เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.
จากโคลัมไบน์ถึงละคอนหลังข่าว และกระดานหกขาที่สาม

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดู Bowling for Columbine เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ทั้งที่ได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับสารคดี (ภาพยนตร์ ?) เรื่องนี้มานานพอสมควร ได้จังหวะเหมาะมีคนเอามาให้ยืมดูก็เลยใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดดูจนจบ... ดูแล้วได้คำถามมากกว่าคำตอบ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคำถามที่ผมต้องมาสืบเสาะหาคำตอบเอาด้วยตัวเอง

เรื่องเริ่มต้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1999 ที่โรงเรียนมัธยม Columbine เมือง Jefferson รัฐ Colorado เด็กหนุ่มมัธยมปลายสองคนใช้อาวุธปืนหลายชนิดกราดยิงในโรงเรียนโดยวางแผนล่วงหน้ามาก่อน เป็นการสังหารหมู่ที่สะเทือนขวัญอเมริกันชนอย่างรุนแรงในปลายคริสศตวรรษที่ 20 และผลกระทบของมันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน !

ไมเคิล มัวร์ (Micahel Moore - เกิดปี ค.ศ. 1954) ชายวัย 45 ปี (ณ เวลานั้น) ได้ลุกขึ้นตั้งคำถามต่อสังคมอเมริกันถึงความรุนแรงและเสรีภาพในการครอบครองอาวุธปืนของอเมริกันชน จากลูกหลานคนชั้นกลางที่เคยต้องปากกัดตีนถีบและเรียนมหาวิทยลัยไม่จบ จากเมือง Flint, Michigan อดีตบรรณาธิการหนังสือนอกกระแสและผู้ถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ได้ถ่ายทำสารคดีเรื่อง Bowling for Columbine ไปกวาดรางวัลต่าง ๆ มาแทบนับไม่ถ้วน ทั้งสารคดียอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ รางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และ French Cesar Award ที่หลายคนยกให้เป็นออสการ์แห่งฝรังเศส

ดูหนัง 'cult มาก็หลายเรื่อง ชนิดที่ดูแล้วต้องปิดหน้าจอหนีหรือ fast foward ไปก็มาก แต่กับสารคดี (บางทีต้องใส่ในวงเล็บแบบนี้ว่า ภาพยนตร์ ? ด้วย) เรื่องนี้ต้องยกให้เป็น Cult Documentary เรื่องแรกที่ได้ดู.. ไม่นับสารคดีแบบยัดเยียดที่รัฐบาลบางประเทศทำขึ้นเพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามนะครับ แน่นอนว่าต้องหนักทั้งเนื่อหาและสาระ รวมถึงแนวคิดและมุมมองของผู้ถ่ายทำ-producer-director-screenplay-actor ในคนคนเดียว และออกจะนำเสนอไปในทางเดียวเช่นนี้ ทำให้เมื่อออกมาเป็นรูปร่างแล้วมีทั้งเสียงตอบรับและคำติเตียน (ก่นด่า)

เริ่มตั้งแต่ชื่อเรื่อง "Bowling.." ที่มัวร์ออกมาบอกในสารคดีของเขาว่าเด็กวัยรุ่นสองคนที่เป็นผู้ก่อเหตุนั้นไปเรียนวิชาเลือกในชั่วโมงพลศึกษาที่ลานโบว์ลิ่งแห่งหนึ่งก่อนจะขนปืนเข้าไปยิงในโรงเรียน มีผู้ออกมาแย้งว่าจริง ๆ แล้วรายงานของตำรวจบอกว่าเด็กสองคนนั้น "โดดเรียน" มัวร์จึงไม่ควรใช้ Bowling เป็นคำนำหน้าสำหรับเรื่องนี้...

