bloggang.com mainmenu search
รีวิวหนังสือที่อ่านตามเกม RRR หรือ Rainy Read Rally ต่อ ... ใครที่สงสัยว่ามันคืออะไรคลิกที่ลิงก์ข้างล่างได้เลยค่ะ

- กระทู้เปิดตัว

- กระทู้ปัจจุบัน ((ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.))


เล่มนี้อ่านตามโจทย์

20-3. [ยาคูลท์] อ่านหนังสือที่ได้รางวัลซีไรต์ 3 เล่ม โดยสามเล่มนี้ต้องได้รางวัลห่างกันอย่างน้อยสองปี (ตอนโพสต์แจ้ง ช่วยบอกปีที่ได้รางวัลด้วย)


ได้ 20 คะแนน ^^

- ความสุขของกะทิ ซีไรท์ปี 2549

- ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ซีไรท์ปี 2540

- เวลา ซีไรท์ปี 2537





เรื่อง : เวลา
เขียนโดย : ชาติ กอบจิตติ




ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

เวลา นวนิยายแนวใหม่ของ ชาติ กอบจิตติ เขียนเสร็จเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2536 มีความยาวทั้งหมด 232 หน้า เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวของผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งที่สูญเสียภรรยาและลูกสาวไปให้กับการทำงานของตนเอง ที่เข้าไปดูละครเวทีของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่กำลังลาโรง แรงจูงใจของเขาที่ทำให้ไปดูละครเวทีเรื่องนี้ก็เพราะได้อ่านคำวิจารณ์มาก่อนว่า เป็นละครเวทีที่น่าเบื่อที่สุดในรอบปีและเป็นละครเวทีที่เกี่ยวกับคนแก่ในบ้านพักคนชรา ทั้ง ๆ ที่กลุ่มผู้สร้างเป็นเพียงนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ

เวลา ใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยสมมติให้ผู้อ่านเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนนี้ที่กำลังดูละครเวทีเกี่ยวกับชีวิตคนแก่อยู่ ในบางช่วงให้ตัวผู้กำกับฯนี้สนทนากับผู้อ่านและตัดสลับกับมุมกล้อง โดยดำเนินเรื่องผ่านช่วงเวลาในแต่ละชั่วโมงตั้งแต่เช้าจนเย็น ตอนจบเป็นการหักมุม โดยให้เห็นว่าในห้องกรงที่ดูเหมือนว่ากักขังคนแก่ที่คอยตะโกนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า "ไม่มีอะไร ไม่มีจริง ๆ " ก็ไม่มีอะไรเลยจริง ๆ ในห้องนั้น

ชาติ กอบจิตติ ได้อุทิศหนังสือเล่มนี้แด่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของตัวเอง และของทุก ๆ คน พร้อมกับย้ำเสมอ ๆ ว่า นวนิยายของเขาเรื่องนี้น่าเบื่อจริง ๆ

หนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 โดยสำนักพิมพ์หอน ที่เจ้าตัวเป็นเจ้าของเอง ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นแห่งปีประจำปี พ.ศ. 2537 และรางวัลซีไรต์ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นรางวัลซีไรต์ครั้งที่สองของชาติ กอบจิตติ ด้วย หลังจากที่เคยได้มาแล้วจาก คำพิพากษา ในปี พ.ศ. 2525


.....


หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่ไอซ์ซื้อมาดองเอาไว้เกือบสามปีแล้ว ซื้อที่งานหนังสือแห่งชาติ ได้พบกับคุณชาติและได้ลายเซ็นเก็บไว้ด้วย



ปัญหาของการซื้อหนังสือมาดองก็คือ พอมาอ่านและรู้ว่าหนังสือมีความผิดพลาด มันก็นานนมมาแล้ว เล่มที่ไอซ์มีข้างบนนี้ หน้าหายค่ะ ตั้งแต่หน้า 129-144 ฮือออออออออ จะเอาไปเปลี่ยนก็เสียดายลายเซ็น จะซื้อใหม่ก็ทำใจไม่ได้ เพราะ...คิดว่านี่ก็ซื้อซ้ำมาแล้ว เล่มเก่าหาไม่เจอ เฮ่อ


ไอซ์รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้รีวิวยากอะค่ะ ฮา เพราะเนื้อหาที่เป็น "พล็อต" จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไร แต่ตลอดเล่มแฝงด้วยคำสอนและปรัญชา ... เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้รู้สึกเหมือนกำลังดูหนังอาร์ตอยู่

