bloggang.com mainmenu search
พายุสุริยะ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Sunflower Cosmos

          จากกรณีที่สื่อหลายแขนงได้นำเสนอข่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างจับตามองถึงการเกิดพายุสุริยะ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยองค์การนาซ่า (NASA) ได้เปิดเผยว่า จะเกิดปรากฏการณ์พายุสุริยะ พัดเอามวลความร้อนขนาดใหญ่เข้าสู่โลกปลายปี 2555 เช่นเดียวกับที่ ดร.สมิทธ ธรรมสโรจน์ ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เป็นวันครบกำหนดการโคจรของพายุสุริยะ ที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 11 ปี ซึ่งอาจจะมีการพัดพาเอาพลังงานขนาดใหญ่พุ่งเข้าสู่โลก ส่งผลกระทบต่อแกนโลกได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหว เกิดสึนามิ และระบบสื่อสารขัดข้องทั่วโลก ขณะที่ชาวสังคมออนไลน์บางส่วน ยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงข่าวดังกล่าว และได้โยงเรื่องของพายุสุริยะไปเกี่ยวข้องกับวันสิ้นโลก จนเกิดคำถามว่า โลกจะแตกจริงหรือไม่

          ทั้งนี้ เรื่องของระบบสุริยะ และพายุสุริยะนั้นอาจเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนอาจจะยังมีข้อสงสัย และยังไม่รู้ ดังนั้น ทีมงานกระปุกดอทคอม จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุริยะมากฝาก เพื่อที่จะได้รู้ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่โลกจะแตก ดังที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งก่อนจะไปถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพายุสุริยะ เราคงต้องทำความเข้าใจในเรื่องของระบบสุริยะกันก่อนว่า ระบบสุริยะคืออะไร และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับโลกที่เราอาศัยอยู่ ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามรายละเอียดกันเลยค่ะ 


ระบบสุริยะในปัจจุบัน

          ระบบสุริยะ ประกอบด้วยดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางแห่งความโน้มถ่วงที่ดึงดูดเหล่าสมาชิกซึ่งโคจรอยู่โดยรอบเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ดาวเคราะห์ (planet) ทั้ง 9 ดวง ซึ่งโคจรห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับ คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน และดาวพลูโต นอกจากนั้นยังมีสมาชิกเล็ก ๆ ได้แก่ ดาวบริวารของดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) อุกกาบาต (meteorite) ดาวหาง (comet) และยังมีวัตถุน้ำแข็ง โคจรอยู่รอบนอกของระบบสุริยะอีกด้วย

          โดยสภาพระบบสุริยะในปัจจุบันนั้น เมื่อมองจากทางด้านเหนือจะพบว่า สมาชิกส่วนใหญ่หมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ ในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาไปในทางเดียวกัน ซึ่งดาวเคราะห์ส่วนใหญ่มีวงโคจรค่อนข้างกลม และโคจรอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับระนาบทางโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเรียกว่า ระนาบสุริยวิถี (Ecliptic) ลักษณะเช่นนี้น่าจะเป็นผลมาจากการก่อกำเนิด และมีวิวัฒนาการมาจากมวลสารดั้งเดิมที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

          ทั้งนี้ เนื่องจากดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะไม่เข้ากลุ่มกับดาวเคราะห์ดวงอื่น คือ เป็นดาวเคราะห์ดวงเล็กที่สุด มีพื้นผิวเป็นหิน และมีน้ำแข็งที่ลักษณะคล้ายดาวเคราะห์ชั้นใน แต่โคจรอยู่ไกลสุดในระบบสุริยะ และเนื่องจาก วิถีโคจรของดาวพลูโต เอียงออกจากระนาบสุริยวิถีมากอย่างเด่นชัด ลักษณะเหล่านี้ทำให้เข้าใจว่า บางทีดาวพลูโต อาจจัดอยู่ในกลุ่มของเศษดาวเคราะห์ดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ค้นพบสมาชิกจำพวกวัตถุน้ำแข็งก้อนเล็ก โคจรอยู่ในเขตรอบนอกของระบบสุริยะมากขึ้น

