ตัวอย่างหน้า blog

Test : 16-85 VR ครั้งแรก


: เข้าหน้าสารบัญหลักเพื่อดูทุกหัวข้อ..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : ประสบการณ์ผ่านเต้า (ตัวเอง)..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : สวนหย่อมลอยฟ้าราคาประหยัด..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : สวนกล้วยลอยฟ้าบนอาคารสูง 6 ชั้น..."คลิ๊กที่นี่"



หมายเหตุ: มีคนถามว่าเบรคที่มีภาพจำนวนมาก หลายครั้งเปิดแล้วภาพขึ้นไม่หมด แต่จะพบสัญญลักษณ์กากบาทสีแดงแทน เราเชื่อว่าหลายคนคงรู้วิธีแก้ เอาเป็นว่าถ้าใครไม่รู้ให้เอาเม้าส์จิ้มไปที่กากบาทสีแดงนั้น แล้วคลิ๊กขวาที่กากบาทสีแดง จะปรากฏกรอบเมนูขึ้นมา ให้เลือก Show Picture จากนั้นรอสักแป๊บหนึ่งภาพจะปรากฏขึ้นมาให้เห็น (ทำตามภาพประกอบข้างล่างนี้นะคะ) เบรคนี้ของเรามีภาพจำนวนมาก ดังนั้นอาจเกิดปรากฏการภาพกลายเป็นกากบาทได้



**บทความที่เกี่ยวข้อง...Tamron SP AF 17-50 MM F/2.8 XR Di II LD Aspherical (IF) ":คลิ๊กดู "คุณชายทำหล่น อภิมหาเลนส์อมตะนิรันกาลสำหรับเรา...ได้ที่ลิงค์นี้":"

**บทความที่เกี่ยวข้อง “AF-S VR 70-300 f/4.5-5.6G IF-ED” ":คลิ๊กดู "คุณชายเทเล อินสเปคถูกใจใช่เลยสำหรับเรา...ได้ที่ลิงค์นี้":"

**บทความที่เกี่ยวข้อง “AFAF-S DX 16-85 f/3.5-5.6G ED VR” ":คลิ๊กดู "คุณชายอรรถประโยชน์ ตอน Test 16-85 ตะลุยกลางพิธี...ได้ที่ลิงค์นี้":"

“AF-S DX 16-85 f/3.5-5.6G ED VR” ผลการใช้คุณชายเทเลผ่านไป (70-300 VR) เมื่อพบว่าการใช้ไม่มีปัญหาอะไรตลอด 3 สัปดาห์เต็ม ๆ เราจึงรีบไปเอาเลนส์ที่จะมาแทนที่คุณชายทำหล่น (Tamron 17-50 f/2.5) ตั้งใจไว้ขอเป็นเลนส์ค่ายที่ไม่ใช่เม้าส์พลาสติก ซึ่งยังคงตรงกับหวยเลนส์ที่ล็อคไว้คือคุณชายอรรถประโยชน์ 16-85 VR คุณชายอรรถประโยชน์ให้เราได้ที่ 16 และตัวเลขหลังที่ 85 ประมาณว่าตัวเดียวลุยในสถานการณ์ได้มากขึ้น หวังไว้ว่ามันคงจะไม่มีปัญหาเหมือนคุณชายทำหล่น (17-50 f/2.8) และองศารับภาพที่ 16 ทำให้เราได้ภาพบิดเบี้ยวบางอย่างสักเล็กน้อยที่ไม่มากจนเกินไป ส่วน Wide จริง ๆ จะเป็นเรื่องในอนาคตที่เรายังไม่ต้องการในเวลานี้ แม้ว่าจะมีหลายเสียงบ่นให้ได้ยินว่าคุณชายอรรถประโยชน์ตัวนี้มีราคาสูงไปสักหน่อย แถมค่า F เริ่มที่ 3.5-5.6 ทำให้มองว่า 18-70 หรือ 18-135 คุ้มกว่ามาก ในขณะที่ราคาต่างกันเท่าตัว ตอนที่ซื้อคุณชายอรรถประโยชน์ราคาประกันร้านอยู่ที่ 2 หมื่นบาท และประกันศูนย์อยู่ที่ 2.5 หมื่นบาท ในขณะที่หลายคนบอกว่าเลนส์ตัวนี้เป็นเลนส์ที่น่าสนใจตัวหนึ่ง แต่มีบางคนบอกว่าเลนส์ตัวนี้จะกว้างก้อไม่กว้าง และการที่มันกว้างที่ 16 ทำอะไรได้ไม่มากนัก (สำหรับเราพอค่ะ) ส่วนความแคบที่ได้จะแคบมันก้อไม่แคบ ประมาณว่าครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำให้ไม่น่าสนใจ (สำหรับเราพอ เพราะเอาไปต่อกับ 70-300 VR) บางคนอาจมองว่า 18 กับ 16 มันต่างกันนิดเดียว ถอยหน้าถอยหลังเอาก้อได้ เราไม่ได้มองว่าต้องถอยหรือไม่ถอย เพราะการถอยหน้าถอยหลังมันง่ายมาก แค่ก้าวเท้าไปข้างหน้าหรือก้าวเท้ามาข้างหลัง แต่ถ้าถอยไม่ได้มันยากกว่า บางครั้งที่ว่าแค่นิดเดียวของบางคนอาจมองว่าไม่มีผลอะไรหรือไม่จำเป็น แต่สำหรับเรามันมีผลหลายครั้ง ปัจจุบันหลัง D90 คลอดออกมาพร้อมเลนส์ 18-105 VR ทำให้เลนส์ตัวนี้เข้ามาเป็นมวยเปรียบเทียบอีกตัวหนึ่ง ถ้าวันที่ซื้อคุณชายอรรถประโยชน์มี 18-105 VR เป็นตัวเลือกเพิ่ม เราก้อไม่เอา เพราะเม้าส์พลาสติก (แต่จะเอา D90) เข้าใจว่าคุ้มหรือไม่ ดีหรือไม่ น่าสนใจหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ตัวจริงมากกว่า โง่ ๆ แบบเราไม่รู้อะไรทั้งนั้น แต่คิดว่าสำหรับเราช่วงองศากำลังดีที่ 16-85 นี่ล่ะค่ะ



