bloggang.com mainmenu search
“ข้าวลืมผัว-เล้าแตก” นำทัพข้าวพื้นเมืองไทยชวนอร่อย อาชีพชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติไทย        คนไทยเรากิน “ข้าว” เป็นอาหารหลักประชาติมาแต่ไหนแต่ไร เชื่อว่าทุกคนต่างคงจะมีจิตสำนึกในบุญคุณของชาวนาไทย ที่ปลูกข้าวให้พวกเราได้กินจนเติบใหญ่มาได้ถึงทุกวันนี้

       หากแต่ว่าตอนนี้ชาวนาไทย ผู้เป็นดั่งกระดูกสันหลังของชาติกลับต้อง กำลังตกที่นั่งลำบากถึงมากที่สุด จากเหตุการณ์ข่าวสารบ้านเมืองเราที่คงทราบกันดี ว่าตอนนี้ชาวนาไทยน่าสงสารเพียงใด เมื่อถูกรัฐบาลโกงเงินไม่ยอมจ่ายเงินค่าข้าวให้ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวกับทางรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนา ไม่ยอมขายข้าวของชาวนา

       ทำให้ตอนนี้ชาวนาไทยจำนวนมากถึงขั้นคอตก ชอกช้ำระกำใจ ชีวิตย่ำแย่ไม่มีเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและเลี้ยงครอบครัว ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะหาทางออกให้กับชาวนาไทยผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติอย่างไร เพราะชาวนาเหล่านี้คิดว่ารัฐบาลมีจิตคิดสงสารช่วยเหลือชาวนา แต่ที่ไหนได้กลับโกงกินทำร้ายชาวนาตาดำๆ ผู้ยากจนอยู่แล้วได้ลงคอ ก็คงต้องมารอลุ้นและเอาใจช่วยชาวนาไทย ว่าจะผ่านพ้นวิกฤตการโกงกินของรัฐบาลไปได้อย่างไร

       เอาเป็นว่าขอพักเบรกเรื่องการโกงกินข้าวของรัฐบาลกันสักนิด มาผ่อนคลายความตรึงเครียดกันสักหน่อย หันมาเข้าใจชาวนาให้มากขึ้น และรู้จักกับข้าวไทยให้มากขึ้น โดยมาทำความรู้จักกับ “ข้าวพันธุ์พื้นเมือง” ของประเทศไทยกันดีกว่า ซึ่งหลายคนอาจจะรู้จักกันแต่เพียงว่าข้าวหอมมะลิ ข้าวเสาไห้ ข้าวเหนียว ที่มีบรรจุขายอยู่ตามท้องตลาดให้ได้เลือกซื้อหา

“ข้าวลืมผัว-เล้าแตก” นำทัพข้าวพื้นเมืองไทยชวนอร่อย ชาวนา หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน        แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ข้าวของประเทศไทยเรานั้น มีข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์เป็นหมื่นๆ สายพันธุ์ก็ว่าได้ ซึ่งข้าวพื้นเมืองเหล่านี้ เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งชาวนาที่อยู่ตามแต่ละภูมิภาคก็จะมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่นิยมปลูกกัน ซึ่งข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ฉะนั้นในวันนี้เราจะขอพาคนไทยทุกคน ไปรู้จักกับ “5 พันธุ์ข้าวพื้นเมือง” ของประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นของแต่ละภูมิภาคกัน

ภาคกลาง : ข้าวชมทุ่ง ข้าวเจ้าให้ผลผลิตสูง

       เริ่มต้นกันที่ภาคกลาง ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต พระนครศรีอยุธยา (สถานีทดลองข้าวหันตรา) ได้กล่าวถึงการปลูกข้าวในภูมิภาคกลางนี้ไว้ว่า ยังคงมีการปลูกข้าวพื้นเมืองกันอยู่มาก โดยพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่โดดเด่นของทางภาคกลาง โดยเฉพาะในแถบนาน้ำลึก ก็คือ “ข้าวชมทุ่ง” เป็นข้าวเจ้าที่ชาวนานิยมปลูก เพราะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ลักษณะของข้าวสายพันธุ์ชมทุ่ง จะมีเมล็ดข้าวที่ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป เวลานำมาหุงอาจจะค่อนข้างแข็งหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวนาภาคกลางนิยมปลูก เพราะให้ผลผลิตที่สูง

