Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
22 มกราคม 2549
 
All Blogs
 

ความเหมือนและความต่าง วิปัสสนา+สมถะกรรมฐาน

อินทรีย์ทั้ง 5 ประกอบไปด้วย วิริยะ สติ สัทธา สมาธิ ปัญญา

สมาธิในที่นี้หมายถึง สมาธิอันเกิดจากสมถกรรมฐาน ซึ่งกรรมฐานนี้ก็มีหลายแบบหลายวิธี มีอยู่ 40 อย่าง อย่างที่ทราบกัน ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะเจริญอานาปานสติ เนื่องด้วยมีความละเอียด เป็นกลาง เข้ากับจริตของผู้ปฏิบัติได้ทั้งหมด ครูบาอาจารย์ก็มักจะแนะนำให้ปฏิบัติ

นอกจากนี้ ก็ยังมีกรรมฐานอื่น ๆ อีก เช่น กสิณทั้งหลาย อสุภกรรมฐาน หรือแม้กระทั่ง ถ้าเราสวดมนต์ ทำจิตน้อมไปยังพระรัตนตรัย ก็เป็นพุทธานุสติ ธัมมนุสติ สังฆานุสติ เป็นกรรมฐานเหมือนกัน แต่คนทั่ว ๆ ไปอาจจะไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยมีใครบอก รู้แต่ว่าถ้าจะเป็นสมาธิต้องกำหนดลมหายใจเท่านั้น

กรรมฐานแต่ละกองแต่ละอย่าง จะมีความละเอียดหยาบไม่เท่ากัน มีกำลังไม่เท่ากัน เช่นอานาปานสติให้ผลได้ถึงอรูปฌาณ กสิณได้ถึงอรูปฌาณ พุทธานุสติให้ผลได้ถึงทุติยฌาณในรูปฌาณ เป็นต้น

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าสมถกรรมฐานนี้คืออะไร มีไว้ทำอะไร

ในอดีตก่อนพุทธกาล สมถกรรมฐานนี้ก็เป็นที่ทราบที่ปฏิบัติได้โดยทั่วกันอยู่แล้วในหมู่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ซึ่งผู้ปฏิบัติก็จะได้อานิสงฆ์ในขั้นแรกคือ จิตสงบ ไปจนถึงได้เสวยสุขในฌาณ อันถือเป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อตายไปในขณะที่จิตอยู่ในรูปฌาณ ก็ไปจุติได้จนถึงพรหม หากตายไปในขณะที่จิตอยู่ในอรูปฌาณ ก็ไปจุติได้จนถึงอรูปพรหม

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าจิตนั้นสงบมาก มีกำลังมาก กดทับกิเลสเสียจนไม่งอกเงยออกมา บางทีในเบญจขันธ์ที่เราเข้าใจกันอยู่นี้ ก็กดจนแทบจะเหลือแค่สัญญาในอรูปฌาณ แทบไม่เหลือสังโยชน์ให้ดึงไปเกิดในภพภูมิอื่น กามราคะก็บางเสียแทบจะไม่มี ดังนั้น จึงไปเกิดในที่ดี

ดังนั้น สมถกรรมฐานนี้ จึงไม่ใช่สิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ดี เพราะไปกดกิเลสไว้ไม่ให้พอกพูนงอกเงยออกมา จึงเป็นการทำความดี ละเว้นความชั่ว เช่นเดียวกัน ผลบุญที่ได้จากสมถกรรมฐานนี้ เป็นปฏิบัติบูชาเช่นเดียวกัน ให้ผลได้มากกว่าทานใด ๆ แม้กระทั่งถวายภัตตาหารแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเราไม่อยากให้หญ้ามันงอกเงยออกมา เราก็เอาก้อนหินไปทับไว้ หญ้าก็ไม่งอกออกมาให้เห็นอีก

สมถกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน

แต่เนื่องจากสมถกรรมฐานก็ย่อมมีเสื่อมไปตามกำลัง เมื่อกำลังหมด ก็เสื่อม ผู้ปฏิบัติที่สำเร็จฌาณในสมถกรรมฐาน ได้ไปเสวยสุขในพรหมโลก เมื่อสิ้นกำลัง หรือที่เรียกกันว่าสิ้นบุญ ก็ต้องมีมรณะ ไปจุติใหม่ ตามกรรมของตน เช่นเดียวกัน เมื่อกำลังของสมถกรรมฐานเสื่อมลง กิเลสที่กดไว้ก็จะงอกเงยออกมา ดังเดิม

