bloggang.com mainmenu search
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

พระศรีอริยเมตไตรย วัดอินทร์ ย่านบางลำพูที่วันนี้น้ำปิ่มตลิ่งและมีไหลล้นมาท่วมบ้างในบ้างพื้นที่ตามน้ำทะเลหนุน เป็นสถานที่ที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีเพราะฉันทำงานอยู่แถวนี้ แต่ในย่านติดๆกันอย่างบางขุนพรหม ฉันกลับไม่ค่อยได้ไปเดินซอกแซกเลย แต่หลังจากที่ "พี่นัท-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา" ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คนเดิมชวนฉันไปเดินเล่นย่านบางขุนพรหมบางลำพู ในกิจกรรมสรรพ์สารศิลป์ เมื่อไม่นานมานี้ ฉันในฐานะคนย่านนี้รีบตกปากรับคำในทันที

สำหรับสถานที่แรกในทริปเดินเท้านี้ พวกเราไปเจอกันที่วัดอินทร์ หรือ “วัดอินทรวิหาร” สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณ พ.ศ.2295 เดิมชื่อวัดไร่พริก แต่มาเปลี่ยนเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินในตำบลบางขุนพรหมให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของครอบครัวเชลยชาวเวียงจันทน์ เจ้าอินทร์ผู้เป็นน้าชายของเจ้าน้อยเขียวพระสนมเอก ได้บูรณะพระอารามขึ้นและนิมนต์เจ้าคุณพระอริญญิก พระสงฆ์ชาวเวียงจันทร์ที่อพยพมาด้วยกันขึ้นปกครองวัด ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดอินทร์” ตามนามผู้บูรณะ ต่อมามีการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง ผู้บูรณะคือ เจ้าอินทวงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ

อุโบสถทรงไทยแบบอยุธยาของวัดอินทร์ ภายในวัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต หรือ “พระศรีอริยเมตไตรย” ได้ริเริ่มสร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรขนาดใหญ่ สูงถึง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย และบนยอดเกศประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้เราได้กราบไหว้กันด้วย

ส่วนอุโบสถมีลักษณะเป็นทรงไทยแบบอยุธยา ประดับและปูพื้นด้วยหินอ่อนและหินแกรนิต ช่อฟ้าใบระกาหน้าบัน ซุ้มเสมา เป็นงานฝีมือปูนปั้นแบบอยุธยา ประดับกระจกดูแล้วงดงามมากทีเดียว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา และอีกสิ่งที่ไม่ควรพลาดคือจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องชีวประวัติของหลวงพ่อโตเอาไว้

พระประธานสมัยอยุธยาภายในอุโบสถวัดอินทร์ จากวัดอินทร์ ฉันเดินข้ามถนนมายัง “วังบางขุนพรหม” อัครสถานในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ประทานกำเนิดวังบางขุนพรหมแห่งนี้โดยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้รวบรวมจัดซื้อที่ดินสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ พระราชโอรส เมื่อปีพ.ศ.2442 ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากยุคบาโรกและรอกโกโกที่ดูแล้วรู้สึกถึงลวดลายที่โดดเด่นงดงามยิ่งนัก

ในอดีตวังแห่งนี้เป็นสถานที่จัดงานสโมสรสันนิบาต ต้อนรับแขกเมือง เป็นที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นสถานที่ให้ครูชาวต่างชาติใช้จัดสอนวิชาต่างๆให้กับพระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวังอื่นๆ จนเรียกกันติดปากว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้”

สถาปัตยกรรมของวังบางขุนพรหม แต่มาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯต้องลี้ภัยไปประทับ ณ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย วังบางขุนพรหมได้แปลงมาใช้เป็นสถานที่ราชการหลายแห่งด้วยกัน จนเมื่อปี 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เช่าวังบางขุนพรหมเป็นที่ทำการธนาคาร และเคยใช้เป็นที่ตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยที่เรียกว่า สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม มาในปัจจุบันได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย วังบางขุนพรหม โดยปกติแล้วการจะเข้าชมภายในจะต้องทำหนังสือขออนุญาตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่ในช่วงนี้เปิดให้เข้าชมได้โดยไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาตในวันจันทร์และอังคาร ในเวลาราชการ โดยเฉพาะวันอังคารจะมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับประวัติ ในเวลา 10.30-11.00 ใครที่สนใจก็อย่ารอช้า มาชมกันได้เลย

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย วังบางขุนพรหม ใกล้ๆกับวังบางขุนพรหมนั้น ก็เป็นที่ตั้งของ “วังเทวะเวสม์” ซึ่งเป็นวังที่รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯสร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อ พ.ศ.2457 ตัวตำหนักใหญ่วังเทวะเวสม์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ เป็นอาคารแบบยุโรป 3 ชั้น ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค ส่วนอาคารย่อย 7 หลัง ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน แต่ปัจจุบันอาคารเหลือเพียง 2 หลังเท่านั้น

