bloggang.com mainmenu search




มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
และหอศิลป์พิมานทิพย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชน
เป็นการประชุมหารือการจัดพิธีถวายสัญญลักษณ์ “สิริศิลปิน”
ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
เนื่องในโอกาสถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน”
ตลอดทั้งพิธีเปิดโครงการการแสดงมหกรรม ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑
(International Thailand Biennalw,Korat 2021)




เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
พระองค์ทรงมีต่อวงการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพพระปรีชาสามารถที่เป็นเลิศในการสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายสาขา
ทั้งงานทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี และงานออกแบบ
ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า
ด้วยทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทย
ที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์
คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยพระองค์เอง
และทรงใช้พระอัจฉริยภาพในมิติของศิลปะในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
โอกาสนี้ รัฐบาลโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
จึงได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรเครือข่าย
ในการจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชน
ตลอดจนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะ
ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
แก่เยาวชนและผู้สนใจด้านศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฏาคม ๒๕๖๔ นี้
ซึ่งตรงกับการจัดงานมหกรรม ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑
ในการที่จะสร้างคุณค่าของศิลปะ-ศิลปินทุกแขนง ทั้งในเรื่องของไปประกอบในการจัดงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑
และที่สำคุญให้คุณค่าของศิลปะ-ศิลปินสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลก
ที่มีพระบรมวงศานุวงศ์เป็นองค์ศิลปินที่มีผลงานศิลปะหลากหลายสาขา
และใช้ผลงานศิลปะเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือประชาชน



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนทท์
อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
เปิดเผยว่า
กิจกรรมในวันนี้ก็เริ่มมาจากโครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมมือกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
มีวัตถุประสงค์หลักๆ ที่ทำร่วมกันก็คือเรื่องของการเทิดพระเกียรติ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ผลงานด้านศิลปิน ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องของการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านแต่อย่างเดียว
แต่จะเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
จะเป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
และหอศิลป์พิมานทิพย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ในการที่จะสร้างคุณค่าของศิลปะ-ศิลปินทุกแขนง ทั้งในเรื่องของการไปประกอบในการจัดงานไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑
แต่ที่สำคัญกว่านั้นเราต้องการให้คุณค่าของศิลปะ-ศิลปินตรงนี้ตรงเข้าไปสู่ชุมชน
ตรงเข้าไปสู่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่
เป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับทางด้านศิลปะ-ศิลปินให้เกิดประโยชน์
ทั้งการขัดเกลาจิตใจ เรื่องของสุนทรียะ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนในพื้นที่
ให้กับนักเรียนนักศึกษาทั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยอื่นๆ และสถานศึกษาทั่วไป

การจัดงานในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะมาจัดประชุมทางการฝึกปฏิบัติ
ว่าเราจะนำองค์ความรู้ตรงนี้ไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์
ทั้งเป็นการยกย่องและเทิดพระเกียรติและทำให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนอย่างไร
ผมก็เพิ่งมาที่หอศิลป์พิมานทิพย์เป็นครั้งแรก ผมรู้สึกชื่นชมในฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง
จากนี้สิ่งที่ชื่นชมอย่างมากๆ ก็คือเจตจำนงของคณะผู้บริหารหอศิลป์พิมานทิพย์แห่งนี้
เขาชี้แจงชัดเจนว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เปิด ต้องการให้เป็นพื้นที่จัดแสดง
ไม่ใช่เฉพาะของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีเท่านั้น
แต่จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศไทย ทั้งในพื้นที่
จริงๆ อยากจะให้เป็นพื้นที่ที่เป็นการแสดงศิลปะที่มีชื่อเสียงในระดับโลก
อันนี้คือสิ่งที่เราคาดไม่ถึงว่าจะมีพื้นที่ดีดีแบบนี้เกิดขึ้น ณ พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา

เราในฐานะที่เป็นสถาปณูศึกษาที่เป็นสถาปณูศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
และเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อได้รับพระราชทานนามว่า
"ราชภัฏคือคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน"
จะน้อมนำเป็นตัวกลางที่จะสืบสานสิ่งดีดีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้องประชาชน
ทั้งในพื้นที่ ทั้งในประเทศไทย และพี่น้องประชาชนทั่วโลก
ในการที่จะจรรโลงเรื่องนี้
ให้เกิดการขัดเกลาสุนทรียะให้พวกเราได้อยู่ร่วมกันด้วยศิลปะอย่างมีความสุข





