bloggang.com mainmenu search
ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินขึ้นชื่อแห่งบุรีรัมย์ “ขอม” ในสมัยโบราณ ใช่เขมรในปัจจุบันหรือไม่ บ้างก็บอกว่าใช่ บ้างก็บอกว่าไม่นั้น ทำให้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และยังไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน

       แต่ไม่ว่าขอม หรือเขมร จะมาจากที่เดียวกันหรือไม่ สิ่งที่เห็นได้ชัดคืออารยธรรมของขอมโบราณ ที่ยังปรากฏหลักฐานผ่านโบราณสถานให้เห็นเด่นชัดมาจนถึงปัจจุบัน และในบ้านเราก็มีโบราณสถานสำคัญๆ ให้เห็นอยู่หลายๆ แห่งทางภาคอีสาน โดยเฉพาะบรรดาปราสาทหินทั้งหลายในแถบอีสานตอนใต้ ที่ถือเป็นอู่อารยธรรมขอมโบราณที่สำคัญของในประเทศไทย อันนำมาสู่การออกทัวร์เยือน 4 ปราสาทหิน ใน 3 จังหวัดอีสานใต้ ของ “ตะลอนเที่ยว ในทริปนี้”

ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ        สำหรับปราสาทแรก เราเริ่มต้นกันที่ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” หรือ “ปราสาทศรีพฤทเธศวร” ตั้งอยู่ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ ถนนประดิษฐ์ประชาราษฎร์ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 226 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัว อ.อุทุมพรพิสัย มากนัก

       ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ องค์ประกอบสำคัญของปราสาทแห่งนี้ก็คือ ปรางค์ หรือ ปราสาท อันเป็นศูนย์กลางของศาสนสถาน ที่นี่มีปรางค์ทั้งหมด 4 หลัง โดยปรางค์ 3 หลังจะตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และเรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตรงกลางคือปรางค์ประธาน ส่วนปรางค์เดี่ยวอีกหลังตั้งอยู่ด้านหลังของปรางค์องค์ทิศใต้

ภาพแกะสลักทับหลังยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกซุ้มประตู        ถัดออกมา จะเป็นวิหาร 2 หลัง หรืออาจจะเรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ส่วนด้านนอกของวิหารจะมีระเบียงคดล้อมรอบ และมีโคปุระ (ซุ้มประตู) อยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ปัจจุบันหลงเหลือให้เห็นเพียงฐานและผนังบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานแล้ว

ทับหลังภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับม้า        สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ก็คือ ภาพจำหลักบนทับหลัง ที่ส่วนใหญ่แล้วเล่าเรื่องราวที่เป็นคติความเชื่อทางศาสนา เช่นในวิหารก็จะพบทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนือพระยาอนันตนาคราชท่ามกลางเกษียรสมุทร และทับหลังภาพพระอิศวรกับพระอุมาประทับนั่งเหนือโคนนทิ เป็นต้น

       สำหรับการสืบค้นว่าปราสาทสระกำแพงใหญ่นั้นสร้างขึ้นเมื่อใด นักโบราณคดีพิจารณาจากหลักฐานลวดลายที่ปรากฏอยู่บนหน้าบัน ทับหลัง และโบราณวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะจากรึกปราสาทสระกำแพงใหญ่บริเวณกรอบประตูระเบียงคต สรุปได้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยพบหลักฐานเป็นข้อความในจารึกกล่าวถึงการซื้อที่ดินถวายเจ้านายผู้ล่วงลับคือ “กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร” อันเป็นที่มาของชื่อ “ปราสาทศรีพฤทเธศวร”

ส่วนชื่อ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” นั้นเป็นชื่อที่คนในสมัยปัจจุบันเรียก โดยตั้งชื่อตามลักษณะทางกายภาพที่พบเห็น เพราะที่นี่เป็นปราสาทที่มีกำแพงสูงล้อมรอบ และมีสระน้ำ (บาราย) อยู่ใกล้ๆ กับปราสาท

       ปัจจุบันปราสาทแห่งนี้อยู่ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร และได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่นทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช, พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะและยังพบพระพุทธรูปนาคปรก, พระพุทธรูปปางสมาธิ, พระพิมพ์ดินเผา ฯลฯ

ปราสาทศีขรภูมิ สุรินทร์        จากนั้นข้ามจังหวัดไปต่อยัง “ปราสาทศีขรภูมิ” ตั้งอยู่ที่ ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทขนาดเล็ก ศิลปะขอมแบบบาปวนผสมนครวัด สร้างขึ้นราวปลาย พุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตัวปราสาทประกอบไปด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันยกพื้นสูง มีบารายล้อมรอบ 3 ด้าน มีองค์กลางเป็นปรางค์ประธาน ก่อด้วยหินทราย ศิลาแลง และอิฐ ซึ่งเป็นการแยกให้เห็นถึงยุคสมัยในการก่อสร้างและการบูรณะอย่างชัดเจน ตัวประสาทประธานองค์กลาง ถือเป็นศูนย์รวมผลงานมาสเตอร์พีซระดับสุดยอดแห่งสยามอยู่ 2 จุดด้วยกัน

