bloggang.com mainmenu search

คำแนะนำ...สำหรับใครที่เพิ่งเปิดมาเจอหน้านี้ ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 5 (ถ้าหากท่านยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 , 2 และ 3) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 , 2 , 3 และ 4 ตามลิงค์ข้างล่าง

Link : รีวิวตอนที่ 1

Link : รีวิวตอนที่ 2

Link : รีวิวตอนที่ 3

Link : รีวิวตอนที่ 4




หลังจากที่เคลียพื้นที่ติดตั้งเรียบร้อยแล้วมาเข้าสู่การติดตั้งเครื่องใหม่กันเลย


เริ่มแรกคือการติดตั้งชุดคอยล์เย็น Fan coil Unit โดยขั้นตอนแรกสุดคือกำหนดจุดติดตั้งนำแผ่นฐานรองรับเครื่องมาทาบบนจุดที่ต้องการติดตั้ง ตรวจสอบระดับและความลาดเอียงจากนั้นก็กำหนดตำแหน่งจุดที่จะยึดด้วยสกรู จากนั้นก็ทำการเจาะรูบนผนังแล้วนำแผ่นฐานรองรับเครื่องขึ้นไปติดตั้งให้มั่นคง



เมื่อฐานรองรับถูกติดตั้งเข้าที่อย่างมั่นคงแน่นหนาแล้วก็ทำการยกชุดคอยล์เย็นที่มีน้ำหนักกว่าสิบกิโลกรัมขึ้นมาแขวนกับฐานรองรับ



เมื่อแขวนคอยล์เย็นเข้าที่แล้วนำกล่องบรรจุท่อนำสารทำความเย็นมาเปิดกล่องนำท่อที่ม้วนเป็นขดมาทำการคลี่ออกจากม้วน



ท่อทองแดงที่ให้มาทั้งสองท่อตรงปลายท่อแต่ละด้านจะมีจุกพลาสติกสวมเอาไว้ ซึ่งต้องไม่นำจุดนี้ออกหรือทำหลุดในระหว่างดำเนินการติดตั้ง เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในท่อซึ่งสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไป อาจจะนำมาสู่การอุดตันในระบบ
จุกที่สวมปิดอยู่ปลายท่อจะนำออกได้ก็ต่อเมื่อถึงขั้นตอนที่จะสวมแฟร์นัท และเตรียมจะเชื่อมต่อระบบ เท่านั้น



นำท่อทองแดงที่ถูกคลี่ออกแล้วมาวางตามแนววิ่งท่อที่ได้กำหนดไว้จากนั้นค่อยๆคลายแฟร์นัทที่ขันติดอยู่กับท่อที่ออกมาจากคอยล์เย็นที่ต้องค่อยๆคลายแฟร์นัท เพราะว่าในท่อของคอยล์เย็นทางผู้ผลิตได้มีการบรรจุแรงดันก๊าซเฉื่อย(ไนโตรเจน)เอาไว้จึงต้องค่อยๆคลายแฟร์นัทเพื่อระบายแรงดันทิ้ง

เมื่อระบายแรงดันออกหมดแล้ว ถอดแฟร์นัททั้งสองมาสวมปลายท่อทองแดงที่จะเดินไปยังคอยล์ร้อน แล้วทำการบานปลายท่อทองแดงเมื่อบานเสร็จจึงทำการขันแฟร์นัทเพื่อเชื่อมต่อท่อทองแดงทั้งสองท่อ


ปล.กรณีที่คลายแฟร์นัทแล้วไม่มีแรงดันก๊าซเฉื่อย(ไนโตรเจน)ระบายออกมาให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลย ว่าชุดคอยล์เย็นมีรอยรั่ว ไม่ควรดำเนินการติดตั้งต่อ แต่ควรติดต่อศูนย์บริการลูกค้าทันที


หลังจากเชื่อมต่อท่อทองแดงในฝั่งคอยล์เย็นครบทั้งสองท่อแล้วก็ออกมาดำเนินการในส่วนการติดตั้งชุดคอยล์ร้อนนอกบ้าน
ผมเลือกการติดตั้งคอยล์ร้อนแบบวางบนขารองรับที่ยึดอยู่กับกำแพงซึ่งมันก็เป็นขารองรับของเดิมที่เคยใช้รองรับเครื่องตัวเก่า


