bloggang.com mainmenu search
ช่างภาพแฟชั่นหญิงไทย โกอินเตอร์ หนึ่งเดียวในยุโรป เคทเธอลีน ลินเดีย


คุณ ไม่สามารถรู้ได้หรอกว่าสิ่งที่วาดฝันเอาไว้จะเป็นจริงหรือไม่..หากคุณยังไม่ ลงมือปฏิบัติ ‘เคทเธอลีน ลินเดีย (Katherline Lyndia)’ หรือ ‘รัตตินันท์ ลาปูร์’ ช่างภาพและช่างแต่งหน้าชาวไทยที่ออกเดินทางไปตามความฝันในยุโรป ‘ชนะการประกวดสุดยอดช่างภาพของยุโรป (Tour de france Photography 2012)’

2-10

จากแอร์โฮสเตสบนสายการบินอาหรับเธอผันได้ชีวิตเข้าสู่มุมมองหลัง เลนส์ เดินเคลื่อนตามฝันปลดเปลื้องจินตนาการโลดแล่นบนเฟรมภาพถ่าย ละเลงความจัดจ้านของสีสู่เนื้องานคล้ายลายเซ็นบนภาพของเธอ การันตีด้วยผลงานชิ้นโบว์แดงคว้ารางวัลการประกวดสุดยอดช่างภาพของยุโรป เป็นอันดับหนึ่งทั้งในเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าและการแต่งหน้า

อาจกล่าวได้ว่าเธอเป็นช่างภาพหญิงชาวไทยเพียงคนเดียวที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันในยุโรป ทั้งในฝรั่งเศส, อิตาลี, สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ถ่ายภาพแฟชั่นให้นิตยสารหลายเล่ม อาทิ Her World Magazine, Herper Bazaar Magazine of Vietnam (Location Paris) นอกจากนี้ยังมีผลงานถ่ายภาพนิ่งโฆษณาสินค้าแบรนด์ดัง อาทิ Geneva, swiss ฯลฯ

กล้าที่จะฝันและทำให้เป็นความจริง
“ณ จุดที่เคทอยู่ในยุโรป มีเคทคนเดียวที่เป็นผู้หญิงไทยเป็นช่างภาพในยุโรป” เคทเธอลีน กล่าวขึ้น พร้อมเจือยิ้มบางอย่างสุภาพ

ชีวิตของเธอเริ่มต้นขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ เรียกว่าเป็นเด็กบ้านนอกที่เติบโตมากับท้องไร่ท้องนาดีๆ นี่เอง เคทเธอลีนเล่าถึงในวัยเด็กว่า เป็นคนชอบวาดรูป ชอบศิลปะ ชอบอ่านการ์ตูน เขียนนิยาย เรียกว่าเป็นสาวช่างฝันก็ได้เพราะในวัยเด็กนั้นเธอมีความฝันเต็มไปหมด ฝันว่าอยากเป็นทั้งนักพากย์การ์ตูน พอโตมาอีกสักหน่อยชอบภาษาอังกฤษก็อยากเป็นนักข่าว ของสำนักข่าว CNN แน่นอนไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความฝันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

เธอเรียนปริญญาตรีที่ Bangkok University International College (BUIC) ทางด้าน Communication และในปีสุดท้ายได้ไปเรียนต่อที่ Kingston University (London) ทางด้านประชาสัมพันธ์ หลังจากเรียนจบได้เข้าทำงานเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินอาหรับ Qatar Airways อยู่ราว 2 ปี ไม่นานก็พบรักกับหนุ่มชาวฝรั่งเศสเข้าพิธีวิวาห์และมาใช้ชีวิตในประเทศ ฝรั่งเศส ที่เมือง Bordeaux เธอเริ่มผันตัวเองเป็นช่างแต่งหน้า ขณะเดียวกันก็เรียนรู้การถ่ายภาพโดยอาศัยตรงที่ว่าได้ร่วมงานกับตากล้อง วิธีครูพักลักจำบวกกับความสนใจเป็นต้นทุน เวลา 1 ปี กว่าที่เธอได้เริ่มลองในสายงานถ่ายภาพอย่างจริงๆ จังๆ ในที่สุดก็ก้าวขึ้นเป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงในยุโรป ค่อยๆ คลอดผลงานออกมาให้ได้นักเสพศิลปะได้ละเลียดกัน

การเริ่มต้นกับความฝันในวัย 29 ปี อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ช้า แต่เธอบอกว่าถือเป็นความโชคดีที่อย่างน้อยได้ค้นพบในสิ่งที่ด้วยเองรักและมี ความสุขที่จะทำในทุกขณะ ต้นทุนการถ่ายภาพของเธอมีเพียงความรักชอบในศิลปะและชอบที่จะถ่ายภาพ ไม่เคยเรียนศิลปะหรือร่ำเรียนการถ่ายภาพมาก่อน

