีการเปิดตัว iPhone 4 แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าแอปเปิลจะออกผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม ความเชื่อมั่น ความศรัทธาในแบรนด์แอปเปิลไม่เคยมีวันลดลง

ล่าสุดเมื่อซัมซุง-กูเกิลได้ฤกษ์เปิดตัว Galaxy Nexus ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Ice Cream Sandwich เรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น ***แอนดรอยด์ อ่อนด้อยอินเตอร์เฟส ?

ในส่วนของยูสเซอร์ อินเตอร์เฟส ต้องบอกกันตามตรงเลยว่าก่อนหน้านี้แอนดรอยด์ค่อนข้างเสียเปรียบ ไอโฟนและแบล็กเบอรีค่อนข้างมาก เนื่องจากการใช้งานสมาร์ทโฟนบนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว ค่อนข้างที่จะใช้งานยาก ผู้ใช้ที่จะใช้แอนดรอยด์ได้อย่างคล่องตัวจำเป็นต้องมีความรู้ในการใช้งานใน ระดับหนึ่ง ในตัวอินเตอร์เฟสของแอนดรอยด์เองก็ทำออกมาในรูปแบบที่ยังไม่เป็นมิตรต่อผู้ ใช้สักเท่าไหร่

แอนดรอยด์ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะการทำงานที่ดูวุ่นวายและซับ ซ้อน คำกล่าวของสตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอ ของไมโครซอฟท์คนปัจจุบันได้ออกมาหยันว่า "สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ เป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้งานยาก เปรียบเสมือนกับว่าคุณต้องจบวิทยาการคอมพิวเตอร์มาถึงจะใช้งานได้คล่อง"

ซึ่งถ้าหากมองในมุมกลับ การที่แอนดรอยด์มีการปรับปรุงอินเตอร์เฟสบนสมาร์ทโฟนนั่นเป็นเพราะ แอนดรอยด์เองก็เหมือนจะเข้าใจปัญหาเรื่องการใช้งาน ที่ไม่ได้เหมาะกับทุกเพศทุกวัย หากจะเทียบกับไอโฟนและแบล็กเบอรี ที่การใช้งานดูเป็นมิตร และมีความเฉพาะตัวมากกว่า

อีกประเด็นหนึ่งที่แอนดรอยด์จำเป็นจะต้องปรับปรุงเป็นอย่าง ยิ่งคือ ความเป็นเอกลักษณ์ ลองคิดดูว่าหากเรานึกถึงแบล็กเบอรี เราจะนึกถึงอะไร.....แน่นอนว่าเราจะต้องนึกถึง BBM, การแชต และการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ที่ใช้งานได้ง่ายมาก เพราะมีคีย์บอร์ดที่เป็นรูปแบบของ QWERTY ที่มีความคล้ายคลึงกับคอมพิวเตอร์มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ไอโฟนเองก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เฟสที่ดูรู้ว่านี่คือ ไอโฟน แอปพลิเคชันที่ตอบสนองทุกการใช้งาน โดยเฉพาะด้านมัลติมีเดีย ที่แอปเปิลตอบสนองจุดนี้ได้ดีกว่าใครๆ

ถามกลับมาว่าแอนดรอยด์มีจุดเด่นอะไร บ้าง ที่ทำให้ผู้ใช้ต้องร้องอ๋อ! ว่านี่คือแอนดรอยด์ ดังนั้นในด้านอินเตอร์เฟสคงต้องบอกว่าแอนดรอยด์ ยังคงสู้แบล็กเบอรีและไอโฟน ไม่ได้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่าอินเตอร์เฟสของ Ice Cream Sandwich จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยใช้แอนดรอยด์ให้หันกลับมามอง ว่านี่คือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ถ้าหากคิดจะเปลี่ยนมือถือใหม่สักเครื่อง

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น แบล็กเบอรีและเทคโนโลยี NFC ***ฟีเจอร์ใหม่แกะกล่องดีจริงหรือ ?

เมื่อมีการอัปเกรดระบบปฏิบัติการใหม่ สิ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้ใช้ทุกคนคงจะเป็นเรื่องของฟีเจอร์ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นในสงครามระบบปฏิบัติการรอบใหม่นี้ ทางแบล็กเบอรีได้เริ่มเปิดตัวก่อน จากการเปิดระบบปฏิบัติการแบล็กเบอรี 7 แต่ฟีเจอร์ที่พอจะดึงดูดให้ผู้ใช้หันกลับมามองบีบีให้เป็นคู่แข่งกับทางแอ นดรอยด์ และไอโอเอสนั้นดูจะไม่ค่อยมีฟีเจอร์ใด ที่น่าสนใจมากนัก จะมีก็แต่ NFC หรือ Near Field Communication

แต่ทว่าถ้าหากนำเทคโนโลยี NFC มาเป็นจุดขายเห็นทีคงจะต้องบอกว่ามองไม่เห็นทางข้างหน้าเลยทีเดียว เนื่องจากขณะนี้แบรนด์อื่นอย่างโนเกียที่มี NFC ต่างก็ชูประเด็นเรื่องการส่งข้อมูลอย่างทันใจเท่านั้น ยังไม่มีการลงลึกรายละเอียดด้านการใช้งานที่สามารถแทนกระเป๋าเงินได้อย่าง จริงจัง

