ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ

ประวัติหลักเมืองกรุงเทพฯ
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ตามโบราณราชประเพณีเพื่อเป็นนิมิตรหมายหลักชัยสำคัญประจำพระมหานครราชธานี ณ วันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปี ขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับสุรทิน ที่ 21  เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา  และต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อเสด็จขึ้นครองราช ทรงตรวจดวงพระชาตาของพระองค์ ซึ่งสถิตอยู่ ณ ราศีกันย์ เป็นอริแก่ลัคณาดวงเมืองกรุงเทพมหานคร เห็นได้ชัดว่าดวงพระชาตาไม่กินกับดวงเมือง พระองค์จึงทรงแก้เคล็ดดวงเมือง โดยโปรดให้ขุดพระหลักเมืององค์เดิม ในการนี้พระองค์ได้โปรดให้ช่างแปลงรูปศาลเสียใหม่จากรูปศาลาเป็นรูปปรางค์ และทรงบรรจุดวงเมืองเดิมลงบนเสาพระหลักเมืองใหม่ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนอ้าย จุลศักราช 1214 ตรงกับสุรทิน ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2395 เวลา 08.48 นาฬิกา  
          องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองร่วมกับกรมศิลปากร พิจารณาเห็นว่าสมควรปฏิสังขรณ์ศาลให้สง่างามยิ่งขึ้น จึงได้เปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นแบบจตุรมุขส่วนยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่นเดิม การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2513 เวลา 10.30 นาฬิกา
          นอกจากพระหลักเมือง ซึ่งเป็นเทพารักษ์สำคัญแล้ว ภายในศาลยังมีเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดินและประชาราษฎร์อีก 5 องค์ คือ
          1. พระเสื้อเมือง
          2. พระทรงเมือง
          3. พระกาฬไชยศรี
          4. เจ้าพ่อเจตคุปต์
          5. เจ้าพ่อหอกลอง