bloggang.com mainmenu search


22 ธันวาคม 2560




 






ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน การประกาศและพิธีมอบรางวัล การประกวดวรรณกรรมรางวัล “วรรณศิลป์อุชเชนี” ในหัวข้อ “มิ่งมิตร” ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ณ ห้งอโนมาแกรนด์ ชั้น 3 โรงแรมอโนมาแกรด์กรุงเทพ ซึ่งมีรายละเอียดของงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวรรณกรรมบ้านเรา ผมจึงขอนำเสนอให้ท่านที่สนใจได้รับทราบดังนี้

(รายละเอียดจากการพูดคุยและเสวนา ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด หรือคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ผมก็ต้องขออภัยมา ณโอกาสนี้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ)





 






คุณพิบูลศักดิ์ ละครพล ศิลปินนักเขียน กล่าวความรู้สึกถึงอุชเชนี

-เช้าวันนี้ผมตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเดินทางจากต่างจังหวัดมางานนี้ ตอนที่อยู่บนเครื่องบินผมมองออกไปนอกหน้าต่างเห็นขอบฟ้าขลิบทอง จึงถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เป็นปีที่เรืองรองสำหรับงานประกวดฯ ในครั้งนี้

-อุชเชนี เป็นบุคคลที่มีบุญคุโณปการต่อชีวิตผมมาก เป็นประจำทุกปีในช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาสผมจะสงการ์ดอวยพรให้อาจารย์ โดยบางปีผมก็วาดรูปส่งให้ท่าน

-กว่า 30 ปีมาแล้วที่ผมทำนิตยสาร “สู่ขวัญ” ซึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับบทกวี อาจารย์อุชเชนีก็อยู่เบื้องหลังการทำงานของผมมาโดยตลอด ทั้งให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำ รวมทั้งอนุญาตให้ผมนำบทกวีของท่านมาลงในนิตยสารดังกล่าวด้วย

-บทกวีของอาจารย์อุชเชนีนั้นเป็นบทกวีในเชิงอุดมคติ ที่มีความประทับใจในความเป็นมนุษย์นิยมอยู่เสมอ เป็นงานเขียนที่มีพลัง ที่อาจเรียกได้ว่า “ในพจน์มีภาพ (พจน์ คือ คำพูด,ถ้อยคำ) ในภาพมีเพลง ในเพลงมีฝัน” เป็นงานเขียนที่มีความโรแมนติค แต่ก็มีเมตตาธรรมแฝงรวมอยู่ด้วย

-อุชเชนีถือได้ว่า เป็นมหากวีผู้ยิ่งใหญ่ผู้มีขุมทรัพย์แห่งคำคลังในการประพันธ์

-บทกวี “ขอบฟ้าขลิบทอง” อ่านแล้วเกิความฝันอยากเป็นกวี ถ้อยคำของอุชเชนีมีพลัง , มีแรงบันดาลใจ และมีแรงผลักดัน ทำให้ผู้อ่านอยากเขียนบทกวีที่งดงามแบบอุชเชนี

-อาจารย์อุชเชนีที่ผมรู้จักเป็นคนที่มีเมตตามาก ท่านมีจิตใจที่อ่อนโยน พร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เหมือนกับงานของท่าน ที่แม้จะเป็นงานเชิงอุดมคติแต่ก็มีความจริงแฝงอยู่ มีภาพชีวิตให้เห็นอยู่ด้วย





 






การเสวนา “รางวัลวรรณกรรมวรรณศิลป์อุชเชนี กับสังคมไทย”

ผู้ร่วมสัมนา อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ , อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง และบาทหลวงอนุชา ไชยเดช ดำเนินรายการโดย คุณณรงค์ฤทธิ์ ยงจินดา (ปะการัง)


@@@@@@@@@@


พิธีกร (ปะการัง) ถามว่าแต่ละท่านรู้สึกอย่างไรกับภาพรวมของการประกวดฯ ในครั้งนี้

อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการตัดสินประเภทกลอนสุภาพ ตอบว่า

