bloggang.com mainmenu search
เก็บข่าวมาฝาก ด้วยเหตุ จขบ. หมดมุก แต่ไม่พักรบ ขออนุญาต WM. ของเดลินิวส์แล้วครับ เค้าบอกว่าตามสบายค่ะ ขอบพระคุณมาก ๆ นะครับ และขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้สูญเสียด้วยครับ

โศกนาฎกรรม'น้ำป่า'ถล่ม'ตรัง'วิปโยค-สังเวย'สงกรานต์'สลด

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ต้องประสบกับ "โศกนาฏกรรม น้ำป่า-โคลนถล่ม" มาหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งได้คร่าทั้งชีวิตและทิ้งความเสียหายไว้อย่างมากมายเหลือคนานับ จนมิอาจประเมินค่าได้

เริ่มตั้งแต่ ปี 2531 ได้เกิดน้ำป่าไหลถล่มที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เกือบทั้งตำบลจมอยู่ใต้น้ำเพียงชั่วพริบตา ที่สำคัญมี "กองทัพซุง" นับพันท่อนไหลมากับสายน้ำ เป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิตและสูญหายถึงกว่า 700 คน

ต่อมาปี 2542 ก็เกิดเหตุ "ซุงมรณะ" ถล่ม "เขาคิชฌกูฏ" จ.จันทบุรี โดยก่อนจะเกิดเหตุสลดมีพายุถล่มอย่างหนักในพื้นที่ จ.จันทบุรี และจ.ตราด

ปี 2544 ที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ มี น้ำป่าไหลหลาก อย่างรุนแรงจากป่าใน อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เข้าท่วมบ้านเรือนในหลายตำบล มีผู้เสียชีวิตจมอยู่ในทะเลโคลน 33 คน สูญหายอีก 16 คน บ้านเรือนพังเสียหายนับพันหลัง นับว่าเป็นความเสียหายร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปีของ จ.แพร่

หลังจากนั้นเพียง 3 เดือนที่ ต.น้ำก้อ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ก็เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจาก พายุโซนร้อน "อุซางิ" จนทำให้น้ำป่าไหลทะลัก เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 170 ราย และสูญหาย 11 ราย

มาถึงปี 2547 ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้งที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เกิดน้ำป่าจาก เทือกเขาถนนธงชัย เขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ระมาด ไหลทะลักลงสู่ลำห้วยแม่ระมาด ผ่านเขตเทศบาลตำบลแม่ระมาด และอีกหลายพื้นที่ กระแสน้ำยังหอบเอา ท่อนซุง หลายร้อยต้นจาก ภูเขา ไหลเข้ากระแทกบ้านเรือนจมหายไป

ขณะที่เดือนเดียวกันนี้ก็ยังเกิดน้ำป่าไหลบ่าที่ จ.กาญจนบุรี และพื้นที่ ต.แม่คะ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ด้วย หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดฝนหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนกรมทรัพยากรธรณีต้องออกประกาศจุดเสี่ยงภัยใกล้ภูเขาใน 51 จังหวัด โดยเฉพาะเขต จ.ปราจีนบุรี และจ.นครนายก ที่มีน้ำป่าไหลบ่ามาจาก เทือกเขาใหญ่ แม้จะไม่รุนแรงเหมือนครั้งอื่น แต่ก็ทำให้บ้านเรือนและไร่นาของชาวบ้านเสียหายจำนวนมากเช่นกัน

ปลายปี 2548 เกิดภัยพิบัติขึ้นอีกครั้งที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ท่อนซุงซัดบ้านเรือนเสียหาย รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีการเปิดเผยว่า สาเหตุหลักมาจากการที่พื้นที่ป่าเทือกเขาตะนาวศรีถูกทำลายเป็นจำนวนมาก

ปี 2549 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เกิด "ฝนหลงฤดู" ขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายจังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง จนเกิดน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะหลายพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้ภูเขา

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 22 พ.ค.ของปีเดียวกัน เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ทำให้หลายจังหวัดประสบกับน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็น จ.แพร่ สุโขทัย ลำปาง พิษณุโลก โดยเฉพาะ จ.อุตรดิตถ์ถือเป็นพื้นที่ "สาหัสที่สุด" มีผู้เสียชีวิตและสูญหายไปกับกระแสน้ำและโคลนนับร้อยคน รวมถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งประเมินค่ามิได้

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2550 ก็เกิดโศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากน้ำป่าและโคลนถล่มอีกครั้ง ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ "น้ำตกสายรุ้ง" และ "น้ำตกไพรสวรรค์" ซึ่งตั้งอยู่ในแนว เทือกเขาบรรทัดใน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เป็นเหตุให้มีผู้สังเวยชีวิตเกือบครึ่งร้อย และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก รวมทั้งยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง

โดยเหตุการณ์อันเศร้าสลดครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงบ่าย ขณะที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเที่ยวน้ำตกทั้งสองแห่งดังกล่าว ในช่วง "เทศกาลสงกรานต์" กำลังเพลิดเพลินสนุกสนานกับการเล่นน้ำ จู่ ๆ ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น มีน้ำป่าไหลหลากลงมาอย่างรุนแรงและรวดเร็วจากบริเวณ เทือกเขาบรรทัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง จ.ตรัง กับจ.พัทลุง โดยที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถตั้งตัวได้ทัน จึงถูกกระแสน้ำพัดพาร่างลงสู่บริเวณเบื้องล่างในทันทีทันใด แล้วกระแทกเข้ากับโขดหินจนจมน้ำสูญหายไปเป็นจำนวนมาก

การช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบเหตุเป็นไปอย่างโกลาหลและทุลักทุเล จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็สามารถนำร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาจากสายน้ำได้จำนวน 39 ศพ (ยอด ณ วันที่ 15 เมษายน) และมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาจำนวน 23 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในระหว่างการค้นหา

สำหรับสาเหตุของโศกนาฏกรรมน้ำป่าครั้งนี้ นายคทาวุฒิ มาลัยโรจน์ศิริ หัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ขณะนี้เกิดจากกระแสลมพัดสอบตามแนวเขาเทือกเขาบรรทัด ทำให้เกิดเมฆฝนตามแนวสันเขา ซึ่งจากการตรวจสอบของ สถานีตรวจอากาศ ที่ สนามบิน จ.ตรัง พบว่าปริมาณฝนในพื้นที่มีเพียง 33 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากปริมาณน้ำที่สะสมอยู่ตามสันเขามีมาก ขณะที่ป่าไม้ในพื้นที่ถูกทำลาย จึงทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำเอาไว้ได้ จึงเกิดพังทลายลงมากับกระแสน้ำ

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14-17 เมษายนนี้ ขอให้ประชาชนที่เดินทางไปท่องเที่ยวตาม น้ำตก ต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบ เทือกเขาสันกาลาคีรี เทือกเขานครศรีธรรมราช เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาบรรทัด รวมถึง เขาใหญ่ และน้ำตกต่าง ๆ ใน จ.กาญจนบุรี ระมัดระวังอันตรายจากน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากระยะนี้อากาศร้อนทำให้เกิดกระแสลมพัดสอบตามแนวเขา เป็นเหตุให้เกิดฝนตกตามสันเขา และอาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากได้ทุกเมื่อ

"สภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนเพราะ ภาวะโลกร้อน ประกอบกับป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายไปมาก ทำให้ทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนัก ดินไม่สามารถอุ้มรับน้ำไว้ได้ จึงเกิดพังทลายลงมา กลายเป็นน้ำป่าและ โคลนถล่ม ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกที่ จึงอยากเตือนประชาชนที่ไปเที่ยวตามน้ำตกทุกแห่งระมัดระวังเป็นพิเศษ" นายคทาวุฒิ กล่าว

ขณะที่ นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญด้าน ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ลำธาร ที่เป็นต้นน้ำของน้ำตกต่าง ๆ ในพื้นที่ มีเศษไม้หรือเศษดินเศษหินขวางแนวทางน้ำกลายเป็นเขื่อนธรรมชาติ เมื่อมีฝนตกมาใหม่ ๆ กระแสน้ำจะถูกเขื่อนธรรมชาติดังกล่าวกั้นไว้ เมื่อปริมาณน้ำมีจำนวนมากจึงทำให้เกิดแรงดันมหาศาล ทำให้เขื่อนธรรมชาติดังกล่าวพังลงมาเกิดน้ำป่าไหลหลากขึ้น จึงอยากเตือนให้ประชาชนที่เข้าไปเที่ยวบริเวณน้ำตกในระยะนี้ให้ระมัดระวัง เพราะฝนที่ตกตามสันเขาอยู่ในป่าลึก ประชาชนที่อยู่ตามน้ำตกต่าง ๆ จะไม่ทราบ ซึ่งเมื่อปริมาณน้ำในสันเขามีจำนวนมากอาจไหลหลากมายังน้ำตกได้ทุกเมื่อ

ล่าสุด หลังเกิดเหตุ นายสุเทพ โกมลภมร ผวจ.พัทลุง ได้สั่งการด่วนให้ อ.กงหรา อ.ตะโหมด อ.ศรีบรรพต อ.ป่าบอน และกิ่ง อ.ศรีนครินทร์ ที่มี พื้นที่เสี่ยงภัย จากน้ำป่า โดยเฉพาะตามน้ำตกต่าง ๆ ที่มีอยู่ถึง 15 แห่ง ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลนักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ทางอำเภอตำรวจเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปเสริมกับกำลังของ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อป้องกันอันตรายจากน้ำป่า

โดยหากพบว่า ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมี สีขุ่น ให้รีบย้ายนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ทันที เพื่อป้องกันเหตุโศกนาฏกรรมซ้ำรอย.

เดลินิวส์

Create Date :17 เมษายน 2550 Last Update :17 เมษายน 2550 13:55:05 น. Counter : Pageviews. Comments :15