"เวลา" บอกเล่าเรื่องราวที่ซ้อนกันคือ "ผม" และ "ละครเวที"


"ผม" คือ ผู้กำกับภาพยนตร์อายุหกสิบกว่าๆ ที่ไปดูละครเวที ด้วยเหตุผลสองประการ

- คณะละครที่ทำละครเวทีเรื่องนี้อายุยี่สิบกว่าๆ เท่านั้น แต่ประกาศว่าจะทำละครเกี่ยวกับเรื่องราวของคนแก่ในบ้านพักคนชรา ซึ่ง เด็กๆ จะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนแก่ได้อย่างไร

- ละครเรื่องนีได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นละครที่น่าเบื่อที่สุดในรอบปี


"ละครเวที" บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในส่วนที่เรียกว่าเป็นที่รวมของผู้ที่อยู่ใกล้วาระสุดท้ายของบ้านพักคนชรา ในเวลาหนึ่งวัน ตั้งแต่เช้ามืดจรดเย็น

มีตัวละครลายตัว แทน generation ที่แตกต่างกัน

- อุบล ... แม่บ้านที่ดูแลในส่วนนี้ อยู่ในวัยสาว
- เหล่าคนแก่ที่พักอยู่ที่นี่ ซึ่งแต่ละคนผ่านชีวิตที่แตกต่างกัน มีสิ่งที่ยึดเหนี่ยว ห่วงใย มีอุปนิสัยและความต้องการที่แตกต่างกัน
- ครอบครัวที่มาเลี้ยงอาหาร ซึ่งมีตั้งแต่ คุณย่า พ่อ แม่ เด็กๆ

ฯลฯ

และมีตัวละครลึกลับที่อยู่ในห้อง มองไม่เห็นตัวตลอดเรื่อง และตลอดเรื่องตัวละครชายแก่ผู้นี้จะส่งเสียงแทรกมาเกือบตลอดว่า "ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเลยจริงๆ"


การเล่าเรื่องของ "เวลา" จะสลับมุมมอง คือ ... "ผม" หรือผู้กำกับเล่าสิ่งที่มองเห็นจากเวที สลับกับการจินตนาการของเขา ถ้าหากเขาเป็นคนกำกับละครเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ จะใส่มุมกล้องอย่างไร จะนำเสนออย่างไร


"เวลา" เป็นหนังสือปลายเปิด ซึ่ง...ไอซ์เชื่อว่า เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว แต่ละคนจะ "ตีความ" สิ่งที่ได้รับต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัย ประสบการณ์ และการมองโลกของแต่ละคน สิ่งที่กระทบใจของแต่ละคนจะแตกต่างกัน


รู้สึกว่า "อ่านยาก" อยู่บ้างเหมือนกัน เพราะเป็นคนคิดมาก ฮา ... ถามว่าชอบไหม ชอบค่ะ




สปอยล์


ต่อไปนี้จะเป็นส่วนที่ไอซ์จะเขียนถึงสิ่งที่ "กระทบใจ" ของไอซ์จากเรื่องเวลานะคะ



** ยายสอน ... เป็นตัวละครที่ไอซ์ชอบที่สุด ยายสอนปล่อยวางทุกอย่างได้แล้ว สิ่งที่ผ่านไปก็ผ่านไป ยายสอนอยู่กับปัจจุบัน ทำสิ่งที่ตัวต้องการ ยายสอนกินอาหารแปลกๆ อย่างเช่น ข้าวต้มหมูใส่ส้ม เพราะยายสอนบอกว่า แบบธรรมดาก็กินมาหมดแล้ว ก็อยากลองกินแบบที่ไม่เคยกินบ้าง

คำพูดของ "ยายสอน" ซึ่ง "สอน" อยู่ตลอดเรื่อง ให้ข้อคิดดีๆ มากมายเกี่ยวกับการมองโลกและดำเนินชีวิต

เช่น

"ไม่รู้ ไม่ได้นับมานานแล้ว อายุมันก็เป็นไปตามเวลา เวลาผ่านไปอายุมันก็เพิ่ม ผ่านไปวันหนึ่ง อายุก็เพิ่มมาวันหนึ่ง ไม่รู้จะนับทำไม"

"ชีวิตน่ะเล่นได้ แต่อย่าประมาทกับมัน"

