bloggang.com mainmenu search
อาทิตย์ที่แล้วหนูตุ่นไปจังหวัดอุบลราชธานีมาค่ะ

ระหว่างทางผ่านบุรีรัมย์ ก็เลยได้มีโอกาสแวะไปเที่ยวปราสาทพนมรุ้งสักหน่อย เป็นรางวัลชีวิตเนอะ


อุทยานประวัติศาตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ในท้องที่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกิยรติ จังหวัดบุรีรัมย์


ชื่อ "พนมรุ้ง" มาจากภาษาเขมรว่า "วนํรุง" แปลว่าภูเขาอันกว้างใหญ่ ผู้สร้างปราสาท คือ "นเรนทราทิตย์"

ถ้าคนที่อ่านนิยายเกี่ยวกับขอมมาเยอะๆ คงรู้จักนเรนทราทิตย์ดี เพราะเป็นกษัตริย์ที่เก่งมาก สามารถขยายอาณาจักรได้กว้างไกล


วันที่หนูตุ่นไปเที่ยวนั้นอากาศค่อนข้างดีเลยค่ะ เดินชิลๆ แต่แอบลำบาก เพราะใส่ชุดสาวออฟฟิสเที่ยวซะงั้น (ไม่คิดว่าจะได้แวะตั้งแต่แรก) ฉะนั้นใครไปเที่ยวพวกปราสาทหิน ก็ควรใส่รองเท้าที่สบาย เหมาะแก่การปีนป่าย อย่าใส่ส้นสูง หรือส้นตึกเที่ยวจะดีกว่า เพราะหนูตุ่นลองมาแล้ว พื้นทางเดินเป็นหิน แถมชันอีกต่างหาก เหมาะแก่การนำหน้าไปฟาดพื้นเป็นอันมาก T T


เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
ที่แรกที่เราจะผ่าน เรียก "บันไดทางต้น" ปูพื้นด้วยศิลาแลง แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นฐานพลับพลา โถงสร้างด้วยไม้มุงกระเบื้อง


ระหว่างทางเดินสองข้างทาง เราจะสังเกตเห็นว่า นักท่องเที่ยวจะนำหินมาก่อให้สูงเป็นชั้นๆ สงสัยคนทำคนแรกๆคงตั้งใจแสดงให้เห็นว่า หินแถวนี้มีเหลี่ยมมุมที่สามารถต่อกันเป็นสิ่งปลูกสร้างได้ (อันนี้คิดเองล้วนๆ)

ถ้ามองทางด้านขวามือ จะเป็น "พลับพลาเปลื้องเครื่อง" สันนิษฐานว่าเป็นที่พักจัดเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาสักการะเทพเจ้า


ทางที่เราเห็นในรูปเรียก "ทางดำเนิน" เป็นทางเดินที่ทอดไปยังสะพานนาค สองข้างทางมีเสาทรายยอดคล้ายดอกบัวตูม จำนวน ๗๐ ต้น เรียกว่า "เสานางเรียง"

ต่อมาจะเป็น "สะพานนาคราช" และเป็นทางเชื่อมระหว่างบันไดทางขึ้นปราสาท และทางลงสู่สระน้ำปากปล่องภูเขาไฟ ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค ๕ เศียร หันหน้าแผ่พังพอนทั้ง ๔ ทิศ กลางสะพานแกะสลักลายเส้นรูปดอกบัวบาน ๘ กลีบ หมายถึง ทิศทั้ง ๘ แห่งจักรวาล สะพานนาคจึงหมายถึง สะพานที่เชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับสวรรค์


ภาพบัวแปดกลีบค่ะ





ต่อมาเป็นลานปราสาทและระเบียงชั้นนอก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นโถงหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เพราะพบแนวเสาและเศษกระเบื้องจำนวนมาก




ซุ้มประตูและระเบีงชั้นใน มีระเบียงคดล้อมเป็นกำแพงชั้นในยาวต่อเนื่องกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ หน้าบันของระเบียงคดด้ารทิศตะวันออกเป็นภาพฤษี สันนิษฐานว่า เป็นพระศิวะปางรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจหมายถึงนเรนทราทิตย์ผู้สร้างปราสาทแห่งนี้ด้วย



จากนั้นจะเป็นประสาทประธานซึ่งเป็นไฮไลท์ของเขาพนมรุ้งกันแล้วนะคะ ประสาทแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของศาสนสถาน สร้างด้วยศิลาทรายสีชมพู




ปราสาทประธานจะตกแต่งลวดลายจำหลักประดับตามส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพเล่าเรื่องเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เช่น หน้าบันภาพศิวนาฎราช (ทรงฟ้อนรำ) และที่เด่นๆ คือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์




ภายในเรือนธาตุมีห้อง "ครรภคฤหะ" เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ ปัจจุบันเหลือเพียงท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่รับน้ำทรงจากการสักการะศิวลึงค์


จากการเยี่ยมชมเขาพนมรุ้งของหนูตุ่นก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะคะ ข้อมูลที่นำมาเขียน ส่วนหนึ่งได้มาจากเอกสารแผ่นพับที่ขอจากสำนักงานกรมศิลปากร ซึ่งตั้งอยู่หน้าปากทางเข้าประตู เอกสารมีทั้งแจกฟรี และแบบเป็นเล่มที่เสียเงินซื้อ ส่วนค่าธรรมเนียมเข้าชม ผู้ใหญ่คนละ 20 บาท นักเรียน-นักศึกษา และพระสงฆ์ไม่เสียค่าเข้า ต่างชาติถ้าจำไม่ผิดคนละ 100 บาทค่ะ
Create Date :02 เมษายน 2554 Last Update :3 เมษายน 2554 17:31:24 น. Counter : Pageviews. Comments :6