bloggang.com mainmenu search
โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ค Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี ปิตุโกร น้ำตกที่สูงที่สุดในเมืองไทย        แม้จะไม่ใช่คนหัวใจมักง่ายอย่างพี่“แช่ม แช่มรัมย์” แต่หลายต่อหลายครั้งของการเดินทาง ผมมักจะเผลอไผลทำหัวใจตกหล่น ทำให้ต้องกลับไป“ตามหาหัวใจ”อยู่บ่อยครั้ง

       ทว่า...สำหรับในครั้งนี้กลับต่างออกไป เพราะผมเลือกที่จะดั้นด้นไปตามหาหัวใจที่ตัวเองไม่ได้ทำตกหล่นหรือถูกใครขโมยไป หากแต่ไปเพื่อที่จะตามหาหัวใจกลางป่าผืนใหญ่แห่งแผ่นดินดอยลอยฟ้า “อ.อุ้มผาง” จ.ตาก

       เป็นหัวใจที่เกิดจากความมหัศจรรย์เล็กๆของธรรมชาติ นาม “น้ำตกปิตุโกร” น้ำตกอันยิ่งใหญ่สวยงามที่มากไปด้วยเสน่ห์น่าเพริศแพร้วกระไรปานนั้น

       1...

       ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสภาพพื้นที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก อำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย(มีพื้นที่ : 4,325.4 ตารางกิโลเมตร) ทำให้ที่นี่มีน้ำตกที่ถูกค้นพบแล้วอยู่มากมายหลายสิบแห่ง และแน่นอนว่าที่มาเป็นเบอร์หนึ่งย่อมหนีไม่พ้น น้ำตก“ทีลอซู” อันลือลั่นติดอันดับโลก

       ขณะที่น้ำตกปิตุโกรเป้าหมายสำคัญของเราในทริปนี้นั้นก็ใช่ย่อย นี่เป็น“น้ำตกที่สูงที่สุดในเมืองไทย” ที่ความงามของน้ำตกจะแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มเปี่ยมในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ซึ่งนั่นก็ทำให้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานตาก ได้ชูน้ำตกปิตุโกรเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการท่องเที่ยวหน้าฝนของจังหวัดตาก ที่แม้การเดินทางไปพิชิตสายน้ำตกปิตุโกรนั้นค่อนข้างสมบุกสมบัน แต่ด้วยความงามและลักษณะพิเศษของตัวน้ำตกก็ทำให้เหล่านักเดินทางผู้รักความท้าทาย ต่างมุ่งหวังที่จะไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของน้ำตกแห่งนี้กันสักครั้งหรือมากกว่านั้น

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี ทิวทัศน์ยามเย็น ณ จุดชมวิวลอยฟ้า ในระหว่างทางสู่อุ้มผาง        2...

       ความที่ผมไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้อุ้มผาง ดังนั้นกับโค้งมากมายที่นับรวมกันได้ 1,219 โค้ง บนถนนหมายเลข 1090 แม่สอด-อุ้มผาง จึงไม่ใช่อุปสรรคในการเดินทาง แต่อย่างก็ดีด้วยสภาพถนนบวกกับโค้งจำนวนมาก ทำให้มันกินเวลาในการนั่งรถอยู่มากโข ออกจากกรุงเทพฯแต่เช้าตรู่มาถึงยังอุ้มผางก็ค่ำมืดพอดี

       และด้วยความเหนื่อยล้าทำให้ผมกับเหล่าสมาชิก เข้านอนกันแต่หัววัน ณ ที่พัก “ตูกะสู คอทเทจ” ท่ามกลางเสียงสายฝนพรำที่เป็นดังเสียงดนตรีขับกล่อม