เมื่อนำไปเทียบกับคุณชายเทเล (70-300 VR) พบว่าคุณชายอรรถประโยชน์มีน้ำหนักเบา ตัวสั้น เมื่อยืดออกจนสุดแล้วแถมติดกระบังลมยังไม่ตกเป็นเป้าสายตาผู้คน เราเอาห้อยคอแล้ววิ่งรอบสนามหลวงได้สบาย ๆ ผลการใช้ VR II พบว่ามันได้ผลจริง ทดลองเปิดและปิดเห็นความแตกต่างชัดเจน ส่วนค่าเริ่มต้นที่ f/3.5-5.6 ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องคิดมาก แต่มันก้อเห็นความแตกต่างเมื่อนำมาถ่ายสวนกล้วยลอยฟ้าที่ระเบียงในตอนกลางคืน ซึ่งก้อไม่ซีเรียส ยังคงสามารถถ่ายได้ด้วยมือ แม้จะพบว่าสปีตที่ได้ต่ำกว่าคุณชายทำหล่นก้อตาม มาดูภาพวัตถุในสภาพแสงไม่ดีกันบ้าง ภาพแรกคือกรรไกรกับเมจิกในร้านขายกล้องที่ห้างสรรพสินค้า และภาพฝาปิดเลนส์บนโต๊ะทำงานของเรา ถ่ายที่โหมด A ซูมสุดระยะ ค่ารูรับแสงลื่นไปที่ f/5.6 เหมือนกัน แตกต่างกันที่ค่า ISO ทั้ง 2 ภาพปรับสว่างนิดเดียวแล้วย่อ จากนั้นปรับคม 1 ระดับ ตามขั้นตอนการย่อภาพที่ถูกต้อง เมื่อดูต้นฉบับผ่านจอคอมพิวเตอร์ที่ซูม 100% สำหรับเราพอใจนะคะ


ISO 800, f/5.6, Speed 1/20s, Zoom 85 mm.


ISO 250, f/5.6, Speed 1/13s, Zoom 85 mm.


