bloggang.com mainmenu search


ภายหลังการจากไปของ ลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์ เมื่อปี 2553 ช่างเสื้อระดับตำนาน เจ้าของโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี ที่ได้ฉายาปรมาจารย์ชุดไทย โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีก็เหมือนขาดเสาหลัก ธุรกิจโรงเรียนซบเซาอย่างเห็นได้ชัด

พ.ต.อ.ส.พญ.นาตยา นครชัย ลูกสาวคนที่ 5 อดีตรองผู้บังคับการ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบันเข้ามารับช่วงดูแลต่ออย่างเต็มตัวก็ยอมรับเช่นนั้น


"ช่วงปี 2548-2550 ระพีก็เริ่มซบเซา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจการเมือง หรือตลาดแฟชั่นนอกที่เข้ามา แล้วเราไม่มีการโฆษณาอะไรทั้งสิ้น ตั้งแต่ปี 2548 ไม่ได้ทำเวทีนางสาวไทยร่วมกับช่อง 7 ทำให้ระพีเงียบเรื่อยมา"นาตยากล่าวกับ"ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์"

ระพีในช่วงนั้นจึงส่อแววว่าจะปิดตัวลงพร้อมกับผู้ให้กำเนิด

นาตยาเล่าว่าช่วงนั้นได้คุยกับพี่น้อง หนึ่งในนั้นคือ เจี๊ยบ-พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์เจ้าของห้องเสื้อพิจิตรา ว่าในช่วง 1 ปีแรกจะช่วยกันทำในนามของพี่น้อง แต่เอาเข้าจริงทุกคนต่างมีธุรกิจและชีวิตเป็นของตัวเอง สรรพกำลังที่ควรจะทุ่มเทให้ก็ไม่เต็มที่ ระพีจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่เช่นเดิม ผ่านพ้นช่วงปีแรกไป นาตยาจึงตัดสินใจพูดคุยกับพี่น้องอีกครั้ง คราวนี้ขอบริหารเอง

"เรามองว่าถ้าจะปิดฉากก็อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนการแลนดิ้งขอให้เราสมูท อีกอย่างเสียดายสิ่งที่แม่ทำมา ช่วงงานศพคุณแม่มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนบอกว่าไม่ให้เลิก เขาว่านี่ไม่ใช่แค่ของครอบครัวนะ แต่เป็นของสังคม ของส่วนรวม" นาตยาเล่า

โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีมีผลงานโดดเด่นคือเรื่องชุดไทย และผลงานที่ทำให้ระพีเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนไทยและของโลก คือ ชุดไทยจักรีที่ ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ได้รับรางวัลชนะเลิศชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมมาครอง งานนั้นแม้แต่ "มาริโอ วาเลนติโน" ดีไซเนอร์ชื่อดังของอิตาลี ผู้ที่แจ็กกี้ โอนาซิส ไว้ใจนักหนาให้ออกแบบเสื้อมาโดยตลอด ยังชื่นชมว่าชุดนี้แม้ไม่ทันสมัย แต่ดูหรู ฝีมือละเอียด และคลาสสิก ซึ่งนี่เองเป็นที่มาว่าผู้เข้าประกวดคนอื่น ที่จะไปประกวดต่างประเทศต้องใช้เสื้อผ้าของระพีเท่านั้น




ความภูมิใจนี้เองที่เป็นแรงฮึดให้นาตยาตัดสินใจรับมาบริหารระพีอย่างจริงจังอีกครั้งด้วยความผูกพันกับผู้เป็นแม่ทำให้นาตยาที่ไม่เคยแตะเรื่องเสื้อผ้าแฟชั่นมาก่อนเลยเข้าใจเรื่องเสื้อผ้าได้ไม่ยาก

"ยอมรับว่าตอนแรกขาดความมั่นใจพอสมควรแต่คิดว่าหนึ่ง ความเป็นลูกแม่ สอง เราช่วยแม่ทำกิจการอยู่เบื้องหลังตลอด ไม่ว่าจะจัดประกวดนางงาม ถ่ายแฟชั่น ฝ่ายหิ้วกระเป๋า ใส่รองเท้า เสิร์ฟน้ำ บางครั้งเวลาถ่ายแบบ แม่หาใครไม่เจอก็เรียกนาตยา ด้วยความที่เราผูกพันกับทุกคน เราก็คิดว่าจะขอทำเอง โดยปีที่สองนี้จะเน้นเรื่องโรงเรียน เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และเคยไปอบรมที่เมืองนอกมาเรื่องครูผู้สอนการต่อต้านก่อการร้าย เดี๋ยวก่อน...อย่าเพิ่งหัวเราะ (ยิ้ม) คือ เรื่องศาสตร์การเป็นครูผู้สอนนี้เราสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกงานนะ เราก็เอามาใช้ตรงนี้"

สิ่งที่นาตยาเริ่มปรับคือ หลักสูตรการเรียนการสอนหรือแผนการสอน โดยชูจุดเด่น คือครูผู้สอนที่ฝีมือดีมาก ทำงานกับระพีมายาวนานกว่า 40 ปี และมีจุดแข็งเรื่องการทำเสื้อสวย

"เแพตเทิร์น หรือวิธีทำมันไม่ได้เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือการตกแต่ง หรือแฟชั่นที่เข้ามา แต่ไม่ว่าแฟชั่นจะเปลี่ยนเท่าไหร่ คุณก็ต้องทำเสื้อได้ ฉะนั้นก็เหมือนกับสร้างฐานให้มั่นคง อย่ากังวลถึงแฟชั่น แต่ทีนี้โลกมุ่งฉาบฉวย แต่ชีวิตจริงเอามาใช้ได้ไม่มาก ดังนั้นเราจะเน้นพื้นฐานให้แน่น สามารถไปเติมเสื้อผ้าได้ทุกแบบทุกสไตล์ เราจะเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องต่าง ๆ ต้องมีความทันสมัยเข้ามา เราจะไปอยู่แต่ในโลกของเราแบบเก่าไม่ได้แล้ว"



