bloggang.com mainmenu search

ความหวานชื่นของคู่บ่าวสาวในงาน “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต”


“ภูเก็ต” เป็นเมืองท่องเที่ยวทางภาคใต้ของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางทรัพยากรธรรมชาติอันงดงามอย่างท้องทะเล ภูเขา และน้ำตก และที่นี่ก็ยังมากมายไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่เป็นเอกลักษณ์อันน่าสนให้มาสัมผัสกัน

       อย่างเช่นวัฒนธรรมอันโดดเด่นของกลุ่มคนชาวภูเก็ตจำนวนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "เพอรานากัน" เป็นภาษามาเลย์ แปลว่า "ผู้ที่เกิดในท้องถิ่น" หมายถึง ลูกครึ่งที่เกิดจากชาวจีนแต่งงานกับชาวท้องถิ่นที่เป็นมาเลย์หรืออินโดนิเซีย หากเป็นชายเรียกว่า "บาบ๋า" (Baba) เป็นหญิงเรียก "ยอนย้า" (Nyoya)”ในประเทศสิงคโปร์ มาเลยเซีย นิยมใช้ "เพอนารากัน" ในการเรียกกลุ่มชน

       ส่วนที่จังหวัดภูเก็ตนิยมเรียกว่า "บาบ๋า" หมายถึงกลุ่มชนและเรียกทั้งชายและหญิงว่า "บาบ๋า" คือลูกผสมที่เกิดจากพ่อเป็นชาวจีนกับแม่ที่เป็นคนท้องถิ่น ซึ่งชาวบาบ๋าที่ภูเก็ตมีการรวมกลุ่มกันเป็นอย่างดี แล้วก็มีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของกลุ่มคนบาบ๋าไว้มากมาย


ความงดงามของเจ้าสาวในชุดแต่งงานแบบบาบ๋า


       สำหรับหนึ่งในประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ก็คือ “ประเพณีการแต่งงานของบาบ๋า” หรือ “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” ซึ่งเป็นประเพณีการออกเรือนของบ่าวสาวแบบโบราณ ที่ชาวบาบ๋า จ. ภูเก็ตยังคงรักษาขนบธรรมเนียมนี้ไว้ และร่วมกันสืบทอดอนุรักษ์ไว้ไม่ให้หายไปจากรุ่นสู่รุ่น

       โดยเมื่อวันที่ 22-24 มิ.ย. ที่ผ่านมานี้ ทางสมาคมเพอรานากันภูเก็ต ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เทศบาลนครภูเก็ต และโรงเรียนสอนทำอาหารและภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ ภูเก็ต จัดงาน “วิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน 2556” ขึ้น เพื่อเป็นการจัดงานแต่งงานตามแบบฉบับของชาวเพอรานากัน หรือ บาบ๋า ที่สืบทอดประเพณีนี้มากว่า 200 ปี ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และยังถือว่าเป็นจุดขายควบคู่ไปกับภูเก็ต Old Town พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจ.ภูเก็ตอีกทางหนึ่ง ในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มคู่แต่งงาน กลุ่มฮันนีมูน และครอบครัวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มองหาสถานที่ และการจัดงานแต่งงานที่มีเอกลักษณ์และเป็นความทรงจำที่ดี

นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน เปิดเผยถึงการจัดงาน “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” ขึ้นว่า ทางสมาคมเพอรานากันและชาวบาบ๋าที่ภูเก็ตได้ร่วมกันจัดงานประเพณีแต่งงานอันเป็นวัฒนธรรมประเพณีโบราณนี้มานานถึง 5 ปีแล้ว หลังจากที่การแต่งงานแบบบาบ๋าหายไปจากจ.ภูเก็ตถึง 50 ปี แต่ก็ได้ร่วมกันอนุรักษณ์ไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้ประเพณีนี้ที่ดีงามและสวยงามนี้ยังคงอยู่กับชาวบาบ๋าต่อไป


