bloggang.com mainmenu search
“ผาสาดลอยเคราะห์” พิธีกรรมโบราณของชาวเชียงคาน “เชียงคาน” เป็นอีกหนึ่งอำเภอของจังหวัดเลย ที่มีมนต์เสน่ห์ในเรื่องของวิถีชีวิตที่เรียบง่ายริมฝั่งโขง และยังคงมีเสน่ห์ของบ้านเรือนที่เก่าแก่ ทำให้นักท่องเที่ยวหลายๆ คนอยากจะมาสัมผัสเชียงคานกันสักครั้ง

ขบวนแห่พิธีกรรม “ผาสาดลอยเคราะห์”        นอกจากเสน่ห์เหล่านี้แล้ว เชียงคานยังมีเรื่องราวของวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันน่าสนใจที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน หลายชั่วอายุคน รวมถึงพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างพิธีกรรม “ผาสาดลอยเคราะห์” ซึ่งเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งชาวเชียงคานจะร่วมแรงร่วมใจจัดขึ้นเป็นงานใหญ่ในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี

“ผาสาดลอยเคราะห์” เป็นพิธีกรรมโบราณที่ทำสืบทอดต่อกันมานับร้อยปีแล้ว โดยชาวเชียงคานในสมัยโบราณเชื่อว่า หากผู้ใดเห็นสิ่งไม่ดี สิ่งไม่เป็นมงคล หรือมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบเคราะห์ร้ายถึงแก่ชีวิต ให้ทำการลอยผาสาด เพื่อเป็นการลอยสิ่งไม่ดีทิ้งไป จะทำให้ชีวิตดีขึ้น มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา

ชาวบ้านร่วมทำผาสาด        สำหรับ “ผาสาด” นั้นทำมาจากกาบกล้วย มีการทำฐานให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตกแต่งด้วยกรวยใบตอง และดอกไม้ ส่วนดอกไม้ที่ใช้ตกแต่งนั้นเป็นขี้ผึ้ง หรือเทียน โดยในสมัยก่อนการตกแต่งด้วยดอกไม้นั้น จะไม่มีดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม คนโบราณจะนำมะละกอมาแกะสลักเป็นดอกไม้ แล้วนำไปชุบน้ำเทียน จากนั้นนำไปชุบน้ำ สลับไปมาจนกว่าจะหลุดออกจากกัน และนำมาตกแต่ง

       ผาสาดนั้นจะมี 2 ขนาดด้วยกัน คือ ขนาดเล็ก เรียกว่าผาสาดลอยเคราะห์ และขนาดใหญ่ เรียกว่าผาสาดสะเดาะเคราะห์ ซึ่งผาสาดลอยเคราะห์(ขนาดเล็ก) มักจะใช้กับการลอยเคราะห์ทั่วไป เช่นรู้สึกไม่ดี คิดว่าตัวเองจะมีเคราะห์ ก็จะลอยผาสาดโดยการใส่เส้นผม หรือใส่เล็บของตัวเองลงไป ส่วนผาสาดสะเดาะเคราะห์ จะใช้สำหรับคนที่มีเคราะห์ใหญ่ เจ็บป่วยเจียนตาย หรือชะตาขาด ก็จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์จากพราหมณ์ด้วย

เครื่องเซ่น 9 ห้อง นายกมล คงปิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน (อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเชียงคาน) เล่าให้ฟังว่า ผาสาดลอยเคราะห์เป็นพิธีกรรมที่เป็นความเชื่อของคนเชียงคานมานานแล้ว โดยจะนิยมกระทำกันก็ต่อเมื่อมีบุคคลรู้สึกว่าเจ็บป่วย ไปรักษาแพทย์แผนปัจจุบันไม่พบโรค มีอาการ 3 วันดี 4 วันไข้ เข้า-ออก โรงพยาบาลประจำ ก็จะไปให้หมอชาวบ้านดูว่าเป็นเพราะอะไรถึงได้ป่วยไม่หาย อาจมีสาเหตุมาจากเจ้ากรรมนายเวร หรือผู้เฒ่าผู้แก่ บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้วมาขอส่วนบุญส่วนกุศล หรือบางคนอาจไปรุกล้ำที่สาธารณะ หรือไปรุกล้ำถางป่าทำไร่ทำสวน ก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สบาย ก็จะไปให้หมอชาวบ้านดู หมอชาวบ้านก็จะบอกให้ไป “เฮ็ดเวียก”

ผาสาดสะเดาะเคราะห์ (ขนาดใหญ่) “เฮ็ดเวียก” (ภาษาท้องถิ่น) คือการทำผาสาดลอยเคราะห์ โดยนำกาบกล้วยมาทำ ภายในจะมีช่องแบ่งเป็น 9 ห้อง ใน 9 ห้องจะมีเครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้ากรรมนายเวร ประกอบไปด้วยของคาว ของหวาน ทั้งหมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน ฯลฯ เมื่อทำผาสาดแล้วก็จะมีการทำพิธีกรรม โดยพรามณ์จะเป็นคนทำพิธีกรรม มีการอัญเชิญเจ้ากรรมนายเวรให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ไป จากนั้นนำผาสาดไปลอยลงสู่แม่น้ำโขง 

