bloggang.com mainmenu search

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Maldives Inverter 13000 BTU


รีวิว แอร์ Inverter อินเวอร์เตอร์



ต้องยอมรับว่าอากาศประเทศไทยเรา ร้อนขึ้นทุกๆวัน และเครื่องปรับอากาศก็ได้กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายๆครอบครัวไปแล้ว ช่วงที่ผ่านมาผมกำลังมองหาเครื่องปรับอากาศตัวใหม่มาติดตั้งเพิ่มที่บ้านสวนของคุณพ่อ ตอนแรกก็กะว่าจะเลือกเป็นเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดาทั่วไป แต่จากการที่ผมได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงเครื่องปรับอากาศมีโอกาสได้สัมผัสสินค้าตัวใหม่ๆอยู่เป็นประจำ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ในตลาดเครื่องปรับอากาศมีการแข่งขันสูงจากผู้ผลิตแต่ละค่าย หลายๆรุ่นที่ออกใหม่มาในตอนนี้มีความน่าสนใจมาก และเมื่อได้เห็นสินค้าตัวใหม่ของ SAMSUNG ดูแล้วโดยภาพรวมน่าสนใจดี

ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเลือกเครื่องปรับอากาศตัวนี้ ก็ได้ลองตรวจสอบและประเมินรายละเอียดเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบและคุณภาพวัสดุที่ใช้ ดูแล้วถือว่าสอบผ่าน และยังมีราคาค่าตัวที่ไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศ Inverter ยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งเครื่องปรับอากาศ Inverter ขนาด 12,000 – 13,000 BTU ยี่ห้อดังๆที่โฆษณากันบ่อยๆ ราคาเฉพาะเครื่องอยู่ที่ประมาณสองหมื่นกว่าบาทขึ้นไปทั้งนั้น แต่...เครื่องปรับอากาศ Inverter ของ SAMSUNG ตัวนี้ ราคาเฉพาะเครื่อง อยู่ที่ประมาณ 17,XXX – 18,XXX บาท เท่านั้น...ถือว่าเป็นเครื่องปรับอากาศคุณภาพโอเค ราคาคุ้มค่า

ซึ่งจุดสำคัญที่ทำให้ผมนำข้อมูลจากการติดตั้ง เครื่องปรับอากาศ Inverter ของ SAMSUNG มาทำเป็นรีวิว ก็เพราะ ผมเห็นว่ามันมีความน่าสนใจดีและยังไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงหรือให้ข้อมูลของรุ่นนี้ ผมเลยเอามาทำเป็นรีวิวแชร์ข้อมูล เผื่อใครที่สนใจหรือกำลังมองหาเครื่องปรับอากาศจะได้มีข้อมูลที่หลากหลายไว้เปรียบเทียบและประกอบการตัดสินใจ 

ในโลกออนไลน์ เครื่องปรับอากาศ Inverter ที่หลายๆคนรู้จักและพูดกันบ่อยๆ หลักๆก็เห็นจะมีของ DAIKIN กับ MITSUBISHI ซึ่งสองยี่ห้อนี้เป็นสองค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องปรับอากาศบ้านเรา ที่ผ่านมาผมก็ได้สัมผัสเครื่องปรับอากาศของทั้งสองยี่ห้อนี้มามากพอสมควร แต่เรื่องรายละเอียดของทั้งสองยี่ห้อ เป็นแบบไหน เป็นเช่นใด ผมคงไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว เพราะสองยี่ห้อนี้ในโลกออนไลน์ข้อมูลเขามีแน่นเป็นตันแล้ว

และถ้าหากใครต้องการอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับระบบ Inverter สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ group blog เครื่องปรับอากาศ  ซึ่งผมได้รวบรวมข้อมูลและเขียนเป็นบทความที่เกี่ยวข้องในเรื่องของระบบ Inverter ไว้แล้ว หรือตามลิงค์นี้เลย... Click