“เรามาจับกล้อง เราไม่เคยเรียนการถ่ายภาพมาเลย เมื่อก่อนถ่ายโหมด Auto ไม่รู้จักโหมด manual ด้วยซ้ำ ซื้อกล้อง compact แบบถูกๆ ธรรมดามา หลังๆ เห็นเขาเล่นกล้อง Dslr เรารู้สึกอยากเล่นบางก็ไปซื้อ เราคิดว่าพอเราจับไปสักพักนึงเราเจอสิ่งที่เราชอบ เราปล่อยให้จินตนาการกำหนด ปล่อยเป็นเรื่องของอารมณ์”

พรสวรรค์ ยังต้องพ่ายพรแสวง?
ทีมงานถามว่าสิ่งนี้ถือเป็นพรสวรรค์หรือเปล่า ริมฝีปากเรียวของหญิงสาว เปลี่ยนท่วงท่าเปล่งเสียงเผยความนัย

“มันมีพรสวรรค์มาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าเราชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่เคยเรียน ฉะนั้น มันเหมือนสิ่งที่เราทำมาตลอดทั้งชีวิตเราทำอยู่ตลอดเวลา แต่เราหาตัวเองไม่เจอ และเราก็ทิ้งมันตลอด คือเราไม่เคยจับมัน อธิบายง่ายๆ บางทีเราไม่ได้วาดภาพนานแล้ว แต่พอกลับมาจับมันเราก็วาดได้เหมือนเดิม แต่ว่าฝีมือเราทำได้ช้าลงเพราะเราไม่ได้ฝึกฝนประจำ”

บางคนอาจคิดว่าเรื่องราวของเธอคือโชคชะตาที่ถูกกำหนดมาแล้ว เคทเธอลีนกล่าวขึ้น

“มันเป็นเรื่องที่เราเลือกเองด้วย ถามว่าคนเราอยู่เฉยๆ แล้วโชคชะตาจะพาไป มันเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องของดวงด้วย เรื่องของโอกาส คือทุกสิ่งทุกอย่างแหละ แต่จุดหลักก็เป็นตัวคุณเอง คุณเลือกที่จะเดิน คุณมีความมั่นใจ มีความเข้มแข็งในตัวเองมากน้อยแค่ไหนที่จะเดินไป คุณต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง คุณจะผ่านตรงนั้นไปได้หรือเปล่า”

เธอเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าแม้ไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง ก็ประสบความสำเร็จได้หากมีใจรักและมุ่งมั่น

“ตรงจุดนี้มันมีบทพิสูจน์หลายคน ไม่ได้เรียนมาก็ประสบความสำเร็จกันเยอะ มันอยู่ที่โอกาส อยู่ที่ว่าสิ่งที่คุณมีคุณมีพรสรรค์แล้วคุณมีพรแสวงหรือเปล่า ถ้าคุณมีพรสวรรค์แต่ไม่มีพรแสวงคุณก็เป็นได้แค่นั้น คุณก็เป็นคนๆ นึงที่ทำได้เร็วกว่าคนอื่น คิดอะไรได้เร็วกว่าคนอื่นแต่คุณไม่สามารถไปต่อได้ เพราะคุณไม่รู้จะแสวงหาอะไรตรงจุดไหน

“แต่ถ้าคุณมีพรแสวงแต่คุณไม่มี พรสวรรค์ คุณมีความขยันเป็นทุน คุณสามารถแข่งกับคนเก่งได้ แม้เราจะช้ากว่าคนอื่น แต่เราทำมากกว่าเขา 4 – 5 เท่า เราก็ทัน ก็เหมือนเรื่องกระต่ายกับเต่ามันมีนิทานที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นไปได้”

กว่าจะเป็นช่างภาพ(หญิง)ไทยในยุโรป
จากความไม่รู้ แล้วมาเริ่มงานถ่ายภาพแฟชั่นถ้าถามว่านานไหมกว่าจะก้าวผ่านจุดเริ่มต้นขึ้น เป็นมือวางอันดับหนึ่ง เธอเปรยขึ้นอย่างแบ่งรับแบ่งสู้

“มันไม่รู้ตัวหรอก เพราะเรารู้สึกว่าเรายังไม่เก่งพออยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเราไม่รู้จะใช้ระยะเวลาขนาดไหนฟัก เรารู้เพียงแต่ว่าเรามีหน้าที่ตรงนี้แล้วทำมันได้ แล้วเราค้นหาตัวเราเจอ”