ผู้ปฏิบัติบางท่าน มีวิริยะ พยายามฝึกสมถกรรมฐาน เพียรพยายามนับสิบปี ทั้งอานาปนสติ ทั้งอสุภกรรมฐาน ทั้งกสิณทั้งหลาย บางครั้งบางที จิตอยู่ในฌาณต่อเนื่องถึง 3 วัน 7 วันก็มี เมื่อออกจากกรรมฐาน ก็ไม่หิว ไม่ง่วง พบว่า จิตสงบ มีความสุขใจ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในกรรมฐานแล้ว แต่กำลังของมันก็จะยังคงมีอยู่ มโนมยิธิ อิทธิวิธีทั้งหลายก็เกิดขึ้นตามบุญที่สั่งสมมาด้วยกำลังของสมถกรรมฐาน ให้เพลิดเพลินเจริญใจ มีเจโตรปริยญาณ มีบุพเพนิวาสานุสติญาณ มีทิพย์โสต ทิพย์จักษุ ฯลฯ กิเลสตัณหาต่าง ๆ ก็บางจนแทบไม่รู้ว่ามี เห็นว่าง ๆ ไม่มีอะไร บางท่านก็ไปไกลหน่อย นึกว่าว่าว่างแล้ว พ้นแล้ว

พอเวลาผ่านไป หากปฏิบัติต่อเนื่องก็ยังคงอยู่ หากเว้นจากการปฏิบัติสักช่วงเวลาหนึ่ง ก็จะเริ่มเสื่อม กิเลสความวุ่นวายทั้งหลายที่เข้าใจว่าแทบจะไม่มีแล้วนั้นก็เริ่มผุดขึ้นมา มโนมยิธิทั้งหลายก็เริ่มเสื่อม จึงได้เริ่มรู้เห็น เริ่มเข้าใจว่า จริง ๆ แล้วกิเลสทั้งหลายมันถูกกดไว้ แต่มันยังมีอยู่

พระพุทธองค์เมื่อตรัสรู้แล้วจึงได้แสดงธรรมว่าด้วยการละ ไม่ใช่การกด ท่านที่สวดมนต์อยู่เป็นประจำก็ลองไปหาความหมายของธัมมจักกัปปวัตตนสุตตะปาฐะ สวดอยู่บ่อย ๆ ก็ลองนึกดูบ้างว่าท่านตรัสว่าอย่างไรบ้างเมื่อท่านตรัสรู้แล้ว คือค้นพบอะไรแล้ว ค้นพบอะไรใหม่

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อริยสัจ คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้ มีอยู่

โย ตัสสาเยวะตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ

นี้คือความดับสนิท เพราะจางไปโดยไม่มีเหลือ ของตัณหา นั่นเอง

จาโค

เป็นความสลัดทิ้ง

ปะฏินิสสัคโค

เป็นความสละคืน

มุตติ

เป็นความปล่อย

อะนาละโย

เป็นความทำให้ไม่มีที่อาศัย ซึ่งตัณหานั้น

พิจารณาดูให้ดี ๆ "เป็นความสละทิ้ง เป็นความสละคืน เป็นความปล่อย ให้ไม่มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น" สิ่งนี้คืออริยสัจจ 4 ที่ทรงตรัสรู้ เป็นแก่นของพระธรรม

สิ่งที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้คือ ต้องละ ต้องทำให้ไม่มีที่อยู่ของตัณหา จึงจะพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง

ท่านไม่ได้บอกให้กดไว้เรื่อย ๆ อย่างนั้นก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ ก็ไม่ใช่การตรัสรู้

แล้วท่านก็ไม่ได้บอกว่าให้สลัดทิ้ง สละคืน ปล่อย ด้วยการไม่มองตัณหา แต่ให้หาที่อยู่ของมันให้เจอ แล้วก็ทำลายที่อยู่นั้นเสีย ต้องพิจารณาให้ครบ

ถ้าเราไม่อยากให้หญ้ามันงอกออกมาอีก นอกจากเอาก้อนหินไปทับไว้ ก็มีอีกวิธีหนึ่ง คือ หาว่าหญ้ามันงอกมาจากตรงไหน แล้วก็เอาดินตรงนั้นไปทิ้งเสีย ก็ไม่มีหญ้างอกออกมาอีก เพราะไม่มีดินแล้ว