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น Siri ปัญญาประดิษฐ์ ฟีเจอร์ที่แอปเปิลภูมิใจนำเสนอ ขณะเดียวกันทางไอโอเอสของแอปเปิลเองก็มีการส่ง Siri ปัญญาประดิษฐ์ที่ดูเหมือนว่าทางแอปเปิลเองก็คาดหวังไว้สูงพอสมควร ด้วยความฉลาดของ Siri ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้เสมือนกับการโต้ตอบสื่อสารกับมนุษย์ปกติทั่วไป ด้วยฟีเจอร์นี้ทำให้ iPhone 4S เองก็ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การที่แอปเปิลออก Siri มาลงใน iPhone 4S นั่นเท่ากับว่าเป็นการเปิดศึกในด่านของ วอยซ์ ฟีเจอร์กับทางแอนดรอยด์โดยตรง ซึ่งอย่างที่ทราบทางแอนดรอยด์เองก่อนหน้านี้ก็มีฟีเจอร์สั่งการด้วย เสียงอย่าง Voice Recognition

ถ้าหากจะว่าไปแล้ว Voice Recognition เองก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนักกับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ คงต้องดูกันต่อไปว่ากูเกิล-แอนดรอยด์จะแก้เกมเรื่องของการสั่งการด้วย เสียงอย่างไรในอนาคตหลังจากนี้

ทางด้านการแชต ดูเหมือนว่าทางแอปเปิลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เริ่มปฎิบัติการรุกคืบการสื่อสารผ่านข้อความอย่าง iMessage หลังจากที่ก่อนหน้านี้ แบล็กเบอรีและ BBM คือเจ้าพ่อด้านการติดต่อแนวนี้ จนมีผู้ท้าชิงอย่าง Whatsapp ที่รองรับในทุกๆ แพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันทางกูเกิลเองก็มี Google Talk ซึ่งการที่แอปเปิลส่ง iMessage มาก็คือการท้าชนกับ BBM, Whatsapp อย่างซึ่งๆ หน้า

แน่นอนว่ารูปแบบการใช้งานจะคล้ายกับ BBM คือเป็นรูปแบบที่ปิด จำกัดการใช้งานเฉพาะบนไอโอเอส เท่านั้น ซึ่งไม่แน่ว่าการที่ iMessage ใช้งานได้เฉพาะบน iPod Touch, iPhone รวมถึง iPad จะคล้ายกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับ BBM คือ คุยกันได้เฉพาะในแพลตฟอร์มตัวเอง ทำให้ฐานการใช้งานของลูกค้ามีอยู่แค่ในวงจำกัด แต่เหนือสิ่งอื่นใด การใช้งาน iMessage ดูเหมือนว่าจะไม่ยุ่งยากเท่ากับ BBM เนื่องจาก iMessage เองใช้เบอร์โทรศัพท์และ Apple ID แค่นี้ก็คุยกันได้แล้ว

หากมองในมุมของ Google Talk ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นคู่ต่อกรกับ iMessage, Whatsapp และ BBM เท่าไรนัก เพราะเนื่องจาก Google Talk เป็นบริการการใช้งานที่คล้ายๆ กับ MSN Messenger ที่ผูกการใช้งานผ่านอีเมล ทำให้ดูเหมือนว่า Google Talk กับ iMessage, Whatsapp และ BBM ไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน แต่เป็นการเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านทางสื่อที่หลากหลายขึ้นเสียมากกว่า

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนฟีเจอร์เด็ด ประจำ Ice Cream Sandwich และ Galaxy Nexus นั้นคงต้องบอกว่าเป็นเรื่องของ Face Unlock หรือการปลดล็อกหน้าจอเครื่องโดยใช้ใบหน้าของผู้ใช้ ซึ่งถือว่าตอนนี้ยังไม่มีสมาร์ทโฟนแบรนด์ไหนที่ใช้การปลดล็อกในลักษณะนี้ (ซึ่งจากการได้ทดลองใช้ Galaxy Nexus แล้วใช้การปลดล็อกในรูปแบบ Face Unlock ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากการปลดล็อกสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และมีเซนเซอร์ในการจับใบหน้าที่ฉับไวเลยทีเดียว)

หากผู้ใช้คิดที่จะปลดล็อกเครื่องเพื่อใช้งานเครื่องสักครั้ง จะต้องทำการแสกนใบหน้าก่อน ซึ่งจุดนี้จะกลายเป็นความยุ่งยากของผู้ใช้ ลองคิดดูว่าผู้ใช้โดยทั่วไปปกติแค่ปลดล็อกเครื่องโดยการลากนิ้วโดยใช้เวลา ไม่กี่วินาที แต่การใช้งาน Face Unlock จะต้องใช้เวลาที่นานกว่าเดิมกว่าจะปลดล็อกเครื่องเพื่อใช้งานแอปพลิเคชัน ต่างๆ ได้ ส่วนนี้อาจจะทำให้ผู้ใช้เบือนหน้านี้ เพราะความไม่สะดวกและยุ่งยากของฟีเจอร์นี้

