bloggang.com mainmenu search


ด้วยแนวคิดที่ผสมผสานการใช้งานทั้งเดสก์ท็อป แท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก ส่งผลให้ Asus Transformer Book Trio ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องมือที่ครบถ้วนในเครื่องเดียวจาก 2 ระบบปฏิบัติการอย่างวินโดวส์ 8 และแอนดรอยด์ให้ได้ใช้งานกัน

       เพียงแต่ด้วยการที่รองรับการใช้งานแบบแยกชิ้นกัน ทำให้เวลานำมาประกอบรวมกันเพื่อใช้งานเป็นโน้ตบุ๊ก จะมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ส่งผลให้อาจเกิดปัญหาเวลาต้องพกพา แต่ถ้าแยกใช้งานกันไปก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะทางเอซุส ได้ใส่แอปฯที่จะมาช่วยให้สามารถโอนย้ายข้อมูลระหว่างแอนดรอยด์ และวินโดวส์ได้ด้วย

การออกแบบและสเปก



ในแง่ของการออกแบบต้องถือว่าเอซุส ทำการบ้านมาค่อนข้างดี กล่าวคือผสมผสานการดีไซน์ของแท็บเล็ต และโน้ตบุ๊กได้ลงตัว เมื่อแยกชิ้นส่วนออกมาเป็นเฉพาะแท็บเล็ตก็ใช้ดีไซน์ขอบโค้งเพื่อช่วยให้ตัวแท็บเล็ตดูบาง ประกอบกับวัสดุที่ใช้เป็นอะลูมิเนียมผสมกับพลาสติก ทำให้ตัวเฉพาะตัวหน้าจอมีน้ำหนักอยู่ที่ราว 800 กรัม

       ส่วนตัวฐานของเครื่อง แม้ว่าจะใช้ดีไซน์ให้ใกล้เคียงกับอัลตร้าบุ๊ก แต่เนื่องมาจากมีการใส่สเปกเข้าไปค่อนข้างสูง ประกอบกับแบตเตอรี และฮาร์ดดิสก์ ทำให้ตัวฐานดูค่อนข้างหนา ซึ่งน้ำหนักของฐานจะอยู่ที่ราว 1 กิโลกรัม



ด้านหน้า - หน้าจอของแท็บเล็ตที่ให้มาจะอยู่ที่ 11.6 นิ้ว ซึ่งเป็นจอแบบ IPS รองรับการสัมผัสแบบมัลติทัช ให้ความละเอียดสูงสุดที่ 1,920 x 1,080 พิกเซล โดยมีกล้องหน้าอยู่ที่ความละเอียด HD แต่ทั้งนี้ก็น่าเสียดายที่ขอบจอดูหนาไปสักหน่อย ทำให้ตัวแท็บเล็ตมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย



ด้านหลัง - จะเห็นได้ชัดถึงลายของอะลูมิเนียมชัดเงา ที่มีตราสัญลักษณ์ของเอซุสอยู่ตรงกลาง โดยมีกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซลอยู่ที่มุมขวาล่าง และปุ่มปรับระดับเสียง และเปิดปิดเครื่องที่มุมขวาบน



       ด้านล่าง - ถือเป็นด้านเดียวของขอบเครื่องที่มีพอร์ตต่างๆให้ใส่ไมโครเอสดีการ์ด ช่องเสียบสายไมโครยูเอสบีสำหรับชาร์จ ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และตรงกลางเป็นพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับฐานคีย์บอร์ด



       ในส่วนของฐานคีย์บอร์ด จะเห็นถึงความแน่นหนาในส่วนของข้อต่อที่เชื่อมต่อกับตัวแท็บเล็ต ว่ามีล็อกที่มั่นคงไม่หลุดแน่นอน ในการใส่ก็เพียงแค่เสียบลงไปให้ล็อกทำงาน ส่วนการถอดก็ให้กดปุ่มปลดล็อกตรงกลาง แล้วดึงแท็บเล็ตออกตรงๆ



       เมื่อเชื่อมต่อกับฐานแล้วตัวเครื่องจะสามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่อยู่ในส่วนของแท็บเล็ต และเรียกใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 ที่อยู่ภายในฐาน ได้จากการกดปุ่มสลับระบบปฏิบัติการที่อยู่บริเวณมุมขวาบน ใกล้เคียงกับปุ่ม f12 ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะมีไฟแสดงสัญลักษณ์ว่าตัวฐานทำงานอยู่หรือไม่ด้วย