เมื่อเวลา ๐๙.๓๐ น.ของวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔
ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)
จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชน
ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
เนื่องในโอกาสถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน”







จากนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนทท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
มอบของที่ระลึกแก่อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนทท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
มอบของที่ระลึกแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วิรัญญา ดวงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร



จากนั้น ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
มอบของที่ระลึกแก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนทท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา



ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
มอบของที่ระลึกแก่อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)









ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ
ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
เปิดเผยว่า
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ในช่วงที่เราถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน”
คราวนี้เนื่องความที่ว่าพระองค์ท่านมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน
เราก็มองว่าพระอัจฉริยภาพเหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่จะส่งลงไปให้กับเด็กและเยาวชนได้
ก็เลยมีการคุยกับศิลปิน ศิลปินแห่งแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธรเหล่านี้ว่า เรามาทำงานเรื่องเหล่านี้กันไหม
จึงเป็นที่มาของการประชุมครั้งนี้

โดยที่เราดึงเอามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
เพราะเนื่องจากว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาทำงานตอบสนองเรื่องนี้อยู่แล้ว
และทำงานกับท้องถิ่นได้ดีด้วย
จึงเป็นที่มาของการประชุมกัน และมีการนำเสนอทิศทางในการทำงาน
โดยดึงเอาพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านมาสู่ความเป็นจริงที่ลงไปสู่เด็กและเยาวชน
วันนี้เมื่อเราได้ประชุมกันเราเห็นทิศทางของการทำงานแล้วว่า
เด็กหรือน้องๆ ที่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา หรือว่าพื้นที่ใกล้เคียง
ก็สามารถที่จะเข้ามาสู่การเรียนรู้ได้โดยผ่านงานของพระองค์ท่าน
เราเน้นที่จะให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสของจริงที่มีอยู่ในหอศิลปืพิมานทิพย์
แล้วดึงเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจ หรือมาสร้างจินตนาการให้ตัวเองในการสร้างงาน
โดยที่มีวิทยากร ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศิลปะร่วมสมัย ๔ สาขา
ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ (สาขาทัศนศิลป์). อ.สมเถา สุจริตกุล (สาขาดนตรี)
อาจารย์นิมิตร พิพิธกุล (สาขาศิลปะการแสดง) และนายชัยจักร ทวยุทธานนท์ (สาขาวรรณศิลป์)
ซึ่งมีความรู้ลึกในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว
มาเป็น Coaching ให้กับการสร้างงานในแบบที่เขาเป็นแล้วเขาสนใจ


















สำหรับช่วงเช้าอาจารย์ปัญญา วิจินธนสารศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และ
รองศาสตราจารย์ ดร.วิรัญญา ดวงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
มาเป็นวิทยากรนำชมนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี





ในช่วงบ่ายนั้นมีการประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชน
ได้ใช้สถานที่หอศิลป์พิมานทิพย์สถานที่รวบรวมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะขององค์สิริศิลปินในการจัดประชุมครั้งนี้
ซึ่งมีคณะอนุกรรมการจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชน
ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงวัฒนธรรม และคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ประกอบด้วย ผู้แทนคณาจารย์จากสาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาศิลปศึกษา สาขาวิชาดนตรี
สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย
รวมทั้งคณาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ
เข้าร่วมรับฟังการบรรยายจากวิทยากรกิตติมศักดิ์ ผู้ถวายการสอน
ระหว่างที่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ทรงศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรม
และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ได้แก่ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
รองศสตราจาย์ ดร.วิรัญญา ดวงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากนี้ยังมี อาจารย์นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐
และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านที่มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านศิลปะทั้ง ๔ สาขา
ประกอบด้วย สาขาทัศนศิลป์ สาขาดนตรี สาขาวรรณศิลป์ และสาขาการออกแบบ
โดยบรรยายความหมาย แรงบันดาลพระทัยในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่างๆ
ที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพขององค์ “สิริศิลปิน”
ที่จัดแสดงอยู่ภายในหอศิลป์พิมานทิพย์แห่งนี้
พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ประสบการณ์ เพื่อเป็นข้อมูลนำไปใช้เป็นแนวทาง
ในการจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจด้านศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา รวมกว่า ๒๐๐ คนต่อไป