ความสวยงามอลังการของมงกุฎและเครื่องประดับที่เจ้าสาวใช้


       “คนบาบ๋าที่ภูเก็ตเริ่มหันมาให้ความสนใจในการแต่งงานแบบบาบ๋ามากขึ้น เสน่ห์ของการแต่งงานของชาวบาบ๋า จุดเด่นที่สำคัญมากๆ เลย ก็คือ ความสวยงาม ความอลังการ และจุดเด่นที่ตามมาอีกเรื่องก็คือ ความกตัญญู ความกลมเกลียวในครอบครัว และถือว่าเป็นความขลังของการแต่งงานที่ชาวบาบ๋าได้ร่มกันอนุรักษ์ไว้” นพ.โกศล กล่าว

       ประเพณีการแต่งงานของชาวบาบ๋า ถือว่าเป็นประเพณีการออกเรือนที่สืบทอดให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งการแต่งงานของชาวบาบ๋ามีเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยการแต่งงานของชาวบาบ๋าภูเก็ตในยุคก่อนนั้น เป็นยุคที่ผู้หญิงต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ผู้ชายไม่ค่อยได้พบลูกสาวบ้านไหนได้ง่าย ๆ การแต่งงานจึงต้องผ่านคนกลางคือ ที่เรียกว่า "อึ่มหลาง" (แม่สื่อ) ผู้ทำหน้าที่นี้จะต้องเป็นผู้มีวาทศิลป์ในการพูด โน้มน้าวจิตใจให้เกิดการยอมรับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้อึ่มหลางถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทและมีความสำคัญมากกว่าเป็นเพียงแค่แม่สื่อเท่านั้น เพราะอึ๋มหลางนอกจากจะแนะนำสองครอบครัวให้รู้จักและยอมรับกันแล้ว อึ๋มหลางจะคอยสอนขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถูกต้องในการปฏิบัติตน การจัดพิธี การรู้จักสัมมาคารวะ ไปจนกระทั่งแนะนำการครองเรือน


เจ้าสาวบาบ๋าทำผมเกล้ามวยชักอีโบยและสวมมงกุฎอันงดงาม


       การจัดงานแต่งงานของชาวบาบ๋า จะมีพิธีรีตองที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก คือมีการหาฤกษ์ยาม จัดเตรียมชุดแต่งงาน เครื่องประดับกาย ซึ่งสิ่งสำคัญจะเน้นไปที่ตัวเจ้าสาวผู้งดงาม คือ เจ้าสาวจะมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ คือเจ้าสาวจะสวมชุดครุย คือเสื้อนอกซึ่งเป็นผ้าบาง ๆ ผ้าป่านหรือผ้าป่านชนิดมีลายดอก ใส่เสื้อคอตั้งแขนจีบ มีกระดุมห้าเม็ดติดคอไว้ข้างใน สวมโสร่ง เป็นวัฒนธรรมยืมมาจากทางปีนัง สิงคโปร์ แต่มาประยุกต์ปรับปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมภูเก็ต และก็จะมีเครื่องประดับที่อยู่บนเสื้อครุยเรียกว่า โกสังข์ ทางมาเลย์จะเรียก mother and child หรือแม่กับลูก หน้าตาคล้ายหัวใจคือตัวแม่ แล้วจะมีตัวกลมๆ อีกสองตัวเรียกว่าตัวลูก หนึ่งชุดก็จะมีสามตัว ส่วนเครื่องประดับอื่น ๆ ก็จะมีสร้อยแผงหรือสร้อยสังวาล กำไลข้อมือข้อเท้า แล้วก็แหวน

       ส่วนทรงผมของเจ้าสาวเรียกว่า เกล้ามวยชักอีโบย ข้างหน้าจะเรียบตึง ข้างๆ จะโป่งออกเรียกว่า อีเปง บางครั้งก็เรียก แก้มปลาช่อน แล้วข้างหลังก็โป่งออกเรียกว่า อีโบย และเจ้าสาวจะสวมมงกุฎครอบมวยผม เป็นดิ้นเงินรูปหงส์ มีดิ้นเงินรูปดอกไม้และผีเสื้อรายล้อม เหนือมงกุฎทอง ชาวบาบ๋าถือว่าเป็นสัตว์มงคลและเป็นใหญ่ที่สุดในหมู่สัตว์ปีก เวลาเดินจะขยับตุ้งติ้งจึงนิยมเรียกว่า ดอกไม้ไหว เหน็บด้วยเข็มกลัดหรือปิ่นปักผมรอบศีรษะ

