bloggang.com mainmenu search

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า

ใน สัปดาห์หน้ากรมจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาราคาผลิตภัณฑ์นมสด พร้อมดื่ม และปุ๋ยเคมี หลังจากสินค้าทั้ง 2 รายการมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จนผู้ผลิตแจ้งขอปรับราคาเข้ามา โดยการพิจารณาผลิตภัณฑ์นมสดคาดว่าจะอนุมัติให้นมสดพาสเจอร์ไรซ์และนมยูเอชที ขนาดเล็กขึ้นราคาไม่เกิน 25 สต.ต่อกล่องหรือขวด ส่วนขนาดใหญ่จะอนุมัติให้ปรับราคาตามสัดส่วน ซึ่งเป็นผลจากมติ ครม.ที่อนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำนมดิบอีก กก.ละ 1 บาท จาก 17 บาท เป็น 18 บาท เมื่อรวมกับการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ 50 สต.ช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้ต้นทุนน้ำนมดิบปรับขึ้นราคามาแล้วถึง 1.50 บาท

ส่วนการพิจารณาปุ๋ยเคมีจะอนุมัติให้ขึ้นราคาบางสูตร โดยผู้ผลิตปุ๋ยยูเรียขอปรับขึ้นราคามา 3 สูตรเฉลี่ย 8-10%

แต่ การพิจารณาอาจไม่ยอมให้ปรับราคาตามที่ผู้ประกอบการเสนอมาทั้งหมด เพราะเกรงว่าจะกระทบกับเกษตรกรผู้ใช้ปุ๋ยมากเกินไป ส่วนสินค้าเหล็กและน้ำมันถั่วเหลือง ยังไม่เรียกประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาในเร็วๆ นี้ เพราะขอดูสถานการณ์ต้นทุน และปริมาณสินค้าอย่างละเอียดก่อน

นาง พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการดูแลราคาสินค้าหลังหมดมาตรการตรึงราคาในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ประเมินว่าสินค้าส่วนใหญ่ยังตรึงราคาต่อ

โดยขณะนี้ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ได้ยืนยันจะตรึงราคาต่อไปจนถึงไตรมาส 3 ดังนั้นผู้ประกอบการรายอื่นที่ยื่นขอปรับเข้ามาในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคก็ น่าจะตรึงราคาต่อไปได้

อย่าง ไรก็ตามจะมีเพียงสินค้า 4 รายการ คือ นม ปุ๋ยเคมี เหล็ก และน้ำมันถั่วเหลืองเท่านั้น ที่อาจมีการพิจารณาให้ปรับราคา เพราะต้นทุนสูงขึ้นจริง




สำหรับ สินค้าน้ำตาลทรายบรรจุถุงขนาด 1 กก.นั้น กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งหารือกับโรงงานน้ำตาลทราย และผู้ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้ได้ข้อสรุป ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากครม.ไม่อนุมัติให้ใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องมีแนวทางให้กระทรวงพาณิชย์ว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายบรรจุถุงขาดแคลน อย่างไร เพราะต้นทุนถุงปรับขึ้นจริง หรือขึ้นมาอยู่ที่ถุงละ 1.30 บาท แต่กระทรวงพาณิชย์ขอให้ผู้ประกอบการตรึงราคาไว้ที่ 75 สตางค์เท่าเดิม เพื่อไม่ให้กระทบราคาน้ำตาลขายปลีก ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและประชาชนในประเทศมากเกินไป

สำหรับสินค้าน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการทบทวนการชดเชยน้ำมันปาล์ม 40,000 ตัน ให้โรงกลั่นรับซื้อผลผลิตในประเทศ โดยให้รัฐชดเชย กก.ละ 2.50 บาท ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์เริ่มกลับเข้าภาวะปกติ อาจไม่มีความจำเป็นต้องชดเชย

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เปิด เผยว่า รัฐบาลต้องรีบยกเลิกนโยบายการควบคุมราคาสินค้าโดยเร็วที่สุดและปล่อยให้กลับ สู่ระบบเสรี โดยมีระบบประกันความเสี่ยงให้เกษตรกรหรือคนจน ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องกำกับดูแลไม่ให้เกิดการค้าที่ผูกขาดในสังคมด้วย เพราะที่ผ่านมาประชาชนโดยเฉพาะคนจนต้องได้รับความเดือดร้อนจากการคุมราคาสินค้า เนื่องจากมีการกักตุนสินค้าไว้เก็งกำไรจำนวนมากจนนำไปสู่ปัญหาขาดแคลน เห็นได้จากเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา น้ำมันปาล์มและน้ำตาลขาดแคลนที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดอย่างมาก

ทั้งนี้รัฐบาลต้องปล่อยให้ราคาสินค้าลอยตัวโดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร

ขณะ เดียวกันก็จำกัดการช่วยเหลือเฉพาะคนที่ยากจนจริง ๆเท่านั้นโดยจัดกลุ่มให้ชัดเจน ให้มีการลงทะเบียนให้ถูกต้องแล้วสร้างระบบดูแลเป็นการเฉพาะ เช่นจัดทำคูปองเพิ่มรายได้ให้นอกเหนือจากรายได้ที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือแบบให้เปล่าเช่นในปัจจุบันแต่ ต้องให้คนเหล่านี้ทำงานแลก

สำหรับคนที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีอาชีพนั้น อยากเสนอให้ภาครัฐจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพให้คนเหล่านี้มีทักษะสามารถประกอบ อาชีพได้ด้วย ไม่ใช่ให้การช่วยเหลือแบบเหวี่ยงเป็นการทั่วไป เช่นที่เคยทำมาในอดีต เพราะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้เมื่อเทียบกับมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว กลับไม่คุ้มค่าแต่อย่างใด.

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Create Date :30 มีนาคม 2554 Last Update :30 มีนาคม 2554 13:46:12 น. Counter : Pageviews. Comments :0