bloggang.com mainmenu search


มีผู้เสนอทฤษฎีใหม่ว่าเหตุที่มนุษย์ต้องเดินสองขานั้นเนื่องมาจากภูมิประเทศบริเวณแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้เป็นหินขรุขระ ไม่ราบเรียบ จนต้องปรับตัวให้เดินหลังตรง เพื่อเหมาะแก่การหาอาหารและสร้างกำบัง ขัดแย้งกับทฤษฎีทั่วไปที่ว่าบรรพบุรุษของเราต้องลงจากต้นไม้ เพราะภาวะโลกร้อนจนต้นไม้ไร้พืชผลและไร้ร่มใบ

นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยยอร์ก สหราชอาณาจักร ร่วมกับ Institut de Physique du Globe in Paris ฝรั่งเศส เชื่อว่าการเดินสองขาหลังตรงของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกบนภูมิประเทศขรุขระแถบแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้ ในมหายุคไพโลซีน ที่ภูเขาไฟและการบีบอัดของแผ่นเปลือกโลก ทำให้รูปร่างของผืนดินมีลักษณะไม่ราบเรียบ
มนุษย์โฮมินินส์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคแรก อาจมองว่าภูมิประเทศแบบหินยื่นและแบบช่องเขาสามารถมอบโอกาสในการดักจับเหยื่อและอยู่อาศัยได้ และลักษณะผืนโลกแบบนั้นทำให้ต้องเดินขึ้น เดินลง และปืนหินสูงอยู่อย่างสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดการเดินสองขาในที่สุด

ผลการศึกษาดังกล่าวนี้ได้ท้าทายทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์แบบเก่าที่ว่า บรรพบุรุษยุคแรกของมนุษย์ได้ถูกบีบให้ลงจากต้นไม้เพื่อเดินสองขาด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทำให้ต้นไม้ไร้ผลและมีร่มใบลดลง

ดร.อิสซาเบล วินเดอร์ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยยอร์ก เขียนในรายงานว่า งานวิจัยของทีมแสดงให้เห็นว่าการเดินสองขาของมนุษย์อาจเป็นการพัฒนาจากการตอบสนองต่อสภาพภูมิประเทศ มากกว่าที่จะมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านพืชผักที่ขับโดยสภาพอากาศ

“ภูมิประเทศที่ขรุขระ หักพัง ทำให้โฮมินินส์ได้ประโยชน์ทางด้านความปลอดภัยและอาหาร นอกจากนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาของทักษะการเคลื่อนไหวด้วยการปีน พยุงตัว สร้างสมดุล และเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วบนพื้นดินที่ไม่ราบเรียบ ซึ่งการเคลื่อนไหวลักษณะเหล่านี้ได้พัฒนาไปสู่การเดินหลังตรงในที่สุด” ดร.วินเดอร์กล่าว

งานวิจัยชิ้นนี้ยังบอกอีกว่า เมื่อเดินหลังตรงก็ทำให้มือและแขนของโฮมินินส์เป็นอิสระมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาความคล่องแคล่วและใช้เครื่องมืออย่างชำนาญ อันสนับสนุนวิวัฒนาการขั้นสำคัญในเวลาต่อมา นอกจากนี้ การเดินทางในระยะใกล้ๆ บนพื้นที่ราบเพื่อหาอาหารและอาณาบริเวณสำหรับอยู่อาศัยส่งผลให้มีการพัฒนาในการวิ่ง ทำให้มีการปรับเปลี่ยนของลักษณะกระดูกและเท้า

“ลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายทำให้มนุษย์พัฒนาทักษะและกระบวนการคิด การรับรู้ อาทิ การนำทาง การสื่อสาร นำไปสู่วิวัฒนาการของสมองและการทำหน้าที่ทางสังคม เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการทำงานเป็นทีม” ดร.วินเดอร์เขียนในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Antiquity ชื่อเรื่อง Complex Topography and Human Evolution : the Missing Link.


ขอบคุณ : thaipost
Create Date :31 พฤษภาคม 2556 Last Update :31 พฤษภาคม 2556 7:02:41 น. Counter : 1851 Pageviews. Comments :0