       สำหรับปุ่มคีย์บอร์ดที่ให้มาถือว่ามีขนาดมาตรฐาน เสียอย่างเดียวยังไม่มีการใส่ไฟแอลอีดีมาเพื่อให้ใช้งานในตอนกลางคืนด้วย ทั้งนี้ในการใช้งานคีย์บอร์ดควบคุมนั้นสามารถใช้ได้ทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการ ทำให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานเป็นอย่างมาก




ที่นี้มาดูในส่วนของพอร์ตต่างๆที่ฐานโน้ตบุ๊กกัน ฝั่งซ้ายจะมีช่องสำหรับเสียบสายหูฟังและไมโครโฟน 3.5 มม. พอร์ตยูเอสบี 3.0 และไฟแสดงสถานะของเครื่องอย่างการเปิดใช้ ชาร์จแบตฯ และการทำงานของฮาร์ดดิกส์ ฝั่งขวา ก็จะมีพอร์ตยูเอสบีอีก 1 พอร์ต และช่องเสียบสายชาร์จ พอร์ตธันเดอร์โบลด์ และช่องไมโครเอชดีเอ็มไอ



       บริเวณด้านหลังฐานก็จะเป็นลักษณะของอะลูมิเนียมขัดเช่นเดียวกับส่วนหลังแท็บเล็ต โดยจะมีการเจาะช่องระบายความร้อนที่หลังตัวเครื่องด้วย พร้อมกับที่มุมของเครื่องทั้ง 4 จะมีปุ่มยางที่ยกตัวเครื่องขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อใช้ระบายอากาศ



       สำหรับอุปกรณ์เสริมที่แถมมาให้ภายในกล่อง จะมีทั้งซองใส่เครื่อง สายชาร์จฐานเครื่อง สายชาร์จแท็บเล็ต พร้อมสายไมโครยูเอสบี พอร์ตแปลงยูเอสบีไปยังแลน และตัวแปลงพอร์ตธันเดอร์โบลด์ไปยังVGA



       มาดูกันในส่วนของสเปกในส่วนของแท็บเล็ตก่อน ซึ่งจะทำงานภายใต้หน่วยประมวลผล อินเทล อะตอม Z2560 ในรหัส Cover Trail+ ที่เป็นดูอัลคอร์ 1.6 GHz ให้ RAM 2 GB และพื้นที่เก็บข้อมูล 16 GB ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ แต่ไม่รองรับการใส่ซิมการ์ด ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2.2



       ขณะที่ในส่วนของโน้ตบุ๊กจะทำงานภายใต้หน่วยประมวลผล Intel 4th Gen (Haswell) Core i7 4500U ที่เป็นควอดคอร์ความเร็ว 1.8 แต่สามารถ Turbo boost ขึ้นไปที่ 3 GHz L1-D Cache 32 KB L1-I Cache 32 KB L2 Cache 256 KB L3 Cache 4 MB



       ตัวการ์ดจอจะใช้เป็นออนบอร์ดที่เป็น Intel HD4400 ให้ความละเอียดหน้าจอสูงสุดได้ที่ 1080p เพียงแต่ในการใช้งานจริง ถ้าเน้นระบบทัชสกรีนแนะนำให้ปรับลดความละเอียดลงมาให้สัมผัสได้ง่ายขึ้น RAM 4 GB ฮาร์ดดิสก์ 500 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8.1

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



สำหรับในส่วนของฟีเจอร์ที่ให้มาภายในเครื่องจุดที่เด่นที่สุดก็คงหนีไม่พ้นระบบการสับเปลี่ยนระหว่างแอนดรอยด์ และวินโดวส์ ที่ผู้ใช้สามารถกดได้จากปุ่มสลับ OS บริเวณด้านขวาปุ่ม f12 ซึ่งความโดดเด่นของระบบนี้คือ แม้จะสลับจากแท็บเล็ตแอนดรอยด์ไปใช้โน้ตบุ๊กวินโดวส์ แต่ตามจริงแล้วระบบแอนดรอยด์ในแท็บเล็ตก็ยังทำงานอยู่ เพื่อให้ผู้ใช้เลือกกลับมาเล่นแท็บเล็ตได้ ระหว่างรอโหลดโปรแกรม หรืออะไรก็ตามในวินโดวส์ได้

       ทั้งนี้ในส่วนของระบบแท็บเล็ตแอนดรอยด์ ความสามารถส่วนใหญ่จะเหมือนกันใน Asus Fonepad 7 ดังนั้นถ้าสนใจถึงความสามารถของแอนดรอยด์ใน Tranformer Book Trio ก็สามารถย้อนกลับไปอ่านได้



