bloggang.com mainmenu search
ช่วงปีที่ผ่านมาสำหรับสาวกที่เกาะติดข่าวแวดวงประกวด "ขาอ่อน" อย่างใกล้ชิดจะสังเกตได้ว่ากระแสความนิยมในตัวของกุลสตรีที่ดีเพียบพร้อมกับมงกุฎการันตรีความงาม ซึ่งเดินทางมากว่า 7 ทศวรรษ กำลังเดินทางเข้าสู่ยุคเสื่อมความนิยมเต็มทีแล้ว โดยที่ปี 2548 เป็นผู้ส่งสัญญาณอันตรายนี้



โดยเฉพาะเมื่อเกิดข่าวฉาวสะท้านวงการในกรณีของ "แองจี้" อัจฉรา แมคคาย ที่สวมมงกุฎ "มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2005" ได้ไม่ทันข้ามสัปดาห์ ต้นสังกัดอย่างบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก็จูงมือเธอออกมาแถลงข่าวถึงการตัดสินใจสละมงกุฎด้วยเหตุผลว่า ต้องกลับไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลียและติดสัญญากับโมเดลลิ่งต่างประเทศ ท่ามกลางกระแสข่าวลือถึงการเรียกร้องสิทธิและค่าตอบแทนในการดำรงตำแหน่งมากเกินไป และมีภาพถ่ายหวือของแองจี้เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นไม่นานเธอก็ออกมาเปิดใจกับสื่อมวลชนทั้งน้ำตาว่า เหตุผลแท้จริงที่ทำให้เธอต้องสละตำแหน่งนั้นเนื่องจากถูกบีอีซี-เทโร ขอร้องให้ลาออก เพราะไม่สามารถตกลงกันเรื่องค่าตอบแทนต่างๆ ได้นั่นเอง


เข้าสู่ยุคหักเหแห่งวงการขาอ่อน

อันที่จริงความเสื่อมศรัทธาในฐานะ "ซินเดอเรลล่าข้ามคืน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ช่วง 2-3 ปีผ่านมาดูเป็นช่วงที่ชัดเจนที่สุด และปรากฏการณ์นี้คงไม่รอดสายตา กูรูหรือผู้รู้ด้านนางงามอย่าง "หนุ่ม" ประเสริฐ เจิมจุติธรรม เจ้าของผลงานหนังสือ "สาวงาม สาวมงกุฎ" ไปได้

เขามองเห็นในทิศทางเดียวกันว่า กระแสความคลั่งไคล้ในการประกวดนางงามลดลงไปมาก ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นวงการโทรทัศน์บ้านเราที่สรรหาความแปลกมาตอบสนองความต้องการของผู้ชมมากมายหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือกระแสเรียลิตี้ โชว์ รูปแบบรายการใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา และรูปแบบสังคมที่พัฒนาไป

“ถือว่าเป็นช่วงตกต่ำที่สุดในวงการนางงามเท่าที่เคยเจอมา แม้ว่าปีที่ผ่านมาบ้านเราจะได้เป็นเจ้าภาพการประกวดนางงามจักรวาลอยู่พักหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นความสนใจแค่คนกลุ่มเดียว มันไม่เหมือนปี 2531 "ยุคปุ๋ยฟีเวอร์ (ยุคที่ภรทิพย์ นาคหิรัญกนก ครองมงกุฎ)" ที่ทุกหย่อมหญ้าต้องพูดถึง เพราะเป็นความรู้สึกใกล้ตัวที่คนไทยได้เป็นนางงามจักรวาล แต่ในความรู้สึกของเด็กรุ่นใหม่มองว่านางงามเป็นเรื่องเชย”