ข้อคิดอย่างหนึ่ง การเป็นช่างภาพที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นเป็นเรื่องของอัตลักษณ์เป็นลาย เซ็นต์ของตัวช่างภาพที่ถูกประทับไปบนภาพใบนั้นๆ จนเกิดการจดจำและยอมรับ เคท กล่าวว่าเรื่องอัตลักษณ์เป็นเรื่องสำคัญที่ช่างภาพแต่ละคนต้องพยายามหามัน ให้เจอ

“ช่างภาพที่เป็นเพื่อนที่นิวยอร์ค มาบอกว่างานเราติดเป็นที่ยอมรับนะ เขาบอกว่าเรามีเอกลักษณ์ มีลายเซ็นต์ที่ต้องพัฒนา อย่าทิ้งมัน บางทีเพราะเราชินกับงานที่ถ่ายไง เรามองมันทุกวันเราก็ไม่รู้สึกว่ามันมีจุดต่างตรงไหน แต่คนที่เขาอยู่ข้างนอกเขาเป็นกระจกสะท้อนมาบอกเรา”

เมื่อสร้างความต่างหรือลายเซ็นต์ของภาพจนเป็นที่จดจำได้แล้ว นั้นเท่ากับว่าคุณก้าวขึ้นมาอีกขั้น อย่างไรก็ตาม นอกจากเป็นช่างภาพมือโปร เธอยังเป็นช่างแต่งหน้าเป็นสไตล์ลิส ตรงนี้เองก็ดูจะเป็นจุดที่ทำให้เธอพัฒนางานถ่ายภาพแฟชั่นไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนมันเป็นเรื่องที่เธอได้เปรียบช่างภาพหลายๆ คน

“ใช่ได้เปรียบ แต่ถามว่าถ้าเราเป็นคนเห็นแก่ ตัวเราก็จะเสียเปรียบกับจุดนี้เพราะเราจะไม่ร่วมงานกับคนอื่น”

ถ่ายภาพแฟชั่นไม่มีกฏตายตัว
เคทเธอลีนแบ่งปันประสบการณ์การทำงานถ่ายภาพในยุโรปของตัวเอง เธอเล่าถึงการเตรียมตัวในการถ่ายภาพแต่ละครั้งว่าปล่อยให้จินตนาการเป็นตัว กำหนดเสียส่วนมาก

“เป็นคนที่ชอบคิดอะไรสดๆ แต่จะบอกคราวๆ ว่าให้เตรียมอะไรประมาณนี้ แล้วเราก็จะเลือกตรงนั้นเลย เราต้องดูเขาไง พอเราเห็นเขาแล้วอารมณ์แรกที่เราให้กับเขา แล้วให้อารมณ์อะไรกับเรา เราก็จะเลือกความรู้สึกเป็นเครื่องมือถ่ายทอด”

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการถ่ายแฟชั่นใหญ่ๆ ก็ต้องช่างภาพก็ต้องควบคุมตัวเองด้วย ไม่ใช่ว่าเอาตัวเองเป็นใหญ่ต้องรับฟังความคิดของลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน สร้างข้อตกลงร่วมกัน

“การถ่ายแฟชั่นมันไม่มีกดตายตัว ขึ้นอยู่กับอารมณ์ และความรู้สึก สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นมากกว่า เราทำงานสดๆ แล้วงานทุกชิ้นไม่เหมือนกัน เราทำได้ครั้งเดียว ไปเอารูปของคนอื่นมาให้ดู ให้ทำตามก็ทำไม่ได้เหมือนกัน มันต้องออกมาจากตรงนั้น อยู่ดีๆ เดจาวูก็ขึ้นมา เรามองแบบแล้วภาพมันสำเร็จในหัวแล้ว โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

“เราขอใช้ศิลปะของเราร่วมกับงานของ คุณ เราเดินกันคนละครึ่งทาง เราจะให้ในสิ่งที่คุณต้องการแต่คุณต้องยอมรับในตัวเราด้วย ไม่ใช่ให้ลูกค้าไป 100 เปอร์เซ็นต์ เราจะสูญเสียตัวเราไง เวลาที่เขามาถ่ายงานกับเราเราต้องอธิบายให้เขาฟังว่าคุณเลือกฉัน คุณก็เลือกสไตล์ฉัน เพราะฉะนั้นคุณต้องยอมรับในตัวฉัน คนละครึ่งทางแล้วกัน 50 เปอร์เซ็น”

แต่บางทีลูกค้าก็ไม่ยอม เราก็ต้องตามใจ พูดตรงๆ ลูกค้าคือพระเจ้า บางทีมันเป็นสายงานบริการ

ชื่อเสียงเงินทองทำให้คนลืมตัว..แต่ไม่ใช่ฉัน
สิ่งที่เธอได้ตอบแทนจากความกล้าที่จะปั้นฝันให้เป็นจริง ไม่ว่าจะชื่อเสียง หรือรายได้ก้อนโต ก็ไม่ได้ทำให้ตัวเธอเปลี่ยนไป