พิพิธภัณฑ์ฯวังเทวะเวสม์ หลังจากที่กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2466 กระทรวงสาธารณสุขซื้อวังเทวะเวสม์และใช้เป็นที่ตั้งกระทรวง ต่อมาเมื่อกระทรวงสาธารณสุขย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ซื้อที่ทั้งหมดไว้ และได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงวิธีอนุรักษ์โบราณสถานวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ในเชิงวิชาการด้านสถาปัตยกรรม ดังเช่นในปัจจุบัน

เมื่อชม 2 วังอันทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมกันแล้ว พวกเราเดินเลียบถนนสามเสนมายังสามเสนซอย 5 ต่อไปยัง “วัดสามพระยาวรวิหาร” วัดเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยหลวงวิสุทธิ์โยธามาตย์ (ตรุษ) ขุนนางเชื้อสายมอญ พร้อมด้วยวงศาคณาญาติได้ร่วมใจกันยกที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือนของขุนพรหม (สารท) ผู้เป็นน้องชาย อุทิศถวายเป็นวัดเพื่อเป็นผลบุญและเป็นอนุสรณ์แก่ ขุนพรหม ซึ่งเสียชีวิตด้วยไข้ป่า วัดนี้จึงได้ชื่อว่า "วัดบางขุนพรหม"

พระอุโบสถแบบจีน วัดสามพระยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่3 วัดบางขุนพรหมชำรุดทรุดโทรมลง พระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง) พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพอรชุน (ทองห่อ) ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวคนสุดท้อง (พวา) ของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สารท) จึงพร้อมใจกันปฏิสังขรณ์วัดจนสำเร็จบริบูรณ์ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 และพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ รับเป็นพระอารามหลวง พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "วัดสามพระยาวรวิหาร"

พระพุทธเกสร พระประธานภายในอุโบสถวัดสามพระยา พระอุโบสถของวัดก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อน 2 ชั้น มุงกระเบื้องลอนเคลือบสีแบบจีน หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ภายในประดิษฐานพระประธานนามว่า "พระพุทธเกสร" เป็นพระพุทธรูปปิดทองปางสมาธิ นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ปางอุ้มบาตร หรือหลวงพ่อนั่ง และพระพุทธไสยาสน์ หรือหลวงพ่อนอน ที่เป็นที่นับถือของชาวบ้านในละแวกนี้ด้วย

พระนอนวัดสามพระยามีพุทธลักษณะยิ้มดูอ่อนโยน จากวัดสามพระยา พวกเราเดินต่อไปตามถนนสามเสนผ่านแยกบางลำพูตรงไปยังตรอกมัสยิดจักรพงษ์ เพื่อไปยัง “มัสยิดจักรพงษ์” หรือ “สุเหร่าวัดตองปุ” เป็นศาสนสถานของชาวไทยมุสลิมในย่านบางลำพู สร้างขึ้นโดยชาวเมืองปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 1

มาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เชลยที่มีความสามารถทางด้านการทำทองจะถูกส่งตัวมาทำงานในย่านนี้ ทำให้ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์มีความสามารถในเรื่องการทำทองสืบต่อกันมา แต่ปัจจุบันในชุมชนไม่มีการทำทองแล้ว เนื่องจากการทำทองทำได้ยากและเสียเวลาทำให้ไม่มีผู้ใดสืบทอดการทำทองต่อไป

มัสยิดจักรพงษ์ สร้างโดยชาวปัตตานี เปลี่ยนอารมณ์เข้ามัสยิดไปแล้วก็กลับมาปิดท้ายทริปนี้ที่ “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” วัดที่มีชื่อเป็นมงคลยิ่งวัดนี้สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดกลางนา มาในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเป็นวัดตองปุ เพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ สงครามท่าดินแดงและสามสบ และสงครามที่ป่าซาง นครลำปาง

พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ พระประธานวัดชนะสงคราม เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 1 ก็ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานนามให้ใหม่ว่า“วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง

พระอุโบสถมีขนาดใหญ่ลักษณะเป็นโรงโถง หน้าบันมีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ แกะสลักเป็นรูปซุ้มประตูมีนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มประตูเป็นรูปปั้นลายกนก บานประตูจำหลักลายกนกลงรักปิดทองประดับกระจก ด้านในมีภาพจิตรกรรมเขียนสีอันงดงาม สำหรับพระประธานภายในพระอุโบสถนามว่า “พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชษฐ์” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย

พระอุโบสถแบบไทยขนาดใหญ่ วัดชนะสงคราม เมื่อกราบไหว้ขอพรปิดท้ายและชมความงามของฝีมือสกุลช่างวังหน้ากันแล้ว ก็เป็นอันจบทริปเดินเท้าเลาะเลียบย่านบางขุนพรหม-บางลำพู ซึ่งช่วงนี้สถานการณ์ในย่านนี้แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วม แต่ก็ถือว่ายังเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถ้าหากว่าเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านพ้น บริเวณนี้ถือเป็นอีกหนึ่งย่านประวัติศาสตร์ที่มากไปด้วยสิ่งชวนชมและของกินอร่อยๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถหาวันหยุดมาเดินเที่ยวกันได้แบบไม่รู้เบื่อ
ที่มา //www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000145272
Create Date :14 พฤศจิกายน 2554 Last Update :14 พฤศจิกายน 2554 21:01:25 น. Counter : Pageviews. Comments :2