* * * * คำไทย คนไทยควรรู้ที่มาและความหมาย * * * * บล็อกที่ 1071










คำไทย คนไทยควรรู้ที่มาและความหมาย




















วัฒนธรรมไทย คำนี้คนไทยได้ยินบ่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริงวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่คนไทยควรจะหวงแหน-อนุรักษ์ให้อยู่คู่กับชาติไทย แม้จนชีวิตจะหาไม่ ... ลำตัด เพลงฉ่อย ลิเก ดนตรีไทย เพลงไทยเดิม อาหารไทย ลวดลายไทย และหลายสิ่งหลายอย่าง รวมทั้ง คำไทย ล้วนเป็นวัฒนธรรมไทยที่ควรหวงแหนทั้งสิ้น บล็อกวันนี้ ขอนำเสนอ 'คำไทย คนไทยควรรู้ที่มาและความหมาย' รวม 40 คำ





# 1 .. รูป - องค์



ทั้งสองคำเป็นคำลักษณะนาม ที่ใช้เรียกพระภิกษุและพระพุทธรูป โดย พระภิกษุ นั้น จะใช้ว่า พระภิกษุ 5 องค์ หรือ พระภิกษุ 5 รูป ก็ได้



ส่วน พระพุทธรูป เราจะใช้คำว่า องค์ เท่านั้น เช่น เมื่อวาน ผมได้สรงน้ำพระพุทธรูป 7 องค์






# 2 .. สาย - เส้น



ทั้งสองคำเป็นคำลักษณะนาม .. แม่น้ำ, ลำคลอง เราจะเรียกเป็น สาย เช่น สายน้ำ .. แม่น้ำ 2 สาย



ส่วน ถนน เราจะเรียกเป็น เส้น เช่น เส้นทาง .. ถนน 2 เส้น






# 3 .. เซ็น



เป็นคำมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Sign" แปลว่า ลงลายมือชื่อ (เซ็น คำนี้ไม่มี "ต์" การันต์)






# 4 .. อนุญาต



หมายถึง ยินยอม ยอมให้ ตกลง (คำว่าอนุญาต ต.เต่า ตัวสะกด ไม่มีสระอิ)






# 5 .. ประสบการณ์



บางคนจะสะกด ประสพ โดยใช้ พ พาน บางคนจะสะกด ประสบ โดยใช้ บ ใบไม้ คำนี้จะใช้ตัวสะกดอะไร จะต้องดูที่ความหมาย



คำว่า ประสพ ที่สะกดด้วย พ ประสพ แปลว่า การเกิดผล การณ์ แปลว่า เหตุ เค้ามูล ประสพการณ์ จึงแปลว่า เหตุแห่งการเกิดผล



ส่วนคำว่า ประสบ ที่สะกดด้วย บ ประสบ แปลว่า พบ เห็น ประสบการณ์ แปลว่า ความจัดเจนที่เกิดจากการกระทำหรือได้พบเห็น มีความหมายตรงกับคำว่า Experience






# 6 .. แบบ - แบบว่า



สองคำนี้ เป็นคำพูดฟุ่มเฟือยไม่มีความหมาย มักใช้พูดนำหน้าคำหรือเวลาที่ยังนึกอะไรไม่ออกว่าจะพูดอะไร เช่น แบบว่า ผมไม่รู้จะพูดอะไรดี






# 7 .. แมง - แมลง



แมง มี 8 ขา หรือ 10 ขา ไม่มีหนวด ไม่มีปีก ตัวอย่างเช่น แมงมุม



ส่วน แมลง มี 6 ขา อาจมีปีก 1 คู่ หรือ 2 คู่ แต่บางชนิดก็ไม่มีปีก แมลงเป็นสัตว์ที่มีมากชนิดที่สุดในโลก






# 8 .. ขมีขมัน - ขะมักเขม้น



ขมีขมัน หมายถึง รีบเร่งในทันทีทันใด (อ่านว่า ขะ-หมี-ขะ-หมัน)



ขะมักเขม้น หมายถึง ตั้งใจทำอย่างรีบเร่ง ก้มหน้าก้มตาทำ (อ่านได้สองแบบ คือ ขะ-มัก-ขะ-เม่น และ ขะ-หมัก-ขะ-เม่น)