“ไม่เคยอ่ะ เรากลับมองว่าเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น ถามว่าเราเก่งมั้ย เราไม่ได้เก่งไปกว่าคนอื่น มันมีคนเก่งกว่าเราแต่เขาไม่มีโอกาส จุดที่เรายืนอยู่คือเรามีโอกาสสูงกว่าคนอื่นมาก แต่ว่าเราเปรียบตัวเอง คือเราคือคนไทย ที่ไปสู้กับต่างชาติที่เขาเรียนมาทั้งชีวิตที่ทำงานจุดนี้ ซึ่งเราเพิ่งไปถึงไม่รู้อะไรเลย แล้วเราใช้สิ่งเดียวที่ไปสู้กับเขาคือจินตนาการ”

ในเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพยอมรับว่าอาจจะน้อยกว่าช่างภาพอีกหลายท่าน แต่สิ่งนี้เธอให้ความสำคัญน้อยกว่าจินตนาการ

“เรื่องจินตนาการเขายอมรับเลยละว่า การที่คุณขึ้นมาตรงจุดนี้คุณมีความสามารถนะ แต่คุณก็ยังไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่ถามจริงๆ เราก็ไม่ต้องการเป็นคนที่เก่งที่สุด เพราะเราเพียงแค่อยากให้เขายอมรับเราเท่านั้นเอง คนไทยน้อยที่จะขึ้นไปตรงจุดนั้น คนที่เห็นเราแวบแรก ก็คิดว่าเราเป็นคนญี่ปุ่นหรอ คนจีนหรอ คือคนไทยก็มีคนเก่งเยอะ แต่ผู้หญิงที่จะขึ้นไป ที่เป็นช่างภาพระดับยุโรปหรืออเมริกายอมรับ น้อยคนมาก นับจำนวนได้เลย”

คนส่วนใหญ่เทคนิคน่ะนำตัวเขาไปแล้ว แต่จินตนาการยังตามหลัง “ถ่ายเฟอร์เฟกต์ แต่ไม่มีความรู้สึก รูปไม่มีอารมณ์ เพราะคุณไม่มีจินตนาการ คุณไม่มีการปรับแต่งปรุงรสให้กับภาพ เหมือนภาพที่ถ่ายมามันดูแล้วสวยแต่รู้สึกว่ามันขาดอะไรไป มันเป็นเรื่องของอารมณ์ นั่นคือสิ่งที่ตากล้องให้กับภาพและมันไม่ใช่ทุกคนจะทำได้”

ถามว่าแล้วถ้าบางคนอื่นไม่ยอมรับในจินตนาการความรู้สึกนึกของคุณละ เธอ ตอบด้วยน้ำเสียงฉะฉาน

“มันก็มีแต่ถ้าเราใส่ใจตรงจุดนั้นเรา ก็ไปต่อไม่ได้ มันอยู่ที่ว่าคุณเสี่ยงหรือเปล่า แต่ถ้าคุณไปต่อแล้วมันตันคุณก็ต้องหาทางออกอยู่ดี ไม่มีใครรู้จักตัวเราดีเท่าเรารู้จักตัวเองเราต้องมั่นใจในสิ่งที่เราทำ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยก็แสดงว่าเขาคิดไม่เหมือนเรา

“คุณฟังคนอื่นมาก คุณก็สูญเสียความเป็นตัวเองไปแล้ว คุณต้องเดินหน้าต่อ เชื่อในสิ่งที่มันจะต้องเกิดขึ้น กว่าเราจะผ่านในจุดที่เรายื่น คุณต้องผ่านสเตปนี้ ไม่ใช่ท้อแล้วก็หยุดมันไป”

สุดท้าย ประสบการณ์ที่เธอสั่งสมในต่างแดนใช่ว่าจะจำกัดอยู่ที่ตัวเอง เพราะแคทเธอร์ลีนได้นำสิ่งเหล่านี้มาแบ่งปันสู่ช่างภาพมือสมัครเล่นรวมถึง มืออาชีพชาวไทย และผู้สนใจ ได้ร่วมเรียนรู้แง่คิดและเทคนิคดีๆ ในคอร์สถ่ายภาพที่เธอขนทีมงานชาวต่างชาติมาร่วมแชร์สรรสาระการถ่ายภาพแฟชั่น ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายก็จะสมทบทุนให้แก่มูลนิธิเกี่ยวกับสัตว์ด้อย โอกาสต่อไป
………………………..

เรื่องโดย ทีมข่าว m-lite
ภาพโดย วชิร สายจำปา

Create Date :16 กรกฎาคม 2556 Last Update :16 กรกฎาคม 2556 1:20:31 น. Counter : 3962 Pageviews. Comments :0