       เช้าวันใหม่...ฝนยังคงโปรยสายมาบางๆ ชนิดที่ผมกับเพื่อนต่างทำใจกันว่าการเดินป่าตามหาหัวใจในทริปนี้คงโดนฝนถล่มเปียกแหงมๆแน่นอน ดังนั้นทางที่ดีเพื่อความชัวร์ พี่“สุชาติ จันทร์หอมหวล” หรือ “พี่อู๊ดดี้” เจ้าของตูกะสูที่จะร่วมเดินทางไปพิชิตปิตุโกรกับเราจึงแนะนำว่า ใครที่ไม่ได้นำรองเท้าเดินป่าแบบมีพื้นยึดเกาะติดดิน หิน อย่างดีมา ควรไปซื้อเจ้า“สตั๊ดดอย” ที่มีขายในร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรในตัว อ.อุ้มผาง มาใส่ เพื่อจะได้ทำให้การเดินป่าคล่องตัวขึ้นมาอีกมากโข

       จากนั้นหลังจัดเตรียมข้าวของ หม่ำข้าวต้มมื้อเช้าเสร็จ พวกเราก็ไปหาซื้อเจ้าสตั๊ดดอยพร้อมถุงเท้าบอลหนาๆยาวๆมาใส่ บางคนใส่กัน 2-3 ชั้น เพื่อป้องกันเจ้าสตั๊ดรองเท้าคู่ใหม่กัด ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่หมู่บ้าน“กุยเลอตอ” จุดเริ่มออกเดินเท้าของเราในทริปนี้

       กุยเลอตอ เป็นบ้านเล็กในป่าใหญ่ของชาวปกาเกอะญอ(หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกพวกเขาด้วยภาษาไม่สุภาพว่า“กะเหรี่ยง”) หมู่บ้านกุยเลอตอตั้งอยู่ที่ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง เป็นชุมชนเล็กๆที่เรียบง่าย สงบ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ ดำเนินวิถีเรียบง่ายที่วิถีคนเมืองอย่างผมยากยิ่งที่จะได้สัมผัส

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี ทุ่งนาระหว่างทางที่บ้านกุยเลอตอ        หมู่บ้านกุยเลอตอ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภออุ้มผางประมาณ 60 กม. แต่ด้วยสภาพถนนที่ขึ้นเขา ลงเขา คดเคี้ยว แถมเส้นทางยังดีบ้าง พิการบ้าง ทำให้เราใช้เวลาถึงชั่วโมงครึ่ง จึงมาถึงยังศาลาพักริมทางปากทางเข้าหมู่บ้านกุยเลอตอ จุดเริ่มต้นของการออกเดินเท้า

       เส้นทางในช่วงแรกต้อนรับการสนองนโยบายส้นตีนแห่งชาติของผมด้วยการเดินลุยตามลำธารช่วงสั้นๆ ผ่านเข้าสู่ถนนเลาะเรียบริมรั้วไร่-นาของชาวบ้านไปบนเส้นทางลูกรังที่ควายเดินได้ง่ายกว่าคนในคณะของพวกเรา เพราะมันเต็มไปด้วยปลักโคลน เดินย่ำเท้าลงไปทั้งติดหนึบ เลอะ เปียก แฉะ ซึ่งถ้าไม่ได้สตั๊ดดอยปานนี้คงลื่นล้มหัวทิ่มหัวตำกันไปหลายดอกแล้ว

       ดังนั้นใครที่คิดจะใส่รองเท้าเดินป่าราคาแพงๆในหลักพันมาตะลุยเส้นทางที่นี่ ผมบอกได้เลยว่าสวมใส่สตั๊ดดอยก็เดินได้ฉลุยไม่ต่างกัน ที่สำคัญคือมันคุ้มค่าคุ้มราคาสุดๆ เพราะสนนราคาแค่หลักสิบเท่านั้น

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี เส้นทางลุยผ่านลำธาร        สำหรับการเดินสู่ปิตุโกรในทริปนี้ใช้เส้นทางใหม่ที่ทางชุมชนบ้านกุยเลอตอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และกลุ่มผู้ประกอบการ ได้ไปจัดระบบ จัดทำ จัดวางเส้นทางกันใหม่ โดยในวันแรกเราเดินกันประมาณ 5 กม.(ใช้เวลา 2-3 ชม.) ไปบนเส้นทาง“ราบลื่น” คือส่วนใหญ่เป็นทาง“ราบ”(มีความชันน้อย)ผ่านไร่นาวิวสวยๆซึ่งมากไปด้วยความ“ลื่น”จากดินโคลน รวมถึงเส้นทางลุยลำธารผ่านสายน้ำตื้นๆเย็นฉ่ำ ก่อนจะถึงยังจุดหมายที่พักในแคมป์หนึ่ง หรือแคมป์ “น้ำตกมึเลโกร”

