bloggang.com mainmenu search
ปัญหาลูกโซ่ “เกาะตาชัย” นักท่องเที่ยวล้นจนกระทบ หอย ปู ความสวยงามของเกาะตาชัย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปชมเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ภาพถ่ายมุมสูงของ “เกาะตาชัย” ได้ถูกเผยแพร่ออกไปในโลกโซเชียล จนทำให้กลายเป็นประเด็นฮอตในโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา แม้ภาพดังกล่าวจะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแนวปะการังที่เสียหาย หรือเป็นแนวหินใต้ทะเลธรรมดา แต่แน่นอนว่าภาพนั้นเป็นการจุดประเด็นให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาสำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาหลายๆ เรื่องบนเกาะตาชัย ซึ่งถูกซ่อนเร้นไว้ภายใต้ความสวยงามของเกาะแห่งนี้ นั่นก็คือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นเกาะโดยไร้การควบคุม

       ด้วยความที่ “เกาะตาชัย” เป็นเกาะเล็กๆ ในท้องทะเลอันดามันและเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ซึ่งมีพื้นที่ราว 12 ตร.กม. และมีชายหาดเพียงแห่งเดียวอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะ มีความยาวเหนือจดใต้ประมาณ 700 ม. แต่เมื่อนักท่องเที่ยวนับร้อย(และนับพันในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว)เดินทางมาเยือนพร้อมๆ กัน มาใช้ทรัพยากรพร้อมกัน รวมถึงยังมีการทำอาหารเลี้ยงนักท่องเที่ยวบนเกาะ จึงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ บนเกาะตาชัยตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำจัดเศษอาหาร เศษขยะ น้ำไขมันและน้ำเสียต่างๆ รวมถึงเรื่องปะการังเสื่อมโทรม บางส่วนเกิดจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู

ปัญหาลูกโซ่ “เกาะตาชัย” นักท่องเที่ยวล้นจนกระทบ หอย ปู หากไม่มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก        เมื่อเรื่องราวของเกาะตาชัยเริ่มเป็นประเด็นร้อน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับเรื่องเกาะตาชัยไว้ในเฟสบุค Thon Thamrongnawasawat ไว้ดังนี้ว่า “...เมื่อพิจารณาตามการศึกษาวิจัย ไม่เคยมีแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติ งานวิจัย หรือใดๆ ที่ระบุว่า “เกาะตาชัยเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่” ในทางกลับกัน ข้อมูลสรุปตรงกันว่า เกาะตาชัยเป็นพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด แต่ในสถานที่เช่นนี้ กลับมีการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเป็นจำนวนหลายร้อยถึงหลักพันคนต่อวัน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด...”

       ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ ได้เสนอแนะการจัดระเบียบอุทยานทางทะเล ซึ่งรวมถึงเกาะตาชัยไว้หลายข้อด้วยกัน โดยเน้นให้ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และทำตามแผนแม่บทตลอดจนการวิจัยต่างๆ ด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ซึ่งสมควรอนุรักษ์ ลดหรือหยุดการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนอย่างเร่งด่วน เลิกประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นมรดกสำหรับคนรุ่นต่อไป

ปัญหาลูกโซ่ “เกาะตาชัย” นักท่องเที่ยวล้นจนกระทบ หอย ปู ภาพซากปะการัง เกาะตาชัย-สิมิลัน จากเพจ Thon Thamrongnawasawat

ปัญหาลูกโซ่ “เกาะตาชัย” นักท่องเที่ยวล้นจนกระทบ หอย ปู ปูไก่ พระเอกบนเกาะตาชัย        นอกจากความสวยงามโดดเด่นของเกาะตาชัยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นก็คือความหลากหลายทางชีวภาพ บนเกาะตาชัยนั้นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ “ปูไก่” ที่เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของเกาะตาชัย โดยปูไก่นี้เป็นปูน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ชอบอาศัยอยู่ตามธารน้ำ ได้ชื่อว่าปูไก่เพราะส่งเสียงร้องคล้ายไก่ แหล่งชมปูไก่ในแห่งอื่นๆ มักชมได้ในช่วงค่ำมืด แต่ที่เกาะตาชัยสามารถเห็นพระเอกของเกาะมาเดินอาบแดดให้ถ่ายรูปกันถึงชายหาด

       ส่วนสัตว์อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ “หอยมรกต” หอยฝาเดียวสีสันสวยงามอาศัยอยู่บนต้นไม้ ที่พบเฉพาะที่เกาะตาชัย จ.พังงา แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย โดยจะพบบริเวณแหล่งน้ำบนเกาะ ความพิเศษของหอยมรกตคือเมื่อมองในความมืดจะเห็นหอยเรืองแสงสีเขียวเหมือนสีมรกต และชื่อของหอยมรกตก็เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ที่พระราชทานให้แก่หอยชนิดนี้ด้วย และนอกจากนั้นก็ยังมีค้างคาวแม่ไก่ ปูเสฉวนยักษ์ให้เห็นอีกด้วย