เราหอบคุณชายอรรถประโยชน์กลับบ้านต้องเดินข้ามสะพานลอย เจิมมานิดหน่อยด้วยประสิทธิภาพของ ISO-1600 (ฮา) สปีตที่ได้ต่ำสุดคือ 1/6s และ 1-25s สำหรับภาวะ Noise ที่เกิดจาก ISO-1600 เมื่อนำไปทดสอบอัดแล็ปที่ขนาด 12x18 ยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้สำหรับเรา อาจเป็นเพราะว่ามันเป็นภาพแนว Street Life ดังนั้นไม่จำเป็นว่าภาพต้องใสนิ๊งหน่องเสมอไป แต่เมื่อซูมดูในจอคอมพิวเตอร์จะเห็นความหยาบมากกว่าการที่นำไปอัดแล็ป หนักกว่านี้เราเจอมาแล้วในกล้องคอมแพ็คตัวเดิม และผ่านการอัดที่ขนาด 20*30 มาแล้ว หลายภาพมันก้อผ่านได้ไม่น่าเกลียดเลย ดังนั้นเจอแค่นี้ถือว่าจิ๊บ ๆ เทียบกันไม่ติดฝุ่น จะเอาไปเทียบกับกล้องรุ่นใหญ่กว่าให้มันปวดหัวทำไม มีแค่ไหนใช้มันแค่นั้น คือเขาออกแบบมาให้มีใช้ก้อต้องใช้ให้ครบ (กลัวขาดทุน) แต่เราต้องรู้ก่อนว่าในสถานการณ์ที่เลวร้าย ถ้าใช้มันจะออกมายอมรับได้แค่ไหนเมื่อนำไปอัดแล็ป แม้ว่าภาพส่วนใหญ่ของเราจะไม่ได้นำไปอัดแล็ปก้อตาม พอรู้แล้วจะได้นำไปเป็นตัวตัดสินใจในการวิเคราะห์ถ่ายครั้งต่อ ๆ ไปได้ว่าสมควรที่จะเลือกใช้มันหรือไม่ถ้าอยู่ในสภาวะที่จำเป็น







เป็นภาพกลางคืนที่ใช้ ISO-1600 เหมือนกัน สถานที่นี้เราปีนเข้าไปไม่ได้ ถ่ายอยู่รอบนอกมีราวเหล็กกั้นเอาไว้ พอเอามาให้เห็นสัก 2 ภาพ ภาพแบบนี้สำหรับเราต่างจากภาพกลางคืนที่ถ่ายในช่วงบน ซึ่งควรจะใช้ขาตั้งกล้อง และไม่ควรใช้ ISO-1600 แต่เอาเป็นว่าลองที่ ISO-1600 มาให้ดูว่าจะเน่าสักแค่ไหนนะคะ ใช้โหมด A ในการถ่ายภาพ รูรับแสงอยู่ที่ f/5 สปีตที่ได้ 1/15s พอได้เห็นดวงไฟเป็นแฉก ๆ อยู่นิดหน่อย แต่ไฟดวงเล็กมากพอนำมาย่อขนาดเล็กแล้วมองแทบไม่เห็นเลย





ต่อด้วยภาพกลางคืนที่ใช้ ISO-1600 ใช้โหมด A โดยใช้ค่า f/5, Speed 1/10s พอจะเห็นไฟแฉกชัดเจนขึ้นพอสมควร เพราะดวงไฟใหญ่ขึ้นกว่าภาพบน แถมแฟลลำแปลก ๆ เข้ามาแจมให้เหมาะสมกับบรรยากาศอีกนิดหนึ่ง (ขำ ขำ) หลักการให้ได้ไฟแฉกเขาบอกว่าต้องใช้รูรับแสงแคบ สปีตต่ำ ดังนั้นขาตั้งกล้องเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ตอนนี้เรายังไม่มีขาเป็นของตัวเอง ภาพทั้งหมดของเราไม่ต้องมองไปถึงความสวยงาม เอาเป็นว่าแสดงผลการทดลองใช้ไปก่อน ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถ่ายได้สวย อดทนกันหน่อยนะคะ