       แคมป์น้ำตกมึเลโกร มีอดีตกระท่อมเฝ้านาของผู้ใหญ่บ้านที่ยกให้กับชุมชนกุยเลอตอจัดทำเป็นจุดพักนักท่องเที่ยว จากกระท่อมเดินลงไปจะเป็นตัว“น้ำตกมึเลโกร” ที่เป็นน้ำตกขนาดเล็กสูงประมาณ 5 เมตร และเป็นส่วนหนึ่งของน้ำตกปิตุโกรในส่วนชั้นล่าง ซึ่งวันรุ่งขึ้นเราต้องเดินขึ้นเขาชันเพื่อไปตามหาหัวใจยังน้ำตกชั้นบนที่เป็นจุดไฮไลท์

       น้ำตกมึเลโกร ชื่อให้เกียรติแก่ “มึเล” หญิงสาวชาวปกาเกอะญอคนหนึ่งที่เคยมาสร้างบ้านอาศัยอยู่ใกล้กับน้ำตก (โกร เป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ลำห้วย)

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี น้ำตกมึเลโกร น้ำตกปิตุโกรชั้นล่าง ใกล้แคมป์แรก        น้ำตกแห่งนี้มีสายน้ำใสไหลเย็น มีแอ่งให้เล่นน้ำ อาบน้ำ กระโดดน้ำ รวมถึงมีน้ำเย็นสะอาดสดชื่นตามธรรมชาติไหลราดรดใส่หัวโดยไม่ต้องพึ่งการเอาราดน้ำเย็นรดหัวตัวเองแต่อย่างใด ซึ่งหลังพวกเราเดินเหน็ดเหนื่อยลื่นเปรอะเลอะดินโคลนมา นี่นับเป็นจุดผ่อนคลายสำคัญ เป็นสปาธรรมชาติที่ช่วยสร้างความสดชื่นชุ่มฉ่ำให้กับร่างกายที่อ่อนล้า เติมพลังในการนั่งพูดคุยหลังอาหารค่ำ ซึ่งค่ำคืนนี้เรามีพี่จากมูลนิธิสืบฯกับทีมงานที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ที่มาร่วมกันพัฒนาเส้นทางตามหาหัวใจที่พักกางเต็นท์อยู่ใกล้ๆกัน มาร่วมสนทนารอบกองไฟ

       ประเด็นสำคัญของการพูดคุยในวันนั้นคือเรื่องของการจัดทำจุดพัก เส้นทางท่องเที่ยว รวมถึงการจัดการขยะ เพราะที่ผ่านมามีผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวหลายคณะนำอาหารเครื่องดื่มขึ้นไปกิน-ดื่ม แล้วทิ้งขยะไว้เรี่ยราดสร้างปัญหาให้กับผืนป่าอยู่พอสมควร

       ส่วนอีกประเด็นสำคัญก็คือ การบริหารจัดการน้ำตกปิตุโกรโดยชาวชุมชน ซึ่งวันนี้น้ำตกปิตุโกรถือเป็นหัวใจสำคัญของ “ป่าชุมชนกุยเลอตอ” ที่ชาวชุมชนที่มีมูลนิธิสืบฯเป็นพี่เลี้ยงจะต้องมาวางแผนจัดการด้านผืนป่าและด้านการท่องเที่ยวกันให้ดี ซึ่งนี่ถือเป็นงานใหญ่เพราะมีบทเรียนจากหลายๆชุมชนปรากฏเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การท่องเที่ยวเป็นดาบ 2 คม ด้านหนึ่งนำเม็ดเงินรายได้ สร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการทำลายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรม ที่สำคัญคือชุมชนท่องเที่ยวหลายแห่งในบ้านเรา เมื่อเงินมา ชุมชนก็เงิบ ไปไม่เป็น เกิดปัญหาเสียศูนย์ไปหลายชุมชนแล้ว

