bloggang.com mainmenu search

สะพานมอญ สัญลักษณ์แห่งเมืองสังขละ        ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษา(ปี 1)วัยละอ่อนผู้ดำเนินในแนวทางไม่มีตังค์แต่ดันทุรังอยากเที่ยว ทริปนั้นเราจึงใช้การเที่ยวแบบนั่งรถทัวร์ไปลงกาญจนบุรีแล้วก็โบกรถต่อไปยัง อ.สังขละบุรี ไปถึงก็ค่ำมืด สำหรับที่พักนอน มีหรือที่พวกเราจะไปเสียเงินนอนตามที่พัก(ที่มีอยู่ไม่มากในยุคนั้น) แต่ผมกับเพื่อนๆเลือกที่จะนอนวัดครับ

       เราไปกางเต็นท์นอนใน “วัดวังก์วิเวการาม” หรือ “วัดหลวงพ่ออุตตมะ” ตรงระเบียงไม้ที่แม่ค้า-พ่อค้าเขาขายของกันนั่นแหละ แต่ตรงโซนท้ายๆที่ไม่มีร้านขายของ(สมัยนั้นร้านขายของที่ระลึกมีเพียงไม่กี่ร้าน)

       สำหรับการไปเที่ยวสังขละฯในครั้งแรกนั้น ผมตามเพื่อนมาเที่ยวแบบไม่รู้อะไร รู้แต่ว่าเพื่อนผมมันชวนมาเที่ยวสะพาน ซึ่งแรกที่ยังไม่เห็นภาพก็ยังงงๆว่า สะพานที่นี่มีดีอะไร? เพราะตอนนั้นเมืองกาญจน์รู้จักแค่สะพานข้ามแม่น้ำแคว แต่ครั้นเมื่อมาเจอกับ “สะพานมอญ” ผมก็ได้ปักหมุดสังขละบุรีไว้ในดวงใจ พร้อมกับเดินทางไปเที่ยวเมืองนี้อยู่เรื่อยๆเมื่อมีโอกาส

สะพานมอญ ก่อนการบูรณะหนล่าสุด สะพานมอญ สะพานแห่งศรัทธา

       สะพานมอญ เป็นดังสัญลักษณ์ของเมืองสังขละบุรี มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า“สะพานอุตตมานุสรณ์” ตั้งตามชื่อของ “หลวงพ่ออุตตมะ” หรือ พระราชอุดมมงคล แห่งวัดวังก์วิเวการาม พระเกจิชื่อดังผู้ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าของชาวมอญ ซึ่งเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทย ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงแห่งเมืองสังขละบุรี

       สะพานแห่งนี้ไม่เพียงเป็นสะพานไม้อันยิ่งใหญ่แต่ยังมีเสน่ห์ความอันน่ายล โดยท่อนไม้ที่ใช้สร้างส่วนหนึ่งนำมาจากต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ใต้เขื่อนเขาแหลม โดยในข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่ามีความยาว 850 เมตร แต่ไกด์เยาวชนในพื้นที่บอกกับผมว่าสะพานแห่งนี้ยาว 455 เมตร นับเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย และยาวเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า

สะพานมอญหลังการบูรณะล่าสุดปี 2554        สะพานมอญ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ในปี 2528 แล้วเสร็จสิ้นในปี 2530 มีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้างสะพานขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่ออุตตมะ นั่นจึงทำสะพานแห่งนี้ได้รับการเรียกขานว่า “สะพานแห่งศรัทธา” เป็นอีกหนึ่งฉายาหนึ่ง

เศร้าใจ สะพานขาด

       สะพานมอญเพิ่งซ่อมแซมปรับปรุงครั้งล่าสุด(ครั้งที่ 5 )เมื่อปี 2554 หลังการซ่อมเสร็จนอกจากความใหม่แล้ว สะพานแห่งนี้ยังมีเสาไฟฟ้ารูปหงส์สีทองเพิ่มเข้ามา ซึ่งบางคนบอกว่านี่เป็นการสื่อถึงความเป็นมอญ(เสาหงส์คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเป็นมอญ) ขณะที่ใครและใครหลายคนบอกว่าเสาไฟหงส์มันให้เสน่ห์ความคลาสสิกของสะพานแหงนี้ดูด้อยลง

       แต่ถึงจะมองต่างมุมแต่สะพานมอญแห่งนี้ก็ยังดำเนินรับใช้ผู้สัญจรผ่านไป-มาต่อไป จนกระทั่งในวันที่ 28 ก.ค. 56 หลังฝนกระหน่ำตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลเชี่ยวกราก ก่อนจะปรากฏเป็นข่าวจากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐว่าน้ำป่าได้พัดพา สวะ ตอไม้ มาปะทะกับตอม่อสะพานมอญ จนเสียหายทำให้สะพานพังขาด รวมระยะทางรวมกว่า 50 เมตร

