bloggang.com mainmenu search
ปัจจุบันแม้ราคาน้ำมันจะร่วงดิ่งเหว แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะไม่ทำให้ทิศทางการพัฒนาและกระแสของรถพลังงานทดแทนสะดุด และจะเพิ่มต่อเนื่องในอนาคตอีกไม่นาน ดังนั้นไทยในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ระดับโลก จึงต้องเตรียมรองรับแนวโน้มดังกล่าว ท่ามกลางคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียนก็กำลังชิงการลงทุนเช่นกัน ส่วนเหตุผลและแนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนจุดอ่อน และบทบาทสนับสนุนสำคัญของฝ่ายต่างๆ ควรจะเป็นอย่างไร? มาดูความเห็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องดู...

ยานยนต์ไฟฟ้า... รัฐต้องนำทัพ ปั้นโปรดักต์แชมเปียนตัวใหม่? ยานยนต์ไฟฟ้ามาแน่แม้น้ำมันถูกลง

“ในอนาคตอีกไม่นานกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าต้องมาแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั่วโลกหรือในประเทศไทย แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันจะปรับลดลงอย่างมาก แต่สถานการณ์ของโลกขณะนี้แตกต่างจากที่ผ่านมา คือไม่ได้มองเพียงเรื่องของการประหยัดพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ผลิตและผู้ใช้รถ หรือฝ่ายต่างๆ ได้มองเรื่องปัญหามลพิษเป็นลำดับสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้”

นั่นเป็นการวิเคราะห์ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของ ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ที่ได้กล่าวกับสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวเปิดตัวสมาคมฯ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมกับชี้แจงถึงบทบาทของสมาคมฯ ต่อการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ในฐานะเป็นตัวกลางหลักผสานการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนและสังคม เพื่อช่วยขับเคลื่อนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ทั้งนี้การก่อตั้งสมาคมฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และกลายเป็นโปรดักซ์แชมเปียนอีกตัวในไทย ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษในท้องถนน สอดคล้องกับที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามข้อตกลงในการประชุม COP21 ที่ประเทศฝรั่งเศสล่าสุด ที่มีเป้าหมายลดสภาวะโลกร้อน 2 องศาเซลเซียส โดยวัตถุประสงค์หลักคือสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ และความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้คำปรึกษาข้อบังคับ มาตรฐาน และการดำเนินงาน รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่การส่งเสริมการใช้ การผลิต พัฒนาและวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าในไทย และสุดท้ายส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลทำความเข้าใจกับประชาชนผู้บริโภค

เกิดได้รัฐบาลต้องหนุนเต็มตัว

“สิ่งสำคัญยานยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ในไทย ต้องได้รับการสนับสนุนผลักดันอย่างเต็มที่จากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนโยบายของรัฐที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบต่างๆ จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมกับความเป็นจริง รวมถึงส่งเสริมและอำนวยต่อเทคโนโลยีของยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ หัวใจสำคัญอย่างแบตเตอรี เป็นต้น” ดร.ยศพงษ์กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการดำเนินการที่สอดคล้องบ้างแล้ว เห็นได้จากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ที่นำเรื่องของการปล่อยก๊าซ CO2 มากำหนดอัตราภาษี ทำให้รถยนต์รุ่นใหม่ๆ มีทิศทางเป็นยานยนต์ปลอดมลพิษมากขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) พิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ยานยนต์ไฟฟ้า... รัฐต้องนำทัพ ปั้นโปรดักต์แชมเปียนตัวใหม่? ผุดโรดแมปส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพิจารณาดำเนินการผลิตผลงานวิจัยรถยนต์ไฟฟ้าให้สำเร็จภายในสิ้นปี ซึ่งกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยหนึ่งในนั้นมีมาตรการลดการใช้พลังงาน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมากขึ้น หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำแผนที่นำทางเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย(พ.ศ.2557-2562) ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

สำหรับโรดแมปส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยของสวทช. ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ(คพน.) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้กำหนดการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.)รถโดยสารไฟฟ้า 2.)ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และ 3.) รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสันมอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะอุปนายกฝ่ายส่งเสริมการใช้ กล่าวว่า จากการพบปะหารือระหว่างตัวแทนสมาคมฯ และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้รับมอบหมายให้เร่งศึกษาและจัดทำแผนแม่บท ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยด่วน เพื่อให้ผู้ผลิตที่สนใจลงทุนยื่นขอสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอ ภายในปี 2559 คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี ถึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นนโยบายการใช้พลังงานทางเลือกตัวใหม่ที่ต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้กลายเป็นโปรดักต์แชมเปียนที่สามารถแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนแปซิฟิกได้

เสนอลด-เว้นภาษี-ช่วยเงินผู้ซื้อ

“ปัญหาไม่ผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย มาจากราคาของยานยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาแพง เพราะต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่ ดังนั้นนอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การทำความเข้าใจกับผู้บริโภค สิ่งสำคัญราคาของยานยนต์ไฟฟ้าต้องสามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย แน่นอนรัฐบาลหรือภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน อย่างเช่นเรื่องของภาษีสรรพสามิตที่จะต้องลดลงเป็น 0% หรือยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญในช่วงเริ่มต้น” นางเพียงใจกล่าว

ขณะที่ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะกรรมการและประธานกลุ่มทำงานฝ่ายข้อบังคับและมาตรฐานระบุว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันประเทศไทยสนับสนุนรถไฮบริดและไฟฟ้าพอสมควร แต่รถไฮบริดยังไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยมากนัก

“นั่นเป็นเพราะราคาไม่จูงใจมากพอ ซึ่งน่าจะสรุปได้ว่าการส่งเสริมที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิตที่มีอัตรา 10% หรืออื่นๆ ยังไม่ช่วยลดต้นทุนให้ทำราคาสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้ จึงเห็นว่ารัฐบาลควรจะลดภาษีเป็น 0% และเท่านั้นยังไม่พอจำเป็นต้องสนับสนุนเงินซื้อรถ หรือลดภาระผู้ซื้อรถบางส่วน เหมือนกับในประเทศญี่ปุ่น จีน หรือสหรัฐอเมริกา เป็นต้น”

ทั้งหมดคือภาพความเคลื่อนไหวในขณะนี้ ตลอดจนมุมมองต่อปัญหาและอุปสรรคของยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ส่วนจะแก้ไขและผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการเป็นโปรดักต์แชมเปียนตัวใหม่ของไทยได้หรือไม่? ต้องติดตามกันต่อไป...
//manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9590000000098
Create Date :03 มกราคม 2559 Last Update :3 มกราคม 2559 21:18:58 น. Counter : 518 Pageviews. Comments :0