          สำหรับที่มาของชื่อดาวเคราะห์ ทั้ง 9 ดวง ยกเว้นโลก ถูกตั้งตามชื่อของเทพเจ้ากรีก เพราะเชื่อว่าเทพเหล่านั้นอยู่บนสรวงสวรรค์ และเป็นที่เคารพบูชามาแต่โบราณกาล โดยในสมัยโบราณมนุษย์จะรู้จักดาวเคราะห์เพียง 5 ดวงเท่านั้น (ไม่นับโลก) เพราะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ประกอบกับ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ รวมเป็น 7 ทำให้เกิดวันทั้ง 7 ในหนึ่งสัปดาห์ และดาวทั้ง 7 นี้ จึงมีอิทธิกับดวงชะตาชีวิตของคนตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ ส่วนดาวเคราะห์อีก 3 ดวงคือ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน ดาวพลูโต ได้ถูกค้นพบภายหลัง แต่นักดาราศาสตร์ก็ตั้งชื่อตามเทพของกรีก เพื่อให้สอดคล้องกันนั่นเอง


          อย่างไรก็ตาม คำว่า ระบบสุริยะควรใช้เฉพาะกับระบบดาวเคราะห์ที่มีโลกเป็นสมาชิก และไม่ควรเรียกว่า ระบบสุริยะจักรวาล เนื่องจากคำว่า ระบบสุริยะ และจักรวาล มีความหมายแตกต่างกัน โดยเบื้องต้นอาจกล่าวได้ว่า จักรวาล มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล และเป็นที่อยู่ของหมู่มวลดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์ และวัตถุอวกาศทั้งหมด ซึ่งมีส่วนประกอบเป็น กาแล็กซี และมีระบบสุริยะ จำนวนมากมายอยู่ภายในนั้น ดังนั้นการเรียก ระบบสุริยะจักรวาล จึงถือว่าไม่ถูกต้องนั่นเอง


กำเนิดระบบสุริยะ

          จากสภาพของระบบสุริยะปัจจุบัน และการศึกษาสังเกตการณ์ วัตถุท้องฟ้านานาชนิด อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยอาศัยเครื่องมือดาราศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ นักดาราศาสตร์ได้ประมวลข้อมูล และสันนิษฐาน ถึงประวัติกำเนิดระบบสุริยะมาเป็นลำดับ ดังนี้

          ระบบสุริยะมีกำเนิดมาจากซากระเบิดที่สลายตัวของดาวฤกษ์ เมื่อประมาณ 5,000 ล้านปีก่อน กลุ่มก๊าซ และฝุ่นขนาดมหึมาที่เป็นต้นกำเนิดระบบสุริยะ ประกอบด้วย ก๊าซไฮโดรเจน และฮีเลียม หมุนวนแผ่กว้างรอบศูนย์กลาง จนเกิดลักษณะเป็นรูปจานแบน เมื่ออุณหภูมิรอบนอกค่อย ๆ ลดลง มวลสารต่าง ๆ จึงหลอมรวมกัน และก่อตัวเป็นวัตถุ แรกเริ่ม เรียกว่า เศษดาวเคราะห์ ดังนั้น ระบบสุริยะยุคแรกจึงเต็มไปด้วยเศษดาวเคราะห์แผ่ออก คล้ายเป็นวงแหวนกว้างใหญ่ โคจรรอบกลุ่มก๊าซต้นกำเนิดของดวงอาทิตย์ ซึ่งเศษดาวเคราะห์เหล่านี้ มีการปะทะและรวมตัวกันอยู่เสมอ จนมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีแรงโน้มถ่วงสูงพอที่จะดึงดูดวัตถุขนาดเล็กอื่น ๆ มารวมตัวกัน พัฒนาเป็นต้นกำเนิดของดาวเคราะห์ในเวลาต่อมา

