bloggang.com mainmenu search
       “ภูทอกแหล่งพระธรรม ค่าล้ำยางพารา งามตาแก่งอาฮง บึงโขงหลงเพลินใจ น้ำตกใสเจ็ดสี ประเพณีแข่งเรือ เหนือสุดแดนอีสาน นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ศูนย์รวมใจศาลสองนาง”

       คำขวัญจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดใหม่ล่าสุดของไทยในลำดับที่ 77

       บึงกาฬแม้จะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก แต่จังหวัดนี้ก็มีเสน่ห์ในวิถีอันเรียบง่ายสงบงามของเมืองริมฝั่งโขงให้ค้นหา

       สำหรับสถานที่สำคัญในลำดับต้นๆของบึงกาฬก็คือ “ภูทอก” ที่เป็นภาษาอีสาน แปลว่า “ภูเขาที่โดดเดี่ยว”

       แหล่งพระธรรม

       ภูทอกตั้งอยู่ในเขตบ้านคำแคน ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล ประกอบด้วยภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย

       ภูทอกใหญ่เป็นภูโดดเดี่ยวที่ยังเป็นป่าไม่ได้เปิดให้ขึ้นไปเที่ยวชม ส่วนภูทอกน้อยนั้นไม่โดดเดี่ยว เพราะเป็นที่ตั้งของ “วัดภูทอก”หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดเจติยาคีรีวิหาร”

       วัดภูทอก เป็นวัดป่าพระกรรมฐาน ที่ท่าน“พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” พระป่าสายกรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์มั่น ได้มาสร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เพื่อเป็น “รุกขมูลเสนาสนัง” สถานที่ปฏิบัติธรรม ปลีกวิเวก ตัดกระแสโลกย์ เพ่งเพียรในวัติปฏิบัติ เพราะพื้นที่ป่าภูทอก(น้อย)มีความร่มรื่นสงบเงียบ เหมาะสำหรับปฏิบัติธรรมของพระกรรมฐาน

       มาวันนี้เมื่อเวลาผ่านมากว่า 40 ปี พื้นที่ป่ารอบวัดภูทอก ถูกหักร้างถางพงสร้างเป็นหมู่บ้าน ชุมชน ถนนหนทาง ไร่สวน แต่ป่าภูทอกยังคงความร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งด้วยลักษณะอันโดดเด่นของขุนเขาและความสำคัญของการเป็นดินแดนธรรม ภาพของภูทอกจึงถูกนำไปบรรจุไว้ในตราประจำจังหวัดบึงกาฬคู่กับ “บึงโขงหลง”พื้นที่ธรรมชาติอันขึ้นชื่อของบึงกาฬ

       เคร่งครัด เคารพสถานที่
       แม้ภูทอกจะเป็นสถานที่สำคัญขึ้นชื่อของบึงกาฬ แต่ปัจจุบันทางวัดยังคงเจตนารมณ์ของพระอาจารย์จวนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น นั่นก็คือการติดป้ายประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจนว่า

       “...วัดภูทอก “ท่านพระอาจารย์จวน ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานบำเพ็ญเพียรภาวนา ปฏิบัติธรรม วิปัสสนากัมมัฏฐาน(ใช้ตัวสะกดตามป้ายของวัด) โปรดเยี่ยมชมด้วยความสงบ เคารพสถานที่...”

       นอกจากนี้ทางวัดยังเคร่งครัดต่อการเข้าเยี่ยมชม ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามขีดเขียนทุกที่-ทุกจุด ห้ามทิ้งขยะบนเขาใครที่นำอะไรขึ้นไปให้นำกลับลงมาด้วย คนที่แต่งกายไม่สุภาพ โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่นุ่งน้อยห่มน้อยทางวัดเขาติดป้ายประกาศห้ามขึ้นไปบนยอดภูทอก(เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์) ที่เด็ดไปกว่านั้นคือทางวัดติดป้ายประกาศไว้เด่นชัดบริเวณลานจอดรถว่า

       “ถ้านุ่งน้อยห่มน้อย อย่าลงจากรถเด็ดขาด”

       มหัศจรรย์แห่งภูทอก

       วัดภูทอกเป็นวัดป่าอันร่มรื่น เมื่อเข้ามาในวัดจะเห็นสระน้ำมีจุดนั่งพักชมวิว เบื้องหน้าสระน้ำมองขึ้นไปด้านบนจะเป็นยอดภูทอกตั้งตระหง่านทอดตัวสะท้อนเงาน้ำดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์

       ขณะที่ด้านข้างของสระน้ำเป็นที่ตั้งของ “เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐ-บริขาร พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม สีน้ำตาลแดง ยอดสีทอง ส่วนฐานบริเวณด้านนอกมีงานประติมากรรมภาพนูนต่ำจัดแสดงเรื่องราวอัตชีวิตช่วงเด่นๆของพระอาจารย์จวน ส่วนด้านในมีรูปเคารพของพระอาจารย์จวนขนาดเท่าองค์จริง และจัดแสดงอัฐบริขารในสมัยบำเพ็ญสมณธรรม เรื่องราวบางส่วนของท่าน และบรรจุพระอัฐิธาตุไว้ให้สักการบูชา