นายปัญญา วิจินธนสาร
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
เปิดเผยว่า
วันนี้เรามีกิจกรรมที่พูดถึงโครงการ "ศิลปะสู่ชุมชน"
ซึ่งถือว่าเป็น ๑ ในกิจกรรมสำคัญสำหรับ "ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑" ในครั้งนี้
นอกจากงานศิลปะที่เราได้เชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงจากนานาชาติและศิลปินจากประเทศไทย
ได้มาร่วมแสดงผลงานในมหกรรม "ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑" แล้ว
ส่วนหนึ่งก็คือ เราอยากจะให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของศิลปะสำคัญนี้
เพราะว่าเราอยากจะให้ชุมชนของเราได้รู้จักผลงานของศิลปินต่างชาติที่มีชื่อเสียง
ในขณะเดียวกันศืลปินเหล่านี้จะนำผลงานมาจัดแสดง อีกทั้งจะได้รู้จักกับชุมชนของเรา
ซึ่งจะได้สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวโคราช วิถีธรรม แม้กระทั่งโบราณสถาน
หรือว่าความงมงามของธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่ให้เป็นที่รู้จักของนานาชาติ
เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในครั้งนี้
๑.เราอยากให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะสามารถที่จะพัฒนาชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร
๒.เราอยากจะให้ชุมชนของเราที่มีศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีอยู่แล้ว
ได้ออกไปสู่ความเป็นสากลหรือความเป็นร่วมสมัย
จากมหกรรม "ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑" ของเรา

ซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากจะเห็นความสำเร็จ
ไม่ใช่เฉพาะงานมหกรรม "ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑" อย่างเดียว
เราอยากจะให้งานศิลปะมีส่วนในการพัฒนาชุมชนของโคราชให้เป็นชุมชนที่มีความยั่งยืนจากงานศิลปวัฒนธรรม
และเพิ่มรายได้ หรือว่าเศรษฐกิจหรือเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามีอยู่
ที่บางทีในปัจจุบันเราอาจจะไปสนใจในสิ่งใหม่ใหม่
แต่ว่าเราทอดทิ้งความงดงามในอดีตทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทั้งหลาย
กลับมาฟื้นฟูให้ตรงนี้เป็นที่สนใจของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจาก มหกรรม "ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑"



นายนิมิตร พิพิธกุล
ศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัลศิลปาธร (สาขาศิลปะการแสดง) ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๐
เปิดเผยว่า
สำหรับกิจกรรมในวันนี้นะครับ เราพยายามจะให้เกิดสิ่งที่่เรียกว่า การสร้างศิลปะที่เป็นอิสระ
เพราะว่าการสร้างศิลปะที่เป็นอิสระก็คือต้นแบบของการสร้าง
ที่ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ทรงมีอัจฉริยภาพในการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า
ณ วันนี้ถ้าเราไปตีกรอบในวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งมันจะทำให้ศิลปะไม่ได้สื่อสารความหลากหลายของผู้คน
ไม่ได้สื่อสารเทคนิคซึ่งในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่เขาสนใจในเรื่องของเทคโนโลยีกระบวนการใหม่ๆ มากมาย
ซึ่งปรากฏว่าพระองค์ทรงทำเป็นตัวอย่างให้หมดแล้ว
ซึ่งตรงจุดนี้ที่เราจะก้าวเดินต่อไป
เราก็น่าจะเอาแรงบันดาลใจตรงนี้ไปกระตุ้นเพื่อที่ทำให้เห็นว่าศิลปะสามารถไปอยู่กับทุกผู้คนได้
ในความหลากหลายได้ ในวิธีการอันหลากหลายได้ แล้วจะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้น
อย่างที่เราพยายามจะให้ "โคราช" เป็นเมืองศิลปะ หรือ "เบียนนาเล่"
ที่กำลังจะเข้ามา
คนจะมองศิลปะอย่างรู้สึกว่ามีความสุขแล้วอยากมีบทบาทร่วมตรงนี้เป็นจุดสำคัญครับ

