bloggang.com mainmenu search




เที่ยววัด...ไหว้พระ...ชมอาคารเก่า (Momypedia)


เป็นเรื่องน่าสนุกไม่น้อย หากคุณพ่อคุณแม่พาลูก ๆ ไปท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ จ.น่าน และ จ.แพร่ เมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกัน เมืองเงียบสงบอันเต็มไปด้วยวัดเก่าแก่ กลิ่นอายวัฒนธรรมล้านนา และชาวเมืองผู้ยิ้มแย้ม การพาเที่ยวครั้ง นี้ เราจะพาคุณผู้อ่านไปชมความงดงามของวัดน้อยใหญ่ และอาคารเก่าแก่ในตัวเมืองน่าน และเมืองแพร่ เมืองในใจกลางอ้อมกอดของภูเขา เพื่อเป็นอีกหนึ่งไอเดียท่องเที่ยวปิดเทอมสำหรับคุณพ่อคุณแม่และน้อง ๆ ค่ะ





หนึ่งวันในเมืองน่าน

แม้มีเวลาอยู่ในเมืองนี้ไม่นาน แต่เราก็ขอเที่ยวแบบช้า ๆ สบาย ๆ ค่ะ อาจไปได้ไม่ครบทุกแห่งที่อยู่ในลิสต์ของนักท่องเที่ยว เพราะตั้งใจให้เป็นการเที่ยวแบบช้า ๆ แต่อินกับบรรยากาศค่ะ

เราเริ่มเช้าวันใหม่ในเมืองน่านด้วยการตื่นเช้าไปดูตลาดเช้า ดูผักผลไม้พื้นเมืองวางขายกันริมถนนหน้าตลาด สีสันสดสวยและแม่ค้ายิ้มแย้มเป็นกันเอง

หลังจากชมตลาด จิบกาแฟ ชิมปาท่องโก๋ยามเช้าแล้ว ต่อจากนี้ไปเป็นการเที่ยววัดและไหว้พระเพื่อเป็นสิริมงคลค่ะ



วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

วัดแรกที่เราไปคือ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมอันสะท้อนอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัวด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายช้างเอาหลังหนุน หรือ "ค้ำ" องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม ที่จังหวัดสุโขทัย

วัดนี้เดิมเรียก "วัดหลวง" หรือ "วัดหลวงกลางเวียง" สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดสำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา



วัดภูมินทร์


วัดต่อไปคือ วัดภูมินทร์ วัดนี้ถือเป็นไฮท์ไลต์ของเมืองน่าน ด้วยภาพวาดฝาผนังอันโด่งดัง วัดภูมินทร์ เป็นวัดหลวง ตามพงศาวดารของเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2139 ความน่าสนใจของวัดนี้คือ พระอุโบสถทรงจัตุรมุข ที่บันไดทางขึ้นอุโบสถมีพญานาคสองตัว ทำให้มองดูคล้ายอุโบสถตั้งอยู่บนหลังพญานาคทั้ง 2 ตัวนี้



ภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือ "ฮูบแต้ม" ในวัดภูมินทร์ถูกเขียนขึ้นในช่วงบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 ภาพวาดเป็นภาพชาดกในพุทธศาสนา แต่หากพิจารณารายละเอียดในภาพจะเห็นถึงวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพชายหญิงสันนิษฐานว่าเป็นชาวพม่า จึงเรียกว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน เพราะคนไทยสมัยก่อนเรียกชาว พม่าว่า ม่าน ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สีสันงดงาม นอกจากนี้ยังมีภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ภาพหญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง ภาพงานประเพณีที่เปิดโอกาสหนุ่มสาวได้มาพบปะเกี้ยวพาราสีกัน วัดนี้ดังมากขนาดที่รัฐบาลเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2



การชมภาพวาดฝาผนังของเราได้อรรถรสมากขึ้นเพราะมีไกด์สมัครเล่นที่ฝีมือไม่ สมัครเล่นเลยถึง 2 คนมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติของวัด และภาพวาดฝาผนังแบบเข้าใจง่าย น้องทั้ง 2 คนนั้นคือ ด.ช.วัฒนชัย สงวนสม หรือน้องแซม และ ด.ญ.ยุราวัลย์ โหราเรือง หรือน้องพลอย นักเรียนจากโรงเรียนสตรีศรีน่าน ที่ใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ มาทำหน้าที่ไกด์นำชมภาพวาดฝาผนัง เป็นการหารายได้พิเศษที่น้อง ๆ ได้ฝึกฝนทักษะภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และทักษะในการนำเที่ยว เห็นเด็กไทยใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์เช่นนี้ทีมงานของเรารู้สึกชื่นใจจริง ๆ ค่ะ

เดินทางสู่เมืองแพร่

เช้าวันรุ่งขึ้นเราเดินทางสู่เมืองแพร่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง ที่เมืองแพร่เราตั้งใจไปชมเรือนเก่าแก่ และอาคารโบราณที่น่าสนใจ 2 แห่งค่ะ





บ้านวงศ์บุรี

บ้านสีชมพูแห่งนี้ชื่อ บ้านวงศ์บุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2450 โดยเจ้าพรหม(หลวงพงษ์พิบูลย์) และเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ธิดาเจ้าบุรี (พระยาบุรีรัตน์) เป็นเรือนปั้นหยาสองชั้นแบบยุโรปประยุกต์ ตกแต่งลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง ก่อสร้างโดยช่างชาวจีนกวางตุ้ง จุดเด่นของอาคารนี้คือลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม ชายน้ำ หน้าต่าง และประตู

ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลาย ชั่วอายุ ทั้งเครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส บ้านวงศ์บุรีได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2536 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้าของบ้านคนปัจจุบันเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ที่ยังอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ และเปิดบ้านให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-16.30 น.



คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่

ต่อไปเราเดินทางไปชมคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ซึ่งปัจจุบัน คือ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ คุ้มแห่งนี้เป็นอาคารใหญ่สง่างาม งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำ รอบตัวอาคารประดับด้วยลวดลายไม้แกะฉลุ ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูนทั้ง 2 ชั้น

คุ้มเจ้าหลวงได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราช กุมารีให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ เปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การเดินทางครั้งแม้มีเวลาเพียงน้อยนิด แต่เราก็ได้ซึมซับบรรยากาศแห่งความสงบเงียบของเมืองเหนือ เมื่อถึงเวลาต้องเดินทางกลับ เราบอกตัวเองว่า เราจะกลับไปที่นั่นอีกครั้งเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาอันอ่อนโยนให้ลึกซึ้ง มากกว่านี้ค่ะ







ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
Create Date :04 มิถุนายน 2554 Last Update :4 มิถุนายน 2554 17:10:37 น. Counter : Pageviews. Comments :1