อริยสัจ 4 ก็เช่นเดียวกัน

ดังนั้น หากเราเจริญสมถกรรมฐานจนจิตอยู่ในฌาณ เราก็ย่อมจะมองไม่เห็นว่ากิเลสตัณหามันอยู่ตรงไหน เพราะมันไม่ค่อยจะโผล่มาให้เห็น มันถูกกดไว้

ดังนั้น หากจะละกิเลส ต้องหันหน้าสู้กับมัน หามันให้เจอ รู้เท่าทันมัน แล้วหาทางทำลายที่อยู่ของมันเสีย

สมาธิจึงควรทำแต่เพียงให้สงบ ไม่ควรแข็งจนเกินไป เพราะถ้าอย่างนั้นก็จะไม่ได้ทำอะไร ที่เรียกว่าสมาธิมากเกินไปจนบังปัญญานั้น ก็เพราะมันไม่เหลืออะไรโผล่ออกมาให้พิจารณา มันถูกกดไว้ ซ่อนอยู่ เรามองไม่เห็น พิจารณาไม่ได้ จึงไม่เกิดปัญญา

แต่ไม่ใช่ไม่นั่งสมาธิเสียเลย เพราะจิตที่ไม่มีกำลัง สติก็ตั้งมั่นอยู่ไม่ค่อยได้ เพราะฐานไม่แน่น มันต้องไปด้วยกัน แต่ต้องพอดี

แล้วจึงไปพิจารณาอริยสัจ 4

พอกล่าวถึงอริยสัจ 4 ก็จะบอกกันได้ว่า มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ความหมายก็ทราบกันดี โดยเฉพาะมรรค คือ ทางสายกลาง

เวลาพูดถึงทางสายกลาง เรามักจะเข้าใจกันแต่เพียง ความเห็นชอบ, ดำริชอบ, พูดจาชอบ, ทำการงานชอบ, เลี้ยงชีวิตชอบ, พากเพียรชอบ, ระลึกชอบ, ตั้งใจมั่นชอบ

แล้วส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า รู้กันดีอยู่แล้ว ปัจจุบันก็ทำอยู่แล้ว มีครบทั้ง 8 อย่างนั้นที่เรียกว่ามรรค 8 เดี๋ยวก็ไปถึงนิพพานเองเพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้ แต่เมื่อไหร่ไม่รู้ ไปยังไงก็ยังไม่รู้ รู้แต่ว่าทำอย่างนี้ มี 8 อย่างนี้แล้วเดี๋ยววันหนึ่งก็ไปได้เอง ตอนนี้ก็ทำความดี ละเว้นความชั่วไปก่อน นั่งสมาธิให้จิตสงบไปก่อน เพราะสงบดี ตักบาตรทำบุญ เข้าวัดเข้าวา ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วยกมืออนุโมทนา กรวดน้ำ แล้วก็นั่งถามกันว่า นิพพานอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ฯลฯ

แต่เรามักจะไม่ได้พิจารณาในพุทธดำรัส วรรคต่อมา ที่เราสวดมนต์กันอยู่บ่อย ๆ ในคาถาเดิมที่อธิบายไปข้างต้น คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสุตตาปาฐะ นั่นเอง ว่าไว้ดังนี้

อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือข้อปฏิบัติ เป็นทางสายกลาง

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา

เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว

จักขุกะระณี

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ

ญาณะกะระณี

เป็นเครื่องทำให้เกิดญาณ

อุปะสะมายะ

เพื่อความสงบ

อะภิญญายะ

เพื่อความรู้ยิ่ง

สัมโพธายะ

เพื่อความรู้พร้อม

นิพพานายะ สังวัตตะติ

เป็นไปเพื่อนิพพาน

จะเห็นได้ว่ามีอะไรบ้างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เรื่องมรรค ก็มี "ทำให้เกิดจักษุ", "ทำให้เกิดญาณ", "เพื่อความสงบ", "เพื่อความรู้ยิ่ง","เพื่อความรู้พร้อม","เป็นไปเพื่อนิพพาน"