แต่ต้องมีการปรับระยะเพิ่มเติม เพราะคอยล์ร้อนของเก่ามีระยะห่างบริเวณจุดกึงกลางของขาคอยล์ร้อน ประมาณ 50 เซนติเมตรแต่คอยล์ร้อนเครื่องใหม่มีระยะห่างประมาณ 55 เซนติเมตรทำให้ต้องขยับขารองรับคอยล์ร้อนออกไปด้านใดด้านหนึ่ง อีก 5 เซนติเมตร
และผมก็ได้ปรับความสูงส่วนที่เป็นแท่นรองรับคอยล์ร้อนให้ต่ำลงมาจากเดิม เพื่อความสะดวกในการยกขึ้นไปติดตั้งบนแท่นและยังมีผลพลอยได้คือสะดวกในการบำรุงรักษาในอนาคต


เมื่อแท่นรองรับถูกยึดเข้าที่อย่างมันคงแข็งแรงก็ทำการยกชุดคอยล์ร้อน ขึ้นวางบนแท่นรองรับ

น้ำหนักของชุดคอยล์ร้อนเครื่องใหม่ถือว่าหนักเอาเรื่องถ้ายกเพียงคนเดียว ซึ่งชุดคอยล์ร้อนนี้ มีนำหนักประมาณ 33-35กิโลกรัม
ด้วยรูปทรงของวัตถุที่มีขนาดใหญ่และต้องยกขึ้นวางบนแท่นที่สูงประมาณอกผมพยายามลองยกขึ้นด้วยตัวคนเดียวหลายครั้งด้วยความทุลักทุเล สามารถยกขึ้นได้แต่ก็ไม่สามารถยกขึ้นวางให้ตรงกับตำแหน่งบนแท่นได้สุดท้ายต้องไปตามหาคนที่อยู่ใกล้ๆมาช่วยกันยก
และก็ยกวางบนแท่นได้อย่างเรียบร้อยพอดี
จากนั้นจึงใช้สลักเกลียว 4 ชุดร้อยเข้ากับรูที่ฐานคอยล์ร้อน



หลังจากที่ชุดคอยล์ร้อนถูกยกขึ้นไปวางบนแท่นรองรับแล้วยึดฐานทั้งสี่ด้านให้เข้าที่แล้ว ต่อมาก็เตรียมที่จะบานปลายท่อทองแดงทั้งสองเพื่อเชื่อมท่อเข้ากับเซอร์วิสวาล์วที่ชุดคอยล์ร้อน

ทำการดัดท่อทองแดงลงมายังจุดที่จะต่อเข้าชุดคอยล์ร้อนให้ได้ตามแนวที่ต้องการตอนแรกสุดก็กะว่าถ้ามีท่อเหลือ จะขดเก็บเอาไว้โดยไม่ตัดออก แต่เอาเข้าจริงหลังจากที่ปรับระดับในการวางชุดคอยล์ร้อน ก็มีส่วนท่อที่เหลือเกินมาประมาณ 50 เซนติเมตรซึ่งน้อยเกินไป ถ้าจะขดเก็บไว้โดยที่ไม่ตัดก็จะดูไม่ค่อยสวยผมเลยตัดท่อส่วนเกินออกไป
จากนั้นก็สวมแฟร์นัทแล้วบานปลายท่อทองแดงหลังจากนั้นก็เชื่อมต่อท่อเข้ากับเซอร์วิสวาล์ว

หลังจากเชื่อมต่อท่อทั้งสองเสร็จ ก็ทำสุญญากาศระบบ เป็นเวลา 45นาที(ในคู่มือระบุแค่ 15 นาทีแต่ผมเผื่อระยะเวลาไปอีก)
ระหว่างรอทำสุญญากาศระบบ ก็จัดการต่อวงจรไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศเสร็จแล้วจึงเตรียมแคลมป์มิเตอร์เพื่อวัดกระแสไฟฟ้า


หลังจากครบเวลาทำสุญญากาศแล้ว ก็ดำเนินการตรวจสอบหารอยรั่วบริเวณจุดต่อแต่ละจุด
เมื่อมั่นใจว่าระบบไม่มีรอยรั่ว ก็ทำการเปิดวาล์วที่เซอร์วิสวาล์วเพื่อปล่อยสารทำความเย็นเข้าสู่ระบบ
โดยเริ่มเปิดที่วาล์วของทางอัด (Discharge Line) แล้วตามด้วยการเปิดวาล์วทีท่อทางดูด (Suction Line)

เมื่อเปิดวาล์วสารทำความเย็นทั้งสองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำการ ONเบรกเกอร์ นำรีโมทที่ให้มาพร้อมเครื่อง ใส่ถ่านอัลคาร์ไลน์แล้วเปิดเครื่องปรับอากาศในโหมด Cool ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 23องศาเซลเซียส