ความอ่อนกำลังของกระแสขาอ่อนยังลามไปถึงธุรกิจนางงามต่างจังหวัดด้วย ซึ่งเซียนนางงามผู้นี้เปิดเผยว่า สมัยก่อนตามมหกรรมใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดจะมีการประกวดนางงามเป็นรายการสำคัญ แต่เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นคอนเสิร์ตเสียแล้ว จะเหลือก็เพียงการประกวดความงามที่เกี่ยวข้องกับประเพณีไทยเท่านั้น อย่างนางสงกรานต์ นางนพมาศ ธิดาน้องนางบ้านนาในประเพณีวิ่งควาย เป็นต้น แต่ขนาดของงานก็เล็กลงไปเรื่อยๆ เฉลี่ยแล้วการประกวดความงามราว 600-700 เวที ในยุคที่เกิดคำว่า ‘นางงามเดินสาย’ ขึ้นในช่วงปุ๋ยฟีเวอร์นั้น ปัจจุบันเหลือเฉลี่ย 300 เวทีต่อปีเท่านั้น


กระแส 'พริตตี้' เวทีหาเงินเข้ามาแทนที่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจับตามอง จากรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไป การประกวดที่เข้ามาแทนที่การประกวดนางงามที่มองว่าเป็นเวทีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือที่ประกวดค้นหาพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีตั้งแต่ รถยนต์ มือถือ สถาบันการเงิน ฯลฯ

“ต้องมองว่าเด็กสมัยใหม่อยู่กับอะไร ธนาคาร มือถือ มันใกล้ตัวพวกเขามากกว่า ดูทันสมัยกว่า เดี๋ยวนี้การหาพรีเซ็นเตอร์อะไรสักอย่างก็มีประกวดแล้ว และเด็กสาวสมัยนี้ก็มองข้ามช็อต เพราะการประกวดลักษณะนี้นอกจากจะได้เงินรางวัลแล้ว ก็อาจจะได้เซ็นสัญญากับสินค้านั้นๆ ได้งานทำต่อ แต่ถ้าเป็นนางงามได้เงินแล้วก็คือจบ” แฟนพันธุ์แท้นางงามคนเดิมวิเคราะห์


พี่เลี้ยงนางงามหันมาส่งพริตตี้

อย่างเดียวกับที่ ศรีเวียง ตันฉาย หรือที่รู้จักดีในชื่อ "ป้าศรีเวียง" พี่เลี้ยงนางงามชื่อดัง ก็ยอมรับว่าการประกวดนางงามเสื่อมความนิยมลงไปมาก เพียงแต่เกิดขึ้นเฉพาะเวทีใหญ่ระดับประเทศเท่านั้น แต่สำหรับการประกวดความงามในต่างจังหวัดก็ไม่ได้ต่างจากในอดีตมากนัก หากแต่การประกวดในเมืองใหญ่ๆ เด็กรุ่นใหม่อยากจะขึ้นเวทีประกวดพริตตี้ หรือนางแบบมากกว่า เนื่องจากไม่มีความกดดันเท่ากับการประกวดนางงาม และได้ผลตอบแทนระยะยาวกว่า

"เดี๋ยวนี้ดูประกวดนางงามเก็งกันถูกก็ไม่มีใครอยากดู คนดูรู้สึกว่าผู้ชนะเหมือนถูกล็อกมาก็ไม่อยากสนใจ ยิ่งเด็กนอกเข้ามามีบทบาทมากกว่า ผู้เข้าประกวดคนอื่นก็เหมือนไม้ประดับ ไม่เหมือนกับพริตตี้กับนางแบบได้เงินดีกว่า สบายใจกว่า ไม่เครียด ไม่ต้องเก็บตัวนานเหมือนนางงาม คู่แข่งก็ไม่มาก ประกวดจบแล้วจบเลย ถ้าสัมภาษณ์ผ่าน ก็ได้งานไปเลย" พี่เลี้ยงนางงามย้ำถึงความนิยมของเด็กรุ่นใหม่

นั่นสะท้อนให้เห็นว่าความใฝ่ฝันของเด็กรุ่นใหม่ในการตะกายเข้าสู่วงการบันเทิงไม่ได้ถดถอยลงไป เพียงช่องทางไปสู่ความเป็นดวงดาวกลับมีเส้นทางอื่นอีกหลายวิธีที่จะก้าวไปยืนอยู่จุดนั้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งการประกวดขาอ่อนเป็นสะพานอีกต่อไปแล้วต่างหาก


ไม่มีใครดู..แต่ทำไมต้องจัด!!