จักษุ คืออะไร ก็คือการมองเห็น มองเห็นอะไร ก็มองเห็นในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ญาณ คืออะไร ก็คือการเห็นในไตรลักษณ์ ในลักษณะที่เป็น "ญาณ" คือรู้ได้ถ้วนทั่ว ได้ถี่ถ้วน ได้ทัน ได้ละเลียด

เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อนิพพาน

ความหมายก็ชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อมีจักษุ เมื่อมีญาณ ก็มีความสงบ มีความรู้ยิ่ง มีความรู้พร้อม จึงได้นิพพาน

คือเมื่อมองเห็น แล้วจึงมองเห็นได้ละเอียดขึ้น เห็นในธรรม คือ ธรรมชาติ คือทุกสรรพสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นไปตามวิถีของมัน เราควบคุมมันไม่ได้ ก็จะมีความสงบ แล้วก็จะเกิดความรู้ยิ่งขึ้น ด้วยสิ่งที่มองเห็นทั้งหยาบและละเอียด และเมื่อพร้อม จิตจึงคลาย จึงถึงนิพพาน พ้นจากตัณหา

นี้คือ มรรค

ดังนั้น มรรค ในอริยสัจ 4 ก็คือ วิปัสนากรรมฐาน อย่างที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ โดยเริ่มจากมองให้เห็นในรูปนามก่อน เพื่อให้เห็นในสังขาร ในกิเลส แล้วจึงมองให้เห็นในไตรลักษณ์ พิจารณาไตรลักษณ์ จนเกิดญาณ ซึ่งก็คือที่เรียกกันว่า วิปัสนาญาณ แล้วจึงเกิดความรู้ยิ่ง รู้พร้อม เกิดปัญญา เกิดวิชชา พ้นจากอวิชชา ดับตัณหา ตัดสังโยชน์ได้ ถึงนิพพาน

ต่างกันสมถกรรมฐานอย่างชัดเจน ถ้าพิจารณาให้ดี เพราะสมถกรรมฐานไม่ทำให้ถึงนิพพาน แต่วิปัสนากรรมฐาน ทำให้ถึงนิพพาน แต่ทั้งสองอย่างนี้ก็ต้องไปด้วยกัน แต่ต้องพอดี เพราะสมถกรรมฐานเป็นฐานของสติในวิปัสนากรรมฐาน ถ้าขาดสติ ก็มองไม่เห็น ไม่มีจักษุ ไม่มีญาณ พิจารณาไม่ได้ ก็ไม่พ้น ก็ไม่ถึง

เมื่อผัสสะแล้วไม่เกิดหรือเปล่าครับ หรือว่ามีแต่ความสงบปีติสุขอยู่ตลอดเวลาครับ?

ดังที่ทราบกันดีว่าตัวเราล้วนประกอบขึ้นด้วยขันธ์ทั้ง 5 มีอายตนะทั้ง 6 รับผัสสะเข้ามาที่จิต เมื่อมีผัสสะจึงย่อมเกิดนามขันธ์อยู่เป็นธรรมดา ตามธรรมชาติของมัน แต่เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปด้วยจักษุและญาณ ดับได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความหยาบละเอียดในการพิจารณาด้วยจักษุและญาณ หากละเอียดมากจนรู้เท่าทันอย่างละเอียด และดับได้อย่างละเอียด กามราคะซึ่งเป็นสังโยชน์ที่แน่นหนาก็บางเบาหรือสิ้นไป ปิติและสุขจึงไม่มี เพราะเมื่อมองเห็นก็พิจารณาแล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน

การปรับอินทรีย์ให้เสมอกันทำได้อย่างไรครับ?

อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าอินทรีย์ทั้ง 5 ประกอบไปด้วย วิริยะ สติ สัทธา สมาธิและปัญญา

ปรับอินทรีย์ในที่นี้หมายถึง ปรับเพื่อให้ได้มรรคผล นิพพานเมื่อปฏิบัติ เหมือนกับเวลายิงธนู ก็ต้องปรับองศาให้ดี ถึงจะยิงได้ถูกเป้าหมาย

วิริยะ คือ ความเพียร เป็นความต่อเนื่อง ไม่ย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อย หากขี้เกียจ ไม่ค่อยจะทำ ก็ไม่ได้ผล ทำมากเกินไป ก็ตะบี้ตะบันทำอยู่นั่น บางทีไม่ได้เงยหน้ามามอง เอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำ ก็ไปผิดที่ผิดทางได้เหมือนกัน