ปัญหาลูกโซ่ “เกาะตาชัย” นักท่องเที่ยวล้นจนกระทบ หอย ปู หอยมรกต พบหนึ่งเดียวที่เกาะตาชัย        แต่ในขณะนี้ดูเหมือนว่าทั้งปูไก่-หอยมรกต สัตว์สำคัญบนเกาะตาชัยต่างก็หลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นเกาะไม่พ้น สำหรับปูไก่นั้นเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวกับเสียงและแรงสั่นสะเทือน แต่ในแต่ละวันนักท่องเที่ยวเป็นร้อยเดินเข้าไปแหล่งที่อยู่อาศัย บางคนเอาไม้แหย่รบกวนปูโดยขาดการอบรมจากไกด์นำเที่ยว หรือยิ่งกว่านั้นคือไกด์บางคนหยิบปูมาโชว์ให้นักท่องเที่ยวดูก็มี จนทำให้ทุกวันนี้จำนวนปูไก่ที่พบเห็นบนเกาะลดน้อยลงไป

       ส่วนหอยมรกตนั้น ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ ซึ่งเป็นทีมผู้ค้นพบหอยมรกตบนเกาะตาชัย ได้กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า หอยมรกตเป็นหอยที่ค่อนข้างบอบบางชนิดหนึ่ง เพราะอยู่บนต้นไม้กินไลเคนส์เป็นอาหาร

ปัญหาลูกโซ่ “เกาะตาชัย” นักท่องเที่ยวล้นจนกระทบ หอย ปู เรือนำเที่ยวจอดรอรับส่งนักท่องเที่ยวที่ชายหาด        “เมื่อคนเยอะขึ้นก็มีสิทธิที่จะตัดต้นไม้เพิ่มขึ้น ที่อยู่ของหอยคงลดลง ดีไม่ดีเปลือกสีสวยๆ ของหอยแบบนั้น คงมีบ้างแหละที่นักท่องเที่ยวก็หยิบมาเล่นหรือเอากลับบ้านกันบ้าง" ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าว (คลิกอ่าน ...ชี้ "หอยมรกต” บนเกาะตาชัยน่าเป็นห่วงไม่แพ้ปะการัง...ได้ที่นี่)

เมื่อเป็นกระแสร้อนในโลกโซเชียล และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ในที่สุดก็มีเรื่องน่าดีใจว่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาบนเกาะตาชัย โดยเบื้องต้นได้มีการเรียกผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวมาร่วมประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยขอความร่วมมือเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว

       ทั้งนี้ทางอุทยานฯ ขอให้ผู้ประกอบการทุกรายรื้อถอนบาร์ ซุ้มอาหาร-น้ำ บนเกาะที่ทำไว้ให้บริการเสริมแก่นักท่องเที่ยวของตน พร้อมใช้วิธีการกระจายนักท่องเที่ยวและสับเปลี่ยนไปยังจุดอื่นๆ เช่น จุดดำน้ำลึก จุดดำน้ำตื้น เกาะเมียง เกาะสิมิลัน เกาะตาชัย และเกาะบัว ห้ามเรือทุกลำไม่ให้เร่งเครื่องยนต์จนเกิดเสียงดังรบกวนนักท่องเที่ยวและไม่ให้เกิดฝุ่นทรายฟุ้งกระจายใต้ทะเล อีกทั้งยังห้ามนักท่องเที่ยวไม่ให้ดำน้ำและเล่นน้ำนอกจุดที่อุทยานฯ กำหนดไว้ และไม่ทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ให้รบกวนสัตว์น้ำ หรือให้อาหารสัตว์ทะเล เช่น เต่า และปลาทะเล รวมถึงห้ามปล่อยสิ่งปฏิกูลและของเสียลงสู่ทะเลโดยตรง

ปัญหาลูกโซ่ “เกาะตาชัย” นักท่องเที่ยวล้นจนกระทบ หอย ปู การทำอาหารบนเกาะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของขยะ ซึ่งทางอุทยานฯได้สั่งให้รื้อถอนซุ้มอาหารบนเกาะแล้ว        และที่สำคัญ อุทยานฯ ยังได้เสนอแผนงานในการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เกินวันละ 200 คน โดยให้โควตาผู้ประกอบการนำเที่ยวที่มีอยู่ทั้งหมด หรืออาจให้นักท่องเที่ยวจองผ่านระบบออนไลน์เหมือนกับการจองบ้านพักในเขตอุทยานฯ ที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

       ในขณะที่ระยะเวลาการท่องเที่ยวในเกาะตาชัยยังเปิดให้ท่องเที่ยวได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ก่อนจะปิดฤดูกาลท่องเที่ยวไปอีก 6 เดือน เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว เมื่อเปิดเกาะมาอีกครั้งก็ได้แต่หวังว่าทางอุทยานฯ จะมีมาตรการที่ชัดเจนและเหมาะสม เพื่อที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของเราไว้ อย่าให้เสียหายมากไปกว่าเดิม

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
Create Date :23 มีนาคม 2558 Last Update :23 มีนาคม 2558 21:40:12 น. Counter : 905 Pageviews. Comments :1