ไปดูภาพระยะใกล้มากใกล้น้อยกับดอกไม้ใบไม้และสิ่งที่อยู่ในน้ำที่สภาพแสงดีกันบ้าง ตามสเปคของคุณชายอรรถประโยชน์โฟกัสใกล้สุดประมาณ 38 ซม. (ตลอดทุกช่วงซูม) สำหรับภาพต้นหญ้าครอปออกมากกว่าปกติ เนื่องจากสิ่งรบกวนโดยรอบมีมาก แต่อัดที่ขนาด 12*18 ได้สบาย ๆ ทุกภาพที่เห็นในเบรคนี้ไม่ใช่ต้นฉบับทั้งหมด แต่เป็นภาพที่ผ่านการปรับแต่งตามสมควร ซึ่งสีสันในต้นฉบับทั้งหมดโอเคอยู่แล้ว เอาเป็นว่ากลุ่มนี้ถ้าไม่ปรับแต่งเลยก้อได้ แต่แบบนั้นคงไม่ใช่เรานะคะ โง่ ๆ แบบเราคงจะวิเคราะห์อะไรไม่ได้ เพราะไม่มีประสบการณ์ ตามตัวอย่างภาพมีตั้งแต่ซูมสุด ๆ ซูมอุตลุตจนถึงซูมน้อยและสุดท้ายไม่ซูมเลย ชุดนี้เมื่อดูต้นฉบับเราพบภาพที่ต้องสงสัยคือภาพฟองอากาศ เพราะต้นฉบับเมื่อซูมที่ 100% ในจอคอมพิวเตอร์จะได้ความคมชัดน้อยกว่าภาพอื่น (ไม่หลุดโฟกัส) เมื่อทดสอบนำไปอัดแล็ปที่ 12*18 ผ่านนะคะ ส่วนภาพต้นหญ้าต้นฉบับมันดีมาก เห็นขนของเส้นหญ้าชัดเจนตั้งแต่ก่อนปรับแต่ง ดังนั้นภาพอื่น ๆ ไม่มีอะไรต้องตื่นเต้นอีก มันเป็นปกติตามนิสัยของเราที่ก่อนจะนำภาพไปอัดแล็ปจะต้องผ่านการปรับแต่งทุกครั้ง แม้ว่าต้นฉบับจะดีแล้วก้อขออีกนิดหน่อยละกัน พร้อมกับปรับ USM ก่อนทุกภาพ (มากน้อยแตกต่างกัน ทำจนเป็นประเพณีแล้ว) ส่วนการตั้งค่าภายในกล้องใช้ค่าปกติทั้งหมด ไม่มีการตั้งค่าสีและความคมภายในกล้อง





























เอาไปส่องน้องนกในระยะไม่ห่างมากนัก เราจำไม่ได้ว่าระยะที่ยืนอยู่บนสะพานห่างจากสายไฟประมาณกี่เมตร ประกอบกับน้องนกค่อนข้างเชื่องยอมให้เราถ่ายมาหลายช็อต ซูมสุด ๆ ผลออกมาตามที่เห็น แต่มีการครอปออกเล็กน้อย อาจจะประเมินอะไรไม่ได้ ถือว่าเอามาให้ดูกันเพลิน ๆ จะได้เห็นภาพจากเลนส์ตัวนี้หลากหลายหน่อย เราก้อไม่รู้เรื่องว่าจะต้องถ่ายอะไร ถ่ายยังไงเพื่อให้รู้ถึงความสามารถของเลนส์ตัวนี้ เรื่องทางเทคนิคนี่ลืมไปได้เลย เพราะเราไม่ฉลาดถึงขนาดนั้น แต่การถ่ายนกแบบจริงจังที่อยู่บนกิ่งไม้ยอดไม้ต้องหันไปใช้เทเลสูง ๆ ซึ่งกรณีแบบนั้นเลนส์ตัวนี้ทำได้ไม่เหมาะสมกับลักษณะงานแน่นอน แต่เราก้อมีคุณชายเทเลพอที่จะถ่ายน้องนกบนกิ่งไม้สูง ๆ ได้ (70-300 VR)





