bloggang.com mainmenu search
ตัวมอม

ตัวมอม


น่าเกลียด-อีกัวนา สถิตวัดดอยสุเทพ (ไทยโพสต์)

วิจารณ์แซด! วัดพระธาตุดอยสุเทพทาสีรูปปั้น "ตัวมอม" คล้ายอีกัวนา นักวิชาการ ม.เชียงใหม่ ติงใช้สีสันฉูดฉาด ไม่เหมาะสม แนะให้แก้ไขตามวิธีโบราณ ปิดทองคำเปลวหรือทาปูนสีขาวก็พอ


       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้เกิดกระแสวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการทาสีบูรณะรูปปั้น "ตัวมอม" จำนวน 2 ตัว ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงบันไดวิหารไม้สักพระเจ้ากือนา วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักท่องเที่ยวไปพบว่ามีการตกแต่งทาสีใหม่ในลักษณะฉูดฉาดหลากหลายสีสัน ซึ่งดูไม่เหมาะสม และได้นำภาพตัวมอมดังกล่าวไปเผยแพร่ลงเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ทำให้เกิดเสียงตำหนิว่าวัดทาสีมากเกินไปจนมองดูคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อีกัวนา กิ้งก่า และตุ๊กแก ทั้งๆ ที่ตัวมอมเป็นสัตว์ในนิยายของทางภาคเหนือและอีสาน เป็นสัตว์ครึ่งสิงห์ครึ่งลิง มีหน้าที่คอยเฝ้าอยู่หน้าวิหารหรือศาสนสถาน จึงขอเรียกร้องให้ทางวัดเร่งแก้ไขเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าใจเรื่องตัวมอมได้อย่างถูกต้อง

  รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อเห็นครั้งแรกก็รู้สึกทันทีว่าไม่เหมาะสม เพราะทาสีฉูดฉาด ผิดหลักการบูรณะซ่อมแซม ตนเห็นว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องหรือความไม่รู้ของเจ้าหน้าที่วัด ซึ่งเป็นผู้ทาสีตัวมอมจนผิดเพี้ยนไปจากของเดิมมาก ดังนั้นก่อนที่จะลงมือทาสีใหม่จึงต้องปรึกษากับผู้รู้ให้แน่ใจว่าทำได้ถูกต้องหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง และที่สำคัญคือ ตอนนี้ทางวัดควรแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางเข้ามาทำบุญในวัดเกิดความสับสน และแยกแยะไม่ออกระหว่างตัวมอมกับสัตว์เลื้อยคลาน

           รศ.ดร.วรลัญจก์ ผู้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม และผู้ศึกษารูปแบบทางศิลปกรรมของวิหารพื้นเมืองล้านนา กล่าวว่า แม้ว่ามอมทั้ง 2 ตัวนี้จะไม่ได้เป็นโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร เพราะเป็นงานศิลปะยุคใหม่ แต่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำศาสนสถานทางล้านนามาเป็นเวลาช้านาน จึงขอให้ทางวัดอนุรักษ์รูปแบบตัวมอมให้ถูกต้อง ไม่ควรใช้สีมากเกินความเหมาะสมหรือผิดเพี้ยนไปจากรูปแบบโบราณ

 "ทางวัดควรบูรณะให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของศาสนสถานและวิธีแบบโบราณคือ ปิดทองคำเปลว หรือทาด้วยน้ำปูนขาวทั้งตัว ก็ถือว่าเหมาะสมกับความเป็นสัตว์ที่เฝ้าวัดวาอาราม ไม่ควรทาสีให้คนมองคล้ายตัวสัตว์เลื้อยคลาน" รศ.ดร.วรลัญจก์เผย

           หัวหน้าภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ตัวมอมเป็นสัตว์ในนิยาย ตามพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ให้ความหมายของมอมว่า เป็นสัตว์ครึ่งลิงครึ่งเสือ มีแขนยาว ตัวดำ คล้ายสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง บ้างก็คล้ายเสือดำ แต่ส่วนใหญ่จะมองเหมือนสิงห์มากที่สุด เพราะเป็นสัตว์มีอำนาจมาก ดังจะเห็นได้ตามลายสักตามตัวของคนไทยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งไทยญวน ไทยดำ ผู้ไทย สำหรับปูนปั้นรูปมอม ผู้สร้างมักจะออกแบบตามจินตนาการ แต่บางตัวอาจมองคล้ายกับกิ้งก่าหรือตุ๊กแกไปก็มี

  "ที่สำคัญคือ ยังมีคนสับสนคิดว่าตัวมอมเป็นสัตว์ชนิดเดียวกับตัวมกรหรือเหรา ที่เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดวัด แต่จริงๆ แล้วเป็นสัตว์ในจินตนาการต่างชนิด ต่างประเภท และมีศิลปะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด" รศ.ดร.วรลัญจก์กล่าวสรุป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Create Date :09 พฤษภาคม 2555 Last Update :9 พฤษภาคม 2555 21:38:19 น. Counter : Pageviews. Comments :0