bloggang.com mainmenu search
ไม่สูงวัยก็มีสิทธิ ′ข้อเข่าเสื่อม′ความเสี่ยงใหม่ของนักกีฬา

"ข้อเข่าเสื่อม" เป็นอาการที่เกิดในผู้สูงวัย ส่วนใหญ่อายุ 60 ปีเป็นต้นไป เป็นความเสื่อมตามสภาพการใช้งานมานานของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดอาการมากขึ้น
ลักษณะภายนอกที่สังเกตได้ง่ายคือ "ขาโก่ง" ทำให้น้ำหนักตัวแทนที่จะตกลงตรงกลางเฉลี่ยเท่าๆ กัน กลับเป็นลงข้างที่ถูกใช้งานหนักมากกว่าอีกข้าง
           ตามสถิติพบว่าปัจจัยที่พบมากในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมคือกรรมพันธุ์ โดยเกิดขึ้นในชาวเอเชียมากกว่าชาวตะวันตก
           ปัจจุบันไม่เพียงปัจจัยของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทยที่ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่คนที่ไม่สูงวัยก็มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมได้เหมือนกัน อย่างนักกีฬา นักวิ่ง
           โดยเฉพาะนักฟุตบอลซึ่งใช้เข่ามากและเกิดการบาดเจ็บที่หัวเข่าบ่อยๆ มีการฉีกขาดของเอ็น ส่งผลให้เข่าคลอน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข่าเสื่อมเร็ว โดยอาการของโรคนี้คือ คนไข้รู้สึกปวดข้อเข่า เมื่อยๆ ตึงๆ ที่น่องและข้อพับเข่า หรืออาจรู้สึกข้อเข่าขัด เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่


         นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคข้อเข่าและข้อสะโพกมากขึ้น
อุบัติการณ์ของโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบเท่ากับ 3.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยในอายุ 25 ปี มีอัตราข้อเสื่อม 4.9% อายุ 45 ปี มีอัตราเสื่อมเท่ากับ 19.2% และเมื่ออายุถึง 60 ปี มีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมสูงถึง 37.4%
         ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมข้อสะโพกเสื่อมที่เข้ารับการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมสูงถึง 2% และ 1% ในโรคข้อสะโพกเสื่อม
         ส่วนในประเทศไทย อัตราการเข้ารับการผ่าตัดลดหลั่นกันไปตามการเข้าถึงบริการของประชาชน มีจำนวนปีละ 25,000 ราย
         การรักษาข้อเข่าเสื่อมไม่จำเป็นว่าต้องได้รับการผ่าตัดเสมอไป ถ้าเป็นในขั้นเริ่มต้น อาจเริ่มตั้งแต่ลดน้ำหนัก (สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เข่าในชีวิตประจำวัน ทำกายภาพบำบัด ใส่สนับเข่า รักษาอาการบาดเจ็บจนกว่าจะหายดี การฉีดยาหล่อเลี้ยงข้อสังเคราะห์ไปจนถึงการผ่าตัด
        ซึ่งก่อนผ่าตัดจะต้องมีการประเมินเสียก่อนว่าคนไข้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นมีความรุนแรงระดับไหน กระทบกับคุณภาพชีวิตเพียงไร เช่น ถ้าคนไข้อายุ 65 ปี แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานเข่าเท่ากับคนอายุ 80 ปี เจ็บปวด เดินลำบาก ทำให้ไม่อยากไปไหน ถ้าผ่าตัดแล้วสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตเท่ากับหรือดีกว่าอายุ 65 ถือว่าคุ้มค่า


