bloggang.com mainmenu search


นิทานธรรมะเรื่อง แมงป่อง กับ กบ โดยท่าน ว.วชิรเมธี

มีผู้อ่านเขียนมาถามว่า

"ในที่ทำงานของผมมีคนอยู่ประเภทหนึ่งครับ วัน ๆ งานการไม่ค่อยทำ เอาแต่จ้องหาเหตุจับผิดคนโน้นคนนี้ ความดีของคนอื่นไม่เคยสนใจ แต่ถ้าใครทำอะไรเสียหายสักนิดหนึ่งละก็ คน ๆ นี้ชอบนัก ผมอิดหนาระอาใจกับคนประเภทนี้มาก อยากจะไปเสียให้พ้น ๆ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะสมัยนี้ คิดจะเปลี่ยนงานไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเลยอยากรู้ว่า คนบางคนที่วัน ๆ เอาแต่จ้องหาเรื่องเล่นงานคนอื่นนั้น เขาเป็นคนประเภทไหน จะรับมือเขาได้อย่างไรครับ"

เร็ว ๆ นี้มีลูกศิษย์คนหนึ่งมาเล่านิทานให้ผู้เขียนฟัง พอได้ฟังแล้วก็ทำให้ความสว่างโพลงในหัวใจได้ไม่น้อย จึงอยากจะเล่าให้ผู้อ่านฟังบ้าง บางทีอาจจะทำให้หายข้องใจเกี่ยวกับปัญหาข้างต้นได้บ้าง

นิทานนั้นมีอยู่ว่า

มีอยู่วันหนึ่ง เจ้าแมงป่องตัวหนึ่ง ไต่ไปมาตามริมฝั่งน้ำจนเซ็งชีวิตเลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าได้ข้ามน้ำไปยังฝั่งโน้น คงมีอะไรให้ทำมากกว่าการไต่ไปมาอยู่ที่เดิมอย่างซ้ำซากเป็นแน่ มันมองหาวิธีที่จะข้ามน้ำไปยังฝั่งโน้นอยู่หลายวัน และในที่สุด โอกาสก็มาถึงจนได้ เมื่อมันพบกบตัวหนึ่งกำลังจะว่ายน้ำไปยังฝั่งตรงข้ามพอดี เจ้าแมงป่องเห็นเช่นนั้นจึงขอเป็นผู้โดยสารขี่หลังกบไปชมวิวฝั่งโน้นบ้าง กบนึกสังหรณ์ใจแปลก ๆ จึงถามว่า

"แมงป่องเพื่อนรัก เธอจะรับประกันได้อย่างไรละว่า เมื่อฉันให้เธอขี่หลังข้ามไปฝั่งโน้นแล้ว เธอจะไม่แว้งมาต่อยฉัน"

"กบเพื่อนรัก ทำไมจึงมองฉันในแง่ร้ายเช่นนั้น ถ้าคนอย่างฉันไม่มีคุณธรรมต่อเพื่อนเช่นเธอเสียแล้ว ในโลกนี้ คงหาคนดีไม่ได้อีกแล้ว"

"มั่นใจนะว่าเธอจะไม่ต่อยฉันกลางแม่น้ำแน่ ๆ" กบคาดคั้น

"โธ่เพื่อนเอ๋ย - - ถ้าฉันต่อยเธอ ฉันก็จมไปพร้อม ๆ กับเธอนะสิ" แมงป่องอธิบายอย่างสมเหตุสมผล

"เออ จริงของเธอสินะ มาสิ ถ้างั้นเธอขึ้นขี่หลังฉันได้เลย เราจะข้ามไปฝั่งโน้นด้วยกัน"

ว่าแล้ว เจ้าแมงป่องก็ได้ขี่หลังกบสมใจ กบน้อยพาเพื่อนร่วมทงลอยไปสักพักหนึ่งก็จะถึงฝั่ง พอเห็นฝั่งเคลื่อนตัวมาใกล้ทุกที เหลืออีกเพียงศอกเดียวเท่านั้นก็จะถึงฝั่ง แมงป่องก็เผลอตัวต่อยหลังกบเข้าอย่างถนัดถนี่ กบร้องด้วยความเจ็บปวดขึ้นสุดเสียง พอรู้สึกตัว กบก็หันมาถามแมงป่องว่า

"ไหนแกรับปากว่าจะไม่ต่อยฉัน แล้วนี่แกทำอะไรลงไป"

"ไม่รู้สิ ฉันไม่ได้คิดจะต่อยเธอเลย แต่มารู้สึกตัวอีกที ฉันก็ต่อยเธอไปแล้ว" แมงป่องตอบอย่างเสียไม่ได้ ไม่ยี่หระกับสิ่งที่ตนทำแม้สักนิด

อนิจจา กบน้อยพอลอยแตะฝั่ง ก็ถึงแก่กรรมไป ส่วนแมงป่องก็ขึ้นฝั่งอย่างสบายใจ ดูไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไรกับสิ่งที่ตนเป็นคนก่อแม้แต่น้อย...