ทวารบาลยืนถือกระบองประกบอยู่ด้านข้างนางอัปสรา        จุดแรกคือภาพสลักนางอัปสราที่ถูกยกย่องว่าสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย ในบริเวณกรอบประตูด้านหน้าทั้ง 2 ด้านของปรางค์ประธาน เป็นภาพนางอัปสราแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามรูปร่างสมส่วน และด้านข้างนางอัปสรามีทวารบาลยืนถือกระบองประกบอยู่ด้านข้างทั้ง 2 นาง

ทับหลังสลักเรื่องพระศิวะ 3 ตอน ที่ได้ชื่อว่าสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย        จุดที่สองคือทับหลังสลักเรื่องพระศิวะ 3 ตอน และได้ชื่อว่าสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย เป็นรูปพระศิวะกำลังฟ้อนรำ บนแท่นมีหงส์ 3 ตัวแบกอยู่เหนือเศียรเกียรติมุขมีรูปพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางอุมา อยู่ด้านล่าง แกะสลักอย่างสวยงามประณีตอ่อนช้อย นับได้ว่าปราสาทเล็กๆ อย่างศีขรภูมิ ในด้านของความงามนั้นถือว่ายิ่งใหญ่เกินตัวไม่น้อย

ภาพนางอัปสราที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ณ ปราสาทศีขรภูมิ        ส่วนปรางค์บริวารพบทับหลัง 2 ชิ้น เป็นภาพกฤษณาวตารทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา

ปราสาทเมืองต่ำมีสระน้ำล้อมรอบ        จาก จ.สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่เรามุ่งหน้าต่อไปยังเมืองฟุตบอลเลื่องชื่อ คือ จ.บุรีรัมย์ เพื่อไปสัมผัสกับเสน่ห์ของ 2 สุดยอดปราสาทขอมโบราณแห่งสยามประเทศ เริ่มจาก “ปราสาทเมืองต่ำ” ตั้งอยู่ที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ห่างจากปราสาทพนมรุ้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ปราสาทเมืองต่ำเป็นปราสาทหินศิลปะขอมแบบปาปวน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 (หรือประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว) เพื่อเป็นเทวสถานของลัทธิฮินดูไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะ หรือ พระอิศวรเป็นเทพสูงสุด นับว่ามีอายุมากกว่าปราสาทหินพนมรุ้งและนครวัดประมาณ 100 ปี แต่มีอายุเท่าๆ กับปราสาทเขาพระวิหารเพราะสร้างในช่วงสมัยเดียวกัน ซึ่งตรงกับเวลาที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนครหลวง (เขมร) ในสมัยนั้น

“หน้าบัน” รูปพระอินทร์ประทับนั่งบนช้างเอราวัณ        ปราสาทเมืองต่ำแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ โดยแผนผังของปราสาทแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยกำแพงมีความสูงเกือบ 3 เมตร ภายนอกปราสาทมีสระน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เมื่อผ่านซุ้มประตูกำแพงแก้วเข้าไปจะพบกับระเบียงคดและซุ้มประตูอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะเป็นปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน องค์ปราสาทก่อด้วยอิฐเรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ และแถวหลังอีก 2 องค์ กลุ่มปราสาทอิฐทั้ง 5 องค์ แสดงสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

       ในปราสาทเมืองต่ำก็มีจุดเด่นอยู่หลายจุดด้วยกันเริ่มด้วยจุดแรกที่ “หน้าบัน” เป็นรูป “พระอินทร์” ประทับนั่งบนช้างเอราวัณ โดยมีตัวหน้ากาลซึ่งหน้าตาคล้ายสิงห์อยู่ข้างล่าง ท่ามกลางลวดลายสลักรูปดอกไม้ และหากสังเกตให้ดีๆ ที่มุมสามเหลี่ยมซ้าย-ขวาข้างหน้าบัน จะสลักเป็นรูปนาค 5 หัวอยู่ทั้งสองข้าง จุดที่สองจะเป็น “โคปุระหรือซุ้มประตูชั้นนอก” ที่มีประตูสามบาน คือบานเล็กซ้าย-ขวา และบานประตูกลางบานใหญ่เป็นบานสำคัญ

