bloggang.com mainmenu search

ในอนาคตเมืองหลวงของประเทศไทยอาจจะย้ายไปอยู่สถานที่ใหม่ หรือกรุงเทพมหานครยังคงเป็นเมืองหลวงของไทยตามเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังวางแผนบูรณาการในการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อมิให้เกิดปัญหาอุทกภัยท่วมเข้ากรุงอีก แต่เชื่อว่าอีกหลายๆ ฝ่ายก็ไม่เชื่อว่ากรุงเทพมหานครจะรอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมในอนาคตข้างหน้าได้ เพราะ อากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายตลอดเวลาและนักวิชาการบางท่านถึง กับระบุว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นหนึ่งในเมืองหลวงของโลกที่จะถูกน้ำท่วมใน อนาคต

หนึ่งวิธีการแก้ปัญหา“เมืองหลวงน้ำท่วม”ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในขณะนี้ คือการ “ย้ายเมืองหลวง”

โดย เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มส.ส.เพื่อไทยกว่า 20 คน นำโดยนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน รวมกลุ่มกันเข้าชื่อขอเสนอญัตติด่วนต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาเพื่อ“ย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไป จ.นครนายก จ.เพชรบูรณ์ หรือจังหวัดอื่นๆที่มีความเหมาะสม”

เหตุผลคือสภาวะปัจจุบันและอนาคตของกทม.กำลังประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ จากการศึกษาพบว่า แผ่นดินของกทม.ทรุดลงโดยเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 20 ซม. ประกอบกับภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลหนุนสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่กทม.จะกลายเป็นเมืองใต้บาดาล



และที่เชื่อว่าจังหวัดนครนายกมีความเหมาะสม

เนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพฯ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตทหาร และเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ไม่ต้องไปเวนคืนที่ประชาชน ดังนั้นหากต้องลงทุนวางผังเมือง และวางระบบคมนาคม รถไฟฟ้า โลจิสติกส์ ก็ไม่ต้องลงทุนมาก ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ภูเขาปลอดภัยจากน้ำท่วม เป็นเส้นทางเชื่อมทั้งภาคกลางและภาคอีสาน มีทัศนียภาพสวยงามเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ

ประเด็นเรื่องการย้ายเมืองหลวงของประเทศไทย มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปัจจุบัน

ขอย้อนรอยเรื่องความคิดการย้ายเมืองหลวง ที่มีมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กรุงเทพฯถูกโจมตีจากการทิ้งระเบิดอย่างหนัก เหตุผล ในการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ เพราะชัยภูมิของเพชรบูรณ์ล้อมรอบด้วยภูเขา และอยู่ตรงกลางระหว่างภาคเหนือ อีสาน และกรุงเทพฯจึงทำให้จอมพล ป.เลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศไทย แต่ก็ย้ายไม่สำเร็จเพราะจอมพล ป.หมดอำนาจเสียก่อน

ต่อ มาในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย เสนอให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดนครปฐม ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวก็เงียบหายไป


ในสมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เคยเสนอเรื่องการย้ายเมืองหลวงไปที่เขาตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา และต่อมาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ได้เคยปลุกประเด็นในเรื่องการย้ายเมืองหลวงเช่นกัน โดยให้ศึกษาโครงการย้ายเมืองหลวงมานครนายก แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็โดนยึดอำนาจเสียก่อน



ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น นักวิชาการแต่ละท่านก็เสนอเมืองหลวงใหม่ของประเทศไทยแตกต่างกันไปแต่ละสถานที่

มี ทั้งจังหวัดระยอง ชลบุรี หรือจังหวัดที่ไม่ไกลกว่ากรุงเทพมหานคร 100 กม.หรือ 100 กม.ขึ้นไปเล็กน้อย บางท่านเสนอย้ายเมืองหลวงไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราขสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และมหาสารคาม เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงและไม่มีรอยเลื่อนของเปลือกโลก