สำหรับแนวคิดที่ได้ประมวลมาจากงานที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้ก็คือ
"เรื่องของธรรมชาติเป็นใหญ่ในโลกแล้วก็ศิลปะมีอิสระในตัวเอง"
ประโยคสองประโยคนี้น่าจะเรียกว่าครอบคลุมกระบวนการทั้งหมดคือสิ่งที่พระองค์สร้างไว้
พระองค์ทรงมองเห็นว่าการดูแล รักษา ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า
สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติ แล้วธรรมชาติเหล่านี้ได้คืนกลับแก่เรา แล้วทำให้เรามีชีวิตที่ดำรงอยู่ต่อไปได้
เรื่องของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา และเป็นสิ่งที่ต้องพูดในระดับโลก
ซึ่งตรงจุดนี้ถ้าเกิดเรามาร่วมกันดำเนินรอยตามพระองค์แล้วก็สื่อสารตรงนี้
จะทำให้เนื้อหาของเราที่เกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติจะชัดเจนขึ้น
โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา
ถ้าคนมองมาส่วนใหญ่คนจะมองเห็น "เขาใหญ่" มองเห็นธรรมชาติซึ่งเป็นจุดที่แข็งของเรา
แต่ว่าเราอาจจะยังไม่ได้ตรงจุดนี้มานำเสนออย่างเต็มที่
จริงๆ "เบียนนาเล่" ปีนี้มีการพูดประเด็นนี้ค่อนข้างเยอะซึ่งถ้าเกิดร่วมกันทำไปด้วยกันในธีมนี้คนนจะโฟกัสมาทั้งโลกเลยว่า
จังหวัดนครราชสีมากำลังพูดสิ่งที่สำคัญต่อโลก

ส่วนคำว่า "ศิลปะมีอิสระ" ตรงนี้คือจุดที่เรากำลังมองว่าการที่ทุกคนได้เปิดตัวเอง
ไม้ไดกรอบตัวเอง หรือไปกำหนดทิศทางใดทิศทางหนึ่งจะทำให้ศิลปะเกิดการแพร่ขาย
แล้วก็ความหลากหลายที่มีอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาเอง
จะเป็นต้นแบบให้เห็นว่า
เราไม้ได้โฟกัสไปที่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของประติกรรมอย่างเดียว
แต่ว่าความเชี่ยวชาญของเรา การขับร้อง การทอผ้า ภาษา อาหาร ฯลฯ
จริงๆ แล้วทุกอย่างคือศิลปะหมดซึ่งในงานนี้จะเป็นจุดที่เราได้สื่อสารตรงนี้กัน

คือตอนครั้งแรกที่ผมมาเห็น "เสือ" พยายามที่จะตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องเป็น "เสือ"
แต่ว่าความรู้สึกแว๊บเลย ผมเคยทำงานมากับทางด้านสายสิ่งแวดล้อมอยู่คือ
เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก
ในหลายๆ สายพันธุ์เหลือน้อยแล้วในโคราชเองก็เคยสูญพันธุ์ไปในระยะหนึ่งก็ต้องมีการฟื้นฟูขึ้น
คนยังมองไม่ออกว่าทำไมถึงต้องเอา "เสือโคร่ง" มาเป็นตัวชี้วัดเรื่องของระบบนิเวศ
เพราะจริงๆ แล้วนี่ระบบนิเวศต้องแสดงให้เห็นว่าต้องมี
"สัตว์ที่เป็นสัตว์ที่เป็นเจ้าป่า ต้องมีสัตว์ที่เป็นสัตว์ที่สามารถควบคุมพงไพรต่างๆ และดำรงอยู่ร่วมกัน
ความสมดุลธรรมชาติที่อยู่ร่วมกัน"

ซึ่งตรงจุดนี้มันเป็นจุดที่
เมื่อศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
นำมาเป็นเนื้อหาเล่า
สิ่งที่สวยงามเมื่อพระองค์ท่านทรงให้ทิศทางของสีสัน เทคนิค รูปแบบ แล้วการเล่าเรื่องที่หลากหลาย
ที่ผมชอบมากๆ ก็คือ
มีการนำเอาลวดลายต่างๆ ลงไปในตัวเสือแล้วหมายความว่าลวดลายนั้นมีไม่เหมือนกัน
ตรงจุดนี้เป็นแนวทางที่นำมาทำเป็นกิจกรรม workshop
หรือสร้างศิลปะใหม่ๆ ได้เช่น "มีอะไรอยู่ภายในตัวเสือ" เห็นภาพล่ะว่าเรานำไปต่อยอดได้แน่นอน
หรือการใช้พื้นที่ที่ในภาพเขียนของพระองค์ท่านชัดมากในการมีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ที่เหลืออยู่
พื้นที่ที่ว่างเปล่า พื้นที่ที่สามารถมีเรื่องราวเล่าต่อได้
ซึ่งเป็นเรื่ององค์ประกอบที่สำคัญของงานศิลปะเลย ซึ่งมองว่าภาพหนึ่งดูแล้วไม่ได้จบลงตรงนั้น
แต่ภาพนั้นกำลังพาเราไปต่อ
ตรงจุดนี้จะทำให้เวลาที่คนมาดูมาชมงานศิลปะของพระองค์ท่านแล้ว
เกิดความรู้สึก เกิดความงามในใจ เกิดความคิดต่อขยายต่อ
แล้วเราคิดว่าโดยเฉพาะ "นี่เป็นศิลปะที่เด็กเข้าถึงได้ง่ายด้วย"
เป็นศิลปะที่ผู้คนจะนำเอาไปทำต่อได้ด้วย เพราะว่าเป็นลักษณะ Naïve
คือเป็นศิลปะที่เหมือนกับเริ่มต้นจากความอิสระ หรือเด็กๆ วาด หรือใครก็ตามแต่
สามารถที่จะสร้างผลงานศิลปะได้และมีส่วนร่วมได้ นี่คือศิลปะของการมีส่วนร่วมครับ