ไปลองภาคสนามกันอีกแห่งหนึ่ง ชุดนี้ตามไปถ่ายการจัดดอกไม้กลางสนามโรงเรียนกันบ้าง ต้องผจญฝนและแดดกันพอประมาณ พอฝนลงเม็ดก้อวิ่งเข้าที่ร่ม พอแดดออกจึงมาปักหลักกันใหม่ แต่โชคดีที่ฝนโปรยลงมาไม่มากและลงมาแค่แป๊บเดียว เลือกมาให้ดูกันนิดหน่อย ได้อะไรมาอยู่ในมือแล้ว ไม่ต้องมานั่งคิดมากว่าทำไมไม่เท่านี้ หรือทำไมไม่เท่านั้น ตอนนี้มีเท่าไหร่ก้อใช้แค่นั้น ใช้ให้คุ้มเท่าที่เรามี เพราะการซื้อเลนส์แต่ละตัวราคามันสูงมาก ยิ่งไม่ได้เอามาทำให้เกิดรายได้เลย เหมือนสิ่งฟุ่มเฟือยในชีวิต เพียงแต่มันเป็นความสุข พอจะเห็นประโยชน์ได้บ้างคือเผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้าง เช่น ถ่ายให้คนบนดอยด้วยกัน โดยไม่ต้องไปจ้างช่างภาพราคาแพง ผลงานอาจไม่เทียบเท่า แต่ก้อพอจะช่วยพวกเขาประหยัดเงินได้ แค่นี้จริง ๆ กับการถ่ายภาพของเรา ชุดนี้มีการอัดแล็ปใหญ่สุดที่ 6*9 และขนาดเล็ก 6*4 ให้กับคนจัดดอกไม้ไป แต่ไม่ได้ทดลองอัดที่ 12*18 สภาพแบบนี้ไม่จำเป็นต้องทดสอบอัดขนาดใหญ่มาดู จากที่เคยนำภาพของคอมแพ็คตัวเดิมไปทดลองอัดแล็ปใหญ่สุดคือที่ 20*30 แต่ต้องไปไกล จึงยังไม่มีการทดสอบภาพจาก DSLR จากประสบการณ์มันบอกว่ายังไงก้อผ่านนะคะ

























มาดูฉากหลังกันนิดหนึ่ง เราไม่แน่ใจว่าถ่ายมาแบบนี้จะประเมินได้หรือเปล่า คือเลนส์ตัวนี้ถ้าหวังทลายฉากหลังให้กระเจิงคงเป็นไปไม่ได้ เพราะรูรับแสงตามสเปคคือ f/3.5-f/5.6 เวลาใช้ซูม รูรับแสงมันจะไม่ปักหลักอยู่ที่ f/3.5 แต่มันจะลื่นไถลไปพร้อม ๆ กับการใช้ซูม เมื่อซูมจนสุดที่ 85 มม. มันจะไปหยุดที่ f/5.6 หากไม่พอใจปรับเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่สามารถลดรูรับแสงได้ ยกเว้นหดซูมลงจึงจะเห็นผลนะคะ ตัวอย่างของเราในชุดนี้ไม่ใช่การถ่ายที่ทำให้ภาพออกมาดูดี แต่ว่าเอามาลงให้เห็นว่าเลนส์ตัวนี้ให้ฉากหลังที่อยู่ใกล้และไกลในระยะต่าง ๆ ได้หลุดกระจายสักแค่ไหน กรณีที่ต้องการดูภาพเพื่อความสวยงามอย่างแท้จริงต้องไปหาพรแสวงเพิ่มเติมในระดับแอดวานซ์จากมือโปรอีกทีหนึ่ง เอาเป็นว่านำมาให้ดูพอสังเขปก้อแล้วกันนะคะ

F/7.1, Zoom 85 mm.
ภาพนี้ฉากหลังอยู่ไกลหน่อย ซูมสุด ๆ แล้ว เก็บมาประมาณครึ่งตัว



F/7.1, Zoom 72 mm.
ภาพนี้ฉากหลังใกล้ตัวแบบมากขึ้น แต่เลือกฉากหลังที่ไม่กวนสายตา



F/5.7, Zoom 72 mm.
ซูมไม่สุดระยะ ฉากหลังไกลหน่อยได้ความเบลอออกมาประมาณนี้



F/5.6, Zoom 85 mm.
ภาพนี้สิ่งรอบ ๆ ตัวเป็นคนอยู่ใกล้เป้าหมาย
ถ้าจะให้เป้าหมายเด่น คงต้องเลือกฉากหลังดี ๆ
ภาพถัดไปเลือกสภาพแวดล้อมมาให้ดูต่างกัน แต่ค่ากล้องปักหมุดเท่าเดิม