จำลองการผ่าตัด
         แต่ถ้าอายุ 80 ปี ปวดเข่าพอประมาณ แต่อยากผ่าตัดเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อาจจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่ามีโรคอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการผ่าตัดหรือไม่ จากนั้นทั้งแพทย์และคนไข้ช่วยกันตัดสินใจเพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดี
         ด้าน ผศ.นพ.สมบัติ โรจน์วิโรจน์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ อธิบายให้ฟังว่า ความเสื่อมของข้อสะโพกและข้อเข่าซึ่งเป็นไปตามวัย ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากอายุและพันธุกรรม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป การได้รับยาสเตียรอยด์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมเป็นจำนวนมาก เกิดการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงของข้อสะโพกหรือข้อเข่า หรือจากการใช้งานหนัก ซึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุหนึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนลดลงหลังหมดประจำเดือน ทำให้เกิดความเสื่อมในร่างกาย เช่น ภาวะกระดูกพรุน ทำให้น้ำหนักลงหัวเข่าไม่เท่ากัน รวมถึงภาวะน้ำหนักเกิน ขณะที่ผู้ชายมักเกิดจากการเล่นกีฬาและอุบัติเหตุ
          สำหรับกรณีของข้อเข่าเสื่อมในคนอายุน้อย ผศ.นพ.สมบัติบอกว่า จริงๆ ถ้าเกิดขึ้นในคนอายุระหว่าง 50-60 ปี ทางการแพทย์ถือว่าอายุน้อยแล้ว เพราะส่วนใหญ่จะเกิดในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป
          สิ่งที่ควรรู้คือ คนอายุน้อยที่เริ่มมีอาการอักเสบของกระดูกอ่อนผิวข้อ เช่น เป็นโรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือเกิดจากการใช้งานเข่ามาก หรือมีอาการบาดเจ็บเดิมที่ทำให้เข่าคลอน หลวมๆ หรือเกิดจากการติดเชื้อ รวมทั้งมีอาการเยื่อหุ้มข้ออักเสบ มีอาการบวม เจ็บ มีแนวโน้มจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้เร็วขึ้น
"ในคนอายุน้อยความเสื่อมเกิดขึ้นได้จากการเล่นกีฬา จากโรคประจำตัว ซึ่งข้อเข่าเสื่อมตรงนี้เราต้องดูก่อนว่าเสื่อมระดับไหน ถ้าเป็นระดับน้อยๆ ระดับ 1 หรือ 2 (มากสุดคือระดับ 4) โอกาสที่จะไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดมีสูง เราก็จะปรับพฤติกรรมการใช้งาน ปรับเรื่องการกายภาพบำบัด และเรื่องของยา"
          กรณีของนักกีฬา ผศ.นพ.สมบัติบอกว่า "ถ้าอายุ 20-30 เล่นกีฬาแล้วเอ็นฉีกขาดบ่อยๆ และไม่มีการซ่อมเสริมเอ็น เข่าหลวม อันนี้เสื่อมได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาสำคัญ"
"ต้องมาดูว่าถ้าใช้วิธีการซ่อมเสริมแล้วเข่าดีขึ้นมั้ย และในเรื่องของความเสื่อมเองต้องลองใช้ยาดูก่อน ถ้าไม่ได้ก็ต้องมาพิจารณาว่าต้องผ่าตัดแบบไหน เช่น แบบการส่องกล้องไปกรอ ไปเสริม หรือผ่าตัดเพื่อแก้มุมต่างๆ ให้การลงน้ำหนักดีขึ้น เพื่อให้การปรับสภาพของข้อกลับมาอยู่ในสภาพเดิม และสุดท้ายคือการเปลี่ยนข้อ"
เมื่อไหร่จะรู้ว่าถึงเวลาหาหมออย่างจริงจัง?
"เมื่อเรารู้สึกว่าคุณภาพชีวิตเราแย่ คือ 1.ไม่สามารถทำกิจวัตรเหมือนคนปกติได้ ลุกก็เจ็บ นั่งก็เจ็บ 2.เรื่องของการบวม ยุบๆ บวมๆ 3.การขยับของข้อ การงอการเหยียดมีการติด ปกติคนเราเข่าควรจะเหยียดได้ 0 องศา ถ้าเหยียดได้ -10 ยังพอไหว แต่ถ้า -20 ไม่ไหวละ เหยียดไม่สุด เดินลำบาก ถ้างอได้ถึง 90 องศา ยังได้ แต่ถ้างอได้ไม่ถึง 90 มันรบกวนในชีวิตประจำวันแล้ว เรื่องความเจ็บปวด เรื่องความมั่นคงของข้อ การขยับข้อ บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิต ถ้าคุณภาพชีวิตแย่ลงในอายุยังน้อย ควรจะทำเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น กลับมาใช้งานได้อย่างสมวัย"
วิธีการดูแลคือ พยายามเล่นกีฬาโดยอย่าให้มีการบาดเจ็บ หรือถ้าบาดเจ็บต้องมีการรักษาอย่างถูกต้อง
         นอกจากนี้ การเสริมสร้างกล้ามเนื้อหน้าขาให้แข็งแรง จะช่วยลดอัตราการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนท่าเดิมนานๆ และควรรับแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้าและเย็นวันละ 10 นาทีขึ้นไป เพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี ท่าบริหารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อหน้าขามีดังนี้ ยืนแยกเท้าห่างเท่าความกว้างของสะโพก ย่อเข่าลงเหมือนนั่งเก้าอี้ แล้วลุกขึ้นยืนตรง ทำสลับกันแบบนี้สัก 10 รอบ จะช่วยให้ฟิตขึ้น หรือนั่งเก้าอี้ จากนั้นยกและเหยียดเข่าให้อยู่แนวระนาบเดียวกับหัวเข่า เกร็งกล้ามเนื้อหน้าขาเล็กน้อย นับ 1-10 ปล่อยขาลง ทำแบบนี้ซ้ำสัก 30 ครั้ง ทำวันละ 3-4 รอบ ถ้าต้องการเพิ่มความแข็งแรงสามารถหาถุงทรายผูกที่ข้อเท้าเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อ และทำให้ขนาดของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
ความเสื่อมก่อนเวลาก็จะเกิดน้อยลง

เนื้อหาโดย : นสพ.มติชน

Create Date :18 สิงหาคม 2558 Last Update :18 สิงหาคม 2558 8:06:31 น. Counter : 1197 Pageviews. Comments :0