# 9 .. ลิงได้แก้ว, ไก่ได้พลอย, ตาบอดได้แว่น, หัวล้านได้หวี



ลิงได้แก้ว - ไก่ได้พลอย หมายถึง การไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ตนมีอยู่ หรือได้มา



ส่วน ตาบอดได้แว่น - หัวล้านได้หวี หมายถึง การได้สิ่งที่ไม่มีประโยชน์แก่ตนเอง






# 10 .. ทู่ซี้ - เซ้าซี้



ทู่ซี้ หมายถึง ทนไปจนกว่าจะตาย



ส่วน เซ้าซี้ หมายถึง การแสดงออกทางการพูด รบเร้าเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ



























# 11 .. ฉับพลัน - เฉียบพลัน



ฉับพลัน หมายถึง ในทันทีทันใด



ส่วน เฉียบพลัน หมายถึง รุนแรงมาก ใช้ในวงการแพทย์ เช่น อาการหัวใจวายเฉียบพลัน






# 12 .. ภาพลักษณ์ - ภาพพจน์



ภาพลักษณ์ หมายถึง ภาพที่เกิดจากความนึกคิด



ส่วน ภาพพจน์ หมายถึง คำพูดที่ทำให้เห็นเป็นภาพ






# 13 .. กระบวนการ - ขบวนการ



กระบวนการ หมายถึง ลำดับการกระทำซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันไปจนสำเร็จลงในระดับหนึ่ง



ส่วน ขบวนการ หมายถึง กลุ่มคนที่รวมกันเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง






# 14 .. อุ่นเครื่อง



มาจากการติดเครื่องยนต์โดยยังไม่เริ่มทำการใดๆ ปัจจุบันนำมาใช้พูดถึงสิ่งอื่นๆ ด้วย



เช่น การฝึกซ้อมชั่วขณะก่อนเริ่มลงแข่งขันจริง หรือรอบการแข่งขันก่อนการแข่งขันใหญ่ที่เรียกว่า รอบอุ่นเครื่อง






# 15 .. นัดล้างตา



หมายถึง การแข่งขันรอบที่คู่แข่งขันซึ่งเคยพบกันมาแล้ว มาพบกันอีกครั้ง






# 16 .. โอเลี้ยง



เป็นคำมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า โอ แปลว่า ดำ เลี้ยง แปลว่า เย็น



รวมแล้ว โอเลี้ยง หมายถึง สิ่งที่มีสีดำและเย็น ก็คือกาแฟดำเย็น






# 17 .. ผัด - ผลัด



สองคำนี้ เขียนคล้ายๆกัน แต่มีความหมายแตกต่างกัน



ผัด หมายถึง ขอเลื่อนเวลาออกไป เรามักจะพบในคำว่า ผัดผ่อน, ผัดวันประกันพรุ่ง



ส่วน ผลัด หมายถึง เปลี่ยนแทนที่กัน เราจะใช้ในคำว่า ผลัดเปลี่ยน, ผลัดเวร






# 18 .. หมายกำหนดการ - กำหนดการ



หมายกำหนดการ เป็นคำราชาศัพท์ หมายถึง ขั้นตอนงานพระราชพิธี เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ



ส่วน กำหนดการ หมายถึง ขั้นตอนงานทั่วไป เช่น กำหนดการเปิดงานโอทอป






# 19 .. เครื่อง



หมายถึง สิ่งของ มักใช้นำหน้าในคำประสมที่เป็นของใช้ เช่น เครื่องเขียน, เครื่องบิน



แต่ถ้านำคำว่า เครื่อง ไปรวมกับคำอื่นเพื่อใช้เป็นคำราชาศัพท์ ก็จะมีความหมายเกี่ยวข้องกับของกินของใช้ของเจ้านายชั้นสูง



เช่น ทรงเครื่อง หมายถึง แต่งตัว, ตั้งเครื่อง หมายถึง การตั้งของรับประทาน






# 20 .. ห้องภายในพระราชวังทั่วไป



มีห้องต่างๆ สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้สอย ซึ่งเป็นคำราชาศัพท์



