bloggang.com mainmenu search
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น 40 ปี “ตำนานคาเฟ่” เมืองหลวง จากศูนย์รวมบันเทิงถึงยุคเสื่อม นักร้องต้องขายตัวแลกพวงมาลัย
รายงานอาชญากรรม

       ตำนาน “คาเฟ่” สถานบันเทิงของมหาชนคนไทยในยามราตรีมีความเป็นมาอย่างไร ไม่เคยมีใครบันทึกเอาไว้ แต่ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของกิจการทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ นักข่าวสายอาชญากรรม นักเที่ยวหรือกระทั่งนักร้อง ตลก ดาราที่เคยผ่านชีวิตในช่วงนั้น เล่าเอาไว้ว่า

จุดเริ่มของ “คาเฟ่” ผู้สันทัดกรณีธุรกิจท่องราตรีบอกว่าน่าจะมาจากนิสัยรักสนุกเฮฮา ชอบดื่มชอบกินของหนุ่มไทยเป็นพื้นฐาน เมื่อมีโอกาสพบปะสังสรรค์ร้านอาหารต่างๆ ที่มีฝีมือทำกับแกล้ม ให้บริการเป็นกันเองจะเป็นจุดนัดพบ ที่ได้รับความนิยมมีลูกค้าพากันไปอุดหนุนอย่างเนืองแน่น แต่ร้านอาหารประเภทนี้ยังมีลูกค้ากลุ่มอื่นเข้าไปใช้บริการด้วย เช่น สุภาพสตรี และเด็กๆ สมัย 30-40 ปีก่อนยังไม่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ ทั้งเด็ก-ผู้หญิงต้องทนกับบรรยากาศที่ไม่สุนทรีย์ ส่วนบรรดาชายก็ไม่สะดวกใจ เพราะต้องเก็บกิริยาเวลาเมาเอาไว้ จะจีบสาวเสิร์ฟทำไม่ถนัด ทำอะไรไม่สะดวกจึงมีพ่อค้าหัวใสจับช่องทางและขยับมาเป็นร้านอาหารจำเพาะ

       คือเป็นที่พบปะของนักเที่ยว มีทั้งอาหารดี ดนตรีไพเราะ ก่อนปี 2520 จึงเป็นจุดเริ่มของร้าน “เฟรนด์ชิป” ตั้งอยู่ตามศูนย์การค้าต่างๆ แต่ที่ประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมของวัยรุ่นขณะนั้นมากที่สุดก็คือ สาขาสยามสแควร์ ลักษณะบริการของร้าน “เฟรนด์ชิป” จะเปิดตั้งแต่ 11.00 น. มีอาหารทุกประเภทพร้อมบริการเครื่องดื่ม มีการจัดมุมนั่งลับตาเปิดไฟสลัวๆ พร้อมกับดนตรีเล่นสดแบบโฟล์กซองกีตาร์โปร่ง หากหนุ่มสาวนัดพบกันที่นี่ก็เป็นเรื่องรู้กันดีว่ามีอะไรมากกว่าการรับประทานอาหาร

       นอกจากนั้นยังมีตำนานสร้างนักร้องดังๆ มาหลายคน เช่น ชัยรัตน์ เทียบเทียม ดนุพล (พี่แจ้) แก้วกาญจน์ เป็นต้น ต่อมายังเกิดกระแสจากอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่อง “วัยอลวน” กำกับโดยเปี๊ยก โปสเตอร์ นำแสดงโดยดาราวัยรุ่นหน้าใหม่อย่าง ไพโรจน์ สังวริบุตร-ลลนา สุลาวัลย์ กลายเป็นคู่ขวัญโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ดาราไทยอีกคู่หนึ่ง สูตรความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากความสดใสน่ารักของดารานำแล้ว ยังมาจากค่านิยมของวัยรุ่นในสมัยนั้นต้องรู้จักสยามสแควร์ และอินทรา ดังเนื้อเพลง “สุขาอยู่หนใด” ที่แต่งและขับร้องโดยชัยรัตน์ เทียบเทียม ธุรกิจร้านอาหาร “เฟรนด์ชิป” ของเสี่ยแก้ว กลายเป็นต้นแบบพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อล้วงเงินบรรดาหนุ่มสาวนักเที่ยวให้ได้