พูดมาซะยาว งั้นมาเข้าสู่เนื้อหาสาระของการรีวิวกันเลย

วันที่ดำเนินการติดตั้ง เป็นช่วงวันหยุด ว่างเว้นภารกิจพอดี เลยดำเนินการนำเครื่องปรับอากาศตัวดังกล่าวพร้อมเครื่องมือที่จำเป็นในการติดตั้งขึ้นรถและเดินทางมายังบ้านสวนของคุณพ่อ งานนี้ไม่รีบร้อนเลยลงมือทำเองคนเดียว ไม่อยากเรียกทีมช่างมาช่วยนอกพื้นที่ เพราะเห็นว่าเป็นวันหยุดพักผ่อน(และแอบงก...ไม่อยากเสียเงินพิเศษเป็นค่าทำงานล่วงเวลาให้ทีมช่าง) ไหนๆงานนี้ก็ทำเอง ไม่รีบร้อน ขอทำไปเก็บภาพไป เพื่อจะได้เอามารีวิวให้เห็นถึงความน่าสนใจในแอร์ตัวนี้
ขับรถออกจากบ้านพร้อมชุดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องมือที่จำเป็นในการติดตั้ง เดินทางมายังบ้านสวนของคุณพ่อตั้งแต่ช่วงเช้า ขับรถออกมานอกตัวเมืองไกลพอสมควร



มาถึงสถานที่ติดตั้ง...เรามาดูชุดเครื่องปรับอากาศกันก่อนนะครับ

ชุดเครื่องปรับอากาศหลักๆก็จะมี คอยล์เย็น (Fan Coil Unit) และ คอยล์ร้อน (Condensing Unit)



ชุดท่อนำสารทำความเย็น(ท่อทองแดงแบบหนา) พร้อมฉนวนยางหุ้มท่อ ประกอบไปด้วยท่อทองแดงขนาด 1/4” และ 3/8” ยาว 4 เมตร



มาดูตัวผลิตภัณฑ์ในส่วนของชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit)



เปิดกล่องออกมาก็จะพบชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit)



ชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG รุ่นนี้ออกแบบมาค่อนข้างดี ดูแข็งแรงมั่นคง ฝาปิดด้านหน้าและด้านบนเป็นชิ้นเดียวกัน วัสดุที่ใช้เป็นแผ่นโลหะมีความหนาและแข็งแรงพอสมควร



ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แสดงค่า EER 11.62

เรื่องการประหยัดไฟ...ทางผู้ผลิตได้บอกรายละเอียดไว้ว่า เมื่อเทียบกับแอร์แบบธรรมดา แอร์ตัวนี้ประหยัดไฟได้ ที่ 30 ถึง 50 เปอร์เซ็น



รีวิวฉบับนี้...ขอทำการรีวิวแบบเจาะลึกลงไปในรายละเอียดต่างๆ จะเจาะลึกลงไปในส่วนประกอบต่างๆให้เห็นกันชัดๆ ประเมินให้เห็นกันในแต่ละส่วนเลย ดังนั้นผมจึงเปิดตัวเครื่องออกมา ให้ดูกันชัดๆถึงการออกแบบภายใน ของชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit)



เมื่อเปิดฝาครอบออกมา จะเห็นภาพรวมของภายในชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit)



ภาพจากมุมบน ส่วนนี้คือกล่องควบคุม ของเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter



นี่คือแผงระบายความร้อนของชุด Condensing Unit หรือจะเรียกว่าเครื่องควบแน่นก็ไม่ผิด เพราะแผงระบายความร้อนในชุด Condensing Unit ของแอร์ทุกรุ่นทุกแบบ หน้าที่ของมันก็คือ รับเอาสารทำความเย็นที่ถูกอัดออกมาจากคอมเพรสเซอร์ ซึ่งอยู่ในสถานะแก๊สแรงดันสูงอุณหภูมิสูง เมื่อสารทำความเย็นไหลเข้ามาในแผง พัดลมที่ชุด Condensing Unit ก็จะมีหน้าที่ในการช่วยดึงความร้อนออกจากสารทำความเย็น ภายหลังจากสารทำความเย็นไหลผ่านแผงระบายความร้อนแล้ว ก็จะเกิดการควบแน่น เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวแรงดันสูงอุณหภูมิสูง แล้วจึงไปเข้าสู่ขันตอนต่อไปตามวัฏจักรของการทำความเย็น 