ศาสตราจารย์ ดร ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/กรรมการบริหารหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม
เปิดเผยว่า
ผมว่ากิจกรรมในวันนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีนะครับ
เป็นกิจกรรมที่อย่างน้อยสร้างความเข้าใจในเรื่องของงานศิลปะและงานศิลปะของชุมชน
ที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ เพราะฉะนั้นจะมีความเข้าใจที่เกิดขึ้นร่วมกันว่า
การทำงานครั้งนี้ไม่ใช่ทำงานเฉพาะที่ให้เห็นเฉพาะเรื่องของความงามเท่านั้น
แต่เป็นการทำงานให้เห็นถึงศิลปะเข้าถึงชุมชนแล้วชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนางาน
โดยใช้ ผมขอใช้คำว่า "ทุน" ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ทุนวัฒนธรรม ทุนธรรมชาติ อัตลักษณ์ที่เกิดขึ้น
แล้วจะเป็นการช่วยส่งเสริมที่ทำให้คนรู้จัก "ศิลปะ" มากขึ้น
ที่ช่วยจรรโลงเรื่องราวต่างๆ ของความเป็นมนุษย์และประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ช่วยเชื่อมโยง
ก็คืออยากจะเห็นกระบวนการของการร่วมมือร่วมใจของชุมชน
ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงสังคม และเกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ
ที่ใช้ศิลปะเป็นสื่อในกระบวนการทำให้เราได้รู้จักกับอัคลักษณ์ของเราและมีการพัฒนาสังคมต่อไป

ผมรู้สึกซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพของ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ที่ได้ทรงแสดงออก
ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึง
1. ในเรื่องของความรักที่เกิดขึ้น โดยใช้สิ่งที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่พระองค์ท่านมีความประทับใจในการนำเสนอ
2. แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมของสิ่งในโลกมนุษย์นี้ที่มีการปรับเปลี่ยนไป เราต้องมีการปรับเปลี่ยนไป
และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความมีเมตตาที่จะทำให้สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุข
ส่วนในเรื่องของเทคนิคนั้นเราจะเห็นว่าพระองค์ท่านมีพระปรีชาอย่างยิ่งที่มีการหยิบเอาวัสดุต่างๆ เข้ามาใช้
ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางของคนที่สนใจศิลปะ หรือผู้ที่กำลังศึกษาศิลปะว่า
นี่คือแนวทางอีกหลายๆ แนวทางที่ศิลปะสามารถสื่อสารได้ครับ



นายชัยจักร ทวยุทธานนท์
กรรมการบริหาร สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
เปิดเผยว่า
กิจกรรมในวันนี้ทางสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้มาร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และทางหอศิลป์พิมานทิพย์
ในการที่จะเตรียมตัววางแผน วางกิจกรรม กำหนดกรอบต่างๆ
ที่จะนำไปสู่การจัดงาน ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑ ครั้งที่ ๒ แตถือว่าเป็นครั้งแรกของโคราช
แล้วก็อาจจะเป็นแนวทางในการจัดงานครั้งต่อๆ ไปด้วย
ถามว่าในกลุ่มงานศิลปะทั้ง ๔ นี้ ทางสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร
เราก็ยินดีที่จะร่วมในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่สนใจด้านการเขียน
ไม่ว่าจะเป็นการเขียนกวีนิพนธ์ ทั้งแบบมีฉันทลักษณ์และไม่มีฉันทลักษณ์
อาจจะรวมไปถึงการเขียนเรื่องสั้น หรือว่าการถ่ายทอดประสบการณ์
จริงๆ การเขียนก็คือการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ของเราให้กับคนอื่นได้รู้
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเลือกในรูปแบบไหนทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราจะนำเสนอมากกว่าครับ



รองศาสตราจารย์ ดร.วิรัญญา ดวงรัตน์
อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เปิดเผยว่า
สำหรับรูปแบบกิจกรรมที่ได้ข้อสรุปในวันนี้ก็ถือว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจมาให้ประชาชนคนทั่วไป
นอกจากในชุมชนใกล้เคียงรวมไปถึงคนในจังหวัดนครราชสีมา รวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ
หรือนักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมเมืองวัฒนธรรม แหล่งวัฒนธรรมแห่งนี้
อาจจะมีส่วนดึงให้คนเข้ามาร่วมกิจกรรมเพื่อร่วมสนุก ร่วมกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะแผนกต่างๆ
ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชมหอศิลป์พิมานทิพย์ของพระองค์ท่านน่าจะได้รับแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อย
อย่างน้อยสิ่งที่แรกที่เห็นก็น่าจะเป็นเรื่องของสีสัน ลวดลายที่หลากหลาย
ตาม concept ของชื่อโครงการฯ แสดงผลงานของพระองค์ท่านตั้งแต่ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒
"หลากลายหลายชีวิต" ซึ่งความหลากหลายของสีสันและลวดลาย
น่าจะเป็นจุดเด่นที่ทำให้เราได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีความสามารถในเรื่องของการจำแนกสี
ทรงมีรสนิยมเรื่องของการใช้โทนสีหรือการระบายภาพได้
ที่มีลักษณะพิเศษเพราะมีการใช้ลวดลายที่มีการปรับประยุกต์ใช้มาจากศูนย์วิทยาศาสตร์
ลวดลายจากธรรมชาติ ลวดลายจากโน้ตดนตรีต่างๆ เหล่านี้
ซึ่งเป็นรูปแบบที่น่าสนใจรวมไปถึงเรื่องของการเขียนภาพสัตว์หรือภาพสิ่งมีชีวิตกับสภาพสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นลักษณะการเขียนที่ไม่ได้อิงจากลักษณะที่เหมือนจริง
แต่คุณค่าของงานที่มองในภาพรวมแล้ว
เป็นผลทางความรู้สึกที่ให้ประโยชน์ในด้านกระตุ้นแรงบันดาลใจให้คนได้เข้าใจถึงคุณค่า
ของสิ่งที่เป็นความสุขในทางใจ
อยากจะบอกว่าเป็นภาพที่ให้ได้รู้สึกถึงคุณค่าในสิ่งที่อาจจะไม่ได้ยึดติดอยู่กับความเป็นจริง
ไม่ได้ยึดติดอยู่กับภาพเสือที่เหมือนจริง หรือธรรมชาติที่ต้องเหมือนจริง สีสันจริงๆ
ทุกอย่างอาจจะเกิดจากจินตนาการทั้งหมดเลยเพียงแต่สิ่งที่คนดูน่าจะได้รับก็คือ
ความรู้สึกที่สะท้อนออกมาจากการมองภาพคือ มีความงาม มีพลัง มีจิตนาการเกิดขึ้นมากมาย
ในแต่ละภาพก็จะมีความหลากหลายไม่เหมือนกันค่ะ


หอศิลป์พิมานทิพย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
เตรียมจัดแสดงผลงานเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะขององค์“สิริศิลปิน” สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ในมหกรรม ไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช ๒๐๒๑ (International Thailand Biennale, Korat 2021)
จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๙ กรกฎาคม – ๑๙ กันยายน ๒๕๖๔

หอศิลป์พิมานทิพย์ ตั้งอยู่ที่ ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
เปิดให้เข้าชมทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นวันอังคาร) ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น.
มีค่าเข้าชมคนละ ๑๕๐ บาท
พร้อมรับเข็มกลัดลายภาพวาดฝีพระหัตถ์มอบให้ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ ลายภาพ
ให้เลือกตามใจชอบ
ส่วนเด็ก นักเรียนนิสิตนักศึกษา และผู้สูงอายุเข้าชมฟรี



ขอขอบคุณ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
หอศิลป์พิมานทิพย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม
BG : คุณลักกี้ / กล่องเขียนคอมเม้นท์ : คุณ lozocat
ของแต่ง BLOG : ป้ามด-ดอกหญ้าเมืองเลย-ชมพร-ญามี่-เนยสีฟ้า

Create Date :08 เมษายน 2564 Last Update :20 ตุลาคม 2564 21:20:25 น. Counter : 3592 Pageviews. Comments :13