       ส่วนจุดที่จะมีความแตกต่างเลยก็คือ แอปฯที่มาช่วยให้ผู้ใช้เครื่องสามารถโอนย้ายไฟล์ ระหว่างแท็บเล็ต และโน้ตบุ๊กได้ ซึ่งเมื่อนำตัวแท็บเล็ตไปเสียบที่ตัวฐานโน้ตบุ๊ก แถบแจ้งเตือนก็จะมีการแจ้งเตือนขึ้นมาว่า พร้อมสลับไปใช้งานแล้ว และสามารถเรียกแอปฯช่วยโอนย้ายไฟล์ขึ้นมาเพื่อใช้งานได้ทันที



       โดยแอปฯนี้จะใช้ชื่อว่า Asus PC Tool ใช้การเชื่อมต่อไวไฟ ระหว่างตัวแท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถโอนย้ายไฟล์ได้ ทั้งจากตัวจัดการไฟล์ในแอนดรอยด์ และหน้า My Computer ในวินโดวส์ ซึ่งถือว่าช่วยเพิ่มความต่อเนื่องในการใช้งานให้แก่ผู้ใช้



       สำหรับแอปฯที่พรีโหลดมาให้ภายในแท็บเล็ตจะประกอบไปด้วย แอปฯอ่านหนังสือ สำรองข้อมูล ตัวล็อกแอปฯ ตัวช่วยจัดการเรื่องเสียง เว็บเบราว์เซอร์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก อีเมล เครื่องเล่นเพลง ตัวจัดการเอกสาร กล้อง และเครื่องมีต่างๆของกูเกิล



       ในส่วนของการตั้งค่า ก็จะเป็นไปตามมาตรฐานของแอนดรอยด์ 4.2.2 ที่แบ่งหมวดหมู่การตั้งค่าออกเป็นการเชื่อมต่อ อุปกรณ์ ส่วนบุคคล บัญชีผู้ใช้ และตั้งค่าระบบ โดยในส่วนของการเชื่อมต่อจะมีแค่ไวไฟ บลูทูธ มาให้เท่านั้น



       หน้าเว็บเบราว์เซอร์ที่ให้มาถือว่าตอบสนองการใช้งานได้ค่อนข้างดี เนื่องจากหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ การแสดงผลไม่ถือว่าช้าเกินไป เพราะด้วยการประมวลผลจากอินเทล อะตอม ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานอยู่แล้ว



       คีย์บอร์ดที่ให้มายังไม่ค่อยโอเคเหมือนกับใน Fonepad ด้วยขนาดของจอที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้การถือพิมพ์ทำได้ค่อนข้างลำบาก อาจจะต้องใช้ความเคยชินเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ถ้าไม่สะดวกกับการสัมผัสที่หน้าจอ ผู้ใช้สามารถนำคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กมาต่อใช้กับแอนดรอยด์ได้เช่นกัน



       ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 5,887 คะแนน และ 16,613 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน

       ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo ได้ 1,687 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ 620 คะแนน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 ได้ 60.5 fps Nenamark2 59 fps An3dBench 7,666 คะแนน และ An3dBenchXL 36,659 คะแนน



       ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 3,273 คะแนน CPU 8,918 คะแนน Disk 10,986 คะแนน Memory 3,258 คะแนน 2D Graphics 1,988 คะแนน และ 3D Graphics 1,195 คะแนน

       ส่วนการทดสอบ CF-Bench และ 3D Mark ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง






       ทีนี้มาถึงในส่วนของระบบปฏิบัติการวินโดวส์กันบ้าง ฟีเจอร์ที่เอซุสใส่เข้ามาให้ใช้งานใน Asus Tranformer Book Trio ส่วนใหญ่จะรวมกันอยู่ใน Asus Console ที่ถือเป็นหน้ารวมสำหรับแสดงรายละเอียดต่างๆของตัวเครื่อง อย่างพื้นที่เก็บข้อมูลที่เหลืออยู่ การเชื่อมต่อ การปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ต ตั้งค่าระบบเสียง และการเข้าถึงพื้นที่เก็บข้อมูลสำรองบนคลาวด์



       ในส่วนของระบบพลังงานเอซุสจะแนะนำระบบ Power4Gear Hybrid มาสักพักแล้ว ซึ่งโปรแกรมนี้ จะมาช่วยในการควบคุมว่าจะใช้พลังงานของเครื่องในโหมดประหยัดเพื่อยืดระยะเวลาการใช้งาน หรือจะเลือกใช้เป็นโหมดประสิทธิภาพสูง เพราะอย่าลืมว่าในส่วนของโน้ตบุ๊กนี้จะมาพร้อมกับซีพียูที่เป็นอินเทล Core i7