ออกมารอดูที่คอยล์ร้อน รอประมาณ 3 นาทีชุดคอยล์ร้อนก็เริ่มทำงาน
กระแสไฟฟ้าขณะที่เครื่องสตาร์ทออกตัวเริ่มต้นอย่างนุ่มนวลตามแบบฉบับของคอมเพรสเซอร์ที่ควบคุมด้วยระบบ Inverter ซึ่งไม่กระชากไฟเหมือนกับการสตาร์ทออกตัวของคอมเพรสเซอร์แบบปกติ
ข้อมูลที่ระบุบนฉลาก Name Plate ระบุอัตราการใช้กระแสไฟฟ้าที่7.0 A 
แต่ในช่วงแรกเริ่มเดินเครื่องค่ากระแสไฟฟ้าสูสุดที่ผมสังเกตได้จากมิเตอร์ อยู่ราวๆ 5 A และกระแสไฟฟ้าก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ4 A และคงอยู่ในระดับนี้สักพักหนึ่ง





กระแสไฟฟ้าที่วัดได้ มีแนวโน้มที่จะต่ำลงมาเรื่อยๆจนมาคงอยู่ที่ประมาณ 2 A


หลังจากกระแสไฟฟ้าลดลงมาที่ระดับ 2 A คงอยู่ที่ระดับนี้สักพัก
กระแสไฟฟ้าก็ค่อยๆลดลง จนกระทั่งเกือบจะเป็น 0 A แต่ในขณะนั้นพัดลมระบายความร้อนยังคงหมุนอยู่ซึ่งนั่นก็แสดงว่าอุณหภูมิในห้อง ลดลงมาอยู่ในระดับที่ตั้งไว้แล้วซึ่งเมื่อห้องเย็นตามที่ตั้งไว้ และไม่มีโหลดความร้อนเพิ่มขึ้นในระยะเวลาหนึ่งคอมเพรสเซอร์ก็จะหยุดทำงานในที่สุด เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเดินต่อไปอีกแม้จะเป็นการเดินในความเร็วรอบที่ต่ำก็ตาม

และเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก พัดลมระบายความร้อนก็หยุดทำงานซึ่งการทำงานของชุด Condensing Unit ทั้งพัดลมระบายความร้อนและคอมเพรสเซอร์จะทำงานพร้อมกันใหม่อีกครั้ง เมื่ออุณหภูมิภายในห้องสูงขึ้น

การทำความเย็นในระบบจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ตามวัฏจักรของการทำความเย็น หรือไม่
จุดที่สังเกตได้ง่ายๆคือ ที่บริเวณเซอร์วิสวาล์วถ้ามีหยดน้ำเกาะบริเวณท่อทั้งสอง ก็แสดงว่าระบบทำความเย็น เป็นไปอย่างสมบูรณ์



หลังจากนั้นก็เก็บงานในส่วนของท่อนำสานทำความเย็นและสายไฟจัดการพันด้วยเทปไวนิลให้เรียบร้อย ถอดเครื่องมือวัดออกแล้วทำการปิดฝาครอบด้านข้าง เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนในการติดตั้งและการทดสอบระบบ




และก็มาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านขั้นตอนสุดท้ายคือการนำรีโมทคอนโทรลของเก่าออกไปเก็บรวมกับชุดคอยล์เย็นของมันที่ถูกถอดลงไปแล้วก่อนหน้านี้




จากนั้นก็ดำเนินการติดตั้งรีโมทคอนโทรตัวใหม่เข้าแทนที่




เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับขั้นตอนของการติดตั้งและทดลองเดินเครื่องในช่วงแรก

สามารถติดตามวิธีการตั้งค่าระบบควบคุมผ่าน WiFi โดยใช้Smart Phone เพื่อใช้งานในฟังก์ชั่นการทำงานอันเป็นจุดเด่นของเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้

ตามลิงค์ข้างล้าง

Link  : รีวิว...ตั้งค่าการควบคุมแอร์ SAMSUNG ผ่าน WiFi


ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้ตั้งค่าฟังก์ชั่นเสริมที่ว่านี้เครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ก็จะดูเป็นเครื่องปรับอากาศ Inverter แบบธรรมดา ที่ไม่มีอะไรพิเศษมากนักและใช้งานได้ไม่เต็มความสามารถที่มันมีอยู่






Create Date :03 มิถุนายน 2556 Last Update :9 มิถุนายน 2556 3:28:55 น. Counter : 7519 Pageviews. Comments :0