       ด้านเจ้าบ่าวจะแต่งกายสวมเสื้อนอกแบบยุโรป เพราะคนภูเก็ตค่อนข้างจะมีวิถีไปทางยุโรป เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะมาตั้งถิ่นฐานค้าขายจนร่ำรวย ส่วนใหญ่จะอพยพมาจากปีนัง สิงคโปร์ และที่เสื้อเจ้าบ่าวก็จะมีแค่เข็มกลัดที่ติดพู่สีชมพูตกแต่งเพื่อความสวยงาม


บ่าวสาวทำพิธีไหว้เทวดา


       สำหรับการจัดงานวิวาห์บาบ๋าทางสมาคมเพอรานากัน ได้ยึดถือแบบแผนประเพณีแบบบาราณไว้เป็นอย่างดี มีการสืบค้นหาข้อมูลเก่าๆ ว่าประเพณีโบราณมีอะไรบ้าง ก็ดำรงรักษาไว้และปฏิบัติตามไว้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไหว้ ขนมที่ใช้ในพิธีแต่งงานก็มีหลายอย่างที่ล้วนแล้วแต่สื่อความหมายที่ดีงาม อาทิ ขนมกันแม (กาละแม) ที่มีความหมายว่าขอให้ความรักของคู่บ่าวสาว หวานชื่น ยินยาว เหนียวแน่น มีความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน ขนมข้าวเหนียวหีบ (ข้าวเหนียวอัด) มีความหมายว่าให้คู่บ่าวสาวมีความรักที่มั่นคง เหนียวแน่น ขนมชั้น มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวครงรักกันด้วยความสุขหวานชื่น มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และขนมมงคลอื่นๆ อีกหลายอย่าง

       นพ.โกศล ได้เล่าให้ฟังถึงการจัดงานวิวาห์บาบ๋าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ประเพณีจะเริ่มที่บ้านเจ้าบ่าวตามฤกษ์ยาม เมื่อขบวนเจ้าบ่าวพร้อมญาติมิตรเริ่มเคลื่อนขบวนต้องมีการจุดประทัด เจ้าบ่าวมักนั่งรถหรูที่หาได้ในสมัยนั้น “รถปาเก้” หมายถึงรถเก๋งมักเป็นพาหนะยอดนิยมในทุกยุคสมัย นำด้วยรถไม้แบบภูเก็ตที่เรียกว่า “โพถ้อง”ซึ่งบรรทุกนักดนตรีที่เรียกว่า “ตีต่อตีเฉ้ง” เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะลงเดิน พร้อมขบวนขันหมากและเสี่ยหนา ตามด้วยประทัดต้อนรับ เจ้าบ่าวต้องเดินผ่านเด็กชายหญิงต้อนรับหน้าประตูที่จะมอบบุหรี่ใส่พานให้ เจ้าบ่าวจะมอบอั่งเปาตอบ จากนั้นเข้าบ้านไปมอบขันหมากและเสี่ยหนาแก่ญาติฝ่ายหญิง แล้วอึ่มหลางจะจูงมือเจ้าบ่าวไปรับตัวเจ้าสาวในห้องเจ้าสาว


บ่าวสาวบาบ๋าทำพิธีผ่างเต๋


       จากนั้นอึ่มหลางจะนำคู่บ่าวสาวมาไหว้เทวดาที่หน้าบ้าน บางบ้านมีการตั้งโต๊ะไหว้ บางบ้านไม่จัดโต๊ะก็จะใช้พื้นที่ลานหน้าบ้าน จะมีการจุดธูปใหญ่สามดอกให้ทั้งคู่ ไหว้ 12 ครั้ง(เรียกว่า “จับหยี่ป๋าย”) พร้อมแตรจีนเป่าบรรเลง เพื่อแสดงความกตัญญูต่อองค์เง็กเซียนฮ่องเต้และเทวดาทั้งมวลที่คุ้มครองดูแลตนจนเติบใหญ่มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐานได้

