bloggang.com mainmenu search
ช็อปปิ้ง


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


ช็อปสนุกแต่ก็ทุกข์ใจหลังจากนั้น เพราะเล่นช็อปกันซะเพลินจนกระเป๋าทะลุทำเอาแทบไม่เหลือเงินไว้ใช้จ่ายในส่วน อื่น ๆ เลย นี่อาจจะเป็นปัญหาที่สาว ๆ หลายคนน่าจะเคยประสบกันอยู่บ่อยครั้ง (ใช่ไหมคะ) ขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ดีแน่ ๆ ... ว่าแต่ทำอย่างไรที่จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋า แต่ก็ยังสวยดูดีได้ วันนี้เรามีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะช่วยคุณบริหารเงินในการช็อปปิ้งมาฝากกันค่ะ


1. ตั้งงบประมาณในการช็อป

ตั้งงบประมาณสำหรับการช็อปปิ้งข้าวของของคุณภายในหนึ่งเดือนเอาไว้ และบริหารใช้เงินเท่าที่จำกัดไว้เท่านั้น การทำเช่นนี้จะช่วยยับยั้งสติไม่ให้เราซื้อของกระจุกกระจิกอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นได้ค่ะ


2. ซื้อสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่อยากได้

ก่อนจะซื้อของอะไรสักอย่าง ถามตัวคุณเองให้ชัด ๆ ก่อนว่า สิ่งที่คุณกำลังจะเสียเงินไปเพื่อซื้อนั้น เป็นของที่จำเป็นต้องซื้อ หรือว่าเป็นเพียงเพราะคุณรู้สึกว่าอยากได้เท่านั้น ทุก ๆ เดือน สำรวจตู้เสื้อผ้าของคุณแล้วทำลิสต์สั้น ๆ เอาไว้ว่าสิ่งใดที่ขาดไป และคุณจำเป็นต้องมี เมื่อใดไปช็อปปิ้งก็อย่าลืมหยิบกระดาษโน้ตแผ่นนี้ไปด้วย สิ่งนี้จะช่วยเตือนไม่ให้คุณหยิบของอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ลิสต์เอาไว้ แต่อย่างไรก็ดี มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดถ้านาน ๆ ครั้งสาว ๆ อยากจะซื้ออะไรตามใจบ้าง แต่อย่างน้อยก่อนซื้อก็ขอให้แน่ใจว่าชุดสวยเตะตาตัวที่จะซื้อนั้น เมื่อคุณซื้อมันมาคุณจะได้ใส่จริง ๆ


3. ซื้อเสื้อผ้าลดราคา

คุณต้องเสียเงินมากขนาดไหนกับการจับจ่ายซื้อเสื้อผ้าในราคาเต็ม และมาพบในอีกครึ่งเดือนให้หลังว่าร้านค้านั้นจัดโปรโมชั่นลดราคา ทั้งเพื่อการประหยัดเงิน และป้องกันอาการเจ็บช้ำหัวใจแบบนี้อีก เมื่อใดที่คุณหมายตาเสื้อผ้าสักชิ้นหนึ่ง จงรอจนกว่าจะถึงช่วงลดราคา นี่อาจฟังดูโหดร้ายไปสักนิด ที่การรอคอยไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไร แต่วิธีนี้จะช่วยคุณประหยัดเงินในระยะยาวไปได้เยอะเลยทีเดียวค่ะ


4. คำนึกถึงคุณภาพก่อนปริมาณเสมอ

การลงทุนกับเสื้อผ้าคุณภาพดีสักชิ้น แม้จะราคาสูงเอาการอยู่ แต่มันจะอยู่กับคุณไปได้อีกนาน เมื่อเทียบกับเงินจำนวนเท่ากันที่คุณสามารถนำไปซื้อเสื้อผ้าที่ตัดเย็บมา หยาบ ๆ มาได้สัก 2-3 ตัว การซื้อของโดยเน้นคุณภาพถือเป็นการลงทุนระยะยาว เสื้อเชิ้ตเนื้อดี ตัดเย็บปราณีตสักตัว อาจมีอายุการใช้งานได้นานหลายปี เมื่อเทียบกับแบบราคาถูก ตัดเย็บหยาย ๆ ซึ่งตะเข็บอาจปริ และสีซีดลงหลังจากสวมใส่เพียง 3-4 ครั้ง

นอกจากนี้เพื่อความคุ้มค่า คุณยังสามารถคำนวณราคาของข้าวของหนึ่งชิ้นที่คุณมีตามจำนวนครั้งที่ใช้งาน โดยใช้ราคาเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยจำนวนครั้งที่คุณคาดว่าจะได้ใช้ อย่างเช่น คุณซื้อรองเท้าคู่หนึ่งมาในราคา 500 บาท แต่ดู ๆ แล้ว โอกาสที่จะอำนวยให้คุณได้ใส่รองเท้าคู่นี้คงไม่น่าเกิน 4 ครั้ง นั่นหมายความว่า แต่ละครั้งที่คุณใส่รองเท้านั่นคือเงินจำนวนถึง 125 บาทเลยทีเดียว ในอีกทางหนึ่ง คุณตัดสินใจซื้อยีนส์เนื้อดีสักตัวด้วยราคาถึง 2000 บาท แต่คุณลองกะดูแล้วว่า คุณคงได้ใส่มันอย่างต่ำก็สัก 100 ครั้งแน่ ๆ เท่ากับกางเกงตัวนี้มีมูลค่าในการใส่ต่อครั้งที่ 20 บาท .. เท่านี้ก็เห็น ๆ อยู่ว่าอะไรคุ้มค่ากว่ากัน


5. ซื้อเสื้อผ้าที่พอดีกับรูปร่าง

ฟังดูอาจจะพิลึก จะมีใครบ้างที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ไม่พอดีกับรูปร่างของตัวเอง แต่ในกรณีนี้หมายความว่าให้คุณได้ลองสวมไส่เสื้อผ้านั้น ๆ จนแน่ใจว่ามันพอดีกับตัวคุณ ลองลุกนั่ง ยกมือ ขยับแขน ดูว่ามันรั้งหรือคับเกินไปหรือเปล่า หากคุณรู้สึกไม่สบายตัวตั้งแต่ในห้องลองเสื้อผ้า คุณจะไม่มีทางใส่มันได้สบายหากซื้อกลับไปแน่นอน นอกจากนี้ อย่ายึดติดกับไซส์ให้มากนัก ไซส์ของเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ อาจแตกต่างกันไปตามแต่ผู้ตัดเย็บ ปกติคุณอาจใส่กางเกงพอดีที่ไซส์ 25 แต่เมื่อเปลี่ยนร้าน ไซส์ 27 อาจเหมาะกับคุณมากกว่า อย่าเชื่อตัวเลขที่บอกเอาไว้ ลองด้วยตัวคุณเองจะดีที่สุด


และนี่คือเคล็ดลับง่าย ๆ แต่ใช้ได้จริง รู้อย่างนี้แล้วสาว ๆ อย่าลืมเอาไปใช้เพื่อช่วยบริหารเงินในกระเป๋ากันนะคะ จะได้ช็อปปิ้งกันได้แบบไม่ต้องกังวลใจค่ะ
Create Date :18 พฤษภาคม 2554 Last Update :18 พฤษภาคม 2554 20:02:35 น. Counter : Pageviews. Comments :0