       แม้ประเด็นพูดคุยในค่ำคืนนี้จะฟังดูซีเรียส แต่พวกเราเลือกที่จะคุยกันแบบไม่ซีเรียส มีพักเบรกปล่อยมุข ก่อนจะแยกย้ายกันเข้านอน โดยที่หัวใจของผมมันได้มโนโบยบินไปตามหาหัวใจบนจุดไฮไลท์ของน้ำตกปิตุโกรล่วงหน้าแล้ว

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี แสงโพล้เพล้ในวันแรกของการเดินทาง        3...

       เช้าวันที่สอง...อากาศเป็นใจ ฝนไม่ตกเหมือนเช้าวันวาน นับเป็นฤกษ์ดีในการออกไปหาหัวใจ

       หลังกินข้าวเช้าเสร็จ พวกเราก็แพ็คของออกเดินทางผ่านน้ำตกมึเลโกรไปบนเส้นทางป่าดิบสูงชัน ซึ่งการเดินทางในวันนี้ หากเปรียบกับเมื่อวานนั่นคือการ“อุ่นเครื่อง” แต่วันนี้คือ“ของจริง” ชนิดที่บางคนในทริปแม้จะฟิตซ้อมร่างกายมาก่อนออกกำลังกายด้วยการเต้น T25 อยู่เป็นอาทิตย์ แต่เมื่อมาเจอทางเดินขึ้นสู่น้ำตกในวันที่สองนี้ถึงกับบ่นและออกอาการเหนื่อยอย่างแรงให้เห็น

       อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ระหว่างทางมีพืชพันธุ์เฉพาะถิ่น และดอกไม้เล็ก ดอกไม้น้อยอันสวยงามของให้ถ่ายรูปชื่นชมกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ดอกเทียนสีชมพูอมม่วงสดใส มะลิป่าสีขาวเนียน บิโกเนีย เห็ดถ้วยดอกโต พืชวงศ์ขิงข่า เฟิน ฯลฯ รวมไปถึงทางเดินเป็นเส้นทางเลาะลำห้วยปิตุโกรขึ้นไปสู่น้ำตกชั้นไฮไลท์ จึงมีวิวสวยๆของสายน้ำและน้ำตกชั้นย่อยให้ทัศนากันเป็นระยะๆ นับเป็นจุดพักสายตา จุดหยุดพักผ่อน ที่ช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยได้พอสมควร

       ในช่วงครึ่งแรกของเช้าวันที่ 2 นี้เราเดินกันในระยะทางไม่มากไม่มายแค่ประมาณ 2.5 กม. แต่ว่าก็กินเวลาไปถึง 1.5-2 ชม. กว่าจะพาตัวและหัวใจขึ้นมาถึงยังน้ำตกปิตุโกรชั้นไฮไลท์ จุดสิ้นสุดของเส้นทางตามหาหัวใจ

       สำหรับน้ำตกปิตุโกร ตั้งอยู่บนเทือกเขาสามหมื่น เป็นน้ำตกที่เกิดจาก“ลำห้วยปิตุโกร” ที่มีต้นน้ำ ตาน้ำ มาจากยอดดอยแห่งเทือกเขา“ดอยสามหมื่น” อีกหนึ่งจุดหมายหลักของเราในทริปนี้

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี น้ำตกปิตุโกร หัวใจดวงงามกลางป่าใหญ่        น้ำตกปิตุโกร ณ วันนี้ พ.ศ.นี้ ยุคนี้ ได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูงกว่า 500 เมตร (บางข้อมูลบอกว่าสูง 530 เมตร บ้างบอกว่าสูง 513 เมตร) ซึ่งหลังการค้นพบและเปิดตัวอย่างเป็นทางการทำให้น้ำตกปิตุโกรได้มีสถิติสูงที่สุดแซงหน้าแชมป์เก่าคือน้ำตกแม่สุรินทร์ จ.แม่ฮ่องสอน ที่สูงประมาณ 180-200 เมตร ไปร่วม 200 เมตร