       หลังปี 2520 เป็นต้นมา ร้านอาหารหรือสวนอาหารที่เคยเป็นสถานที่เที่ยวเตร่ขนาดเล็ก หรือขนาดกลางมีโต๊ะบริการไม่เกิน 20-30 โต๊ะ ขยายให้ใหญ่โตมากขึ้น และไม่เพียงมีการแสดงดนตรีกับนักร้องเท่านั้น แต่ยังขนการแสดงใส่เข้าไปบนเวทีอย่างมากมายทั้งช่วงมายากล นักร้องรับเชิญ หมายถึงนักร้องชื่อดังในช่วงนั้นๆ ดารารับเชิญ และที่ขาดไม่ได้คือคณะตลก

       คาเฟ่เต็มรูปแบบเกิดขึ้นในช่วงนั้นแบ่งเป็นย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ไล่มาตั้งแต่แยกประตูน้ำยันสี่แยกคลองตัน สองฝั่งถนนนอกจากเต็มไปด้วยอาบอบนวด ยังมีไนต์คลับที่กำลังเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย โดยมีธุรกิจคาเฟ่เข้ามาแทน และยักษ์ใหญ่แชมป์ของถนนสายนี้ก็คือ “ดาราคาเฟ่” ของเสี่ยเม้ง สุรินทร์ ต.ตระกูล เจ้าพ่อธุรกิจบันเทิงตัวจริง ในเวลาไล่เลี่ยกันยังเปิด “วิลล่าคาเฟ่” ให้บริการกับบรรดานักเที่ยว เรียกว่าเป็นยุคทองของกลุ่มทุน นักร้อง คณะตลกอย่างแท้จริง ยังรวมไปถึงตำรวจท้องที่ด้วย เพราะสถานบริการประเภทนี้ร้อยทั้งร้อยเปิดกันยันสว่างคาตา นักเที่ยวต่างสู้ไม่ถอย จ่ายไม่อั้น ว่ากันว่าเฉพาะค่าพวงมาลัยที่เสี่ยทั้งหลายทุ่มให้กับนักร้องนั้นคืนหนึ่งรับกันเป็นเรือนแสน

ส่วนเสี่ยหน้าโง่บางคนหมดเป็นแสนเป็นล้านไม่ได้แอ้มนักร้องก็มีเช่นกัน

       นี่คือบรรยากาศเที่ยวราตรีของฝั่งกรุงเทพมหานคร ขณะที่อีกมุมหนึ่งไม่ไกลกันนัก บรรดานักเที่ยวฝั่งธนบุรีก็อาศัยบริการจาก “อรุณอัมรินทร์คาเฟ่” ซึ่งต่อมาแตกตัวเป็น “ธนบุรีคาเฟ่” - “นภาลัยคาเฟ่” หรือดอกไม้ป่าคาเฟ่ ขวัญใจเสี่ยโรงงานย่านสำเหร่-บุคคโล ตามลำดับ โดยกลุ่มคาเฟ่ 3 เจ้าแรกล้วนเป็นสมาชิกตระกูลเดียวกัน มีต้นแบบมาจาก “ภัตตาคารแกแลคซี่ ไนต์คลับ” สามย่าน ปทุมวัน ปัจจุบันแม้จะเข้ายุคเสื่อมของกิจการคาเฟ่ไปแล้ว แต่แชมป์ถนนลาดหญ้าที่ยังยืนยงต้องยกให้ “ธนบุรีคาเฟ่” ที่ยังเปิดบริการภายใต้การบริหารงานของ “ตี๋เล็ก” ส่วนญาติๆ ที่ถือหุ้น ขยับออกไปสร้างอาณาจักรบันเทิงระดับพันล้าน คือ ธนบุรีพลาซ่า ของเสี่ยกุ้งลิ้ง และธนบุรีคอมเพล็กซ์ ของซ้อจรรยา ตั้งอยู่ถนนรัชดาฯ-ท่าพระ