       Audio Wizard เมื่อมาใช้งานคู่กับลำโพงของ Harman Kardon ถือว่าช่วยขับพลังเสียงของตัวเครื่องออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ถ้าต้องการนำไปต่อใช้เป็นเดสก์ท็อปคู่กับลำโพง ก็สามารถใช้งานตัวควบคุมนี้ได้เช่นเดียวกัน



       หรือถ้าต้องการปรับแบบที่ละเอียดขึ้นก็จะมี MaxAudio Master ที่ช่วยเข้ามาให้ผู้ใช้สามารถปรับ Bass Treble เพิ่มลดเสียง Dialog ได้ด้วย



       ส่วนของ TouchPad เอซุสก็พยายามเพิ่มลูกเล่นเข้ามาให้ได้เลือกใช้งานกัน โดยจะเรียกรวมๆว่า Smart Gesture ที่จะคอยเปิด-ปิด การสั่งงานต่างๆ จากการใช้งานนิ้วเดียว สองนิ้ว หรือ สามนิ้ว อย่างเช่นการลาก 3 นิ้วลงเป็นการลงหน้าจอเดสก์ท็อป ลาก 3 นิ้วข้นแสดงแอปพลิเคชันที่ใช้งานอยู่เป็นต้น



       อีกจุดหนึ่งที่พิเศษคือ แม้ว่าจะปิดเครื่องอยู่ผู้ใช้งานสามารถนำสายยูเอสบี มาเสียบชาร์จอุปกรณ์พกพาได้ทันที โดยสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ชาร์จจนแบตเตอรี่โน้ตบุ๊กเหลือกี่เปอเซนต์



       สำหรับผลการทดสอบตัวโน้ตบุ๊ก Asus Tranformerbook Trio ในส่วนของ PCMark Vantage จะได้คะแนนรวมอยู่ที่ 7,020




       3DMark Vantage ได้ P4140 คะแนน 3DMark 11 ได้ P963 คะแนน

       ทดลองถอดรหัสไฟล์ x234 ได้ความเร็วตามภาพด้านล่าง




       สุดท้ายอัตราการเข้าถึงไฟล์ของฮาร์ดดิกส์ที่ให้มาขนาด 500 GB จะอยู่ที่ 20.9ms

จุดขาย

       - สามารถใช้งานได้เป็นทั้งแท็บเล็ตแอนดรอยด์ โน้ตบุ๊กและเดสก์ท็อปวินโดวส์ 8
       - ระบบการสับเปลี่ยนโอเอส และการโอนย้ายข้อมูลทำมาได้ค่อยข้างดี
       - ประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊กที่ให้มาถือว่าอยู่ในระดับสูง ส่วนแท็บเล็ตอยู่ในระดับกลางๆแต่ก็พอใช้งาน

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

       - ตัวเครื่องถ้าประกอบรวมกันจะค่อนข้างหนัก ไม่เหมาะกับการพกพาสักเท่าไหร่
       - เสียดายที่ในตัวแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสลับไปใช้งานวินโดวส์ได้
       - เวลาใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กเวลาทัชสกรีน หน้าจอจะสั่นๆ เพราะข้อต่อไม่ค่อยแข็ง

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

       ถ้าเป็นผู้ที่กำลังมองหาทั้งโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูง และแท็บเล็ตแอนดรอยด์ไว้ใช้งาน Asus Tranformer Book Trio สามารถมาตอบโจทย์ทั้งคู่ได้ทันที ด้วยราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 34,990 บาท สำหรับรุ่นที่ใช้ Core i5 และ 37,990 บาท สำหรับ Core i7

       โดยจากจุดเด่นที่เอซุสพยายามนำเสนอออกมาว่าเป็นได้ทั้งแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก และเดสก์ท็อป ถือว่าเป็นการฉีกแนวในฝั่งของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ให้เป็นว่า สามารถพัฒนาอุปกรณ์ชนิดเดียวมาตอบสนองการใช้งานได้ เพียงแต่ว่าท้ายที่สุดแล้วในการใช้งานจริง เชื่อว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็จะยึดติดอยู่กับโน้ตบุ๊กเป็นหลัก เพราะด้วยขนาดของแท็บเล็ตเกือบๆ 11 นิ้ว อาจทำให้พกพาลำบาก

Company Related Links :
ASUS
Create Date :03 กุมภาพันธ์ 2557 Last Update :3 กุมภาพันธ์ 2557 20:47:42 น. Counter : 1685 Pageviews. Comments :0