bloggang.com mainmenu search

พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำ ผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ พร้อมทั้งได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า

เวลานี้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วนก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ขอให้ไปปรึกษากับผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองเพื่อที่จะให้ครบ เมื่อก่อนนี้มีอย่างเดียวมีศาลฎีกา ศาลอุธรณ์ ศาลอาญา ศาลแพ่ง เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่างนับไม่ถูก เมื่อมีก็ต้องให้ดำเนินการให้เป็นผลดี ขอให้ปรึกษากับศาลอื่น ๆ ด้วยจะทำให้บ้านเมืองปกครองในแบบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯ พระราชทานเพราะขอนายกฯ พระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะ อะไรก็ขอพระราชทาน นายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด อ้างไม่ได้ มาตรา 7 มีสองบรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี ตามที่เคยทำมา ไม่มีเขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกคอรงแบบ ขอโทษ “แบบมั่ว” ก็แบบไม่มีเหตุผล สำคัญอยู่ที่ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่จะไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ ปกครองต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนเขาว่าไม่ได้ แต่อาจจะหาวิธีที่ตั้งสภาไม่ครบถ้วน ตั้งได้ ทำงานได้ ก็รู้สึกว่าจะมั่วอย่างที่ว่า ต้องขอโทษอีกทีนะใช้คำว่ามั่ว ไม่ถูก ไม่ทราบว่าใครทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบว่าทำปัด ๆ ไป ให้เสร็จ ๆ ไป ถ้าไม่ได้เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ที่จะไปมั่ว ก็เลยจะต้องขอร้องว่าฝ่ายศาลให้คิดให้ช่วยกันคิด

เดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาลโดยเฉพาะศาลฎีกา ศาลอื่น ๆ เขายังบอกว่าศาลขึ้นชื่อว่าศาลดียังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผลและมีความรู้ ท่านได้เรียนรู้กฎหมายมาและพิจารณาเรื่องกฎหมายที่จะต้องศึกษาดี ๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอดอย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่สภา เพราะสมาชิกสภาถึง 500 คน ทำงานไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ทำงานได้ จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน ก็อาจจะว่ารัฐธรรมนูญนี้ พระมหากษัตริย์เป็นคนลงพระปรมาภิไธยก็เดือดร้อน

แต่ว่าในมาตรา 7 นั้น ไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่า ไม่มีบทบัญญัติแบบประชาธิปไตย ไม่มี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์จะมาสั่งการได้ และก็ขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไร ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือพระราชบัญญัติต่าง ๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง อย่างที่เขาขอ ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกฯ แบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการตามที่ถูกต้องทุกครั้ง มีคนเขาอาจจะมาบอกว่าพระมหากษัตริย์รัชการที่ 9 นี้ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำไปตามใจชอบแล้ว ก็คงจะทำให้บ้านเมืองล่มจมไปนานแล้ว

แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วเวลาถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่า ทำตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัวว่าถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ ตอนนี้อยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นสำคัญที่จะบอกได้ ศาลอื่น ๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลอะไร ไม่มีข้ออ้าง ได้มากกว่าศาลฎีกาที่มีสิทธิที่จะพูดที่จะตัดสิน ฉะนั้นก็ขอให้ท่านได้พิจารณา ไปปรึกษาศาลอะไรอื่น ๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ควรจะทำอะไรก็ต้องรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม

พอดีที่ดูทีวีเรือหลายหมื่นตันโดนพายุจมลงไป 4,000 เมตร ในทะเล เขายังต้องดูว่าเรือนั้นจมลงไปอย่างไร ลงไปจะจมลงไปลึกกว่า 4,000 เมตร กู้ไม่ได้ กู้ไม่ขึ้น ฉะนั้นท่านเองก็จะต้องจมลงไป ประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จะจมลงไปในมหาสมุทร เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุดในโลก ฉะนั้นท่านมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติ ปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ เพื่อที่เขาเรียกกู้ชาติ เดี๋ยวนี้เอะอะ อะไรก็กู้ชาติกู้ชาติ กู้ชาติเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้จมทำไมต้องกู้ชาติ แต่ว่าป้องกันไม่ให้จมลงไป แล้วเราจะต้องกู้ชาติ แต่ถ้าจมแล้วเรากู้ชาติไม่ได้ จมไปแล้ว

ฉะนั้นต้องพิจารณาดูดี ๆ ว่าเราจะทำอะไร ถ้าทำได้ ปรึกษาหารือกันได้จริง ๆ ประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนทั่วโลกจะอนุโมทนา แล้วจะเห็นว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทย ยังมีเรียกว่า “มีน้ำยา” เราเป็นคนที่มีความรู้และตั้งใจที่จะกู้ชาติจริง ๆ ถ้าถึงเวลา ก็ขอบใจท่านที่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่ แล้วก็ทำหน้าที่ที่ดี บ้านเมืองก็รอดพ้นไม่ต้องกู้ ขอขอบใจที่ท่านพยายามปฏิบัติด้วยดี และประชาชนจะอนุโมทนา ขอขอบใจแทนประชาชนทั่วประเทศ ที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้มแข็ง ต้องขอบใจที่ท่านสามารถจะปฏิบัติงานด้วยดี ขอให้มีพลานามัยแข็งแรง ต่อสู้ ต่อสู้เพื่อความดี ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในประเทศ ขอบใจ.

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

Create Date :11 มิถุนายน 2550 Last Update :12 มิถุนายน 2550 0:57:34 น. Counter : Pageviews. Comments :0