bloggang.com mainmenu search
ไหว้พระแบบมโหฬาร อลังการ 5 พระใหญ่ในเมืองไทย หลวงพ่อใหญ่วัดม่วงอ่างทอง พรเกะพุทธรูปนั่งที่ใหญ่ที่สุดในไทย ต้องบอกว่า “เล็กๆ ไม่...ใหญ่ๆ เท่านั้น” สำหรับการสร้างพระพุทธรูปในวัดต่างๆ ทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากหลายๆ วัดที่ล้วนแล้วแต่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน โดยพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ดูน่าเลื่อมใสผสมกับให้ความรู้สึกอลังการเหล่านี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนให้เข้าวัดมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเสมือนงานพุทธศิลป์ที่จะอยู่คู่เมืองไทยและอยู่คู่โลกสืบต่อไปอีกด้วย

       วันนี้เราจึงคัดเลือกเอาพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งสมาธิที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 5 อันดับมารวบรวมไว้ให้ชมกัน แต่ทั้งนี้อันดับที่จัดขึ้นนั้นนับเฉพาะพระพุทธรูปเท่านั้น ไม่นับรวมรูปปั้นพระเกจิ

ไหว้พระแบบมโหฬาร อลังการ 5 พระใหญ่ในเมืองไทย หลวงพ่อใหญ่ ขนาดความสูงถึง 93 เมตร อันดับ 1 “หลวงพ่อใหญ่” วัดม่วง จ.อ่างทอง

       ถ้าพูดถึงพระพุทธรูปนั่งที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในประเทศไทยขณะนี้ ต้องยกให้ “หลวงพ่อใหญ่” หรือ “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ “วัดม่วง” อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

       หลวงพ่อใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีขนาดหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูงถึง 95 เมตร สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล พระพุทธรูปองค์นี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2552 และมีการสร้างองค์จำลองประดิษฐานไว้ด้านล่างเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้จุดธูปเทียนบูชา ส่วนด้านหน้าทางขึ้นมาสักการะองค์หลวงพ่อใหญ่ ทำเป็นบันไดสูงมีพญานาคเลื้อยเป็นราวบันไดตรงกลาง ด้านซ้ายและด้านขวาของบันได

ไหว้พระแบบมโหฬาร อลังการ 5 พระใหญ่ในเมืองไทย พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี (ภาพ :www.mingmongkolphuket.com) อันดับ 2 “พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี” ยอดเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต

       บนยอดเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบร่วมสมัย ขนาดหน้าตักกว้าง 25.45 เมตร ความสูง 45 เมตร ประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาวสุริยกันตะจากพม่า น้ำหนักเฉพาะหินอ่อนหยกขาวประมาณ 135 ตัน

ไหว้พระแบบมโหฬาร อลังการ 5 พระใหญ่ในเมืองไทย พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในภูเก็ต (ภาพ : //www.phuketnicetrip.com)        เหตุที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ไว้บนเขาเนื่องจากมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินบนภูเขาแห่งนี้ให้แก่วัดกิตติสังฆาราม ทางวัดรวมถึงประชาชนและพุทธศาสนิกชนต่างจึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะจัดสร้างพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี ไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ และได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบให้เป็นพุทธอุทยาน

       ชื่อพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรีนี้ ได้มาจากการถวายพระนามจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมตราตั้งให้เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองภูเก็ตอีกด้วย

ไหว้พระแบบมโหฬาร อลังการ 5 พระใหญ่ในเมืองไทย พระพุทธพิมพ์ วัดเกษไชโย (ภาพ : //www.klongdigital.com ล็อกอิน Intel_Number) อันดับ 3 “หลวงพ่อโต” วัดเกษไชโย จ.อ่างทอง

       อีกหนึ่งวัดใน จ.อ่างทองที่มีพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 คือวัดไชโยวรวิหาร หรือวัดเกษไชโย โดยมี “หลวงพ่อโต” หรือ “พระมหาพุทธพิมพ์” พระพุทธรูปปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 16.15 เมตร สูงสุดยอดพระรัศมี 22.67 เมตร เป็นพระพุทธรูปประธานในพระวิหารพระมหาพุทธพิมพ์ หรือพระวิหารหลวง

       หลวงพ่อโตแห่งวัดไชโยนี้เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงต่างเคารพศรัทธา และมีที่มาอันน่าสนใจ โดยเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม โดยเดิมทีเดียวหลวงพ่อโตตั้งใจจะสร้างเป็นพระนั่งขนาดใหญ่มาก แต่สร้างได้ไม่นานก็พังทลายลง ท่านจึงสร้างขึ้นอีกครั้งโดยลดขนาดให้เล็กลงจึงเป็นอันสำเร็จ

       แต่ต่อมา เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด กัลยาณมิตร) สมุหนายก มีศรัทธาสร้างพระอุโบสถและพระวิหารวัดไชโย แต่เมื่อกระทุ้งรากพระวิหาร แรงสั่นสะเทือนทำให้องค์พระพังทลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่โดยรื้อองค์พระออกทั้งองค์แล้ววางรากฐานใหม่ แล้วสร้างตามลักษณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ทำไว้แต่เดิม เมื่อแล้วเสร็จได้รับพระราชทานนามว่า พระมหาพุทธพิมพ์ ซึ่งคือ หลวงพ่อโตนั่นเอง