       ภูทอกมีจุดเด่นที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่เส้นทางแห่งศรัทธาที่พระ เณร และชาวบ้าน ได้ร่วมกันสร้างบันไดและสะพานเวียนรอบไหล่ผาไว้ตั้งแต่สมัยพระอาจารย์ก่อตั้งวัด

       เส้นทางแห่งศรัทธามีทั้งหมด 7 ชั้น ก่อสร้างด้วยไม้เป็นหลัก แต่บางช่วงก็นำจุดเด่นของสภาพพื้นที่มาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น บันไดหินทราย บันไดลอดรูถ้ำ หรือทางเดินใต้เพิงผาถ้ำที่สร้างอิงแอบกับสภาพพื้นที่ไปอย่างกลมกลืน นับเป็นงานวิศวกรรมที่ก่อสร้างด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านอันน่าทึ่งไม่น้อย ถึงขนาดบางคนยกให้ว่านี่คือความ“มหัศจรรย์แห่งภูทอก”กันเลยทีเดียว

       7 ชั้นสู่ยอด

       สำหรับเส้นทางแห่งศรัทธาทั้ง 7 ชั้นนั้น ชั้นที่ 1-2 จะเป็นบันไดสูงชัน นำสู่ชั้น 3 ที่เป็นจุดเริ่มของทางเดินรอบเขา มีทางแยก 2 ทางให้เลือกเดิน ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้ แต่เป็นทางชันมากผ่านซอกหินผาที่มีลักษณะคล้ายถ้ำน้อยๆ ส่วนทางขวาจะเป็นทางเดินสู่ชั้นที่ 4 ที่มีการทำทางเป็นสะพานไม้เดินเลาะเลียบลอยออกมาจากหน้าผา ชั้นนี้จะเป็นที่พักของแม่ชี สะพานรอบเขามีระยะทางประมาณ 400 เมตร ระหว่างทางมีที่พักเป็นระยะๆ

       แต่ถ้าใครเดินไหว อย่าพลาดการขึ้นไปชั้น 5 เพราะถือเป็นชั้นไฮไลท์ที่สำคัญที่สุด ชั้นนี้มีทางเดินรอบ มีทั้งเส้นทางสะพานไม้ที่สร้างยื่นออกไป และทางเดินบนลานดินใต้เพิงผาที่ธรรมชาติกัดเซาะหน้าผาจนเป็นซอกเว้าลึกเข้าไป เป็นเส้นทางเดินที่มีหลังคาธรรมชาติช่วยกันแดดกันฝน ระหว่างทางเดินรอบเขาบางจุดเป็นที่นั่งปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน บางจุดมีกุฏิพระสร้างยื่นออกมาจากเพิงผา และมีหลายช่วงเป็นหน้าผามีชื่อต่างๆ เช่น ผาเทพนิมิต ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น และก็มีหลายช่วงเป็นจุดที่ทางวัดเรียกว่าถ้ำ ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำยอ ถ้ำฤาษี เป็นต้น

       นออกจากนี้ยังมีถ้ำพระวิหารเป็นจุดสำคัญ มีลักษณะเป็นเพิงผาที่มีการก่อสร้างเป็นศาลา มีพระพุทธรูปประดิษฐาน พร้อมด้วยรูปเคารพหลวงปู่จวน(พระอาจารย์จวน)ให้กราบไหว้บูชา หน้าปากทางเข้าถ้ำจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ใส่ตู้โชว์ไว้เพื่อให้ผู้ดูได้ปลงสังขาร อนิจจัง พร้อมบอกตำแหน่งของกระดูกต่างๆด้วยภาษาพื้นบ้านและข้อความเตือนใจ ว่า “...นานไปกลายเป็นฝุ่น สูญสิ้นเป็นดิน โลกนี้อนิจจัง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สัพเพ สังขารา ทุกขา, สัพเพ สังขารา อนัตตา คนเราเป็นอย่างนี้...”

       บนชั้น 5 ยังมีจุดไฮไลท์อีกแห่งหนึ่ง คือ “พุทธวิหาร” สถานที่ที่มีธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์เป็นก้อนหินแยกตัวมาจากก้อนหินใหญ่ ดูจะตกแหล่ไม่ตกแหล่ คล้ายพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า หรือเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรี ปัจจุบันมีการสร้างอาคารไม้เล็กๆ ภายในประดิษฐานรูปเคารพหลวงปู่จวนและพระพุทธรูปองค์เล็กๆให้สักการบูชา

       พุทธวิหารแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ มีข้อความที่ทางวัดเขียนไว้ว่า “พุทธวิหารนี้ เป็นที่ที่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระองค์หนึ่ง เสด็จมาดับขันธ์นิพพาน” : หลวงปู่ขาว อนาลโยบอก หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ เล่า”