เช่น ห้องสรง คือ ห้องน้ำ ห้องแต่งพระองค์ คือ ห้องสำหรับแต่งตัว



ห้องทรงพระอักษร คือ ห้องสำหรับเขียนหนังสือ ห้องทรงพระสำราญ คือ ห้องที่ใช้สำหรับพักผ่อน



























# 21 .. ฉลองพระหัตถ์



เป็นคำที่เรียกช้อนและส้อมรวมกัน แต่ถ้าแยกใช้เฉพาะช้อน จะเรียกว่า ฉลองพระหัตถ์ช้อน ส่วน ส้อม จะเรียกว่า ฉลองพระหัตถ์ส้อม



สำหรับ เครื่องใช้สำหรับคีบอาหาร เช่น ตะเกียบ จะเรียกว่า ฉลองพระหัตถ์ตะเกียบ






# 22 .. รถเก๋ง



คือ รถยนต์ ที่เราเรียกกันเช่นนี้ เพราะเรียกตามอย่างเรือในสมัยก่อนคือ เรือเก๋ง คำว่า เก๋ง หมายถึง เครื่องบังมีฝาและหลังคาแบน



ในภายหลังเมื่อรถยนต์เข้ามาในเมืองไทย จึงเรียก รถเก๋ง ซึ่งจะใช้เรียกเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น






# 23 .. นางเลิ้ง



เป็นชื่อย่านการค้าที่โด่งดังในอดีตแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ



สันนิษฐานว่า นางเลิ้ง มาจากคำว่า อีเลิ้ง เพราะแต่ก่อนบริเวณนี้เป็นที่ที่ชาวมอญผลิตโอ่งอีเลิ้ง และบรรทุกโอ่งใส่เรือมาขาย



จึงเรียกบริเวณนี้ว่า อีเลิ้ง ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น นางเลิ้ง เพื่อความสุภาพ






# 24 .. หางเครื่อง



เดิมที หางเครื่อง คือเพลงลูกบทที่ใช้บรรเลงต่อท้ายเพลงแม่บทในการบรรเลงเพลงไทยเดิม



ต่อมามีผู้คิดให้มีการร่ายรำประกอบตามเพลงในช่วงหางเครื่อง จึงเป็นที่มาของการเต้นประกอบเพลงที่เรียกว่า หางเครื่อง






# 25 .. มหาวิทยาลัย



คือแหล่งความรู้ขนาดใหญ่ เป็นที่รวมของหลายคณะวิชา



แต่ปัจจุบันหลายคนมักเรียกสั้นๆ จนติดปากว่า มหาลัย ทั้งๆ ที่ มหาลัย หมายถึง ที่อยู่ขนาดใหญ่ เท่านั้น






# 26 .. ตกแต่ง - ตบแต่ง



ตกแต่ง หมายถึง ประดับ ปรุงจัดให้ดี ทำให้งาม ใช้ได้ทั้งกับคนและสถานที่ มีความหมายเหมือนกันกับคำว่า ตบแต่ง



แต่คำว่า ตบแต่ง ยังใช้ในความหมายเพิ่มขึ้นอีกอย่าง คือจัดให้ลูกสาวมีเรือนตามประเพณี เช่น ตบแต่งให้ลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝา






# 27 .. เห็นด้วย - เห็นชอบ



สองคำนี้ มีความหมายแตกต่างกัน เห็นด้วย แปลว่า มีความเห็นอย่างเดียวกัน



ส่วนคำว่า เห็นชอบ มีความหมายว่า ถูกต้อง






# 28 .. ลมเสีย



ลมเสีย มาจากการเล่นว่าว ลมเป็นสิ่งสำคัญในการเล่นว่าว ถ้าไม่มีลม หรือลมพัดไม่คงที่ จะเรียกว่า ลมเสีย



เมื่อ ลมเสีย ผู้เล่นว่าวจะเกิดอาการหงุดหงิด ดังนั้นคำว่า ลมเสีย จึงกลายเป็นอารมณ์เสียตามอารมณ์ของผู้เล่น คำนี้ ไม่ใช้คำสะกดว่า รมณ์เสีย






# 29 .. ตั้วโผ



ตั้วโผ มักใช้เรียก เจ้าของคณะหรือหัวหน้าคณะ บางครั้งเรียกเพี้ยนเป็น โต้โผ



ตั้ว แปลว่า ใหญ่ โผ แปลว่าบัญชี เพราะฉะนั้นคำว่า ตั้วโผ โดยรากศัพท์จึงแปลว่า ผู้คุมบัญชีใหญ่