“ที่เชียงคานนิยมไปลอยที่แม่น้ำโขง เพื่อให้สิ่งที่ไม่เป็นมงคล สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร ไหลไปกับน้ำ เขาก็นิยมทำกันอย่างนี้แหละครับ แล้วก็ทำได้ทุกวัน ไม่ได้เลือกวัน ก็หมายถึงว่าถ้าใครจะทำประกอบพิธีกรรมนี้ก็ทำได้เลย แต่จะมีเคล็ดลับอย่างหนึ่งคือ ถ้าเกิดเอาผาสาดลอยเคราะห์ไปวางไว้ที่ทางสามแพร่ง หรือเอาไปปล่อยที่แม่น้ำโขง เวลาปล่อยเสร็จอย่าไปมองดูมัน หมายความว่าไม่อาลัยอาวรณ์กันแล้ว คือสิ่งที่เป็นเสนียด จัญไร อย่าหันไปมอง และหลังจากปล่อยเคราะห์ไปกับผาสาด เขาก็จะทำพิธีผูกข้อต่อแขน บายศรีสู่ขวัญ เรียกขวัญที่ไม่อยู่กับตัว ที่ไปอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร ที่เร่ร่อนให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว” กมล บอก

กรรมวิธีการทำดอกไม้ของคนโบราณ        ด้าน ลุงสายทอง นนที พราหมณ์ผู้ทำพิธี เล่าให้ฟังว่า “พิธีกรรมลอยผาสาดนี้ หมายถึงว่าเราจะลอยเคราะห์ที่มีอยู่กับตัว คือสิ่งที่ไม่ได้ไม่งามที่อยู่กับเรา เป็นต้นว่าเดินไปไม่เห็นหัว คือเงาเราไม่มีหัว อันนี้เป็นเคราะห์ ตุ๊กแกตกมาต่อหน้าเราก็เคราะห์ ทำงานทั้งปีไม่ได้เลื่อนขั้นนี่ก็เคราะห์ ไปที่ไหนมีแต่คนนินทาว่าก็เคราะห์ มีกรรมแต่ปางก่อนก็เคราะห์ ถ้าลางคือฝันไม่ดี หรืออยู่เฉยๆ ตายิกๆ ยักๆ (กระตุก) ก็เรียกว่าลาง เคราะห์กับลางมันมาพร้อมกัน อย่างลางไม่ดี วันนี้ตาเขม่นข้างขวาญาติพี่น้องจะเป็นอะไรหนอ ถ้าข้างซ้ายจะได้ลาภได้เงินได้ทองรึเปล่าหนอ อันนี้เค้าเรียกลาง”

นักท่องเที่ยวร่วมลอยผาสาด        “คนที่ลอยผาสาดอันใหญ่ (ผาสาดสะเดาะเคราะห์) คือคนที่เคราะห์มันแรง ถึงชะตาขาด ต้องทำกระทง 9 ห้อง (ขนาดใหญ่) ต้องมีอาหารหวาน คาว เชิญตัวเคราะห์ที่อยู่ 8 ทิศ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อีสาน อุดร ให้มารับเอาไป อันนี้เป็นเคราะห์ใหญ่ถึงขั้นตาย ข้างในก็ต้องมีอาหารให้ครบ อย่างทิศอีสานก็ต้องมีข้าวดำ ข้าวแดง อาคเนย์ต้องเป็นสีแดง ทักษิณก็สีขาว หรดีสีแดง ประจิมสีหมุ่ย (สีหม่นๆ) พายัพสีดำ อุดรสีเหลืองทอง บูรพาก็สีแดง แล้วก็ต้องมีสัตว์ประจำทิศ 8 ตัว คือ ช้าง วัว ครุฑ แมว ราชสีห์ เสือ นาค หนู โดยเอาดินน้ำมันมาปั้น แล้วนำไปลอยน้ำ หรือฝังไว้ที่ที่ดินที่สามแพร่ง ฝังไว้แล้วห้ามเหลียวหลังดู ถ้าเหลียวหลังดูมันตามมาอีก” พราหมณ์กล่าวปิดท้าย

บรรยากาศลอยผาสาดยามเย็นริมน้ำโขง        ด้านนักท่องเที่ยว นายณัฐกร หงษ์โต นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานผาสาดลอยเคราะห์ ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย บอกว่า รู้สึกประทับใจในการมาเที่ยวที่เชียงคาน นอกจากจะได้มาเที่ยวช่วงออกพรรษาแล้ว ยังมาเห็นพิธีกรรมการลอยผาสาดอีกด้วย

       “รู้สึกตื่นเต้น ชาวบ้านที่นี่สนุกสนานกับการจัดงาน ทำให้นักท่องเที่ยวก็สนุกไปด้วย ส่วนตัวคิดว่าเป็นงานที่หาดูได้ยาก เพราะไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน มาเที่ยวแล้วก็ได้มาลอยผาสาดด้วย ถือเป็นการลอยเคราะห์ไปด้วยในตัว ก็รู้สึกประทับใจ อยากให้มีการจัดงานแบบนี้ทุกปี ประเพณีโบราณแบบนี้จะคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้เห็นต่อไป” นักท่องเที่ยวกล่าวปิดท้าย



//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000131842
Create Date :21 ตุลาคม 2556 Last Update :21 ตุลาคม 2556 21:16:32 น. Counter : 1916 Pageviews. Comments :1