ทั้ง “ดาราคาเฟ่-วิลล่าคาเฟ่” และบรรดาคาเฟ่ย่านฝั่งธนบุรี จัดเป็นตำนานยุคต้นของคาเฟ่ ซึ่งเริ่มกิจการประมาณปี 2530 แต่หลังจากนั้นเมื่อทางการตัดถนนพระราม 9 เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการคาเฟ่ครั้งใหญ่ โดยผู้ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาทั้งชีวิตชื่อ “บุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล” หรือ “เสี่ยเลี้ยง” เจ้าพ่อวงการคาเฟ่อีกยุคซึ่งว่ากันว่าเขาก้าวมาจากเด็กรับรถ เด็กเสิร์ฟ จับมือกับ “สมยศ สุธางค์กูร” เซ้งกิจการคาเฟ่มาจากนายเก่า และมาเปิดวิลล่าคาเฟ่ อาณาจักรแห่งใหม่ริมถนนพระราม 9 และในเวลาต่อมา สมยศ สุธางค์กูร ได้แยกตัวออกไปเปิดพระราม 9 คาเฟ่จนเกิดความขัดแย้งชิงไหวชิงพริบเรื่องจัดคิวโชว์ดารานักร้อง ตลก และพระเอกลิเกไชยา มิตรชัย จนถึงกับจ้างมาเฟียทหารไปดักอุ้มตัดหน้ากัน จนฉากสุดท้ายของบุญเลี้ยง ถูกมือปืนยิงเสียชีวิตในปี 2541 ส่วนสมยศ ตามอดีตเพื่อนรักไปเมื่อ 19 ปีให้หลัง จากปฏิบัติการโหดของ 2 มือปืนเมื่อค่ำวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา

       กลับไปยังบรรยากาศความหลัง รวมถึงสูตรความสำเร็จของธุรกิจคาเฟ่ และเข้าสู่การล่มสลายเจ้าของคาเฟ่แห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นผับ-โคโยตี้ ลำดับความเป็นมาให้ฟังว่า จุดแข็งของคาเฟ่น่าจะมาจากสามารถสนองความต้องการของบรรดานักเที่ยวได้ ลูกค้าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ชาย มีรายได้ปานกลางถึงขั้นเสี่ยเป็นเจ้าของกิจการ วิธีล้วงเงินในกระเป๋าก็คือ เราต้องมีพนักงานสาวสวยหน้าตาดี เช่นพนักงานต้อนรับ เด็กเสิร์ฟ และนักร้อง หลักใหญ่สู้กันตรงนี้ เพราะแขกทุกคนเข้ามาเพื่อหาความสนุก บางคนชอบจีบนักร้อง มานั่งเฝ้าคล้องพวงมาลัยตั้งแต่วันละหลายพันหลายหมื่นบาท จนเป็นหลายแสนบาทก็มี บางคนไม่สู้ราคาก็หันไปจีบเด็กเสิร์ฟบ้าง พนักงานต้อนรับบ้าง จนระยะหลังมีกลุ่มลูกค้าเป็นหญิง เราก็ต้องมีนักร้องชายหน้าตาดี แต่งตัวดี เนี้ยบตั้งแต่หัวจดเท้า พวกนี้ล่าพวงมาลัยหรือเงินรางวัล ไม่แพ้นักร้องหญิง บางคนผัวแม่ยกจับได้ถูกกระทืบไปก็มี มันสารพัดเรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่ยอมรับว่ารายได้ดีมากๆ ส่วนพนักงานทุกคนมีเงินพิเศษจาก “ทิป” เดือนละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทขึ้นไป