ไหว้พระแบบมโหฬาร อลังการ 5 พระใหญ่ในเมืองไทย หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง อันดับ 4 หลวงพ่อโต “ซำปอกง” วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา

“พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “หลวงพ่อโต” หรือ “ซำปอกง” เป็นพระประธานในพระวิหารวัดพนัญเชิง อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 20 เมตร สูง 19 เมตร เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป รวมไปถึงชาวจีนซึ่งขนานนามหลวงพ่อโตองค์นี้ว่า "ซำปอกง" หรือ "ซำปอฮุดกง"

       พระพุทธไตรรัตนนายกประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดพนัญเชิง ริมแม่น้ำป่าสัก นอกเกาะเมืองอยุธยา ตำนานของพระพุทธรูปองค์นี้มีอยู่ว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้น ณ บริเวณที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และตามพงศาวดารกล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1867 ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี 26 ปี ครั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้บูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีมาโดยตลอด กล่าวกันว่าเมื่อคราวจะเสียกรุงศรีอยุธยา ได้ปรากฏมีน้ำพระเนตรไหลออกมาจากพระเนตรทั้งสองข้างเป็นที่น่าอัศจรรย์

ไหว้พระแบบมโหฬาร อลังการ 5 พระใหญ่ในเมืองไทย หลวงพ่อชินประทานพร วัดถ้ำเสือ อันดับ 5 “หลวงพ่อชินประทานพร” วัดถ้ำเสือ จ.กาญจนบุรี

“วัดถ้ำเสือ” ใน ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เป็นวัดที่มีทัศนียภาพงดงามเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่คือ “พระพุทธชินประทานพร” เป็นพระพุทธรูปที่มีผู้คนผู้ศรัทธามากราบไหว้ไม่ขาดสาย  พระพุทธชินประทานพรสร้างขึ้นในปี 2516 มีขนาดหน้าตักกว้าง 11.27 เมตร ความสูง 18.22 เมตร เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดกาญจนบุรี ประดับตกแต่งด้วยโมเสคสีทองอร่ามทั้งองค์

       ด้านข้างองค์พระ เป็นที่ตั้งของเจดีย์เกษแก้วมหาปราสาท มีขนาดความสูง 75 เมตร ภายในมีทั้งหมด 9 ชั้น โดยมีบันไดเวียนสำหรับขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุด้านบนยอดสุดของเจดีย์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเสด็จมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในปราสาทจุฬามณีบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ชั้นบนสุดของเจดีย์เกษแก้วมหาปราสาท

       บนเจดีย์เกษแก้วมหาปราสาทยังเป็นจุดถ่ายรูปหลวงพ่อชินประทานพรได้งดงามอีกด้วย โดยหากขึ้นไปยืนอยู่บนชั้น 9 แล้วมองลงมาจะเห็นองค์พระที่มีฉากหลังเป็นภูเขาและทุ่งนาสีเขียวขจี

ไหว้พระแบบมโหฬาร อลังการ 5 พระใหญ่ในเมืองไทย พระพุทธกิติสิริชัย อีกหนึ่งพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดทางสาย จ.ประจวบฯ        นอกจากพระพุทธรูปองค์ใหญ่เหล่านี้แล้ว เมืองไทยยังมีพระพุทธรูปงดงามอีกหลายองค์ที่ล้วนแล้วแต่มีขนาดใหญ่โตไม่แพ้กัน อาทิ “พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา” ประดิษฐานอยู่ที่พุทธอุทยานเพชบุระ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ขนาดหน้าตัก 11.984 เมตร สูง 16.5899 เมตร “พระพุทธกิติสิริชัย” พระพุทธรูปแบบคันธารราฐ ประดิษฐานอยู่ที่ยอดเขาธงชัย ในเขตของวัดทางสาย ใกล้กับหาดบ้านกรูด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาดหน้าตัก 10 เมตร ความสูงพร้อมฐาน 18 เมตร “พระอจนะ” แห่งวัดศรีชุม อ.เมือง จ.สุโขทัย ขนาดหน้าตัก 11.30 เมตร ความสูง 15 เมตร เป็นต้น

       อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้าง เช่น "พระใหญ่ชัยภูมิ" แห่งวัดสระหงส์ พระพุทธรูปปางมธุปายาส (นั่งห้อยขา) ที่มีความสูงมากถึง 199 เมตร หรือ "พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ" ที่วัดเขาทำเทียม จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลักบนภูเขาหิน ขนาดหน้าตัก 65 เมตร สูง 84 เมตร

       ดังนั้นสถิติ “พระใหญ่ที่สุดในไทย” อาจจะถูกลบไปในวันใดวันหนึ่ง เพราะเชื่อแน่ว่าในอนาคตคงจะมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นอีกแน่นอน

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000061352
Create Date :02 มิถุนายน 2557 Last Update :2 มิถุนายน 2557 21:57:22 น. Counter : 1749 Pageviews. Comments :1