เรื่องข้อมูลทั้งหลายในเรื่องนี้นั้นมีคนออกมาต่อต้านและยกตัวอย่างให้เห็นเป็นจำนวนมากว่ามัวร์นั้นได้บิดเบือนและเรียบเรียงความจริงทั้งหลายเสียใหม่ เข้าทำนองใส่ไข่ ยกเมฆ และนั่งเทียน เพื่อให้ผู้ชมคล้อยตามแนวความคิดของมัวร์ที่ต่อต้านแนวคิดเสรีสำหรับการมีปืนและการใช้ปืนในสหรัฐอเมริกา (ทั้งที่มัวร์เป็นสมาชิกตลอดชีพของ NRA: National Rifle Association นัยว่าต้องการเป็นประธานขององค์กรเพื่อจะได้ทำลายมันเสีย) จนบางทีอ่านบทวิเคราะห์และวิจารณ์แล้วต้องมานั่งคิดว่าเรื่องจริงในสารคดี นอกจากที่มีคนยิงกันแล้วก็คงจะเป็นเดี่ยวไมโครโฟนของ Chris Rock ที่บอกว่าไม่ต้องควบคุมอาวุธปืนหรอก ควบคุมกระสุนปืนดีกว่า ตั้งราคาให้สูง ๆ ไปเลย ใครจะใส่กระสุนไปยิงคนก็ต้องคิดให้ดีเสียก่อน !! ...หรือ Chris Rock จะบอกพวกเราว่าอาวุธปืนในอเมริกานั่นมันสุดจะควบคุมแล้ว ไปควบคุมอย่างอื่นกันดีกว่าก็ไม่รู้

ถ้ามองอย่างเป็นกลางก็ต้องบอกว่าเป็นความจริงที่มัวร์นั้นบิดเบือนและปกปิดข้อมูลบางอย่างจริง เช่นบทพูดของ Charlton Heston (อดีตพระเอกคนดังจากเบนเฮอร์ บัญญัติสิบประการ และพิภพวานร) ผู้ซึ่งเป็นประธาน NRA ในขณะนั้น รวมไปถึงพฤติการบางอย่างของ NRA ซึ่งมีคนออกมาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามัวร์นั้นจงใจโจมตี NRA และชาร์ลตัน เฮสตัน (อย่างแทบจะเป็นการส่วนตัว) มากเกินไป มัวร์ตัดต่อคำพูดของเฮสตันสองวาระเข้าด้วยกัน โดยคั่นกลางด้วยป้ายโฆษณา rally ของ NRA และมีคนออกมาชี้ให้เห็นว่าเฮสตันใส่เสื้อคนละตัวกันในขณะที่พูดสองประโยคติดกันในสารคดี (หนัง) ของมัวร์

นอกจากนี้ยังมีการอ้างอิงที่ผิด และการบิดเบือนข้อเท็จจริงในการจัด rally ของ NRA รวมไปถึงการตัดต่อคำพูดของประธานาธิบดี Bush ที่มีคนออกมาต่อต้านว่ามัวร์นั้น "ล้ำเส้น" มากไปกว่าที่ขนบของการทำสารคดีจะเป็นไปได้ กระทั่งมีคนบอกว่านี่ไม่ใช่สารคดีเลยด้วยซ้ำ มัวร์ยังปฏิบัติการจัดฉากในบางสถานการณ์อีกด้วย ในการเข้าไปสัมภาษณ์เฮสตันในบ้าน ใช้กล้องตัวเดียวเดินตามมัวร์เข้าไป แต่เมื่อเฮสตันถูกคำถามที่มัวร์ตั้งให้อย่างไม่ทันตั้งตัว-เฮสตันตอบสนองเพียงเดินหนี ทั้งที่ไนฐานะเจ้าบ้านแล้วเขาสามารถทำได้มากกว่านั้น แต่ในเชิงของคนวัยแปดสิบขวบ การกระทำเช่นนั้นนับเป็นการตอบสนองต่อแขกที่เขาเชิญเข้าบ้านอย่างเหมาะสมแล้ว ผมยังนึกเสียอีกว่าประธาน NRA อาจเข้าไปหยิบปืนมาไล่ยิงเอาก็ได้ ...แต่สิ่งที่มัวร์ทำคือตัดต่อให้ดูเหมือนเฮสตันเดินหนีขณะที่เขาพยายามให้เฮสตันดูรูปเด็กผู้หญิง 6 ขวบจากเมืองเดียวกับที่เขาเกิด (เมือง Flint) ที่เป็นเหยื่ออายุน้อยที่สุดของการยิงกันในโรงเรียน (คนยิงอายุ 6 ขวบเช่นกัน) การตัดต่อไม่แนบเนียนจนผมจับได้ตอนที่นั่งดู DVD ด้วยซ้ำ และแน่นอนว่ามีคนจับเป็นประเด็นได้อย่างสะ (เทือน) ใจว่าการตัดต่อเช่นนี้ควรเป็นสิ่งที่ทำในภาพยนตร์ฮอลีวู้ด ไม่ใช่ในภาพยนตร์สารคดี