-มีคำกล่าวว่า บทกวีเป็นมงกุฎของวรรณกรรม เป็นการเจียระไนถ้อยคำออกมาเหมือนการทำเพชรพลอย จึงมีความไพเราะ มีจังหวะจะโคน และมีสัมผัส

-น่าเสียดายที่ยุคสมัยนี้บทกวีไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร อาจพูดได้ว่ายังไม่เจิดจรัสเท่าที่ควร หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นยุค “กวีฤาแล้งแหล่งสยาม” ใช่หรือไม่? อย่างเช่นในวาระสำคัญที่ผ่านมา (งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ) สังคมไทยควรจะต้องมีบทกวีที่เฉิดฉาย มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีความลึกซึ้งกินใจ แต่เท่าที่ผ่านมาแทบไม่มีบทกวีในลักษณะดังกล่าวเลย

-ในปัจจุบันงานวรรณกรรมมักจะถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีใหม่ จึงเหมือนกับว่าพื้นที่สำหรับงานวรรณกรรมนั้นลดน้อยลง ดังนั้นเวทีประกวดจึงถือเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับงานวรรณกรรมที่จะแจ้งเกิดนักเขียนหน้าใหม่ จึงเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้คนส่งผลลงานวรรณกรรมเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายคนสามารถแจ้งเกิดได้จากเวทีประกวดเหล่านี้

-งานของอุชเชนีถือว่าเป็นวรรณกรรมที่สูงส่ง ท่านเป็นเอกอุกวี ที่นักกวีรุ่นใหม่ยังไม่สามารถสร้างสรค์งานได้เทียบเท่า งานของอุชเชนีจึงถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่นักกวีรุ่นใหม่จะต้องทาบเทียบให้ได้ โดยเฉพาะบทกวี “ขอบฟ้าขลิบทอง” บทเดียวนี้ถือว่าเป็นธงนำแก่กวีในยุคสมัยนี้

-บทกวีของอุชเชนีมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ 1.คำกวี 2.โวหารกวี 3.จิตวิญญาณกวี


อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ประธานกรรมการตัดสินประเภทความเรียง ตอบในประเด็นภาพรวมว่า

-ในการประกวดประเภทความเรียงนี้ยังเป็นของใหม่สำหรับคนในสังคมบ้านเรา ที่ต้องทำความเข้าใจว่า “ความเรียง” นั้นแตกต่างจาก “เรียงความ” โดยเฉพาะในระดับนักเรียนนั้นผลงานที่ส่งมาส่วนใหญ่จะเป็นเรียงความทั้งหมด ซี่งผิดกติกาเนื่องจากครั้งนี้เป็นการประกวดความเรียง

-ถ้าจะให้ความแตกต่างเบื้องต้นก็ตือ การเขียน “เรียงความ” คือการตั้งหัวข้อขึ้นมาแล้วหาเนื้อหามาสนับสนุนหัวข้อนั้น แต่การเขียน “ความเรียง” คือการเขียนเรื่องในลักษณะการเล่าเรื่องราวที่มีประเด็นชัดเจน อาจจะมีลักษณะคล้ายเรื่องสั้นก็ได้ คือมีตัวละครได้ มีการกระทำได้ มีภาพให้เห็นได้ ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องเขียนด้วยภาษาที่งดงาม จึงทำให้เกิดข้อเท็จจริงที่ว่า “เรียงความอ่านแล้วไม่สนุก แต่ความเรียงอ่านแล้วประทับใจ”

-ถ้าจะยกตัวอย่างความเรียงที่ควรจะอ่านเพื่อความเข้าใจนั้น อยากจะให้อ่านความเรียงเรื่อง “เพียงแค่เม็ดทราย” ของอุชเชนี ซึ่งเป็นความเรียงที่มีความไพเราะมาก มีความงดงามทางภาษา และมีแนวคิดในเรื่องที่ชัดเจนมาก เป็นงานวรรณกรรมอันงดงามซึ่งแฝงไว้ด้วยความเห็นใจแก่เพื่อนมนุษย์


บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย เจ้าภาพของการประกวดในครั้งนี้ตอบความเห็นในภาพรวมของงานว่า