"ทุกคนเป็นทาสกันทั้งนั้น ยึดติดกับอะไรก็เป็นทาสสิ่งนั้น ยึดติดอะไรสิ่งนั้นก็เป็นนาย ...และก็ยังมีนายใหญ่ของมันอีก((ในที่นี่ไอซ์คิดว่าหมายถึง "เวลา"))



** เมื่อทุกคนยึดติดกับอะไร ก็เป็นทาสของสิ่งนั้นในช่วงเวลานั้น การใช้เวลาในช่วงชีวิตของแต่ละคน ส่งผลต่อช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

เช่น

- ผู้กำกับภาพยนตร์ ... เขาสูญเสียลูกสาวและภรรยาไปในระหว่างที่มุมานะอยู่กับงาน เขารู้สึกเสียใจอยู่บ้างที่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า แต่...ขณะที่ดูละครเวที เขาก็ยังอดไม่ได้ที่จะ "ทำงาน" เพราะสมองของเขาคิดอยู่ตลอดเวลาว่า จะ "แปลง" สิ่งที่ได้เห็นเป็นภาพในแผ่นฟิมล์ได้อย่างไร เขาตกเป็น "ทาส" ของงาน และเขาก็เต็มใจเสียด้วยสินะ


- ยายบุญเรือน ... ยึดติดกับอดีตอันเคยรุ่งเรือง

- ยายนวล ... อยู่เพื่อลูกหลาน ((ลูกชายเป็นอัมพาต))

- ยายทับทิม ... อยู่เพื่อลูกชายคนเล็กที่สติไม่ดี

ฯลฯ



** สัญลักษณ์ที่ต้องตีความ ซึ่งคิดว่าทุกคนคงตีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า "คุณ" ยึดติดกับอะไร

ลูกชายสติไม่ดีของยายทับทิมที่หายไปเป็นเดือนกลับมาพร้อมกับความหวาดกลัวและคำพูดที่เป็นปริศนา "ดอกบัวสีขาว เงาสีเงิน"

เขาบอกว่า

"ที่บึงใหญ่ มีบัวสีขาวดอกใหญ่ เงาในน้ำเป็นสีเงิน ปลามันมารุมกินเงา แย่งกัน กัดกันเอง สัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คน เสือ ควาย แย่งกันกัดกันจนเลือดเต็มบึง แต่ไม่มีใครกินเงาดอกบัวได้"

สำหรับไอซ์ ... ไอซ์รู้สึกว่า มันแทน "นาย" หรือ "เวลา" นั่นแหละค่ะ สิ่งที่ไขว่คว้า อยากยึดครอง แต่ไม่มีใครสามารถยึดครองได้

และสุดท้าย...เมื่อชีวิตจบลงมันก็ "ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเลยจริงๆ"


ตอนที่เขาบอกว่า ทั้งคนและสัตว์พวกนั้นน่ะบ้าที่ไปแย่งชิงเงานั้น ส่วนเขาไม่ได้ไปแย่งชิง เขาเลยเป็นคนดี อ่านแล้วก็ ironic ดีค่ะ และก็นึกถึงเรื่อง Veronika Decides to Die ด้วย ... คนที่เราคิดว่าบ้านั้น จริงๆ แล้วเขาก็มีเหตุผลของตัวเองและอาจจะมองว่าเรา "บ้า" เหมือนกันก็ได้ ฮา



** ชีวิตหนึ่งก็ควรจะต้องใช้ให้คุ้มค่า เมื่อถึงเวลาสุดท้ายจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง ไม่ต้อง "กลัว" ที่จะตาย ไม่ต้องกลัวว่า "เวลา" จะหมดไป

ไม่แปลกหรอกถ้าคุณจะเป็น "ทาส" ของอะไร แต่ยังไงก็ควรจะรู้ตัวไว้ตลอดเวลา



** "ความจริง" กับ "ความฝัน" ต่างกันแค่ "ในความรู้สึก" ของคน

....

ความจริงหนังสือเล่มบางๆ นี้ยังมีอีกหลายประเด็นซึ่งคิดว่าผู้เขียนพยายามนำเสนอ เขียนไปอีกนานก็ไม่จบ เอาแค่นี้ละกันค่ะ ^^"




Create Date :25 กรกฎาคม 2552 Last Update :25 กรกฎาคม 2552 12:28:07 น. Counter : Pageviews. Comments :5