bloggang.com mainmenu search
วิทยาการล้ำยุค ผ่าตัด ‘มะเร็งต่อมลูกหมาก’ ด้วย ‘หุ่นยนต์’

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการ ผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยใช้หุ่นยนต์ da Vinci-S เป็นเครื่องช่วยในการผ่าตัดสำเร็จ โดยคณะแพทย์ไทยจาก โรงพยาบาลศิริราช ตามที่เป็นข่าวเกรียวกราวไปแล้วนั้น

เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัด มะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยหุ่นยนต์ ผศ.นพ.สิทธิพร ศรีนวลนัด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำตอบในเรื่องนี้มาบอกกับทุกคน

ผศ.นพ.สิทธิพร กล่าวว่า เบื้องหลังความสำเร็จในการผ่าตัดดังกล่าว เนื่องมาจาก วิสัยทัศน์ของ ศ.คลินิก นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่มีความต้องการให้ รพ.ศิริราชมีความเป็นเลิศในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้วิทยาการก้าวหน้าสมัยใหม่ เพื่อเป็นที่พึ่งสำหรับคนไทยทุกคนในยามเจ็บป่วย โดยจากรายงานทางสถิติของสถานวิทยามะเร็ง พบว่าชายที่มารักษาด้วยโรคมะเร็งที่ โรงพยาบาลศิริราช นั้น มะเร็งต่อมลูกหมาก พบเป็นอันดับที่ 2 และมีแนวโน้มจะพบมากขึ้นทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องของการตรวจสุขภาพกันมากขึ้นนั่นเอง

ความจริงมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถรักษาหายขาดได้ ถ้าเป็นระยะเริ่มต้น แต่ในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่มีอาการอะไร การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีได้หลายวิธี ตั้งแต่การ ฉายแสง ฝังแร่ การผ่าตัดแบบเปิด การผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือ การผ่าตัดแบบใช้หุ่นยนต์

ศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงในด้านการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งแบบเปิดและแบบส่องกล้องผ่าตัด โดยปัจจุบันได้ทำการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งหมดไปกว่า 600 รายแล้ว และในจำนวนนี้เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องกว่า 350 ราย โดยเฉพาะในปี 2549 ได้มีการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากแบบส่องกล้องที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นจำนวนกว่า 250 ราย ซึ่งจัดว่ามากที่สุดในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้เอง ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีเครื่องมือที่ทันสมัย มาใช้ในการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากคือ เครื่องมือหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการผ่าตัด

สำหรับการเตรียมการผ่าตัดเริ่มจากประมาณต้นเดือน ม.ค. 2550 ทีมศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด คือ ตัวผม และ รศ.นพ.ไชยยงค์ นวลยง เดินทางไปฝึกผ่าตัดในสัตว์ทดลอง ณ ต่างประเทศ หลังจากนั้นได้เดินทางไปยัง มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐ โดยไปศึกษาวิธีการผ่าตัดจาก นพ.วิพูล พาเทล ซึ่งเป็น ศัลยแพทย์ ที่มีชื่อเสียงมากในการผ่าตัดดังกล่าว ณ เมืองโคลัมบัส ในขณะเดียวกันก็ได้ทำการจัดซื้อเครื่องมือหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการผ่าตัดในราคา 80 ล้านบาท โดยใช้เงินของศิริราชมูลนิธิทั้งหมด ซึ่งเป็นเงินบริจาคที่โรงพยาบาลศิริราชได้รับจากผู้ป่วย

ผศ.นพ.สิทธิพร อธิบายว่า การใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์นั้นได้มีการพัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1980 โดยองค์การอวกาศของสหรัฐ และพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้การผ่าตัดในอวกาศโดยให้ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเป็นผู้ควบคุมการผ่าตัดบนพื้นโลกมนุษย์ จากการคิดค้นดังกล่าวจึงได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดทางไกลเพื่อใช้ในระหว่างสงคราม หรือใช้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยใช้หลักการเดียวกับการผ่าตัดในอวกาศ คือ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในห้องผ่าตัดจริง ๆ เพียงทำการควบคุมหุ่นยนต์อยู่ด้านนอกเท่านั้น

ควบคู่ไปกับการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์นั้น ทางการแพทย์ก็ได้มีการพัฒนาการผ่าตัดเจาะรูผ่านทางหน้าท้องเพื่อทำการผ่าตัดในช่องท้อง ซึ่งใช้ในการผ่าตัดต่าง ๆ มากมายในช่องท้อง เช่น การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเอานิ่วในถุงน้ำดีออก การผ่าตัดมดลูกโดยใช้การส่องกล้อง หรือการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้วิธีการส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันนี้ได้รับการผ่าตัดกันอย่างแพร่หลายโดยที่ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์ในการผ่าตัดแบบส่องกล้อง กล่าวคือ แผลของการผ่าตัดจะเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดที่นิยมใช้กันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้ป่วยจะมีการฟื้นตัวและสามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิด และยังเสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อยกว่า ตลอดจนภาพที่เห็นจะมีกำลังขยายมากกว่าสายตามนุษย์ถึงกว่า 10 เท่า ทำให้ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแบบส่องกล้องสามารถทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และถูกต้องมากขึ้น

การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ต่างกับการผ่าตัดแบบส่องกล้องอย่างไร ? ผศ.นพ.สิทธิพร กล่าวว่า การผ่าตัดแบบส่องกล้องที่ผ่านเข้าไปในช่องท้อง โดยทำการผ่าตัดโดยใช้กล้องขยายนั้นมีข้อจำกัดหลายประการ คือ ภาพที่มองเห็นเป็นภาพ ออกมา 2 มิติ ซึ่งทำให้ความแม่นยำของการผ่าตัดอาจจะลดลงเมื่อเทียบกับตาปกติ ทั้งนี้เนื่องจากว่าภาพ 2 มิตินั้นขาดความลึก ดังนั้นการกะระยะต่าง ๆ ในระหว่างการผ่าตัดอาจจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้เครื่องมือที่ใช้เข้าไปในการผ่าตัดนั้นจะไม่สามารถโค้งงอได้เหมือนมือมนุษย์ทั่ว ๆ ไป ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในการผ่าตัดอาจจะทำให้การเลาะหรือเข้าไปในซอกที่แคบ ๆ ของร่างกายมนุษย์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ดังนั้นการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดขึ้นมา ซึ่งทำให้ลดอุปสรรคในการผ่าตัดแบบส่องกล้องลงไปได้อย่างดียิ่ง กล่าวคือภาพที่เห็นจากการผ่าตัดนั้นจะเป็นภาพ 3 มิติ และมีกำลังขยายมากกว่าปกติถึงกว่า 10 เท่า นอกจากนี้มือของหุ่นยนต์ที่เข้าไปใช้ผ่าตัดจะสามารถทำงานได้เหมือนกับมือมนุษย์ตามปกติ คือ สามารถหักงอข้อมือ และหมุนข้อมือได้ ทำให้เครื่องมือสามารถเข้าไปในที่แคบ ๆ และช่องผ่าตัดเล็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้การผ่าตัดนั้นมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดที่ต้องการคุณภาพของการผ่าตัดที่ดีขึ้น

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะสามารถทำให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพทางเพศใกล้เคียงกับก่อนการผ่าตัด กล่าวคือ ที่ระยะเวลา 1 ปี นั้น ผู้ป่วยที่มีสมรรถภาพทางเพศดีอยู่แล้วก่อนผ่าตัด ใน หลังผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์นั้นสมรรถภาพทางเพศยังมีอยู่เหมือนเดิมถึง 97% นอกจากนี้ภาวการณ์ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นพบว่าสามารถ หายได้เป็นปกติที่ระยะเวลา 1 ปี ในจำนวน 98% ของผู้ป่วย ที่ได้รับการผ่าตัดโดยใช้ หุ่นยนต์

เนื่องจากการใช้มือของหุ่นยนต์ที่มีความอิสระในการทำงานมากขึ้นนั้น จะทำให้การผ่าตัดได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นนั้น การทำการเย็บเพื่อต่อส่วนของกระเพาะปัสสาวะเข้ากับท่อปัสสาวะหลังจากที่ผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกแล้วทำได้แม่นยำและแข็งแรงมากขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวเร็วกว่า เสียเลือดน้อยกว่า แผลผ่าตัดเล็กกว่า การผ่าตัดแบบเปิด และอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า โดยเฉลี่ยที่ต่างประเทศ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ในวันรุ่งขึ้นหลังจากการผ่าตัดโดยไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลในระยะเวลานาน ๆ แต่อย่างไร นอกจากนี้สายสวนปัสสาวะก็สามารถเอาออกได้เร็วขึ้น สั้นกว่า 7 วัน

ใครบ้างที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ และสามารถติดต่อรับการผ่าตัดได้ที่ไหน ? ผศ.นพ.สิทธิพร กล่าวว่า การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยนั้น สามารถทำได้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่จะได้รับผลดีจากการผ่าตัดดังกล่าวนั้น ผู้ป่วยที่มีอายุไม่มากนัก และปริมาณของมะเร็งในต่อมลูกหมากในปริมาณไม่มาก และเป็นมะเร็งชนิดไม่ร้ายแรงมากนัก โดยที่ผู้ป่วยดังกล่าวต้องการมีสมรรถภาพทางเพศที่ดีหลังผ่าตัด สำหรับเครื่องมือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก รุ่น Da Vinci-S นั้น ปัจจุบันมีอยู่ที่แผนกศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัย มหิดล ซึ่งผู้ป่วยสามารถติดต่อเข้ารับการรักษาได้ที่ “คลินิกต่อมลูกหมาก” ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 3 โรงพยาบาลศิริราช ทุกวันจันทร์ เวลา 09.00-15.00 น. และวันอังคาร เวลา 13.00-15.00 น. โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ //www. thaiprostateclinic.com

เดลินิวส์ Suwat_krub@hotmail.com

Create Date :29 เมษายน 2550 Last Update :30 เมษายน 2550 23:29:38 น. Counter : Pageviews. Comments :2