สติ ก็คือการรู้ตัวทั่วพร้อม คือรู้ให้พอดี รู้ให้ทัน ถ้ามีน้อยเกินไป ก็รู้ไม่ทัน ก็หลง รู้มากเกินไปจนเกินกำหนดจุด เกินกว่าสิ่งที่มันมีอยู่ ก็เป็นอุปาทาน

สัทธา ก็คือ ความพึงพอใจที่จะทำ คือฉันทะ ทำให้อยากจะทำ ถ้ามีน้อยก็ไม่ค่อยอยากจะทำ ไม่รู้จะทำไปทำไม มีมากเกินไป ก็วนติดอยู่กับที่ ไม่ไปไหน ได้ไปแต่กระพี้ ไม่ได้แก่น บางท่านทำบุญก็ซึ้ง ฟังเทศน์ก็ซึ้ง อ่านหนังสือธรรมะก็ซึ้ง สนทนาธรรมก็ซึ้ง แล้วก็ซึ้งอยู่นั่นล่ะ น้ำหูน้ำตาไหลเพราะปิติ ก็ไม่ไปไหนอีก อยู่แถว ๆ นั้น เพราะไม่ได้ปฏิบัติ

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
ดังนั้น ถ้าอยากเห็นพระพุทธองค์ อยากไปอยู่กับพระพุทธองค์ ต้องทำให้เห็นธรรม คือปฏิบัติ

สัทธานี้ ขอให้พิจารณาให้ดี เรามักจะมีอามิสบูชากันมากกว่าปฏิบัติบูชา บางท่านประสบปัญหาชีวิต รู้สึกว่าตัวเองมีความทุกข์ ก็วิ่งเข้าหาพุทธศาสนาด้วยสัทธา แล้วก็ยึดสัทธานั้นไว้ ยึดไว้จนแน่น จนลืมปฏิบัติ ลืมพิจารณา เพราะพึงพอใจในปิติที่ได้รับเพียงอย่างเดียว บางท่าน ยึดไว้แน่น พอมีใครมาพยายามโยกคลอน ก็กลายเป็นโมหะ เป็นโทสะไป เกิดอคติ เกิดทิฐิ กลายเป็นมิจฉาทิฐิก็มี

สมาธิ ก็คือ กำลัง ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว คือต้องพอดี มากไปก็มองไม่เห็น น้อยไปก็ไม่นิ่ง ดูอะไรที่มันเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ไม่ได้ ไม่ทัน

ปัญญา ก็คือ ความรู้ คือหนทาง ไม่รู้เลยก็ไปไม่ถูก รู้มากเกินไปก็ทำให้เกิดความลังเล สงสัย อันนี้ก็ถูก อันนี้ก็ใช่ แล้วอันไหนกัน เพราะมันไม่พอดี

เรามักจะชอบอ่านหนังสือธรรมะ ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม ชอบทำบุญ เพราะทำแล้วเกิดปิติ อิ่มอกอิ่มใจ รู้สึกว่าได้บุญ มีความสุขใจ จึงทำอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่ได้พิจารณาไตรลักษณ์ ไม่ได้ปฏิบัติให้ดับทุกข์ ให้พ้นจากสังโยชน์ ทำเพียงแค่จึงได้แต่เพียงเสวยผลบุญ ตายไปก็ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม หรือหากเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นเศรษฐี เป็นพระราชา แต่ยังไม่พ้นทุกข์ เพราะยังต้องเกิด

บางท่าน ชอบอ่านหนังสือธรรมะ ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม ชอบทำบุญ นั่งสมาธิปฏิบัติสมถกรรมฐาน เพื่อให้ใจสงบ ทำเพียงแค่นี้จึงได้เพียงเสวยผลบุญ ตายไปก็ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม แต่ยังไม่พ้นทุกข์ เพราะยังต้องเกิด เช่นเดียวกัน

บางท่าน ชอบอ่านหนังสือธรรมะ ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม ชอบทำบุญ นั่งสมาธิสมถกรรมฐาน วิปัสนากรรมฐาน ทำอย่างนี้ จะได้มรรคผลนิพพาน ละสังโยชน์ได้ขาด ไม่ต้องเกิดอีก ไม่ชาติใดชาติหนึ่ง ก็วันใดวันหนึ่ง