นิทานเรื่องนี้จบลงด้วยความเศร้าสลด ผู้เขียนรู้สึกว่า ในโลกนี้มีคนบางประเภทจริง ๆ ที่เกิดมาแล้วทำตัวเป็น "อันธพาล" โดยสายเลือด โดยความเคยชิน จนเป็นนิสัย

เราไม่ทราบว่า คนที่รู้สึกมีความสุขเสมอ กับการได้ทำร้ายคนอื่น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมนั้น เขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ได้รับการศึกษามาอย่างไร แต่พอมาเจอกับเรา เขาก็ได้กลายเป็นคนที่มีความสุขกับการเป็นคนเลวไปเสียแล้ว

สำหรับคนประเภทนี้ คุณคงไม่ต้องไปทำร้าย หรือตอบโต้เขาอีกแล้ว การที่เขาเป็นคนเช่นนั้น นับว่าเป็นเคราะห์กรรมของเขามากพออยู่แล้ว เพราะทั้งชีวิตนี้ คนเช่นนี้จะไม่ได้รับความรักจากใครเลย ลึก ๆ แล้วคนที่มีความสุขกับการหาทุกข์ให้คนอื่นนั้น เขาเป็นคนน่าสงสาร บางทีหากเราสามารถคลี่ปมของเขาออกมาดูได้ ก็จะเห็นว่า คนอย่างนี้ควรได้รับความเห็นใจ มากกว่าจะซ้ำเติมเขา

การที่เขาเป็นคนเลว (โดยสันดาน) แล้วยังไม่รู้สึกตัวนั้น ก็ทำให้เขาสร้างกรรมหนักหนาสาหัสแก่ตัวเองมากพออยู่แล้ว เราไม่ควรจะเลวร่วมขบวนกับเขา ด้วยการหาวิธี "เอาคืน" แก่เขาเลย

การไม่ยุ่งกับคนประเภทนี้ คือ วิธีรับมือที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

พระพุทธเจ้าเคยเล่านิทานว่า ในอดีตชาติ พระองค์ทรงเคยเกิดเป็นราชสีห์เจ้าป่า จู่ ๆ วันหนึ่งมีหมูสกปรกที่ชอบนอนกลิ้งเกลือกในหลุมอุจจาระเหม็นคลุ้งมาท้าสู้กัน ราชสีห์เจ้าป่ามองดูเจ้าหมูสกปรกแล้วก็คำรามขึ้นว่า

"เจ้าหมูสกปรกเอ๋ย หากเจ้าต้องการชัยชนะ ข้าก็ยินดีจะยกชัยชนะนั้นให้เจ้าเดี๋ยวนี้เลย แต่จะให้ข้าไปสู้กับเจ้านั้น ข้าไม่สู้หรอก ข้ายินดียอมแพ้เสียยังจะดีกว่าไปสู้กับหมูสกปรกอย่างเจ้า"

คนบางคนนั้น มีธาตุแท้ไม่ต่างอะไรกับแมงป่อง และมีความสุขกับการทำความเลวเหมือนกับหมูป่าที่ชอบคลุกอุจจาระ หากเห็นคนเช่นนี้เข้ามาป้วนเปี้ยนในชีวิตของเรา วิธีที่ดีที่สุด ไม่ใช่ไปสู้กับเขา แต่ควรถอยออกมาจะดีกว่า การถอยนั้น บางครั้งไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง

คนบางประเภทนั้น เขาเป็นมนุษย์ประเภทสูญเสียสามัญสำนึกขั้นพื้นฐาน ไม่รู้จักแยกแยะดีชั่วถูกผิด หากคุณไม่ถอยให้เขา ก็มีแต่เจ็บตัวฟรี ดีไม่ดีอาจวอดวายหายนะถึงชีวิต และจะหวังให้คนชนิดนี้สำนึกผิดนะหรือ ไม่มีทางเสียหรอก

แมงป่อง เวลามันต่อยใคร มันยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไปได้อย่างไร จะให้เขาสำนึกจึงเป็นเรื่องไกลเกินฝัน ทางที่ดีที่สุด คือ อยู่ห่าง ๆ ไว้ ปลอดภัยที่สุด

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...

- หากสิ่งที่ทำนั้นคือ ความดี...จงทำต่อไป - ไม่ต้องสนใจเสียงนกเสียงกา เพราะดีแต่พูด แต่ไม่ทำ หรือทำอะไรไม่เคยสำเร็จ

- อย่าทำดีกับคนพาล เพราะคนพาล พระพุทธองค์ยังสอนให้เราอยู่ห่าง ๆ ไว้เลย

- ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน

- การโมโหโกรธา คือ การดำเนินอารมณ์ตามที่ฝ่ายเลวต้องการ ... ต้องการอย่างนั้นหรือ ?

- ความเครียดไม่ได้ใช้ในการแก้ปัญหา หากแต่เป็นสติต่างหาก

- เวลาฟังคำสอนดี ๆ ไป อย่าเอาแต่พยักหน้า แล้วบอกว่าเข้าใจ แต่จงทำให้เห็นแทน

- จงเชื่อมั่นในความดีว่าสวยงามเสมอ และจงเชื่อมั่นว่า คนชั่วจะได้รับกรรมที่ตนเองกระทำเอาไว้



ที่มา :: หนังสือดี ๆ ท่าน ว.วชิรเมธี :: ลายแทงแห่งความสุข
dhammajak.net
Create Date :22 ตุลาคม 2557 Last Update :22 ตุลาคม 2557 7:57:04 น. Counter : 1175 Pageviews. Comments :0