       น้ำตกปิตุโกรไม่ใช่น้ำตกที่ไหลเป็นสายเดียวทิ้งดิ่งยาวอย่างน้ำตกแม่สุรินทร์ แต่เป็นน้ำตกที่ไหลเกาะลงมาบนหน้าผาหินยาวลงสู่เบื้องล่าง เป็นสายลำห้วยปิตุโกรที่ไหลไปลงลำห้วยแม่จัน ก่อนจะไหลลงลำห้วยแม่กลองที่เป็นต้นน้ำแม่กลองไหลผ่านหลายจังหวัด ก่อนไหลไปออกอ่าวไทยที่ จ.สมุทรสงคราม

       น้ำตกปิตุโกรในชั้นไฮไลท์นี้มี 3 ช่วง 3 มุม ให้ทัศนา และสามารถปีนขึ้นไปถ่ายรูปได้ แบบต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ในมุมชั้น 2 และมุมชั้น 3 โดยในมุมชั้น 3 นั้นต้องใช้ความระวังสูงสุด เพราะเป็นสาน้ำขาวฟูฟ่องหลายสายไหลมารวมกันก่อนมุดหายลงไปในหุบเหวสู่ผืนป่าเบื้องล่าง ที่หากใครคิดจะไปตามหาหัวใจตามสายน้ำที่ไหลลงไปนี้เป็นได้สิ้นใจแน่นอน

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี น้ำตกปิตุโกรในมุมมองชั้นสองเห็นเป็นรูปหัวใจตะแคงหรือตัววี        ส่วนในมุมชั้นที่สอง จะมองเห็นน้ำตก 2 สายหลักไหลมาบรรจบกัน ผมขึ้นไปยืนถ่ายรูปใกล้ๆ สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ของสายน้ำ ถ้ามองแบบนักเรียนสายวิทย์ก็จะเห็นน้ำตกเป็นรูปตัววี(V) ส่วนถ้ามองแบบนักเรียนสายศิลป์ก็จะเห็นน้ำตกเป็นรูปหัวใจตะแคง

       มาถึงในมุมมองชั้นแรกที่อยู่ไกลออกมา เราจะเห็นน้ำตก 2 สายหลัก ซ้าย-ขวา ไหลเป็นสายฟูฟ่องเกาะหน้าผาหินลงมา ซึ่งถ้ามองกันแบบธรรมดาในจุดที่ได้เหลี่ยมได้มุมชนิดที่ไม่ต้องใช้จินตนาการมากก็จะเห็นปิตุโกรเป็น“น้ำตกรูปหัวใจ” แต่ถ้ามองแบบใส่จินตนาการเข้าไปก็จะเห็นปิตุโกรเป็น “น้ำตกรูปหัวใจ”อีกเช่นกัน

       สรุปแล้วนี่คือ“น้ำตกรูปหัวใจ”!?! อันน่าทึ่ง

       4...

       ในที่สุดผลจากการออกดั้นด้นเดินป่ามาอย่างเหน็ดเหนื่อย เราก็ได้มาเจอหัวใจสีขาวฟูฟ่องกลางป่าใหญ่ท่ามกลางแมกไม้แวดล้อมเขียวขจี ณ บริเวณน้ำตกปิตุโกรชั้นไฮไลท์ ที่หากใครไปผิดช่วงในช่วงน้ำน้อยหัวใจจะกลายเป็นตัววาย(Y) แต่ถ้าใครมาถูกช่วงในเดือน ส.ค.-ก.ย. จะเห็นเป็นน้ำตกรูปหัวใจ ซึ่งความเป็นรูปหัวใจจะหนาหรือเป็นหัวใจบางๆอย่างหนุ่ม เสกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของปริมาณน้ำในช่วงนั้นๆ