มาดูความเพี้ยนของสัดส่วนกับกว้างสุดที่ 16 มม. กันนิดหนึ่ง คือคนเก่ง ๆ คงจะทำได้ดีกว่าเรา เท่าที่ดูจะเพี้ยนมากหรือเพี้ยนน้อยขึ้นอยู่กับระยะกล้องที่ส่องเข้าไปที่เป้าหมาย ตำแหน่งก้อมีผล เช่น อยู่สูงแค่ไหน หรืออยู่ต่ำแค่ไหน ลองมาให้ดูกันเล่น ๆ เท่าที่พอจะทดลองถ่ายไว้ บางคนบอกว่าเลนส์กว้าง ๆ ไม่เหมาะกับการนำมาถ่ายภาพคน แต่เราเห็นนักถ่ายภาพหลายคนเอามาถ่ายได้อารมณ์สนุกสนานดี โดยส่วนตัวก้อชอบ ยิ่งกว้างมากจะยิ่งได้ความผิดเพี้ยนมากขึ้น ซึ่งเลนส์ตัวนี้ทำได้ไม่มาก พอจะทำได้แค่ผิดเพี้ยนเล็กน้อยแบบน่ารักเล็ก ๆ เท่านั้น หากต้องการผิดเพี้ยนมาก ๆ องศารับภาพที่ 16 มม. จากเลนส์ตัวนี้คงไม่ใช่คำตอบนะคะ












อีกสักนิดหนึ่งกับภาพกว้าง ๆ ในวันสภาพแสงค่อนข้างแรง ตอนที่ถ่ายได้ท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้ามาแล้ว ซึ่งไม่ได้ใช้ CPL (ไม่มี) จากนั้นนำมาดึงสีฟ้าในโปรแกรมเพิ่มขึ้น เรื่องการดึงสีให้ออกแรง ๆ ในโปรแกรมต้องระวัง เพราะเวลาไปอัดแล็ปสีอาจตกหรือเยิ้มได้ สีตกหรือสีเยิ้มเป็นยังไง เพื่อความชัดเจนลองปรับแต่งแล้วไปอัดแล็ปดูนะคะ แต่ถ้าเป็นความชอบส่วนตัวนั่นก้ออีกเรื่องหนึ่ง บางภาพอาจเร่งสีฟ้าให้เข้มและสดมาก ๆ ได้ หากไม่มีผลกระทบไปยังส่วนอื่นที่มีสีเดียวกัน จากภาพที่จะโดนกระทบคือสีกางเกงยีนส์ของน้องสาวเรา แต่กางเกงยีนส์ของพี่ผู้ชายอีกคนไม่เป็น เพราะโทนสีฟ้าของกางเกงมันต่างกัน เราไม่แน่ใจว่าคนเก่ง ๆ คงทำได้ดีและไม่มีปัญหาก้อได้ สิ่งที่เราพูดทั้งหมดไม่ใช่ข้อสรุป เพียงแต่เอาในส่วนของเราที่ไม่รู้อะไรมากนักมาเล่าให้ฟัง ส่วนข้อมูลเชิงลึกต้องศึกษาจากผู้ชำนาญอีกทีหนึ่งนะคะ





เฉพาะภาพนี้: ต้นฉบับของพี่แท๊กซี่ไม่ปรับแต่ง ย่อแล้วปรับคม 1 แช็ป


ทดลองยิงแฟลชมาดูกันอีกสักภาพหนึ่ง เพื่อเก็บรายละเอียดที่ท้องฟ้าไว้ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าที่ถูกต้องควรทำยังไงให้ภาพออกมาดูดีกับการถ่ายคน เราคงต้องใช้เวลาเรียนรู้ในการใช้งานจริงอีกมาก เอาเป็นว่าอะไรที่มีอยู่ในกล้องลองใช้ไปก่อนในตอนนี้ คือถ้ามันพอจะมีประโยชน์ก้ออยากจะใช้ให้มันคุ้มหน่อย คือมันไม่ใช่ใช้ให้คุ้มอย่างเดียว ใช้ให้คุ้มก้อจริง แต่มันก้อต้องใช้ให้เป็นด้วย ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราเลย ซึ่งเราจะต้องพยายามทำความเข้าใจกับแฟลชติดตัวกล้องก่อนที่จะก้าวไปซื้อแฟลชเสริมมาใช้ค่ะ