ต่อมาคือเว็บ เบราว์เซอร์ ที่ทางแอนดรอยด์เอง ก็พยายามปรับปรุงในส่วนของฟีเจอร์ให้มีความใกล้เคียงกับเว็บ เบราว์เซอร์บนคอมพิวเตอร์ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนำฟีเจอร์ Bookmark จากพีซีมาใช้บนสมาร์ทโฟน หรือเลือกการดูเว็บไซต์ผ่านฟีเจอร์ “request desktop site” และฟีเจอร์ “incognito mode” สำหรับการเข้าท่องเว็บไซต์ โดยไม่มีการบันทึกการใช้งาน ซึ่งบอกได้เลยว่าเว็บ เบราว์เซอร์ของแอนดรอยด์ ยังทำได้เหนือกว่าไอโอเอส และแบล็กเบอรี เบราว์เซอร์อยู่หลายขุม ในแง่ของการใช้งานบนสมาร์ทโฟน อย่าลืมว่าผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนนอกจากจะใช้งานแอปพลิเคชัน หรือใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เว็บเบราว์เซอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารของคนยุคนี้ไป แล้ว

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น ***ชี้เป็นชี้ตายใครดีกว่ากันไม่ได้

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ในทั้ง 3 ระบบปฏิบัติการ คงต้องบอกว่า ทั้ง 3 ระบบปฏิบัติการต่างก็มีข้อดีข้อเสีย ที่แตกต่างกัน โดยภาพรวมแล้วขึ้นอยู่กับการใช้งานของตัวผู้ใช้เอง ซึ่งจะต้องคำนึงว่าผู้ใช้เหมาะสมที่จะใช้งานในรูปแบบใดมากกว่า

ถ้าหากมองตามฟีเจอร์ที่ออกมาใหม่ล้วนๆ คงต้องบอกว่าแอนดรอยด์ได้เปรียบและน่าสนใจมากที่สุด เนื่องจากฟีเจอร์อย่างเว็บ เบราว์เซอร์เองสามารถทำงานได้ดีและยอดเยี่ยมไม่แพ้บนเครื่องพีซี รวมไปถึงการเปิดตัวฟีเจอร์ล้ำๆ อย่างเฟซ อันล็อก ซึ่งค่อนข้างเป็นฟีเจอร์ที่แปลกใหม่ (แต่ก็ไม่ถึงขั้นน่าประหลาดใจ)

ต่อมาทางด้านของไอโอเอสจากแอปเปิลเองก็ส่ง Siri ปัญญาประดิษฐ์ที่ดูแล้วการทำงานค่อนข้างหลากหลาย และน่าสนใจ ความฉลาดของ AI นี่เองที่จะทำให้รูปแบบการใช้งานวอยซ์ ฟีเจอร์ ที่จะทำให้อนาคตในวงการสมาร์ทโฟนอาจจะต้องมาจับประเด็นการใช้งานประเภทนี้ก็ เป็นได้ ขณะเดียวกันทางแบล็กเบอรี ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องของฟีเจอร์พวกเขายังเป็นรองอยู่มาก แต่ว่าฟีเจอร์เดิมๆ ที่มีติดตัวมาอย่าง BBM ก็ยังสามารถใช้งานได้ต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมี killing feature มากมายที่จะพยายามล้ม BBM แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีใครทำลายล้าง BBM ได้เสียที

***อนาคตวันพรุ่งนี้ของทั้ง 3 โอเอส

ในบรรดาทั้ง 3 ระบบปฏิบัติการดูเหมือนว่า ระบบปฏิบัติการแบล็กเบอรี 7 จะอายุสั้นและหมดอนาคตเร็วที่สุด จากการที่ทางริม หรือรีเสิร์ช อิน โมชันได้ประกาศว่าจะมีการใช้ระบบปฏิบัติการ BBX ในอนาคต ที่สามารถรันได้ทั้งบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตคล้ายกับ Ice Cream Sandwich ของทางฝั่งแอนดรอยด์ ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าอนาคตของริม ที่จะฝากไว้กับ BBX จะเป็นอย่างไรต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิด

ส่วนทางไอโอเอสและแอนดรอยด์ อนาคตของทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการนี่เชื่อว่ายังคงไปได้สวย และยังคงอยู่คู่กับวงการสมาร์ทโฟนต่อไป เพียงแต่ว่าทั้ง 2 ค่ายจะนำฟีเจอร์ใหม่ๆ มานำเสนอให้มีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใดมากกว่า

ผลสุดท้ายแล้ว เบี้ยตัวใดจะถูกเขี่ยทิ้ง ขุนตัวใดจะกลายเป็นใหญ่พิชิตศึกสำเร็จ ทั้งหมดนี้คงต้องรอลุ้นปีหน้า 2012
Create Date :11 ธันวาคม 2554 Last Update :11 ธันวาคม 2554 20:21:41 น. Counter : Pageviews. Comments :1