          เมื่อกลุ่มก๊าซต้นกำเนิดของดวงอาทิตย์บีบอัดตัวเล็กลง จนอุณหภูมิที่ใจกลางสูงขึ้น ภายใต้ความดันสูงมาก ถึงระดับเกิดปฏิกิริยาเทอร์มอนิวเคลียร์ จึงเกิดเป็นดาวฤกษ์ใหม่ คือ ดวงอาทิตย์ ซึ่งแผ่พลังงานออกไปโดยรอบ ผลจากพลังลมสุริยะในช่วงแรกที่พัดพาอย่างรุนแรง ส่งผลให้ก๊าซซึ่งห่อหุ้มดาวเคราะห์ในเขตชั้นในของระบบสุริยะหลุดออกไปจากดาวเคราะห์ รวมทั้งค่อย ๆ กำจัดฝุ่น และก๊าซ ที่กระจายอยู่ระหว่างดาวเคราะห์ทั้งหลาย ทำให้อาณาเขตระบบสุริยะ ปลอดโปร่งมากขึ้น

          ในช่วงอายุเริ่มต้นของระบบสุริยะ เศษดาวเคราะห์คงโหมกระหน่ำพุ่งชนดาวเคราะห์ดวงใหม่ ๆ อย่างหนัก และต่อเนื่อง จึงปรากฏเป็นหลุมอุกกาบาตมากมายบนพื้นผิวหินแข็งของดาวเคราะห์ และดาวบริวารของดาวเคราะห์ทั่วไป ในระบบสุริยะมาจนถึงทุกวันนี้

          ดาวเคราะห์ก๊าซดวงใหญ่ที่อยู่ชั้นนอกของระบบสุริยะ เช่น ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ มีลักษณะคล้ายระบบสุริยะขนาดเล็ก ซ้อนอยู่ในระบบสุริยะใหญ่ ที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองดวง ต่างมีปริมาณไฮโดรเจน และฮีเลียมสูงมาก คล้ายกับดวงอาทิตย์เช่นกัน แต่มวลสารต้นกำเนิดดาวเคราะห์คงมีขนาดไม่ใหญ่พอ และใจกลางดวง มีอุณหภูมิ และความดันไม่สูงมาก จึงไม่เกิดเกิดปฏิกิริยาเทอร์มอนิวเคลียร์ จนระเบิดเป็นดาวฤกษ์ได้ โดยสังเกตได้จากการที่เหล่าดาวบริวารชั้นในของดาวเคราะห์ทั้งสองดวง ต่างมีพื้นผิวหินแข็งคล้ายดาวเคราะห์ชั้นในของระบบสุริยะเช่นกัน

          ดาวเคราะห์น้อยเป็นเศษดาวเคราะห์ดั้งเดิมที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีรบกวนจนไม่สามารถรวมตัวกัน เกิดเป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่ได้ ทว่า ยังคงโคจรเป็นกลุ่มใหญ่ อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคาร กับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ทั้งนี้ เหล่าดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงจะมีองค์ประกอบแตกต่างกันไป ตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ ซึ่งคล้ายกับความแตกต่างระหว่างดาวเคราะห์ดวงใหญ่ ๆ นั่นเอง

          ดาวหางเป็นเศษดาวเคราะห์ที่ห่อหุ้มด้วยน้ำแข็ง ซึ่งถูกดีดออกจากอาณาเขตระบบสุริยะ ด้วยอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ชั้นนอก สันนิษฐานว่า คงมีดาวหางอยู่มากมายในเขตห่างไกลที่เลยจากเขตของดาวเนปจูนออกไป จนน่าจะเป็นอาณาจักรของดาวหาง ที่ห่อหุ้มอาณาเขตรอบนอกของระบบสุริยะไว้ หรือที่เรียกกันว่า ดงดาวหางของออร์ต (Oort comet cloud) เนื่องจากสังเกตพบว่า ดาวหางคาบสั้น ที่มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์น้อยกว่า 200 ปี กับดาวหางคาบยาว ที่มีวงโคจรกว้างไกลมาก มีวิถีโคจรแตกต่างกัน ดาวหางคาบสั้น มีระนาบโคจรใกล้เคียงกับระนาบสุริยวิถี และโคจรไปทางเดียวกับดาวเคราะห์ ต่างจากดาวหางคาบยาว ที่มีวิถีโคจรมาจากทุกทิศทาง อย่างไม่เป็นระเบียบ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเรื่องดงดาวหางของออร์ต

          ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ค้นพบวัตถุน้ำแข็งมากมายโคจรอยู่เป็นแถบวงแหวนใหญ่ อยู่ไกลเลยจากวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบว่า ลักษณะที่ปรากฏรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่อยู่ใกล้ เช่น ดาววีกา (Vega) และดาวโฟมัลโอต (Fomalhaut) ก็มีธรรมชาติคล้ายกับมีเศษวัตถุน้ำแข็งห่อหุ้มโดยรอบเช่นเดียวกับระบบสุริยะของเรา  การศึกษาวัตถุบริวารเล็ก ๆ ในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์น้อย และดาวหาง โดยเฉพาะดาวหางที่มาจากอาณาเขตรอบนอกของระบบสุริยะ จึงน่าจะทำให้มนุษย์เข้าใจถึงสภาพดั้งเดิมของระบบสุริยะแรกกำเนิดได้


ลักษณะของสมาชิกในระบบสุริยะ

          สมาชิกในระบบสุริยะล้วนมีลักษณะเฉพาะดวงแตกต่างกัน สันนิษฐานว่า เกิดจากโครงสร้าง และองค์ประกอบของมวลสาร ในกลุ่มก๊าซต้นกำเนิดดาวเคราะห์แตกต่างกัน รวมทั้งมีการกระจายตัวในระยะห่างจากดวงอาทิตย์แตกต่างกันด้วย กล่าวคือ ดาวเคราะห์ชั้นในที่ใกล้ดวงอาทิตย์ ประกอบด้วยธาตุและสารประกอบหนัก จำพวกเหล็ก และซิลิเกต จึงล้วนมีพื้นผิวเป็นหินแข็งคล้ายโลก ซึ่งได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร

          ในขณะที่ดาวเคราะห์ชั้นนอก เป็นดาวเคราะห์ที่ประกอบไปด้วยก๊าซ จำพวกมีเทน และแอมโมเนียขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับโลก แต่อาจมีแกนในแข็งขนาดเล็กอยู่ที่ใจกลาง ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากอิทธิพลของลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ทำให้ก๊าซหนาทึบในบรรยากาศดั้งเดิมของดาวเคราะห์ชั้นใน หลุดหนีหายไป


ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ

ดาวพุธ (Mercury)

          ดาวพุธ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะ ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 87.969 วัน ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ดาวพุธหมุนรอบตัวเองในทิศทางเดียว กับการเคลื่อนรอบดวงอาทิตย์ คือ จากทิศตะวันตกไป ทิศตะวันออก หมุนรอบตัวเองรอบละ 58.6461 วัน เมื่อพิจารณาจากคาบของการหมุนรอบตัวเอง และการคาบการเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ จะพบว่าระยะเวลากลางวัน ถึงกลางคืนบนดาวพุธยาวนานถึง 176 วัน ซึ่งยาวนานที่สุดในระบบสุริยะ ทั้งนี้ ดาวพุธมักปรากฏใกล้ หรืออยู่ภายใต้แสงจ้าของดวงอาทิตย์ทำให้สังเกตเห็นได้ยาก ดาวพุธไม่มีดาวบริวาร และไม่มีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะสร้างชั้นบรรยากาศ ดาวพุธมีแกนกลางเป็นเหล็กขนาดใหญ่ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กความเข้มประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของสนามแม่เหล็กโลกล้อมรอบดาวพุธไว้สำหรับสภาพพื้นผิวของดาวพุธนั้นมีลักษณะขรุขระเนื่องจากการพุ่งชนของอุกกาบาต


ดาวศุกร์ (Venus)

          ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมาก จนได้ชื่อว่าเป็นฝาแฝดกับโลก เราสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ด้วยตาเปล่า โดยสามารถมองเห็นได้ทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกในเวลาใกล้ค่ำ เราเรียกว่า ดาวประจำเมือง (Evening Star) ส่วนช่วงเช้ามืดปรากฏให้เห็นทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเรียกว่า ดาวรุ่ง (Morning Star) เรามักสังเกตเห็นดาวศุกร์มีแสงส่องสว่างมากเนื่องจาก ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีผลทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้น ดาวศุกร์หมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ไม่มีดวงจันทร์เป็นดาวบริวาร


โลก (Earth)

          โลก เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เนื่องจากมีชั้นบรรยากาศและมีระยะห่าง จากดวงอาทิตย์ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต นักดาราศาสตร์อธิบายเกี่ยวกับการเกิดโลกว่า โลกเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มก๊าซ และมีการเคลื่อนที่สลับซับซ้อนมาก แต่มีพื้นผิวเป็นหินเช่นเดียวกับ ดาวเคราะห์ชั้นในดวงอื่น ๆ ทั้งนี้ โลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารโคจรอยู่รอบโลกเพียงดวงเดียว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3,476 กิโลเมตร หรือประมาณ 1 ใน 4 ของเส้นผ่าศูนย์กลางโลก และโคจรอยู่ห่างจากโลกโดยเฉลี่ยประมาณ 384,400 กิโลเมตร และโคจรรอบโลกในระยะเวลาประมาณ 29.5 วัน เป็นดวงจันทร์เป็นดาวดวงเดียวที่มนุษย์เดินทางไปสำรวจ โดยการนำตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์กลับมาตรวจวิเคราะห์บนโลก


ดาวอังคาร (Mars)

          ดาวอังคาร อยู่ห่างจากโลกของเราเพียง 35 ล้านไมล์ และ 234 ล้านไมล์ เนื่องจากมีวงโคจรรอบดวง อาทิตย์เป็นวงรี พื้นผิวดาวอังคารมีปรากฏการณ์เมฆและพายุฝุ่นเสมอ เป็นที่น่าสนใจในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีลักษณะและองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับโลก เช่น มีระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเอง 1 วัน เท่ากับ 24.6 ชั่วโมง และระยะเวลาใน 1 ปี เมื่อเทียบกับโลกเท่ากับ 1.9 มีการเอียงของแกน 25 องศา ดาวอังคารมีดวงจันทร์เป็นบริวาร 2 ดวง


ดาวพฤหัสบดี (Jupiter)

          ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล หมุนรอบตัวเอง 1 รอบใช้เวลา 9.8 ชั่วโมง ซึ่งเร็วที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหลาย และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา12 ปี นักดาราศาสตร์อธิบายว่า ดาวพฤหัสเป็นกลุ่มก้อนก๊าซหรือของเหลวขนาดใหญ่ ที่ไม่มีส่วนที่เป็นของแข็งเหมือนโลก และเป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์เป็นดาวบริวารมากถึง 16 ดวง


ดาวเสาร์ (Saturn)

          ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์ที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นดาวที่ประกอบไปด้วยก๊าซและของเหลวสีค่อนข้างเหลือง หมุนรอบตัวเอง 1 รอบใช้เวลา 10.2 ชั่วโมง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบใช้เวลา 29 ปี ลักษณะเด่นของดาวเสาร์ คือ มีวงแหวนล้อมรอบ ซึ่งวงแหวนดังกล่าวเป็นอนุภาคเล็ก ๆ หลายชนิดรวมกัน และดาวเสาร์มีวงแหวนจำนวนถึง 3 ชั้น นอกจากนี้ ดาวเสาร์ยังมีดวงจันทร์เป็นดาวบริวาร 1 ดวง และมีดวงจันทร์ดวงหนึ่งชื่อ Titan ซึ่งถือว่าเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล


ดาวยูเรนัส (Uranus)

          หมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 16.8 ชั่วโมง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา 84 ปี ดาวยูเรนัสประกอบด้วยก๊าซและของเหลว เช่นเดียวกับ ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ 4.8 ทั้งนี้ ดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ใหญ่เป็นที่ 3 รองจากดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ โคจรห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ย 2,871 ล้านกิโลเมตร ทำให้มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยาก แต่เมื่อใช้กล้องโทรทัศน์ และรู้ตำแหน่งแน่ชัด ก็จะสามารถเห็นได้ในคืนฟ้าใสกระจ่าง


ดาวเนปจูน (Neptune)

          ดาวเนปจูน เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่เป็นที่ 4 ในระบบสุริยะ จุโลกได้ถึง 60 ดวง ระยะห่างเฉลี่ย จากดวงอาทิตย์ 4,504  ล้านกิโลเมตร  หมุนรอบตัวเองครบรอบในเวลา 16 ชั่วโมงอยู่ไกลจากโลกมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะเห็นเป็นจุดริบหรี่ได้ สิ่งที่มนุษย์รู้เกี่ยวกับดาวเนปจูน ในทุกวันนี้ จึงเป็นข้อมูลที่ได้มาจากยาน วอยเอเจอร์ 2 ซึ่งโคจรสำรวจดาวเนปจูน ระยะใกล้ เมื่อ พ.ศ. 2532


ดาวพลูโต (Pluto)

          ดาวพลูโต เป็นดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายของระบบสุริยะจักรวาล มีระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ รอบ เท่ากับ 453 ชั่วโมง ระยะเวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ เท่ากับ 248 ปี เป็นดวงดาวที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวพุธ และมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด


          นอกจากดาวเคราะห์สำคัญทั้ง 9 ดวงนี้ ก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย โดยคาดว่า ดาวเคราะห์น้อยน่าจะมีสภาพสงบนิ่งคล้ายกับดวงจันทร์ของโลก นอกจากนี้ ยังพบว่า ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีรูปทรงแปลก ๆ เช่น ยาวรีคล้ายเมล็ดถั่ว รูปฝักถั่ว หรือรูปกระดูก เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยมีแรงโน้มถ่วงต่ำมาก ดังนั้นจึงไม่สามารถดึงมวลสารมารวมกันที่ศูนย์กลางดวงทำให้เกิดเป็นรูปทรงกลมได้ ซึ่งดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงหมุนรอบตัวเองโดยมีคาบยาวนานแตกต่างกัน อาจเป็นหลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน

          ทั้งนี้ มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยไม่มากนัก ส่วนใหญ่ได้มาจากการศึกษาวัตถุนอกโลกที่ตกผ่านเขตบรรยากาศโลกจนเหลือเพียงซากจากการลุกไหม้ เนื่องจากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ ซึ่งเราเรียกกันว่า อุกกาบาต ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า อุกกาบาตคงมาจากดาวเคราะห์น้อย เพราะมีองค์ประกอบคล้ายกันมาก อุกกาบาตที่รวบรวมได้มีหลายชนิด โดยพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 เป็นอุกกาบาตชนิดหิน รองลงมาเป็นอุกกาบาตชนิดโลหะผสมของเหล็กกับนิกเกิล ประมาณร้อยละ 6 และส่วนที่เหลือ เป็นอุกกาบาตชนิดหินผสมโลหะ ซึ่งอุกกาบาตชนิดหินสังเกตได้ยาก เนื่องจากมีลักษณะคล้ายหินบนโลกมาก


จักรวาล อวกาศ


          จากข้อมูลเรื่องของระบบสุริยะนั้น ได้ทำให้เราทราบว่า โลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเล็ก ๆ ในระบบสุริยะ ที่ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ตลอดเวลา แต่พายุสุริยะ คืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับระบบสุริยะนั้น นายวิมุติ วสะหลาย กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับพายุสุริยะ ดังนี้