และหากใครที่เคยสังเกตแผงระบายความร้อนของแอร์ทั่วๆไป จะเห็นถึงความแตกต่างของแผงระบายความร้อนในชุด Condensing Unit ของแอร์เครื่องนี้ แผงระบายความร้อนที่แอร์เครื่องนี้ใช้ ลักษณะเหมือนแผงระบายความร้อนของหม้อน้ำรถยนตร์ จัดว่าเป็นรูปแบบใหม่สำหรับการนำมาใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน เป็นอลูมิเนียมยกแผงทั้งท่อและครีบ



ใบพัดของชุดคอยล์ร้อน เป็นแบบ 3 ใบพัด วัสดุทำมาจากพลาสติกแข็ง 



มาดูกันในส่วนของหัวใจหลักของเครื่องปรับอากาศ นั่นคือตัวดูดอัดสารทำความเย็น หรือคอมเพรสเซอร์ (Compressor)


คอมเพรสเซอร์มีการห่อหุ้มเป็นอย่างดีด้วยฉนวนหลายชั้น (ภาษาช่างเรียกว่า...ผ้าห่มคอมเพรสเซอร์) มีไว้เพื่อช่วยป้องกันและดูดซับเสียงเวลาที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน เป็นการลดระดับความดังของเสียงรบกวน และอีกปัจจัยหนึ่ง คือมีส่วนช่วยลดการเกิดหยดน้ำ(เหงื่อ) ที่จะเกิดขึ้นบนผิวนอกของคอมเพรสเซอร์ในขณะที่เครื่องทำงาน



คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ เป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่ขนาดเล็กกะทัดรัด เป็นคอมเพรสเซอร์แบบที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส

เหตุที่เป็นระบบ 3 เฟส เพราะระบบควบคุมในเครื่องปรับอากาศตัวนี้ ใช้หลักการควบคุมความถี่ไฟฟ้าที่จ่ายให้คอมเพรสเซอร์ เพื่อให้มีผลต่อจำนวนรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ตามหลักการควบคุมแบบ Inverter

การควบคุมคอมเพรสเซอร์ ของเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้จะเริ่มที่กล่องควบคุม ซึ่งภายในจะบรรจุชุดประมวลผล microprocessor ทำหน้าที่ประมวลสัญญาณทางไฟฟ้าที่ได้รับมาจากเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายในห้อง ซึ่งจะบันทึก ค่าความแตกต่างของอุณหภูมิที่ตั้งและอุณหภูมิห้อง เมื่อแรกเริ่มเดินเครื่อง อุณหภูมิที่ตั้งไว้กับอุณหภูมิในห้องมีความแตกต่างกันมาก ชุดประมวลผลในแผงควบคุมจะสั่งการให้คอมเพรสเซอร์เดินแบบเต็มกำลังเพื่อเร่งให้ห้องเย็นเร็ว และเมื่ออุณหภูมิภายในห้องลดต่ำลงเรื่อยๆ ชุดประมวลผลก็จะนำสัญญาณที่วัดได้จากเซ็นเซอร์มาทำการประมวลผล เพื่อปรับความถี่ไฟฟ้าที่จ่ายเข้าคอมเพรสเซอร์ สั่งการให้คอมเพรสเซอร์ทำงานในความเร็วรอบที่ช้าลง ให้สัมพันธ์กับระดับอุณหภูมิในห้องที่ลดต่ำลง

ด้วยความที่ผมอยากรู้ว่าคอมเพรสเซอร์ตัวนี้เป็นของยี่ห้ออะไร จึงเอามือล้วงคลำๆหาป้ายยี่ห้อในด้านหลังของตัวคอมเพรสเซอร์ พบป้ายยี่ห้อ แต่ว่า...มันอยู่ข้างในมองไม่เห็น ด้วยความที่อยากรู้เลยหากระจกเล็กๆมาส่องดู ปรากฏว่าเป็นคอมเพรสเซอร์ที่ติดโลโก้ของ SAMSUNG คาดว่าน่าจะเป็นคอมเพรสเซอร์ที่ SAMSUNG ผลิตออกมาเองหรือไม่ก็สั่งผลิตมาโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้เป็นคอมเพรสเซอร์ของ SCI แบบที่รุ่นในอดีตเคยใช้อยู่