สถิติอันน่าอดสูแห่งเมือง Flint นั้นมีหลายเว็บไซต์พยายามชี้ให้เห็นว่าผู้ยิง (เด็กชายผิวสีอายุหกขวบ) เป็นเด็กที่มีความรุนแรง เคยแทงเพื่อนนักเรียนด้วยดินสอ และอาศัยอยู่ในบ้านที่มีธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งยาเสพติดและอาวุธปืน... และโจมตีว่ามัวร์ไม่ได้นำเสนอพื้นฐานของเด็ก (มัวร์ไม่ได้บอกว่าเด็กคนที่ยิงมีพื้นฐานครอบครัวอย่างไร เขาเสนอภาพของแม่ที่ต้องออกไปทำงานแต่เช้าและกลับบ้านดึกเพื่อจะรักษาครอบครัวเอาไว้ด้วยการทำงานสองแห่งให้พอค่าเช่าบ้าน) ...แต่จะเอาอะไรกับเด็กหกขวบล่ะ ?? สำหรับผม เด็กหกขวบนั้นถึงอย่างไรก็ไม่มีทางจะเลวร้ายโดยกมลสันดานได้เป็นแน่

มัวร์ยังเสนอภาพความรุนแรงของการใช้อาวุธปืนในสหรัฐอเมริกาอย่างเด่นชัดจนบางครั้งดูแล้วเกินจริงไปบ้าง เขาเสนอจำนวนการตายจากอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกาเทียบกับประเทศอื่น ๆ (โดยไม่ใช้อัตราการตาย-ซึ่งจะทำให้การเปรียบเทียบถูกต้องขึ้น) ซึ่งแน่นอนว่าในหลายประเทศที่เขายกมาเปรียบเทียบนั้นมีตัวเลขที่ใกล้เคียง แต่มีเพียงประเทศเดียว (แคนาดา) ที่ตัวเลขตรงกันจนถึงหลักหน่วย ส่วนตัวเลขของอีกหลายประเทศนั้นมีคนพยายามหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงแต่ก็ไม่สามารถนำตัวเลขที่มัวร์ยกขึ้นมาแสดงได้ หนำซ้ำยังมีคนบอกว่าตัวเลขการตายในสหรัฐอเมริกาที่มัวร์นำเสนอนั้นมาจากหน่วยงานสาธารณสุข ไม่ได้นำมาจากตำรวจ นั่นหมายความว่าการตายจากอาวุธปืนนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากตำรวจยิงคนร้ายหรือเป็นการป้องกันตัวอย่างบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นการตายของผู้บริสุทธิ์แต่เพียงอย่างเดียว...

แต่สิ่งที่หลายคนไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือความจริงที่ว่าคนอเมริกันมีอัตราการยิงกันตายสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ (อัตรา-ไม่ใช่เฉพาะจำนวน) ประเด็นที่มัวร์เสนอไม่เฉพาะเพียงการหาปืนมาใช้ได้ง่าย (เปิดบัญชีธนาคารแถมปืนยาว-ในสารคดี) แต่ยังเป็นที่การนำเสนอของสื่อที่กระตุ้นให้เกิดความกลัว โดยเฉพาะความหวาดกลัวต่อคนใกล้ตัว-คนข้างบ้าน-คนต่างผิวพรรณ-คนต่างเชื้อชาติ ที่ผลักดันให้คนอเมริกันวิ่งเข้าร้านปืนแล้วหาซื้อมันมา ความแตกต่างที่มัวร์แสดงให้เห็นก็คือเพียงข้ามทะเลสาปจากDetriot-Michigan ไป Ontario-Canada อัตราการยิงกันตาย (อันที่จริงนับการฆ่ากันตายเลยก็ยังได้) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คดีฆาตกรรมล่าสุดเกิดเมื่อสามปีก่อน (ก่อนทำสารคดี) จากคนอเมริกันที่ขโมยปืนข้ามฝั่งมา