เมื่อมีขาขึ้นย่อมมีขาลงอันเป็นความจริงแท้แน่นอน เหตุผล “ความเสื่อม” เมื่อรวมหลากหลายความเห็นจากผู้เกี่ยวของฟันธงตรงกันว่ามันเป็นจุดอิ่มตัว เรียกว่าคนไทยโดยเฉพาะบรรดานักท่องราตรีรู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้นกับการเที่ยวคาเฟ่อีกต่อไปแล้ว และกลุ่มลูกค้าต่างโรยลาไปตามวันเวลา อีกทั้งบรรดาเสี่ยหน้าโง่ก็เริ่มรู้สึกตัวว่า ทำไมต้องไปนั่งเฝ้า ทำไมต้องไปทุ่มนักร้อง ถึงกับมีนิยามความวิบัติในยุคนั้นว่า ถ้าอยากฉิบหายต้องทำ 3 เรื่องนี้ คือ 1. เล่นการพนัน 2. เล่นการเมือง 3. จีบนักร้อง รับรองไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน นี่คือจุดเล็กๆ ของเสี่ยสำนึกผิด แต่ที่กระทบจังๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคถึงพริกถึงขิง นักร้องน้องรักต้องแต่งวาบหวิว เสียงไม่ดีไม่ว่าแต่ต้องอกบึ้มสะโพกบ๊ะ ยิ่งถ้าใจถึงแขวนพวงมาลัยแล้วไปกับพี่เลย จะได้รับความนิยมอย่างมาก บวกกับผับโคโยตี้-เธคพริตตี้ ออกอาละวาดอย่างหนัก พฤติกรรมกลุ่มนักเที่ยวจึงลดน้อยถอยลง

       ถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนอาจจะนึกถึงบรรดาคณะตลก...“กูรู” คนหนึ่ง ในแวดวงทำมาหากินกับความบันเทิงยามค่ำคืนบอกว่า ตลกเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็ฝืด ยุคทองของเขาผ่านไปเช่นกัน เป็นเช่นนี้เพราะแก่นของนักเที่ยวก็คือชายต้องการหญิง และหญิงต้องการชาย ส่วนตลกเป็นเพียง “ติ่ง” ประกอบเข้าไปเท่านั้น แต่ที่กระแสตกจนต้องเล่นตามหมูกระทะ นอกจากมุกฝืดแล้วยังมีเรื่องการออกโทรทัศน์อย่างพร่ำเพื่อ แถมค่าจ้างที่คาเฟ่ต้องจ่ายนั้นแพงเกินไป ไม่คุ้ม ที่สุดก็เลยเลิกราไป

       “ยุคที่เฟื่องฟูไล่มาตั้งแต่ตลกตระกูลสี - สีหนุ่ม สีเผือก ศรีสุริยา และเทพ เทียนชัย เล่นกันคืนละ 10 แห่ง ต่อมายุคตระกูลเชิญยิ้ม เป็ด-โน้ต-หนู แล้วยุคชวนชื่น เขาเดินสายวิ่งทั่วประเทศ งานเข้าจนทำไม่ไหว แต่พอยุคเปลี่ยนก็ต้องปรับตัวกันไป คนที่ปรับได้ก็ไปต่อ ที่ปรับไม่ทันต้องเปลี่ยนอาชีพ ทุกคนเหมือนกันรวมทั้งนายทุนอย่างพวกผมด้วย”

บทสรุปของกิจการคาเฟ่มีคำตอบว่าทุกวันนี้ยังคงมีอยู่ แต่เป็นคาเฟ่นักร้องไม่ใช่คาเฟ่ตลกอีกต่อไป รูปแบบของคาเฟ่ยุคปัจจุบันไม่มีนักร้องแต่งชุดรุ่มร่ามอีกต่อไป จะต้องเน้นส่วนสัดอาจจะเป็นชุดว่ายน้ำ กางเกงขาสั้นเห็นแก้มก้น หรือจีสตริงปกปิดของสงวนพอให้แขกนักเที่ยวได้จินตนาการ บางแห่งมีห้องเฉพาะบริการแขกวีไอพี ที่คล้องพวงมาลัยได้ราคากำหนด คาเฟ่บางแห่งใจยังไม่ถึงหรือเคลียร์ตำรวจน้อยก็จะเลี่ยงให้ไปร้องเพลงจังหวะรักกันข้างนอก จุดหมายก็คือโรงแรมใกล้ๆ คาเฟ่ วนเวียนเข้าออกมากบ้างน้อยบ้างตามแต่โชค และความต้องการของนักเที่ยวที่มีรสนิยมเสพสุขกับนักร้องน้องรัก
//manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9580000073919
Create Date :30 มิถุนายน 2558 Last Update :30 มิถุนายน 2558 21:40:52 น. Counter : 1441 Pageviews. Comments :0