ภาคอีสาน : ข้าวเล้าแตก ข้าวเหนียวยอดนิยม ผลผลิตดีเยี่ยม

       จากนั้นมาที่ภาคอีสาน จิตติมา ผลเสวก หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ข้าวพื้นบ้าน เชื้อพันธุ์แผ่นดินอีสาน” บอกไว้ว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของภาคอีสานที่นิยมปลูกกันมากที่สุด คือ “ข้าวเล้าแตก'” เป็นข้าวเหนียวประจำถิ่นอีสาน นิยมปลูกในพื้นที่นาลุ่มมีน้ำขัง ปลูกแล้วเติบโตง่ายในดินทุกประเภท โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย ลักษณะของเมล็ดพันธุ์ข้าวเล้าแตก จะมีลักษณะอ้วน ป้อม เปลือกสีเหลืองลายน้ำตาล เมล็ดโต เมื่อนำมาหุงจะขึ้นหม้อ และมีความโดดเด่นตรงที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตที่ดีมาก ซึ่งปริมาณผลผลิตของเมล็ดข้าวที่มาก แม้แต่เล้า (ที่สำหรับเก็บผลผลิตข้าว) ยังแตกได้ เพราะต้องเก็บผลผลิตเอาไว้มากจนเกินไป จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อข้าวเล้าแตกนั่นเอง

“ข้าวลืมผัว-เล้าแตก” นำทัพข้าวพื้นเมืองไทยชวนอร่อย ข้าวสังข์หยด บ้านเกาะกลาง จ.กระบี่ ภาคเหนือ : ข้าวซิวแม่จัน และข้าวลืมผัว ข้าวเหนียวพันธุ์ดีกินอร่อย

       แล้วเดินทางขึ้นเหนือกัน ไปรู้จัก 2 สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เป็นที่นิยมปลูกของชาวนา ซึ่งข้าวพันธุ์พื้นเมืองของภาคเหนือที่นิยมปลูกกันมากชนิดหนึ่งสายพันธุ์แรก คือ “ข้าวซิวแม่จัน” เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง มีถิ่นที่ปลูกอยู่แถวๆ จ.เชียงราย สามารถปลูกได้ทั้งสภาพไร่และสภาพนา มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ลักษณะของข้าวพันธุ์ซิวแม่จัน เมล็ดข้าวเปลือกจะมีสีฟาง ก้นจุดสีม่วง และมีเมล็ดที่ยาวเป็นที่นิยมของตลาด เมื่อนำมาหุงสุกแล้ว จะได้ข้าวที่นุ่มเหนียวกินอร่อยปาก

       และอีกหนึ่งสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองยอดนิยมของภาคเหนือก็คือ “ข้าวลืมผัว” เป็นข้าวเหนียวดำที่จะปลูกในช่วงนาปี ในเขตพื้นที่สูงของชาวไทยภูเขา บริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก แต่ก็ยังมีปลูกในพื้นที่อื่นๆ อีก เช่นที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกนี้จะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 ม. มีอากาศเย็น และดินอุดมสมบูรณ์ ลักษณะของเมล็ดข้าวลืมผัวจะมีเมล็ดที่ค่อนข้างอวบ เมื่อนำมาหุงจะได้ข้าวเหนียวที่มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย เคี้ยวแล้วจะได้ความมันและนุ่มหนึบ เรียกว่ากินเพลินกระทั่งหมด จนลืมเหลือข้าวเก็บไว้ให้สามีกิน จึงเป็นที่มาของชื่อข้าวลืมผัวนี้เอง ซึ่งตอนนี้ข้าวลืมผัวกำลังเป็นที่นิยมของตลาดเพราะกินอร่อย และมีคุณค่าทางสารอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินอี กรดไขมัน โอเมก้า 6 ธาตุเหล็ก สังกะสี 9 โปรตีน และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้อีกด้วย

“ข้าวลืมผัว-เล้าแตก” นำทัพข้าวพื้นเมืองไทยชวนอร่อย ข้าวเหนียวพันธุ์ลืมผัว ภาคใต้ : ข้าวสังข์หยดพัทลุง และข้าวสังข์หยด บ้านเกาะกลาง จ.กระบี่ ข้าวพื้นเมืองรสชาติดี