อีกสักเล็ก ๆ น้อย ๆ เราพยายามที่จะให้รถจักรยานและรถซาเล้งมันดูเพี้ยน ๆ แต่มันได้มาแค่นี้เอง ไม่แน่ใจว่าจะได้อารมณ์ Wide แบบเล็ก ๆ ได้หรือเปล่า คือเราก้อยังโง่อยู่อีกมาก เอาเป็นว่าเอามาให้ดูในช่วงที่หัดใช้ไปก่อน เผื่อจะเป็นข้อมูลให้เพื่อนได้ประเมินอะไรได้นิดหน่อยนะคะ





มาดูภาพที่ถ่ายผ่านกระจกกันเล่น ๆ ดูบ้าง ต้นฉบับไม่มีปัญหาเลย แต่เราไม่รู้ว่ามันพอจะประเมินอะไรได้บ้างหรือเปล่า ทำได้คือพยายามถ่ายมาในหลากหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อจะได้เห็นกันเยอะ ๆ ไม่รู้จะถ่ายอะไร จึงเลือกที่มันใกล้ ๆ บ้าน เก็บข้อมูลเบื้องต้นสัก 2 เบรค ก่อนที่จะนำไปออกสนามจริง ที่เขียนมาไม่มีความรู้อะไร ผิดพลาดยังไงต้องขออภัย ชี้แนะเราได้ กลัวอยู่เหมือนกันว่าบทความทั้ง 2 ตอนของการทดลองใช้เลนส์ตัวนี้เผยแพร่ออกไป เลนส์ตัวนี้อาจจะขายไม่ออกเหมือนเทน้ำเทท่า คือไม่มีคนซื้อจนคนผลิตต้องเอาไปเททิ้ง คุยแบบนี้กะเพื่อน ๆ ฮากันกลิ้ง (ขำตัวเอง)







ปิดเบรคนี้ด้วยภาพท้องฟ้าแบบเจาะ ๆ มาดูกันสักหน่อย ถ่ายที่หน้าต่างห้องชั้น 6 ซึ่งในวันที่ถ่ายสภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับมุมกว้าง ๆ คือเราก้อแค่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่ามันอาจจะเป็นข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ในระดับของคนที่จัดว่าอยู่กลุ่มล่าง ๆ ของการถ่ายภาพ การดูจากกลุ่มบน ๆ (ระดับมือโปร) เขารีวิวสวยหมด ดูแล้วอาจเครียด เพราะคนกลุ่มนี้ใช้เลนส์อะไรก้อสวย ไม่รู้ไปได้พลังมาจากไหน ไอ้เราขนาดเร่งสปีตขุดพลังสุด ๆ แล้ว แต่ถ่ายไม่เคยได้แบบเขา จะอีกกี่ปีคงได้ไม่เท่าพวกเขา ดังนั้นในส่วนของเราที่เอามาลงให้ดูอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ชอบบ่นว่าระดับมือโปรถ่ายอะไรก้อสวย พอมาเห็นภาพของเราจะได้ยิ้มออกแล้วมีกำลังใจมากขึ้นในแง่ที่ว่า "ผมถ่ายสวยกว่านี้ตั้งแยะ" จะได้ไม่เครียดกันนะคะพี่น้อง







เราแบ่งช่วงการหัดทดลองใช้คุณชายอรรถประโยชน์ตัวนี้ออกเป็น 2 ตอน เลือกเหตุการณ์ต่าง ๆ มาให้ดูกันอย่างจุใจ ติดตามได้ตามลิงค์ที่แปะไว้ในช่วงบน เบรคหน้าเราจะพา 16-85 VR ไปลุยกลางงานพิธีแห่งความรักกันบ้าง ซึ่งภาพส่วนใหญ่ประเมินความเสียหายไม่ได้ เนื่องจากตั้งค่ากล้องไม่เป็น เดินไม่ถูกทางตลอดงาน เป๋ไปก้อเป๋มา มึนเป็นพัก ๆ ถึง 3 ยก ถือเป็นงานพิธีครั้งแรกในชีวิต แต่ดีใจที่ได้ประสบการณ์ตรงกับตัวเองมาล้วน ๆ และเป็นกรณีศึกษาที่สุดยอดมาก ภาพที่ว่าประเมินความเสียหายไม่ได้จะเน่าสักแค่ไหน โปรดติดตามได้ที่ลิงค์ด้านบนนะค๊า




ขอให้มีความสุข ณ จ้ะ



 

Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2554
0:55:25 น.

Your name
 

Location :

 
 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com