-จริงๆ แล้วในตอนแรกก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นองค์กรทางศาสนาแล้วมายุ่งเกี่ยวอะไรกับวรรณกรรม? แล้วก็ได้ให้คำตอบแก่ตัวเองว่า เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม งานวรรณกรรมนั้นสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างดียิ่ง ดังนั้นถ้ามีการเวทีการประกวดวรรณกรรมแบบนี้เยอะๆ ก็คงดี สังคมไทยก็คงจะดีขึ้นด้วย เพราะว่าการจัดประกวดวรรณกรรมในแต่ละครั้งนั้นต้องมีความร่วมมือกันหลายฝ่าย

-ในการทำงานรวมกันในครั้งนี้เกิดความอัศจรรย์ใจขึ้นเมื่อได้เห็นภาพของนักคิดนักเขียนที่ลุกขึ้นอภิปายถึงผลงานเขียนที่ส่งเข้ามาประกวด โดยแต่ละท่านต่างให้เหตุผลของตัวเองที่เลือกผลงานชิ้นใด แต่ก็รับฟังเหตุผลของผู้อื่นในการเลือผลงานชิ้นอื่นด้วย ถือเป็นการระดมสมองด้วยเหตุผลที่หนักแน่นอย่างแท้จริง


@@@@@@@@@@


คุณปะการังเปิดประเด็นว่า ปัจจุบันนี้แวดวงหนังสือถือว่าอยู่ในช่วงขาลง จึงอยากจะทราบว่าการประกวดเวทีต่างๆ จะช่วยส่งเสริมวงการวรรณกรรมมากขึ้นไหม? หรือว่าจะทำหนักเขียนติดกับดักทางรางวัล ติดดับดักการประกวดด้วยไหม?

อาจารย์เนาวรัตน์ ให้ความเห็นว่า

-นักเขียนทุกคนต้องการเวทีการแจ้งเกิด จนทำให้บางคนทุ่มเทไปกับการประกวดอย่างหัวปักหัวปำ ทำให้เกิดกิเลสทางวรรณกรรม นักเขียนเกิดกิเลสอยากชนะเลิศการประกวด สำนักพิมพ์เกิดกิเลสอยากจะจัดพิมพ์แต่งานที่ชนะการประกวด จนบางสำนักพิมพ์ถึงกับทุ่มเงินจัดการประกวดเองเลย คนอ่านก็เลยเกิดกิเลสอากจะอ่านแต่ผลงานที่ได้รับรางวัลเช่นกัน จนทำให้เกิดน้ำเน่าเขาวงกตทางวรรณกรรมขึ้นมา

-แต่ข้อดีของการประกวดวรรณกรรมก็มี คือได้คัดสรรผลงานที่ดีจริงๆ ออกสู่สังคม ถือว่าเป็นนิมิตรหมายใหม่ในวงการวรรณกรรมที่นักเขียนจะต้องสร้างผลงานที่ดีและเป็นที่สนใจสำหรับผู้อ่านด้วย เพราะว่าวงการวรรณกรรมบ้านเรายังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ยังมีความอิหลักอิเหลื่อที่ไม่ชัดเจนอยู่เยอะ

-ถามว่าการประกวดจะสามารถก้าวข้ามกับดักทางวรรณกรรมไปได้ไหม? ต้องตอบว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องเร่งส่งเสริมความรู้ทางการประพันธ์ไปควบคู่กับการประกวดด้วย อย่างเช่นการสร้างค่ายนักเขียนขึ้นมา โดยให้ความรู้ทางด้านการเขียนสำหรับต่อยอดไปสู่การประกวดงานวรรณกรรมในอนาคต


อาจารย์ชมัยภร ให้ความเห็นว่า

-อาจารย์ชมัยภรเล่าถึงการได้นำทีมจากสมาคมนักเขียนฯ ไปสอนการเขียนให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่ทัณฑสถานหญิงที่สีคิ้ว ที่จองจำนักโทษคดีหนัก เข้าไปสอนด้วยแนวคิดที่ว่า จะเอางานเขียนเข้าไปเยียวยาให้แก่เขา เพื่อให้เขาได้เขียนแสดงความคิดเห็นออกมา เขียนเพื่อระบายความอัดอั้นตันใจออกมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับพวกเขา

-ในการที่ได้เข้าสอนการเขียนที่ทัณฑสถานหญิงที่สีคิ้ว มีผู้เข้ารับการอบรม 40 คน โดยในการประกวดรางวัลวรรณศิลป์อุชเชนีนี้มีผลงานจากในที่แห่งนี้ส่งเข้ามา 17 ชิ้น ในแง่ของการเรียนการสอนถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

-สำหรับผลงานที่ชนะเลิศประเภทความเรียงในการประกวดปีนี้ เป็นผลงานของลูกศิษย์ซึ่งอยู่ในแดนกักขัง ที่ครั้งหนึ่งอาจารย์ชมัยภรเคยคัดเลือกเรื่องสั้นของเธอลงในนิยตสรสกุลไทยมาแล้ว

-สำหรับคำว่ากิเลสในการประกวดครั้งนี้ก็คือเงินรางวัลนั้นเอง ถือว่าเป็นการประกวดวรรณกรรมที่ให้เงินรางวัลเยอะมากเวทีหนึ่งเลย ชนะเลิศได้เงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลชมเชยได้เงินรางวัล 10,000 บาท ถือว่ารางวัลชมเชยคือรางวัลรองชนะเลิศได้เลย


บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ให้ความเห็นว่า

-สำหรับการประกวดฯ ในครั้งนี้ ใครได้เงินรางวัลก็ขอแสดงความยินดีด้วย ส่วนใครที่ผลงานยังไม่ผ่านเกณฑ์ก็ขอให้เขียนต่อไป การประกวดหรือเงินรางวัลคุณพ่ออนุชามองว่าเหมือนเราเดินผ่านไปเจอสวนสวยๆ ที่อยู่ข้างทาง บางคนสนใจก็แวะเข้าไปชม บางคนไม่สนใจหรือไม่มีเวลาก็อาจจะผ่านเลยไปก็ได้ สำหรับคนที่แวะเข้าไปในสวนอาจจะได้เด็ดดอกไม้งามที่ตัวเองต้องการก็ได้ หรืออาจจะไม่ได้เด็ดดอกไม้ในสวนนี้เลยก็ไม่เป็นไร เพราะว่าตามรายทางข้างหน้ายังคงมีสวนดอกไม้ให้แวะชมอีกเยอะ

-คุณพ่ออนุชาเชื่อว่าแต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเอง เราต้องพยายามพัฒนาการทำหน้าที่ของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อะไรในหน้าที่เราทำได้ไม่ดีก็ควรหยุดเพื่อคิดสักนิด เพื่อแก้ไขและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไป


@@@@@@@@@@


คุณปะการัง ถามคำถามต่อว่า ในตอนที่คณะทำงานคิดจัดตั้งรางวัลนี้ขึ้นมานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องไปศึกษางานของอุชเชนีด้วย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักชีวิตอุชเชนี ในประเด็นนี้ถือว่าทำได้สำเร็จหรือไม่?

บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ให้ความเห็นว่า

-ส่วนตัวคิดว่าประสบความสำเร็จ เชื่อว่าผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกคนต้องทำการบ้าน โดยการไปหาผลงานของอุชเชนีมาอ่านก่อนแน่ๆ ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ต่างจากการประกวดอื่นๆ คือ กวีต้องเขียนกวีด้วยชีวิตแบบอุชเชนี และกวีต้องใช้ชีวิตที่สวยงามแบบอุชเชนีด้วย

-ส่วนตัวคิดว่าเวลาที่เราเห็นอะไรที่ดีๆ เราก็อยากบอกต่อให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย การประกวดในครั้งนี้คือการบอกต่อให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกท่านเข้าไปอ่านงานของอุชเชนี บางคนอาจไม่เคยอ่านงานของอุชเชนีเลย แต่พอได้อ่านแล้วเกิดพลัง เกิดอยากทำความดี เกิดอยากจะเขียนบทกวีที่ดีๆ ขึ้นมาบ้าง


อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า

-ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกคนควรจะต้องอ่านผลงานของอุชเชนี ซึ่งมีทั้งสัมผัสนอก สัมผัสใน และสัมผัสใจด้วย อ่านแล้วทบทวนเพื่อเอาเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เขียนได้เหมือนที่อุชเชนีเขียน

-อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า งานของอุชเชนีนั้นมีองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1.มีคำกวี 2.มีโวหารกวี (โวหารคือ ชั้นเชิงหรือสำนวนแต่งหนังสือ) 3.มีจิตวิญญาณกวี

-คำกวีที่พูดถึงนี้ ขอยกตัวอย่างจากบทกวี “ขอบฟ้าขลิบทอง” จะเห็นได้ว่ามีคำกวีอยู่หลายคำ เช่นคำว่า “เกลาทางกู้” คำนี้กวีเท่านั้นที่ใช้ได้ , คำว่า “เกี่ยวโลมเรียวข้าว” ไม่ใช่คำที่ใช้กันทั่วไป แต่กวีใช้เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตาม ฯลฯ


อาจารย์ชมัยภร ให้ความเห็นว่า

-อยากจะแนะนำผู้จัดว่า อยากจะให้จัดงานทั้งวันเพื่อให้มีเวลาพูดถึงงานของอุชเชนีได้มากกว่านี้ อาจจะจัดในงานสัปดาห์หนังสือฯ ก็ได้ โดยช่วงเช้าอยากให้จัดเป็นการอ่านงานของอุชเชนี โดยมีการอ่านออกเสียงเพื่อให้ได้ยินความงดงามของคำ มีการเสวนาถึงงานเขียนของอุชเชนี แล้วภาคบ่ายค่อยมีพิธีแจกรางวัลฯ ประมาณนี้น่าจะได้ทราบซึ้งถึงผลงานของอุชเชนีมากขึ้น


@@@@@@@@@@


ท้ายสุดคุณปะการังถามคุณพ่ออนุชาว่า ปีหน้าจะมีงานนี้อีกไหม?

บาทหลวงอนุชา บอกว่า ต้องยอมรับว่าเหนื่อยสำหรับงานประกวดฯ ในครั้งนี้ แต่ไม่กล้ารับปากว่าปีหน้าจะมีงานอีกหรือไม่? เพราะว่างานนี้จัดขึ้นได้ด้วยวามร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย , สภาการศึกษาคาทอลิก , คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร , กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ดังนั้นการจัดงานที่เป็นความร่วมมือกันหลายฝ่ายแบบนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการผลักดันอย่างต่อเนื่อง

-ในปีหน้าคุณพ่ออนุชาจะพยายามทำให้มีต่อเนื่อง แต่อาจปรับในเรื่องของระยะเวลาให้ร่นขึ้นมาหน่อย เพราะว่างานปีนี้มาสิ้นสุดจนเกือบถึงคริสต์มาสแล้ว ซึ่งแต่ละหน่วยงานอาจจะติดภารกิจสำคัญ จึงอยากจัดงานให้ระยะเวลาเสร็จสิ้นเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ที่สนใจโปรดติดตมข่าวในลำดับต่อไป


@@@@@@@@@@@

ท้ายสุดจริงๆ คุณปะการังปิดการเสวนาด้วยถ้อยคำอมตะของอุชเชนีที่บอกว่า ....

“ที่ใดมีชีวิต ที่นั้นมีความหวัง”

อุชเชนี กวีเพื่อเพื่อนมุษย์





 








@@@@@@@@@@@


บทกวี "ขอบฟ้าขลิบทอง"
(๒๔๙๕) โดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา

          มิ่งมิตร                                     เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน                         ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

          ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว        ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม                   ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน

          ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงส์ร่อน          ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน                      ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

          ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก               ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร                  ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

          ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก                 ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง                      ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

      เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น   เพื่อไผ่โอนพริ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา              เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ





@@@@@@@@@@@@


Create Date :22 ธันวาคม 2560 Last Update :24 ธันวาคม 2560 15:33:50 น. Counter : 2545 Pageviews. Comments :32