       ส่งท้ายมาทีภาคใต้มาทำความรู้จัก ข้าวพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงอย่าง “ข้าวสังข์หยด” เป็นข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมของพัทลุง ในอดีตจะหุงข้าวสังข์หยดเพื่อรับแขกคนสำคัญ และข้าวสังข์หยดเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริเมื่อปี พ.ศ. 2543 ให้โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ จังหวัดพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ดำเนินการปลูกข้าวพันธุ์สังหยด ในพื้นที่แปลงนา ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ในโครงการฟาร์มตัวอย่างเพื่อไม่ให้ข้าวสูญพันธุ์ และก็ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกจนเป็นที่รู้จักกันดี และมีชื่อเสียงในเรื่องของรสชาติที่นุ่มอร่อย

       ลักษณะของข้าวสังข์หยดพัทลุง เป็นข้าวที่มีเมล็ดข้าวที่เล็ก เรียวยาว เป็นข้าวกล้องมีสีแดงเข้ม ที่มากไปด้วยคุณค่าทางธาตุอาหารมากมาย มีวิตามิน ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไนอะซินสูง(วิตามินบี 3 ) ที่มีความสำคัญต่อระบบผิวหนังและประสาท เมื่อนำข้าวสังข์หยดมาหุงแล้วจะได้ข้าวที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีความนุ่มและกินอร่อย

       แล้วนอกจากข้าวสังข์หยดพัทลุงแล้ว ก็ยังมีข้าวสังข์หยด บ้านเกาะกลาง จ.กระบี่ ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ข้าวสังข์หยดที่โดดเด่นเป็นที่นิยมปลูกของชาวบ้านเกาะกลาง จ. กระบี่เป็นอย่างมาก เป็นการนำเอาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองสังข์หยดของพัทลุงมาปลูกในพื้นที่นาของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการทำนาปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และเป็นการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ คือไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น

“ข้าวลืมผัว-เล้าแตก” นำทัพข้าวพื้นเมืองไทยชวนอร่อย ข้าวเปลือกของข้าวพันธุ์เล้าแตก (ภาพจากwww.photo.dinp.org)        ข้าวสังข์หยดที่บ้านเกาะกลาง จะมีลักษณะที่แตกต่างจากข้าวสังข์หยดของพัทลุงตรงที่ เมล็ดของข้าวจะมีขนาดที่เรียวเล็กกว่า และมีสีออกส้มไม่แดงเข้มเหมือนของพัทลุง และเมล็ดข้างในมีสีขุ่น ในขณะที่ข้าวสังข์หยดพัทลุงจะมีความใสกว่า เมื่อนำข้าวสังข์หยดบ้านเกสะกลางมาหุง จะได้ข้าวที่นุ่ม และมีรสชาติที่โดดเด่นคือมีความเค็มเจือปนมาจากการที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ที่ความเค็มจากน้ำทะเลแทรกซึมเข้ามา ทำให้ได้ข้าวสังข์หยดที่กินอร่อยลิ้น

       และทั้งหมดนี้ก็คือ 5 พันธุ์ข้าวพื้นเมืองยอดนิยมของไทยเรา ที่เป็นที่นิยมปลูกอยู่ตามแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย แต่ทว่าสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอื่นๆ ก็มีมีความน่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเหลืองควายล้า ข้าวหลวงประทาน ข้าวสันป่าตอง ข้าวเหลืองเศรษฐี ข้าวหอมไชยา ข้าวเหลืองปะทิว ข้าวแม่ฮ้าง ข้าวพญาลืมแกง และอีกหลากหลายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย ที่เราควรจะช่วยกันอนุรักษ์ไว้ และช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวพื้นเมืองเหล่านี้ต่อไป ให้สมกับที่ว่าเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม และชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติไทย

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

//www.manager.co.th/Food/ViewNews.aspx?NewsID=9570000021123
Create Date :27 กุมภาพันธ์ 2557 Last Update :27 กุมภาพันธ์ 2557 21:31:39 น. Counter : 3449 Pageviews. Comments :0