ด้านข้างของชุดแผงควบคุมระบบ Inverter



ในภาพ คือครีบระบายความร้อนของชุดควบคุมระบบ Inverter ออกแบบให้อยู่ใกล้พัดลมระบายความร้อน เพื่อให้ความร้อนที่ออกมาจากชุดควบคุมขณะที่เครื่องทำงาน ได้รับการระบายความร้อนที่ดี(ฝากพัดลมพาออกไป) ช่วยยืดอายุให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชุดควบคุม



แผงวงจรในส่วนชุดควบคุมระบบ Inverter มีการออกแบบให้มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันจิ้งจกหรือแมลงเข้าไปภายในซึ่งอาจจะทำให้เกิดการลัดวงจร หมดปัญหาเรื่องจิ้งจกเข้าไปฆ่าตัวตายในแผงวงจรแล้วทำให้บอร์ดลัดวงจรเหมือนที่เคยเจอในแอร์อินเวอร์เตอร์ยี่ห้อหนึ่ง



ด้านข้างของชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) จะมีป้ายแสดงข้อควรระวัง คำเตือน และข้อมูลรายละเอียดของตัวเครื่อง



ป้ายแสดงรายละเอียดของตัวเครื่อง (Name Plate) และป้ายแสดงชนิดสารทำความเย็นที่ใช้ ซึ่งเครื่องนี้ใช้สารทำความเย็นรหัสใหม่ คือ R-410A ซึ่งเป็นสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีแรงดันสูงกว่าสารทำความเย็น R-22 แบบเก่า ประมาณ 1.5 – 1.6 เท่า และที่สำคัญ...ข้อควรระวัง...สารทำความเย็น R-410A เป็นสารทำความเย็นที่ติดไฟได้นะครับ และดูเหมือนว่า เครื่องปรับอากาศ Inverter รุ่นใหม่ๆที่ออกมาในตอนนี้ จะใช้สารทำความเย็นแบบ R-410A กันทั้งนั้น

และคาดว่าในอนาคตข้างหน้า เครื่องปรับอากาศที่ผลิตออกมาในประเทศไทย ไม่ว่าจะแบบธรรมดาหรือแบบอินเวอร์เตอร์ ก็จะถูกบังคับให้ใช้สารทำความเย็น R-410A กันหมด ตามข้อบังคับในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

และถ้าหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410A สามารถเข้าไปดูบทความที่ผมเขียนไว้ ตามลิงค์ Click <<





ฝาครอบด้านข้างของตัวเครื่องผลิตจากพลาสติดคุณภาพดี มีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งฝาครอบตัวนี้เป็นส่วนที่ครอบปิดท่อบริการ (Service Valve) และจุดต่อสายไฟ



เมื่อเปิดฝาครอบออกมา ก็จะพบกับ ส่วนล่างซึ่งเป็นท่อบริการ (Service Valve) ด้านทางดูด(Gas) กับ ด้านทางอัด(Liquid) และส่วนบนซึ่งเป็นถึงจุดต่อสายไฟ (Terminal)



โดยภาพรวมแล้ว การออกแบบชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ของเครื่องปรับอากาศตัวนี้ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เลือกใช้วัสดุที่ดีมีคุณภาพ ตัวถังเป็นโลหะพ่นเคลือบกันสนิม มีความแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย และชิ้นส่วนแยกย่อยก็มีไม่มาก ทำให้การถอดประกอบเพื่อซ่อมบำรุงก็ทำได้ง่าย



เจาะลึกในเรื่องของรายละเอียดของชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit เสร็จไปแล้ว ตอนต่อไปก็จะเป็นการเจาะลึกรายละเอียดในส่วนของชุดคอยล์เย็น Fancoil Unit คลิ๊กตามลิงค์ข้างล่างเพื่อเข้าสู่รีวิวตอนต่อไป



อ่านรีวิวตอนที่ 2 ต่อ..."คลิ๊ก"

Create Date :28 พฤษภาคม 2556 Last Update :9 มิถุนายน 2556 3:34:16 น. Counter : 23566 Pageviews. Comments :4