การปรับเปลี่ยนนี้ เป็นเพราะนาตยายอมรับว่าเด็กยุคใหม่มองว่า ระพีคือความโบราณ แม้จะตัดชุดให้ระดับนางงามจักรวาล ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ หรือปุ๊ก-อาภัสรา แต่เดี๋ยวนี้เด็กไม่รู้จักแล้ว

อย่างไรก็ตาม นาตยายังมองว่า ความโบราณ คือจุดแข็งที่ต้องคงไว้

ขณะเดียวกันก็ต้องมีความทันสมัยเข้ามาเพื่อดึงดูดนักเรียนรุ่นใหม่



ทุกวันนี้ผู้เรียนเฉลี่ยอายุเท่าไร ?

"ต่ำสุดก็ 15-16 ปี เดี๋ยวนี้คนที่จะไปเอนทรานซ์ สายตรง เขาต้องสอบเย็บเสื้อให้ดูด้วย หรือบางคนจะไปเข้ามหาวิทยาลัยเมืองนอก ก็ต้องส่งพอร์ตโฟลิโอไปให้เขาดู บางคนอยากตัดเสื้อใส่เอง เพราะไปซื้อใส่แล้วไม่ถูกใจ พวกนี้เป็นโรคอย่างหนึ่ง (หัวเราะ) เด็กบางคนอยากเรียนแฟชั่นดีไซน์ เขาก็ไปเน้นเรียนออกแบบ แต่อยากบอกว่า ขอให้เรียนตัดเสื้อก่อน แล้วค่อยไปเรียนดีไซน์ เพราะถ้ารู้โครงสร้างที่ถูกต้อง การดีไซน์ก็ไม่ยาก ที่สำคัญต้องทำออกมาแล้วให้คนใส่สวยขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่าไปเอาแต่แฟชั่นสมัยใหม่ และต้องดูว่าเหมาะกับคนไทยไหม ไม่ใช่เตี้ยมักกั้กก็ยังไปใส่ทรงแบบนั้น หรือบางคนน่องไม่สวย ใส่สั้นเข้าไปอีก ต้องแนะนำเขาได้ด้วย เด็กบางคนเรารู้จักไปเรียนอิตาลีหมดไปหลายล้าน เขายังตัดเสื้อผ้าใส่เองไม่ได้เลยเพราะหุ่นไม่ดี ทำให้ได้แต่นางแบบที่หุ่นดี ๆ แต่ถ้าคุณพื้นฐานแน่นจะปรับจะแก้ยังไงก็ง่าย"

นาตยาบอกว่า ตอนนี้ได้รวบรวมผลงานของแม่ไว้ให้มากที่สุด เพราะรู้ว่ามรดกชิ้นนี้คือ know how ที่มีค่า

"ตอนนี้ระพีก็เริ่มดีขึ้น ต้องขอบคุณด้านไอที หรือเฟซบุ๊ก วันนี้เราใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสาร ง่ายกว่าสมัยก่อนที่ออกทีวีครั้งนึงเป็นล้าน"

สำหรับหลักสูตร นาตยาย้ำว่า จะเน้นเรื่องถ่ายทอดความรู้และเอาความทันสมัยให้ผู้เรียน ส่วนกระแสเออีซีที่กำลังมา จึงคิดว่าจะปรับปรุงทำหลักสูตรภาษาอังกฤษด้านแฟชั่นดีไซน์เพิ่มด้วย

"วันนี้เราก็ต้องปรับ เพราะตอนนี้รัฐบาลสอนเรียนตัดเสื้อฟรี บางทียังได้ค่ารถมาเรียนอีกต่างหาก ดังนั้นคู่แข่งเราเยอะ เลยปรับกลยุทธ์ เช่น แต่ก่อนเปิด 5 วัน เดี๋ยวนี้เปิดเสาร์ อาทิตย์ และภาคค่ำ ใครสะดวกวันไหน หรืออยากมีเวลาสั้น ๆ 2-3 เดือนเราก็ปรับให้ ให้เรียนกับครูตัวต่อตัว จับมือเรียนกันเลย"



ถามว่าระพีในตอนนี้ดีขึ้นหรือยังนาตยาพยักหน้าเผยรอยยิ้มบอกว่าเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

"เราได้สานต่อได้นำความรู้ของแม่มาประยุกต์ไม่ใช่แค่ตัดเย็บเป็นแต่ต้องมองโลกข้างนอกด้วยเราจัดสัมมนาให้เขาเปิดโลกทัศน์มีการติดต่อกับสมาคมมูลนิธิเสื้อผ้าสำเร็จรูป ดูการพัฒนาว่าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งจาก 1 ปีหลังที่ทำมา ยอดดีขึ้น แต่ว่าจะกำไรเยอะๆ ก็ยังไม่ได้ แต่เรามีความตั้งใจ และจำที่แม่พูดเสมอ ว่าอยากทำโรงเรียนทำมูลนิธิเราเป็นคนใกล้ชิดกับเขา รู้เรื่องเขาทุกอย่าง เราจึงอยากทำต่อ"

"เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งเหล่านี้เป็นชีวิตจิตใจของแม่" นาตยาเผยพร้อมรอยยิ้ม
Create Date :30 พฤศจิกายน 2555 Last Update :30 พฤศจิกายน 2555 18:22:00 น. Counter : 5795 Pageviews. Comments :0