อิทธิพลของสื่อมวลชนมีมากถึงขนาดนี้เลยหรือ ?? แน่นอนว่ามัวร์ในฐานะสื่อมวลชน-เขาทำ Bowling เป็นสารคดี ไม่ได้ทำเป็น movie ดังนั้นบทบาทของเขาในฐานะสื่อมวลชนควรมีมาตรฐานรองรับ การเสนอในรูปแบบสารคดีควรมีมุมมองจากทั้งสองทาง ! อันที่จริงใน Bowling นั้นมัวร์ได้เสนอในอีกฝั่งด้วย แต่ด้วยทรรศนคติที่เขามีต่อเรื่องนี้ทำให้คำถามและการแสดงออก รวมไปถึงทิศทางของสารคดีเอนไปในทางหนึ่งอย่างชัดเจน นั่นทำให้ความเป็น "ฐานันดรสี่" ของสื่อมวลชนเปลี่ยนรูปไปเป็น "กระดานหกขาที่สาม" ที่จะสามารถถ่วงให้สมดุลของกระดานหกเอนไปทางใดทางหนึ่งได้ (ไม่นับว่ามัวร์เป็นคนตัวโตอยู่แล้ว การถ่วงของเขาจึงมีน้ำหนักมากกว่าปกติ-จับใจคนดูได้ดี

สิ่งที่มัวร์ทำสำหรับสารคดีเรื่องต่อมาของเขา ฟาเรนไฮต์ 9/11 (ถูกด่าโดย เรย์ แบรดบิวรีย์ ผู้เขียน ฟาเรนไฮต์ 451 มาแล้วตั้งแต่ชื่อเรื่อง) จึงประกาศออกมาว่าเป็น movie และจะเข้าชิงออสการ์ในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (แต่ไม่ได้เข้า) นั่นเหมือนกับว่าบทบาทของสื่อมวลชนในฐานะผู้นำเสนอกับบทบาทของผู้ผลิตรายการ (โทรทัศน์และภาพยนตร์) เข้าใกล้กันมากขึ้นทุกที อะไรคือจุดแบ่งระหว่างความเป็นฐานันดรที่สี่กับความเป็นผู้ถ่วงน้ำหนักให้กระดานหกเอนไปในทิศทางที่เขาต้องการ


..........


กลับมาใกล้ตัว สัปดาห์ก่อน "จำเลยรัก" พระเอกลากนางเอกเข้าห้องเชือดเรียบร้อย ออกไปนั่งจิบกาแฟแล้วกลับมาเคาะประตู นางเอกร้องห่มร้องไห้ถามไปว่า "นี่ยังไม่พออีกหรือ ?" ...ถ้าพระเอกตอบกลับมาว่า "ยัง !" ไม่รู้นางเอกจะว่ายังไงต่อ

ละคอนโทรทัศน์ไทยอีกเรื่องทำเอาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งต้องออกมาต่อต้าน ด้วยเรื่องที่ว่าทำให้ภาพพจน์องค์กรเสียหาย ฝ่ายผู้จัดบอกว่า "เหตุการณ์และพฤติกรรมของตัวละคร ถูกดัดแปลงและแต่งเติมเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม ทั้งนี้ มิได้เกี่ยวข้องหรือพาดพิงถึงเหตุการณ์หรือพฤติกรรมของบุคคลหนึ่งบุคคลใดทั้งสิ้น" ตัวละคอนทั้งหลายถอดแบบมาจากคนจริง ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป... ผู้จัดถึงกับบอกว่าละคอนที่ตำรวจเป็นคนเลวหรือหมอเป็นคนเลวก็ไม่มีใครออกมาต่อต้าน (อันที่จริงสมาคมแพทย์ในประเทศนี้เคยออกมาต่อต้านชื่อหนังเรื่อง "อาจารย์ใหญ่" จนต้องเปลี่ยนชื่อในที่สุด)