น้ำป่าพัดพาสะพานขาด        หลังเหตุการณ์นี้ได้มีผู้วิเคราะห์ว่า ผลพวงของการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดพิบัติภัยทำลายสะพานขาดลง ขณะที่จากการสอบถามจากคนในพื้นที่ ผมได้ฟังข้อมูลที่ต่างออกไปจากทางภาครัฐ(แต่เป็นข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ชัดเจน)ว่า เหตุการณ์นี้เกิดจากน้ำป่าได้พัดแพท่องเที่ยวขาดหลุดจากที่ยึดจนไหลมากระแทกกับตอม่อสะพาน จนเป็นเหตุให้สะพานพังขาดลง

       อย่างไรก็ดีหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีผู้ออกมาให้กำลังใจในการสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับมาการแชร์ภาพ รำลึกความหลัง เมื่อครั้งสะพานมอญยังสวยงามดีอยู่กันเป็นที่กว้างขวาง อีกทั้งยังมีผู้บริจาคเงิน และผู้ที่พร้อมจะไปเป็นจิตอาสาร่วมซ่อมสะพานแห่งนี้เมื่อช่วงเวลานั้นมาถึงในช่วงน้ำลง

       นี่นับเป็นการต่อยอดพลังศรัทธาจากชาวมอญมาสู่นักท่องเที่ยวและคนภายนอกที่น่ายกย่องไม่น้อย

ภาพชีวิตบนสะพานมอญ สะพานลูกบวบสุดเจ๋ง

       นอกจากความสวยงามคลาสสิกแล้ว เสน่ห์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสะพานมอญก็คือภาพชีวิต ทั้งภาพของผู้คนที่เดินข้ามฝั่งไป-มา ภาพของพระเดินบิณฑบาต ภาพเด็กๆวิ่งเล่น ภาพวิถีชาวแพในลำน้ำเบื้องล่าง และภาพของสาวชาวมอญเทินของบนศีรษะ หิ้วปิ่นโต ปะแป้งทานาคา เดินข้ามไปทำงาน ที่ถือเป็นภาพที่ช่างภาพจดจ่อ พร้อมจะรัวชัตเตอร์ตามแบบไม่ยั้ง

       แต่หลังสะพานขาด ภาพชีวิตเหล่านี้ได้หายไป พร้อมๆกับถูกแทนที่ด้วยความยากลำบากและเงินทองที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับชาวบ้านที่ต้องใช้เส้นทางสะพานมอญข้ามฝั่ง

แพลูกบวบสร้างข้ามน้ำชั่วคราว(ภาพจาก FB : Wa Sukkharin)        ชาวบ้านที่เคยข้ามฝั่งสะพานมอญ ต้องไปใช้เส้นทางอ้อมไกล 4-5 กิโลเมตร เสียเงินเพิ่มในการเดินทางไป-กลับ ไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อวัน นั่นย่อมทำให้พวกเขาที่มีค่าแรงต่ำอยู่แล้ว ยากลำบากในการดำรงวิถีมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ระหว่างที่รอซ่อมสะพานในช่วงน้ำลดราวเดือน พ.ย.ขึ้นไป ทางทหารจากกองกำลังสุรสีห์ ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวจิตอาสากลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างทางข้ามชั่วคราวขึ้น เป็นสะพานไม้ไผ่แบบแพลูกบวบมีความยาวกว่า 300 เมตร กว้าง 6 เมตร ซึ่งเดิมนั้นกำหนดว่าจะใช้เวลาสร้างแล้วเสร็จประมาณ 2 สัปดาห์แต่ด้วยความศรัทธา ความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจ ทำให้แพลูกบวบหรือสะพานลูกบวบใช้เวลาสร้างเสร็จเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น

สะพานลูกบวบ 0 บาท ที่วันนี้ดึงให้คนไปเที่ยวชมกันไม่น้อย (ภาพจาก FB : Wa Sukkharin)        ระหว่างดำเนินการก่อสร้างไปถึงการสร้างจนแล้วเสร็จ ภาพของสะพานลูกบวบที่สร้างอย่างสุดเจ๋ง สวยงาม เป็นงานฝีมือทรงเสน่ห์ มีสะพานยกระดับให้เรือผ่าน ได้ถูกผู้มาเยือนสังขละบันทึกภาพแล้วนำไปถ่ายทอดผ่านโลกออนไลน์ เฟซบุ๊ค กันเป็นที่กว้างขวาง ยิ่งมีการให้ข้อมูลว่าสะพานลูกบวบแห่งนี้สร้างจากแรงกายที่เกิดจากจิตศรัทธามีค่าดำเนินการก่อสร้าง 0 บาท มันก็ยิ่งทำให้ใครหลายๆคนเกิดความรู้สึกทึ่งและพลอยปลื้มตามใจไม่ได้ เพราะนี่ถือเป็นการตบหน้าพวกนักการเมืองข้าราชการขี้ฉ้อจอมหักหัวคิวได้เป็นอย่างดี

ศรัทธาถูกสั่นคลอน

หลังสร้างแล้วเสร็จไม่กี่วัน สะพานลูกบวบก็ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดตัวใหม่ของสังขละที่มีนักทองเที่ยวเดินทางไปชมภาพสะพานขาด และสัมผัสกับการข้ามสะพานลูกบวบกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง นักท่องเที่ยวหลายคนบอกว่านี่คือภาพประวัติศาสตร์ เพราะหลังซ่อมสะพานมอญเสร็จสะพานลูกบวบไม้ไผ่ย่อมถูกรื้อถอนไป