แต่ที่น่าแปลกเมื่อไม่ใช่ธุรกิจนางงามจะไม่ได้ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ และความนิยมก็ลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีการจัดอยู่ประจำปี นั่นเพราะผู้จัดประกวดซึ่งล้วนแต่เป็นสถานีโทรทัศน์นั้น ยังเป็นห่วงเรื่องภาพลักษณ์ เนื่องจากการประกวดนางงามมีแค่ปีละครั้ง และแต่ละครั้งก็สร้างปรากฏการณ์เป็นข่าวคราวขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ได้ระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมิอาจจะนับเป็นจำนวนเงินได้

“ถ้าพูดถึงเวทีประกวดนางงามก็ยังมีการถ่ายทอดตลอด ในขณะที่เวทีนางแบบถ่ายทอดหลังเที่ยงคืน สะท้อนให้เห็นว่าสถานียังให้ความสนใจอยู่ เพราะถือเป็นหน้าเป็นตาของสถานี แต่ก็ทำให้ดีก็ยาก เพราะความนิยมมันตกไป และการจัดประกวดก็ไม่ได้มีรายได้มากนัก ขณะที่รายได้หลักมาจากละคร” ผู้รู้อย่างประเสริฐเสริมในตอนท้าย


'นางสาวไทย' ส่อเค้าโรคเลื่อนรุมเร้า

การยืนยันคำกล่าวหาข้างต้น คงไม่มีอะไรจะพิสูจน์ได้ดีไปกว่าข่าวโรคเลื่อนของเวทีเก่าแก่อย่าง "นางสาวไทย" ที่ ชลวิทย์ สุขอุดม ผู้จัดการกองประกวด ได้อ้างสาเหตุที่ไม่มีการจัดประกวดในปีนี้ว่า เมื่อปี 2547 นั้นได้ทำการเลื่อนเวลาจากที่เคยจัดในเดือนพฤษภาคมไปเป็นเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ใกล้กับวันมหาชิราวุธ ในฐานะสมาคมเจ้าภาพ แต่พอถึงปลายปีนี้กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหลายอย่าง จึงคิดจะกลับมาจัดการประกวดในเดือนพฤษภาคมเหมือนเดิมดีกว่า "ในปีนี้หากจัดในเดือนพฤษภาคมก็จะกระชั้นเกินไป แล้วน้องฝ้าย (สิรินทร์ยา สัตยาศัย) นางสาวไทยปี 2547 ก็จะได้อยู่ในตำแหน่งแค่ 5-6 เดือนเท่านั้น ก็เลยจะต้องกลับมาจัดตอนช่วงพฤษภาคมปีหน้า (2549)" เจ้าพ่อหนุ่มแห่งเวทีนางสาวไทยกล่าว

ทั้งนี้ชลวิทย์ยังแย้งว่า เวทีประกวดความงามไม่ได้กำลังเสื่อมความนิยม เพียงแต่เพราะสังคมมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น

"คนมีอะไรได้เลือกมากขึ้น เป็นปกติอยู่แล้วถ้าอะไรมีเยอะๆ แล้วคนจะเบื่อ ตอนนี้มีเกือบ 20 กว่าเวที และเป็นบันไดของชายหนุ่มหญิงสาวได้ แต่คิดว่าการประกวดจะยังคงมีอยู่ต่อไป เพียงแต่ว่าจะมีการปรับรูปแบบได้แค่ไหนเพื่อให้อยู่ได้"

สถานการณ์ตกต่ำของการประกวดที่เคยถูกมองว่า "เป็นเวทีศักดิ์สิทธิ์" ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากมองย้อนไปปี 2515 การประกวดทุกชนิดต้องถูกยุบไป เพราะความไม่สงบของบ้านเมือง และกลับมาอีกครั้งในปี 2527

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2548 นี้ จะมีสิ่งใดที่ปลุกเวทีแห่งความศักดิ์สิทธิ์นี้ให้โชติช่วงขึ้นมาอีก คงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


บทความจากนสพ.คมชัดลึก
Create Date :29 ธันวาคม 2548 Last Update :1 มกราคม 2549 0:24:52 น. Counter : Pageviews. Comments :13