ทำให้ผมนึกถึงข่าวก่อนหน้านี้ ประมาณต้นหรือกลางปี 2550 ที่มีองค์กรหนึ่งออกมาแย้งผู้สร้างภาพยนตร์ Hollywood ว่ามีผู้หญิงในภาพยนตร์อเมริกันสูบบุหรี่มากกว่าความเป็นจริง (ในภาพยนตร์มีประมาณสี่สิบกว่าเปอร์เซนต์ ในความเป็นจริงมียี่สิบกว่าเปอร์เซนต์ - จำตัวเลขจริงไม่ได้) คำถามก็คือความเป็นสื่อมวลชนนั้นสะท้อนความเป็นจริงในสังคมได้มากน้อยเพียงใดหรือไม่ ? กลุ่มทางสังคมรวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ในสังคมมีความเข้มแข็งพอที่จะออกมาแสดงบทบาทของตน (ในทางที่เหมาะสม) หรือไม่ ? เมื่อเทียบกับ Bowling ที่ชายคนหนึ่งควักกระเป๋าเอาเงินที่ได้จากการตกลงยอมความนอกศาลเรื่องที่เขาถูกเลิกจ้างงานไปทำสารคดี (ใจผมอยากเรียก "ภาพยนตร์" มากกว่า) แล้วภาพและเสียงที่ส่งออกมามีผลกระทบในวงกว้างได้ขนาดนั้น คนคนเดียวมีน้ำหนัก (ทางนามธรรม) มากพอที่จะถ่วงสมดุลของกระดานหกได้ แม้จะเป็นในประเทศที่สื่อมวลชนถูกครอบไว้ด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทข้ามชาติก็ตาม... ในบางประเทศกลับมีนักการเมืองประกาศตนเป็นผู้ดูแลวัฒนธรรมแต่กลับประกาศสงคราม (อันเป็นส่วนตัว) กับนักร้องและนักแสดงบางคน

...คงจำได้ที่มีคนพยายามแบนเพลงที่ร้องว่าขอเป็นคนเลวที่รักเธอตลอดไป แต่จะไม่ยอมเป็นคนดีที่หยุดรักเธอ !

และคงจะเป็นเรื่องน่าแปลกหากจะมีใครสักคนทำสารคดี (หรือกระทั่งภาพยนตร์) ที่บอกว่าละคอนหลังข่าวของบางประเทศมีฉากตบตีกันถี่แค่ไหน และมันนำไปสู่ความรุนแรงทางสังคมในรูปแบบใด และความรุนแรงนั้นอยู่ในระดับที่น่ากลัวขนาดไหน (ใน Bowling มัวร์พยายามชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของภาพยนตร์และข่าวสารอันนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดของชาวอเมริกัน) และหากมีใครสักคนทำขึ้น การตอบสนองของสังคมจะมีมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

...ใน Bowling มัวร์พานักเรียนสองคนที่พิการจากกระสุนในโรงเรียนโคลัมไบน์ ไปร้องขอความเป็นธรรมที่ร้าน K-mart ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้นทางห้างจะออกมาประกาศหยุดขายกระสุนปืนภายใน 90 วัน ในการนี้มัวร์ใช้คำว่า "กระสุนของ K-mart"

การเป็นขาที่สามของกระดานหกในเมืองไทยจะสามารถก้าวไปสู่จุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อเทียบกับในต่างประเทศได้ไหม ?
จำคดีที่นักข่าวหญิงคนหนึ่งปฏิเสธจะเปิดเผยแหล่งข่าวและพร้อมจะถูกจำคุกในคดีไม่ให้ความร่วมมือต่อศาลยุติธรรม (ในสหรัฐเอมริกา) ได้ไหม ??
จำความเหนียวแน่นของการปิดบังความเป็น Deepthroat ในคดีวอร์เตอร์เกทได้ไหม ???


..........


Bowling for Columbine จบด้วยเพลงประกอบ end title คือ "What a wonderful World" ซึ่งผมฟังแล้วนึกถึง Good Morning Vietnam ขึ้นมาทันที (เพลงคนละ version) แต่หากจะจบบทความนี้ด้วยเพลงประกอบ end title สักเพลง ผมอยากจบด้วย "Blowing in the Wind" เป็นที่สุด

***เขียนจากความจำทั้งหมด ไม่เปิดเว็บอื่นไว้อ้างอิง-ทดลองเขียน ***



Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2551 21:39:16 น. 0 comments
Counter : 949 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
4 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.