       อย่างไรก็ดีความที่ปัจจุบันสะพานลูกบวบถูกสร้างชิดสะพานไม้เพียงแค่ราว 5 เมตร ทำให้มีความจำเป็นต้องขยับออกไป เพราะหากไม่ขยับเลื่อนไกลออกไปอีก เมื่อถึงเวลาต้องซ่อมแซมสะพานมอญ สะพานลูกบวบมันจะเป็นสิ่งที่ไปสร้างความยากลำบากในการซ่อมสะพาน เพราะมันอยู่ใกล้เกินไป ทำให้การสร้างนั่งร้าน การลำเลียงคนและเครื่องไม้เครื่องมือ เป็นไปด้วยความยุ่งยาก

       ดังนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมหารือ แล้วมีมติให้เคลื่อนย้ายสะพานลูกบวบให้ห่างออกไปจากสะพานมอญ 15 เมตร พร้อมทั้งให้เคลื่อนย้ายแพท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กับสะพานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำออกไปจากจุดเดิม โดยเคลื่อนให้ห่างจากสะพานลูกบวบฝั่งละ 6 เมตร

แม้พระขอบิณฑบาต แต่ชาวแพท่องเที่ยวไม่ยอม        ภายหลังมีมติเขยิบแพออกไป พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ได้นัดชาวบ้านและผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวมาเจรจาพูดคุยเพื่อตกลงกันเรื่องการเคลื่อนย้ายแพเขยิบห่างออกไปจากจุดเดิม

       ทั้งนี้ในรายงานข่าวระบุว่า การเจรจาเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เพราะผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวไม่ยอมเขยิบแพออก โดยอ้างเหตุผลว่าเกรงจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการแพของตน เนื่องจากต้องย้ายแพออกไปห่างจากที่เดิมมาก(ทั้งที่ความจริงเคลื่อนย้ายไปไม่มาก)

       ส่วนพระมหาสุชาติ งานนี้ท่านถึงขนาดขอบิณฑบาตให้ทุกคนช่วยกันเสียสละคนละเล็กละน้อยเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และเป็นการเสียสละแค่ชั่วคราวเท่านั้น หากสะพานไม้ซ่อมบำรุงเสร็จเมื่อใดทุกคนก็ย้ายกลับเข้าจุดเดิมได้และทำมาหากินได้ตามปกติ

       แต่สุดท้ายผู้ประกอบการก็ไม่ยอม พระมหาสุชาติจึงตัดสินใจพร้อมกับเจ้าหน้าที่ว่าให้เคลื่อนย้ายแพลูกบวบออกมาเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทบกระทั่งกัน เนื่องจากชาวบ้านหลายคนเริ่มหงุดหงิด ออกอาการฮึ่มๆต่อผู้ประกอบการแพกันบ้างแล้ว

       ครับเรื่องนี้ก็คงต้องติดตามดูกันว่าทางภาครัฐจะมีวิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ส่วนทางฟากของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นั้น เขามีวิธีการจัดการกับพวกแพท่องเที่ยวเห็นแก่ตัวเหล่านั้นด้วยการร่วมแบน ไม่เข้าพักในเรือนแพใกล้สะพาน พร้อมบอกต่อ แชร์ข้อมูล ให้ขยายวงกว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นรู้สำนึก

       สำหรับสังขละบุรีแล้ว แม้เรื่องราวการสร้าง(และซ่อม)สะพานมอญนับจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการสร้างแพลูกบวบ(ชั่วคราว)ในเหตุการณ์สดๆหมาดๆที่ไม้ไผ่ยังไม่เปลี่ยนสี จะเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธาของผู้คนจำนวนมากที่ร่วมกันสร้าง

แต่ศรัทธาที่สังขละวันนี้ได้ถูกสั่นคลอนจากคนโลภ เห็นแก่เงิน เห็นแก่ตัวกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราคงต้องดูกันต่อไปว่านี่จะขยายผลไปเป็นสังขละสปริงแล้วทำให้ผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวที่เห็นแก่ตัวทั้งหลาย ได้รับผลกระทบ คนไม่เข้าพัก จนเกิดสำนึกต่อสวนรวมได้หรือไม่

       *****************************************

       สำหรับผู้ที่อยากช่วยบูรณะฟื้นฟูสะพานไม้มอญ สามารถบริจาคเงินสมทบทุนได้ ณ วัดวังก์วิเวการาม หรือที่ตู้รับบริจาคบริเวณเชิงสะพานทั้งสองฝั่ง หรือโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสังขละบุรี ชื่อบัญชี “วัดวังก์วิเวการาม (สะพานไม้)” บัญชีเลขที่ 679 216755 4 ได้ตามจิตศรัทธา




//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000108314
Create Date :31 สิงหาคม 2556 Last Update :31 สิงหาคม 2556 21:48:25 น. Counter : 1762 Pageviews. Comments :1