อย่าง ไรก็ตาม การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศต่างๆ ในโลก เพราะในหลายๆ ประเทศมีการย้ายเมืองหลวงของตนเองด้วยเหตุผลและปัจจัยต่างๆ

แต่การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ นอกจากการเมืองแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่นถ้าหากจะย้ายจริงๆ ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งการวางระบบเส้นทางคมนาคม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นเมืองหลวงของประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลานาน และช่วงแรกต้องเผชิญกับความไม่สะดวกบางประการ

ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้าน“พม่า”ที่ย้ายเมืองหลวงจาก เมืองย่างกุ้งไปเมืองเนปีดอ ที่ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางเหนือราว 320 กิโลเมตร

เพราะ เมืองย่างกุ้งเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติเนื่องจากตั้งอยู่บนรอยแยกของ เปลือกโลก อีกเหตุผลคือพม่ามีชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ทั้งฉาน ฉิ่น และกะเหรี่ยง จึงตัดสินใจย้ายเมืองเพื่อให้มีความมั่นคงมากขึ้น และเหตุผลด้านโหราศาสตร์ที่ย้ายเมืองตามคำทำนายของโหรของนายพลตาน ฉ่วย แม้เมืองเนปีดอจะเป็นเมืองที่ยังไม่มีความพร้อมในการเป็นเมืองหลวง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ต้องสร้างไปอยู่ไปแต่ก็ถือว่ามีบรรยากาศของความเป็นเมืองหลวง เนื่องจากมีรัฐสภาที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหลวงแล้วและนายกรัฐมนตรีทำ งานอยู่ที่นั่น



แต่ หลายคนก็ยังเป็นห่วงอยู่ดี ว่าถ้าประเทศไทยต้องย้ายเมืองหลวงจริงๆ ประชากรกว่าสิบล้านคนและพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจต้องย้ายตามไปด้วยไหม

จึงมีการเสนอแนวคิดสร้างเมืองทางเลือกต่างๆ เป็น“ศูนย์บริหารราชการ”และให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเช่นเดิม
อย่างในหลายๆ ประเทศ เช่น ในมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองหลวงของประเทศ แม้ฝ่ายบริหารจะย้ายไปที่เมืองราชการคือปุตราจายา แต่พระราชฐานของกษัตริย์ของมาเลเซีย รัฐสภามาเลเซีย และฝ่ายนิติบัญญัติยังคงอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

หรือประเทศออสเตรเลีย ที่มีเมืองหลวงคือเมืองแคนเบอร์ราเป็นที่ตั้งของรัฐบาลออสเตรเลีย ศาลสูง และกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาล แต่มีเมืองซิดนีย์เป็นศูนย์กลางทางการเงินของออสเตรเลีย และประเทศสหรัฐอเมริกาที่สร้างกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ขึ้นแทนฟิลาเดเฟียที่เคยเป็นเมืองหลวงของสหรัฐฯ โดยกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. เป็นที่ตั้งของทำเนียบขาว แต่มีนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงินและวัฒนธรรม

เท่าที่ผ่านมาคนไทยมีหลายทางให้เลือกเพื่อแก้-หนีปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทั้งย้ายเมืองหลวง-ไม่ย้ายเมืองแต่หาทางป้องกันปัญหา หรือย้ายเฉพาะศูนย์ราชการ และยังคงต้องรอดูต่อไปว่าจะมีใครเสนอจังหวัดไหนเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ หรือเสนอทางเลือกใดเพื่อป้องกันปัญหากรุงเทพฯจมน้ำอีกบ้าง แต่ที่แน่ๆ จะปล่อยไว้เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรไม่ได้ เพราะข้อมูลจากหลายทางสรุปตรงกันว่ากรุงเทพฯต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมหนักในอนาคตแน่


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Create Date :07 ธันวาคม 2554 Last Update :7 ธันวาคม 2554 8:34:16 น. Counter : Pageviews. Comments :1