แล้วที่ว่าการเข้า 3 ประตูนั้นขอให้อธิบายเพิ่มหน่อยครับว่าเป็นอย่างไร หรือว่าเมื่อเห็นการเกิดดับของรูปนามแล้วคิดต่อไปว่ามันไม่เที่ยงเป็นอนิจจังอย่างนี้หรือเปล่าครับ หรือว่าเห็นการเกิดดับแล้วแค่รู้เฉย ๆ ครับ

ประตูที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ ก็คือ ประตูเข้าสู่นิพพาน มีอยู่ 3 ประตู ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือไตรลักษณ์

ถ้าท่านใดเคยไปฝึกวิปัสสนา ที่ครูอาจารย์ท่านให้เดินจงกรม แล้วก็บอกตัวเองว่า รูป นาม ฯลฯ ไปทุกย่างก้าวที่วางฝ่าเท้าลงไป

หรือทุกครั้งที่ลมหายใจเข้าออก ก็ให้กำหนดไปว่า ยุบหนอ พองหนอ

ทำไมท่านถึงให้ทำอย่างนั้น

เพราะท่านต้องการให้ผู้ปฏิบัติ มีสติกำหนดรู้เท่าทันในทุกอริยาบท ว่าอันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนาม เพื่ออะไร ก็เพื่อให้มองเห็น ว่ามันแยกออกได้อย่างนี้นะ เป็นขั้นต้นก่อน

เมื่อฝึกซ้ำไปเรื่อย ๆ จนเริ่มที่จะแยกออกได้แล้ว บางท่านก็หยุดอยู่แค่นั้น ก็เลยเข้าใจไปว่า วิปัสนากรรมฐานนี้ก็แค่ไปถือศีล ใส่ชุดขาว ทำใจให้สงบ แล้วก็กำหนดรูปนามลงไป ในทุกอริยาบท เท่านั้น ตอนนี้ฝึกครบ 7 วันแล้ว ปีหน้าถ้าว่าง ก็จะมาใหม่

บางทีเดินจงกรมกันอยู่เป็นสิบเป็นร้อย สวยงาม พอฝนตกลงมากระทันหัน ก็วิ่งหลบฝนกันอลหม่าน ทั้ง ๆ ที่กำลังกำหนดรูปนามอยู่นั่นแหละ

บางท่านก็ดูยุบหนอ พองหนอ กำหนดจิตไว้ที่ท้อง พอดูไปเรื่อย ๆ จิตก็สงบ นิ่ง ไปเรื่อยก็เข้าปฐมฌาณ ไปจนถึงจตุตถฌาณ ไปจนถึงอรูปฌาณ กลายเป็นสมถกรรมฐานไป

โดยไม่ได้พิจารณาไตรลักษณ์ ไม่ได้มองเป็นไตรลักษณ์

ทีนี้ ถ้ามอง ถ้าพิจารณาจะเป็นอย่างไร

เช่น กำลังเดินจงกรม กำหนดรูปนามลงไป ตอนนี้รูปกำลังเดินอยู่ กำลังยกเท้า กำลังวางส้นเท้า กำลังวางกลางเท้า กำลังวางปลายเท้า

ทำไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา อารมณ์นี้คืออารมณ์วิปัสนา คือ เริ่มรู้สึกว่ารูปนี้มันแยกออกไป มันเป็นแค่รูป คำว่าตัวเราที่ปรกติรวมรูปนี้อยู่ด้วย มันเริ่มจะไม่ค่อยรวมแล้ว มองเป็นรูปเฉย ๆ

พอเริ่มแยกออก มันก็จะเริ่มพิจารณาไตรลักษณ์ คือ เริ่มวิ่งเข้าหาประตู

เช่น ถ้าเป็นประตูอนิจจัง

รูปมันก็เป็นอย่างนี้แหละ เรานี้ก็บำรุงแต่รูปมานาน หาเสื้อผ้าให้มันใส่ หาอาหารให้มันกิน ขัดสีฉวีวรรณ บางทีมันก็เคยเจ็บ มันก็เคยป่วย เดี๋ยวมันก็ต้องตาย มันไม่เที่ยงเลย ไม่เห็นมันอยู่กับที่เลย เวลาผ่านไปรูปเราก็เปลี่ยนไป เป็นอนิจจัง จิตก็จะเริ่มคลายจากรูป ด้วยกุศลเจตนานี้