  พายุสุริยะ คือ กระแสของอนุภาคพลังงาน สูงที่พัดมาจากดวงอาทิตย์ด้วยปริมาณและความเร็วสูงกว่าระดับปกติ อนุภาคนี้มีทั้งอิเล็กตรอนและโปรตอน เป็นตัวการทำให้เกิดแสงเหนือใต้ และพายุแม่เหล็ก ซึ่งพายุสุริยะมักส่งผลต่อดาวเทียม ยานอวกาศ และระบบสายส่งบนโลก ซึ่งปกติพายุสุริยะจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อโลก และสิ่งมีชีวิตบนโลก เนื่องจากโลกมีบรรยากาศ และสนามแม่เหล็กคุ้มกันอยู่ มีเพียงนักบินอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอวกาศเท่านั้นที่อาจได้รับอันตราย ทั้งจากพายุสุริยะ และรังสีจากดวงอาทิตย์

          ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อปี ค.ศ.1859 (พ.ศ. 2402) พายุสุริยะทำให้สายโทรเลขลัดวงจรจนทำให้เกิดเพลิงไหม้หลายแห่งในยุโรปและอเมริกา ส่วนในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532)  พายุสุริยะเคยทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าจำนวนมากในจังหวัดควิเบกของประเทศแคนาดาเกิดระเบิดขึ้น จนทำให้ไฟฟ้าดับไปทั่ว และนอกจากความเสียหายดังกล่าวแล้ว ยังมีรายงานว่า ผลพวงจากพายุสะริยะ ยังทำให้ดาวเทียมหลายดวงเกิดความเสียหายด้วย และเนื่องจากปัจจุบันชีวิตประจำวันของผู้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอวกาศมาก ทั้งโทรศัพท์ โทรทัศน์ การกระจายเสียงวิทยุ ระบบบอกพิกัด ฯลฯ ดังนั้นหากมีพายุสุริยะเกิดขึ้น ก็จะทำให้ดาวเทียมเหล่านี้เสียหาย หรือขัดข้อง ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนด้วย

          ทว่า เนื่องจากพายุสุริยะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกือบตลอดเวลา และมีระดับความรุนแรงผันแปรเป็นคาบ คาบละประมาณ 11 ปี คาบที่ชัดเจนนี้ทำให้นักดาราศาสตร์พยากรณ์ได้ว่าช่วงสูงสุดหรือต่ำสุดของวัฏจักรสุริยะจะเกิดขึ้นเมื่อใด และจากการคำนวณทำให้ทราบว่า ช่วงสูงสุดของวัฏจักรที่จะเกิดในครั้งถัดไปนี้ น่าจะอยู่ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) แต่คาดว่าพายุสุริยะที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้รุนแรงมากไปกว่าที่เคยเกิดขึ้นในรอบก่อน และยังมีแนวโน้มว่าช่วงสูงสุดของวัฏจักรที่จะมาถึงในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556)  น่าจะอ่อนกำลังกว่าวัฏจักรช่วงก่อนหน้านี้เสียด้วยซ้ำ

          จากข้อมูลที่ นายวิมุติ ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทยนั้น ทำเราทราบว่าการเกิดพายุสุริยะ อาจส่งผลกระทบต่อสัญญาดาวเทียม รวมไปถึงระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ในมุมมองของฐานะนักดาราศาสตร์ไทย ยังเห็นว่า พายุสุริยะที่เกิดขึ้น คงไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นทำลายล้างโลกดังที่หลาย ๆ ฝ่ายกำลังหวั่นวิตกกังวล เนื่องจากโลกของเรายังมีชั้นบรรยากาศ และสนามแม่เหล็กคอยปกป้องอยู่

          อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท ทุกคนควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ด้วยการติดตามข่าวปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก เพราะการเกิดภัยธรรมชาติ  ก็อาจเป็นผลกระทบที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์ดวงต่าง ๆ ภายในระบบสุริยะนั่นเอง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
kanchanapisek.or.th, thaiastro.nectec.or.th, news.springnewstv.tv
Create Date :26 พฤศจิกายน 2555 Last Update :26 พฤศจิกายน 2555 8:58:30 น. Counter : 1725 Pageviews. Comments :0