       ถัดขึ้นไปในชั้น 6 ถือเป็นเส้นทางเดินชมวิวชั้นดี มีหลายมุมมองให้ทัศนา ไม่ว่าจะเป็นวิวของวัดที่มองลงจะเห็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐ-บริขารของพระอาจารย์จวนตั้งโดดเด่นอยู่ใกล้ๆกับสระน้ำ วิวทิวทัศน์กันกว้างไกลของพื้นที่รอบข้างที่มองลงไปเห็นอำเภอศรีวิไล สวนยางพารา และพื้นที่ป่าสีเขียวรอบข้างวัด

       ใครที่คิดว่าเดินต่อไปไม่ไหวหรือสังขารไม่เอื้ออำนวย เดินขึ้นภูทอกแค่ชั้น 5 นี้ก็พอ ส่วนใครที่แรงยังดีและมีเวลาพอผมขอแนะนำให้ขึ้นไปจนสุดถึงชั้น 7 เพราะไหนๆเมื่อเดินขึ้นมาแล้วควรขึ้นให้ถึงชั้นสูงสุดที่เป็นดังชั้นดาดฟ้าของภูทอก เมื่อขึ้นไปถึงจะเป็นป่าโปร่ง(ไม่มีสะพานเดินรอบ) แต่จะมีเส้นทางเดินไปยังจุดชมวิว 2 -3 จุด มีจุดที่เป็นไฮไลท์คือจุดชมวิววิวของพุทธวิหารในมุมสูงแบบเบิร์ดอายวิวที่มองลงไปเห็นขุนเขาเบื้องหลังลูกย่อมตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลัง เบื้องด้านถัดเข้ามาด้านขวามือเป็นอาคารพุทธวิหารที่ดูคล้ายมีก้อนหินใหญ่วางทับอยู่บนหลังคา แต่อันที่จริงเป็นการสร้างอาคารและหลังคาต่อเดิมมาจากแนวธรรมชาติเดิม นับเป็นการดึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติมาปลูกสร้างอาคารบนยอดเขาที่เห็นแล้วชวนทึ่งไม่น้อยเลย

       เส้นทางแห่งธรรม

       สำหรับเส้นทางแห่งศรัทธาที่นำขึ้นสู่ยอดภูทอกนั้นเหล่าบรรพชิตในวัดเคยใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม วิปัสนากรรมฐานเพื่อนำไปสู่การหลุดพ้น

       ขณะที่เหล่าบรรดาเพศฆราวาสอย่างเราๆท่านๆที่มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมชมบนยอดภูทอกนั้น พระในวัดภูทอกรูปหนึ่งได้เคยบอกกับผมว่า ในเส้นทางสู่ยอดภูทอกนั้นเป็นดังเส้นทางแห่งธรรม ที่ทางวัดต้องการให้ผู้เดินขึ้นยอดภูทอกได้เรียนรู้ และรับรู้ในธรรมะบนเส้นทางธรรมสายนี้

       นั่นจึงทำให้ตั้งแต่แรกเริ่มที่เดินสู่ทางเข้าไปจนถึงยอดชั้น 7 จะมีป้ายคำคม คำกลอน ข้อคิด ติดตามต้นไม้ เพิงผา เพื่อแสดง“ธรรม”บอกระหว่างทางแก่ผู้พบเห็นและขบคิดตามไปตลอด ด้วยแนวคิด

       “ที่ภูทอก ต้นไม้ทุกต้น ก้อนกินทุกก้อน ร้องบอกธรรมอยู่ทุกวันคืน!”

       อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าจิตเจตนาของทางวัดจะถูกมองข้าม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มาขึ้นภูทอกมักจะละเลยไม่ได้อ่านป้ายข้อคิดคติบอกธรรม เพราะบ้างมุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับความเหน็ดเหนื่อย บ้างก็เพลิดเพลินกับวิวทิวทัศน์ มีน้อยคนนักที่จะมุ่งสนใจอ่านและคิดตาม ที่แย่ที่สุดก็เห็นจะเป็นพวกมือบอนที่แม้ทางวัดจะเขียนข้อความกำชับว่าอย่าขีดเขียน แต่พวกก็ยังมือบอนไปขีดเขียนเติมต่อ

       ดังเช่นบางคนที่มือบอนไปเขียนคำว่า “เมาคลีลูกหมาป่า” เติมต่อท้ายป้ายข้อความแสดงธรรม

       งานนี้สงสัยยังคงอินกับเดี่ยวของโน้ส อุดมไม่หาย แต่พวกนอกจะไม่รับรู้ในธรรมะแล้ว แล้วเข้าข่าย “ทำลาย”อีกด้วย


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000133304
Create Date :24 ตุลาคม 2556 Last Update :24 ตุลาคม 2556 20:29:10 น. Counter : 1271 Pageviews. Comments :1