เช่น ถ้าเป็นประตูทุกขัง

รูปนี้มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราวางฝ่าเท้าลงไป เราก็รู้สึกเจ็บ คราวก่อนที่รูปเราไม่สบาย มันก็เป็นทุกข์ ตอนนี้รูปเราปวดท้องอยู่ เราก็ทุกข์ เดี๋ยววันหนึ่งรูปเราตาย เราก็ทุกข์ พ่อแม่ญาติพี่น้องบุตรภรรยาก็ทุกข์ จิตก็จะเริ่มคลายจากรูป ด้วยกุศลเจตนานี้

เช่น ถ้าเป็นประตูอนัตตา

รูปนี้มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราพยายามเสริมเติมแต่งมัน ทำให้มันดูดี ทำให้มันหล่อ มันสวย มันก็ไม่เห็นเป็นอย่างที่เราต้องการได้เลย บังคับมันไม่ได้ มันจะเป็นไปอย่างไรเราไม่เคยห้ามได้เลย เป็นอนัตตา จิตก็จะเริ่มคลายจากรูป ด้วยกุศลเจตนานี้

เมื่อจิตเริ่มคลายจากรูป เกิดผัสสะเข้ามาทางอายตนะทั้ง 6 จิตก็จะพิจารณานามขันธ์ ไปตามลักษณะไตรลักษณ์ ตามประตูที่เข้าไป

สมมติว่ามีสังขารนี้เกิดขึ้น ผุดขึ้นมาในอายตนะธรรมารมณ์ คือ
"เราเงินเดือนไม่ขึ้นมานานแล้วนะ เราอยากได้เงินมากกว่านี้"

เช่น ถ้าเป็นประตูอนิจจัง

จิตก็จะพิจารณาเพื่อดับว่า เงินเดือนขึ้นแล้วเป็นอย่างไร ได้เงินมากกว่านี้แล้วเป็นอย่างไร พอมันได้ขึ้นเราก็ดีใจ ไม่ได้ขึ้นเราก็เสียใจ แต่วันนึงพอเราใกล้จะตาย เงินก็เอาไปไม่ได้ มันไม่เที่ยงหรอก ความรู้สึกนี้ สังขารนี้ เดี๋ยวมันก็แปรเปลี่ยน เป็นอนิจจัง จิตจึงเริ่มคลาย สังขารนี้จึงเริ่มดับไป ด้วยกุศลเจตนานี้

เช่น ถ้าเป็นประตูทุกขัง

จิตก็จะพิจารณาเพื่อดับว่า เพราะเราไปห่วงอยู่ว่ามันจะขึ้นหรือไม่ขึ้น ขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร ไม่ขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร เราจึงทุกข์ ถ้าเราไม่ผูกไม่ยึดไว้ มันก็ไม่ทุกข์ จึงเป็นทุกขัง จิตจึงเริ่มคลาย สังขารนี้จึงเริ่มดับไป ด้วยกุศลเจตนานี้

เช่น ถ้าเป็นประตูอนัตตา

จิตก็จะพิจารณาเพื่อดับว่า เงินเดือนจะขึ้นหรือจะลง เงินจะมีมากน้อย เราควบคุมได้เหรอ มันเป็นไปตามบุญกุศล เป็นไปตามวิบากกรรมของเราเอง เราควบคุมไม่ได้ มันผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของมัน เราดิ้นรนร้อนรุ่มไปก็กำหนดมันไม่ได้ จึงเป็นอนัตตา จิตจึงเริ่มคลาย สังขารนี้จึงเริ่มดับไป ด้วยกุศลเจตนานี้

ดังนั้น เมื่อรู้เห็นการเกิดดับของรูปนามแล้ว จึงต้องดับมัน ไม่ใข่แค่รู้เฉย ๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านให้กำหนดรู้ไปก่อนช่วงแรกนั้น ทั้งรูปทั้งนาม ก็เพื่อให้เราเกิดอารมณ์วิปัสนา หาทางเข้าไปตามประตูนิพพานทั้ง 3 แต่ไม่ใช่ให้กำหนดรู้แล้วหยุดอยู่แค่นั้น แต่ท่านมักจะไม่ค่อยบอก เพราะกลัวว่าเราจะไปกำหนดอารมณ์ขึ้นเองแบบนึกเอา ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ อย่างที่เรียกง่าย ๆ ว่า "ปลง"