       แล้วก็มาถึงพิธีการที่สำคัญ คือ พิธีผ่างเต๋เป็นการไหว้คารวะผู้ใหญ่ด้วยน้ำชามงคล ตระเตรียมเก้าอี้อย่างดีเป็นคู่ ตรงจุดสำคัญในบ้าน ผู้ใหญ่ชายนั่งทางซ้าย ผู้ใหญ่ที่เป็นสตรีนั่งทางขวา มีการประกาศเชิญผู้อาวุโสสูงสุดตามลำดับ ผู้ใหญ่จะรับน้ำชาจากคู่บ่าวสาว จิบน้ำชาแล้วมอบอั่งเปาให้แก่ทั้งคู่ และก็ยังมีพิธีไหว้พระที่ศาลเจ้า ซึ่งเป็นธรรมเนียมของคนบาบ๋าภูเก็ตที่มักเดินทางไปไหว้ขอพรต่อองค์พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามศาลเจ้า(อ๊าม)ใกล้บ้าน หรือที่มีชื่อเสียง เช่น เจ้าแม่กวนอิม อ๊ามปุดจ้อ (มีความเชื่อว่าจะทำให้มีบุตรหลานได้ง่าย) เป็นต้น หรือ บางครอบครัวจะเดินทางไปกราบไหว้หลวงพ่อแช่ม ซึ่งเป็นพระคู่บ้านเมืองภูเก็ต ณ วัดฉลอง(ไชยธาราราม)


อึ่มหลาง (แม่สื่อ) ผู้ที่มีส่วนสำคัญของการแต่งงานแบบบาบ๋า


       เห็นถึงพิธีรีตรองของประเพณีวิวาห์บาบ๋าที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอันดีงามนี้แล้ว ทำให้ในปีนี้มีคู่บ่าวสาวที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานวิวาห์บาบ๋าภูเก็ตถึง 6 คู่ ซึ่งคู่บ่าวสาวแต่ละคู่ได้ร่วมทำตามประเพณีการแต่งงานของชาวบาบ๋าอย่างครบทุกขั้นตอน เรียกว่าเป็นงานแต่งงานที่จัดได้อย่างยิ่งใหญ่และอลังการมากๆ เพราะว่ามีการจัดขบวนแห่คู่บ่าวสาวที่แต่งกายอย่างสวยงาม ร่วมเดินทางไปกับขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ อลังการ มีสิงห์โตเชิดนำขบวนสร้างความคึกคัก และมีเด็กๆ แต่งตัวน่ารักๆ เดินถือดอกไม้เพิ่มความหวานชื่นให้กับริ้วขบวน ที่เดินไปตามถนนถลางที่ถูกปิดไม่ให้รถเข้ามาวิ่ง ทำให้ได้เห็นถึงสวยงามของตึกสไตล์ชิโนโปรตุกีสที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต ซึ่งตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่ของบ่าวสาวบาบ๋าเดินไปตามถนนถลาง มีชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ชาวต่างชาติ มาร่วมชื่นชมกับขบวนแห่กันเป็นจำนวนมาก

       มีการบรรเลงดนตรีกันอย่างครึกครื้น มีการโยนดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีอย่างชื่นมื่น และเต็มเปี่ยมไปด้วยความชื่นมื่น เป็นภาพความหวานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มของความสุข ที่เห็นแล้วทำเอารู้สึกอิ่มเอมใจไปกับวัฒนธรรมประเพณีการแต่งงานของชาวบาบ๋าอันมีเอกลักษณ์ที่ควรร่วมกันดำรงรักษาไว้ ให้อยู่คู่กับชาวบาบ๋าภูเก็ตไปตราบนานเท่านาน ซึ่งหากว่าใครมีความคิดที่อยากจะแต่งงานตามประเพณีอันงดงามของชาวบาบ๋า ก็สามารถมาเข้าร่วมได้ เพราะทางสมาคมเพอรานากันที่จังหวัดภูเก็ตจะมีการจัดงาน “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” ขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี



//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000077582
Create Date :26 มิถุนายน 2556 Last Update :26 มิถุนายน 2556 21:25:38 น. Counter : 2959 Pageviews. Comments :1