แอ่ว“อุ้มผาง”ตามหาหัวใจกลางป่า...พิชิต“ปิตุโกร” น้ำตกสูงสุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี เห็ดถ้วย สิ่งน่าสนใจเล็กๆน้อยๆระหว่างทาง        นับเป็นหัวใจกลางป่าใหญ่แห่งผืนป่าอุ้มผางที่ผมและใครหลายๆคนออกตามหา

       นับเป็นมนต์เสน่ห์ของ“น้ำตกปิตุโกร”

       นับเป็นมนต์เสน่ห์ของ“น้ำตกที่สูงที่สุดในเมืองไทย”

       นับเป็นมนต์เสน่ห์ของ“น้ำตกรูปหัวใจ”

       นับเป็นมนต์เสน่ห์ของการ“มีใจ”ที่หาญกล้าไม่ย่นระย่อต่อความยากลำบาก

       สุดท้ายเราก็จะได้พบกับหัวใจงามดวงโตกลางป่าใหญ่

       *****************************************

       น้ำตกปิตุโกร ตั้งอยู่บนเทือกเขาสามหมื่น อ.อุ้มผาง เป็นน้ำตกที่สูงกว่า 500 เมตร (วัดด้วยเครื่อง GPS) เดิมน้ำตกปิตุโกร มีชื่อเรียกขานอื่นๆ อย่างเช่น “เปรโต๊ะลอซู”, “ปิตุ๊โกรทีลอซู”, “น้ำตกปิตุ๊โกร” ซึ่งล่าสุดทางชุมชน ผู้ประกอบการ และมูลนิธิสืบฯ ได้กำหนดให้ใช้คำกลางและตัวสะกดว่า “น้ำตกปิตุโกร”

       น้ำตกแห่งนี้ยังเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่จะเต็มเติมให้การท่องเที่ยวอีกแห่งของอุ้มผางให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากการไปเยือนน้ำตกทีลอซูอันโด่งดังในระดับโลกแล้วยังได้มาเยือนน้ำตกปิตุโกรที่สวยงาม

       การเดินทางไปเที่ยวน้ำตกปิตุโกร จากตัวอำเภออุ้มผาง โดยรถยนต์ใช้เส้นทางสายอุ้มผาง – บ้านเบิ้งเคลิ่งระยะทาง 60 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมง ถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงกุยเลอตอ จากหมู่บ้านเดินเท้าลัดเลาะผ่านลำธารน้ำ ถนนริมไร่นา ใช้เวลาเดินประมาณ 2-3 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่พัก

       จากนั้นเช้าในวันที่สอง จะเดินเท้าประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง เมื่อถึงน้ำตกปิตุโกรจะพบเห็นกับความงดงามทางธรรมชาติความสูงชันของน้ำตก และมุมมองน้ำตกรูปหัวใจ น้ำตกปิตุโกรมีน้ำให้ชมเฉพาะในฤดูฝนเพียงสี่เดือน คือ ก.ย. – พ.ย. โดยช่วงที่สวยที่สุดจะอยู่ในช่วง ส.ค.-ก.ย.

       สำหรับทริปการเที่ยวชมน้ำตกปิตุโกรนั้นมีทั้งแพกเกจเดินป่า นอนป่า 2 วัน 1 คืน และ 3 วัน 2 คืน โดยโปรแกรมหลังนี้ผนวกการขึ้นไปพิชิตจุดชมวิวดอยมะม่วงสามหมื่นหรือดอยสามหมื่นเข้าไปด้วย ทั้งนี้ในบริเวณที่พักคืนแรกมีน้ำตกให้เล่นน้ำ อาบน้ำ และมีห้องน้ำให้บริการ ส่วนที่พักคืนที่ 2 มีตาน้ำผุดต่อประปาภูเขาให้อาบน้ำ แต่ไม่มีห้องน้ำให้บริการ ต้องใช้บริการห้องน้ำธรรมชาติ

       ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานตาก โทร.055-514341-3

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000095885
Create Date :21 สิงหาคม 2557 Last Update :21 สิงหาคม 2557 22:04:31 น. Counter : 1373 Pageviews. Comments :1