ทับหลังรูป “พระอินทร์นั่งประทับบนตัวหน้ากาล”        เมื่อเดินผ่านประตูนี้ไปก็จะพบกับ “บาราย” หรือที่เรียกกันว่า “สระหัวนาค” มีลักษณะเป็นสระน้ำขนาดย่อม ที่สร้างตามความเชื่อเรื่องคติจักรวาลคือ บารายที่ขุดรายรอบสี่ด้านของปราสาทนั้นเปรียบดังมหาสมุทรที่รายรอบเขาพระสุเมรุ ส่วนพื้นที่ปราสาทตรงกลางนั้น มีปราสาทอยู่ห้าองค์โดยองค์กลางหมายถึงเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ

       นอกจากนี้ภายในปราสาทเมืองต่ำยังมีภาพสลักหินบนทับหลังซุ้มประตูด้านตะวันออกรูป “พระอินทร์นั่งประทับบนตัวหน้ากาล” ท่ามกลางลวดลายประดับรอบๆ ที่ดูสวยงามลงตัว ซึ่งเชื่อว่าพระอินทร์จะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่ภายในปราสาท ส่วนซุ้มประตูชั้นในมีซากของฐานบรรณาลัย ที่สันนิษฐานว่าสร้างไว้เพื่อเก็บคัมภีร์ โดยปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานของอาคาร และยังมีลวดลายสลักต่างๆ อีกมากมายให้ได้ยลกันอย่างเพลิดเพลิน

ปราสาทพนมรุ้ง กับซุ้มประตูทางเดินที่โดดเด่นไปด้วยภาพสลักหินอันงดงาม        สำหรับในทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ขอปิดท้ายกันด้วย “ปราสาทพนมรุ้ง” หรือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ปราสาทพนมรุ้งเป็นปราสาทที่ได้รับการยอมรับว่างดงามที่สุดในเมืองไทย คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขาใหญ่ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ณ ปราสาทพนมรุ้ง        ปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างอย่างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 17 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในช่วงนั้น

หน้าบันศิวนาฏราชกำลังฟ้อนรำอยู่เหนือทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์        ความงดงามและเสน่ห์ของปราสาทพนมรุ้งนั้นมีมากมาย เริ่มตั้งแต่เส้นทางเดินสู่ปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ นอกจากนี้แล้วตัวปราสาทหินทรายสีชมพูที่แห่งนี้ ยังมีสิ่งน่าสนใจให้ชื่นชมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หน้าบันรูป “พระกฤษณะปราบนาคกาลียะ” เป็นภาพสลักเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอวตารของพระพิษณุ ตอนกฤษณาวตาร หรือองค์ปรางค์ประธาน ตัวเรือนธาตุที่ภายในมีห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานศิวลึงค์รูปเคารพสำคัญของลัทธิไศวนิกาย โดยมีท่อโสมสูตรหรือร่องรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากพิธีกรรมเซ่นสังเวยองค์ศิวเทพต่อยาวมาให้เห็นอย่างชัดเจน

ภาพสลักพระกฤษณะต่อสู้กับสิงห์ (ปราบอสูรวัตสะ)        สำหรับไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของปราสาทพนมรุ้งที่โดดเด่นกว่าที่ไหนก็จะเป็น “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์และศิวนาฏราชที่อยู่เคียงคู่กัน” ที่ยังคงมีรายละเอียด และความงดงามในการแกะสลักให้เห็นอย่างเด่นชัด และเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของปราสาทหินพนมรุ้ง คือในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (นับแบบไทย) หรือช่วงเดือนเมษายนของทุกปีพระอาทิตย์ในยามเช้าจะสาดแสงลอดทะลุซุ้มประตูของตัวปราสาททั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกัน

       ******************************************************************************

ปราสาทสระกำแพงใหญ่ - ตั้งอยู่ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ ถนนประดิษฐ์ประชาราษฎร์ หมู่ 1 ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เปิดทุกวัน (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
ปราสาทศีขรภูมิ - ตั้งอยู่ที่ ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เปิดทุกวัน เวลา 08.00 - 16.30 น. อันตราค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท/คน, ชาวต่างชาติ 50 บาท/คน
ปราสาทเมืองต่ำ - ตั้งอยู่ที่ ตำบลจรเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เปิดทุกวัน เวลา 06.00 - 18.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท/คน, ชาวต่างชาติ 100 บาท/คน
ปราสาทพนมรุ้ง - ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เปิดทุกวัน เวลา 06.00 - 18.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท/คน, ชาวต่างชาติ 100 บาท/คน

หมายเหตุ *ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทพนมรุ้ง สามารถซื้อบัตรแบบเหมาเข้าชม 2 ที่ได้ อัตราค่าเข้าชมรวม 2 ที่ คนไทย 30 บาท/คน, ชาวต่างชาติ 150 บาท/คน

       ******************************************************************************

//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000098879
Create Date :13 สิงหาคม 2556 Last Update :13 สิงหาคม 2556 21:22:34 น. Counter : 3893 Pageviews. Comments :1