เมื่อจิตอยู่ในอารมณ์วิปัสสนา ในทางใดทางหนึ่ง หรืออาจจะผสมกันก็ได้ สลับไปสลับมา ขึ้นอยู่กับคนแต่ละคน มีสติ มีวิริยะ มีสัทธา มีสมาธิ มีปัญญา ปรับอินทรีย์ได้ ทำไปเรื่อย ๆ จนเริ่มดูได้ละเอียดขึ้น ก็จะเกิดเป็นจักษุ ละเอียดมากขึ้นไปอีก ก็เกิดเป็นญาณ แล้วก็สงบ รู้ยิ่ง พร้อม จนขาดหมดถึงนิพพาน

รูปแบบวิธีนั้นไม่ใช่สาระ สิ่งที่สำคัญคือจิตที่อยากจะละ ไม่จำเป็นต้องเดินจงกรมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องยุบหนอพองหนอเท่านั้น

บางท่าน แค่มองใบไม้ร่วงหล่น หรือเห็นฟันที่ไม่สะอาดของสตรี ก็ละได้สิ้น ดังที่ทราบกัน

...........




 

Create Date : 22 มกราคม 2549
8 comments
Last Update : 22 มกราคม 2549 19:11:04 น.
Counter : 857 Pageviews.

 

อื่ม........

 

โดย: ชายคา 22 มกราคม 2549 22:46:00 น.  

 

ขอบคุณที่เขียนให้อ่านค่ะ

 

โดย: (^-^) IP: 69.86.99.153 9 กุมภาพันธ์ 2550 12:10:56 น.  

 

 

โดย: พี IP: 203.113.15.234 19 กุมภาพันธ์ 2550 2:31:56 น.  

 


อืม....สุดยอดเลยครับ! มีสติขึ้น เข้าใจขึ้น อะไรที่ไม่รู้ได้รู้ ได้เยอะ ขอขอบคุณอย่างสูงครับ!

 

โดย: ธงชัย เหลืองอ่อน IP: 203.113.15.234 19 กุมภาพันธ์ 2550 2:35:03 น.  

 

อย่างแรกเลยต้องขอกล่าวคำว่า ขอบคุณนะค่ะ ที่มีผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วเมื่อไหร่จะมีหัวข้อใหม่ๆเข้ามาอีกค่ะ

 

โดย: กรรเชียง IP: 58.10.99.28 12 เมษายน 2550 15:08:25 น.  

 

ผมมีความสนใจในสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมากและผมก็ปฏิยัติอยู่แต่ผมเหมือนเดินคลำทางผมต้องการผู้ใจบุญที่ท่านปฏิบัติจนสำเร็จแล้วช่วยชี้แนะผมพร้อมและน้อมที่จะเป็นลูกศษ์ของท่านครับ

 

โดย: ณัฐดล IP: 124.157.250.133 29 มีนาคม 2551 0:50:50 น.  

 

อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ

อธิบายได้เยี่มมากครับ เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาสำหรับการหลุดพ้นจริง ๆ ผูเขียน ๆ ได้ เยี่ยมมาก

ขอคาระวะอย่างสุดซึ้ง

 

โดย: เศรษฐ์ IP: 202.28.78.105 4 กุมภาพันธ์ 2552 3:09:36 น.  

 

อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ

อธิบายได้เยี่มมากครับ เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาสำหรับการหลุดพ้นจริง ๆ ผูเขียน ๆ ได้ เยี่ยมมาก

ขอคาระวะอย่างสุดซึ้ง

 

โดย: เศรษฐ์ IP: 202.28.78.105 4 กุมภาพันธ์ 2552 3:09:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


คนข้างบ้าน
Location :
บุรีรัมย์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คืนหนึ่งข้าฯยืนอยู่บนเขา
ใต้ร่มเงาวัดพุทธศาสนา
ภูสูงจนอาจเอื้อมดวงดารา
มาจากฟากฟ้าด้วยมือตน
ทว่า ข้าฯมิกล้าเปล่งสำเนียง
ท่ามกลางความวิเวกวังเวงหน
เกรงว่าจักกรายกายสกนธ์
ของทวยเทพวิมานบนหากจักมี.
Friends' blogs
[Add คนข้างบ้าน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.