# 30 .. ลงขัน



มาจากคำไทยสมัยก่อน โดยคนไทยนิยมให้ของขวัญแก่กันในงานสำคัญ เช่น งานโกนจุกลูกหลาน



โดยการนำเงินหรือของมีค่า ใส่ลงในขันที่เจ้าภาพตั้งไว้ในงาน จึงเกิดคำว่า ลงขัน ขึ้น



แต่ ปัจจุบันไม่นิยมนำเงินมาลงขันแล้ว อย่างไรก็ตาม ลงขัน ยังมีความหมายเดิมที่แสดงถึงการรวมน้ำใจเพื่อช่วยเหลือคนอื่น


























# 31 .. ขึ้นหม้อ



ใช้ในความหมายเชิงเปรียบเทียบ หมายถึง คนๆ นั้นมีความดีความชอบเร็วกว่าปกติ เพราะมีผู้ใหญ่ในที่ทำงานสนับสนุน






# 32 .. จบเห่



หมายถึง จบงาน หรือยุติ สันนิษฐานว่ามาจากประเพณีการเห่เรือพระราชพิธีในสมัยก่อน ซึ่งเมื่อเรือออกจากท่าก็จะเริ่มเห่เป็นทำนองเพื่อให้พายเรือเข้าจังหวะ



ครั้นเมื่อเรือไปถึงปลายทางแล้ว ก็จะจบการเห่ จึงเกิดคำว่า จบเห่ ขึ้น ปัจจุบันคำนี้ มักใช้ในความหมายว่า ยุติการทำการใดๆ






# 33 .. เต็มเม็ดเต็มหน่วย



เป็นสำนวนที่ใช้ในการทำงานหรือทำสิ่งที่ได้ผลประโยชน์ ครบ ไม่ขาดตกบกพร่อง คำนี้มีที่มาจากการทำนาในอดีต



เล่ากันว่าเวลาต้นข้าวตั้งท้องถ้าไม่มีฝนมาช่วยให้ชุ่มชื้น จะทำให้ข้าวเม็ดในรวง โตไม่เต็มเปลือก ซึ่งจะเรียกว่า ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย






# 34 .. หยิบหย่ง



คำนี้มาจากการนุ่งผ้าโจงกระเบนของไทยในสมัยก่อน ซึ่งคนที่รักสวยรักงามจะเป็นห่วงว่าผ้าโจงกระเบนจะลีบแนบตัว



จึงคอยแต่จะหย่ง หรือดึงผ้าให้พองออก จึงเกิดคำว่า หยิบหย่ง ขึ้น



ปัจจุบันคำนี้หมายถึง คนที่ไม่เอาการเอางาน ทำงานแบบกรีดกราย ไม่ทำอะไรจริงจัง มักจะถูกผู้ใหญ่ตำหนิว่า หยิบหย่ง






# 35 .. เหลือขอ



หมายถึง เด็กที่ดื้อจนผู้ใหญ่บังคับไม่ได้ หรือเอาไม่อยู่ โดยเปรียบเทียบกับช้างที่ถูกควาญบังคับให้ทำตามคำสั่ง โดยการใช้ขอสับ



แต่บางครั้งถ้าช้างตกมันหนักๆ ช้างก็ไม่กลัวตะขอ เลยเรียกกันว่า ช้างเหลือขอ ต่อมาจึงนำมาใช้เรียกเด็กว่า เด็กเหลือขอ






# 36 .. ติดพัน



หมายถึง ผู้หญิงที่มีผู้ชายมารักใคร่ชอบพอ



เดิมคำว่า ติดพัน มาจากการเล่นว่าวของไทย ซึ่งมีการแข่งขันกันสองชนิด คือว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า



โดยผู้เล่นทั้งสองฝ่าย ต่างพยายามคว้าดึงว่าวของคู่ต่อสู้ให้ตกลงมา การคว้าว่าวนี้ จะทำให้สายป่านพาดพันกัน จึงเรียกว่า ติดพัน



ปัจจุบันมีผู้ใช้คำว่า ติดพัน อีกความหมายหนึ่ง คือ การทำบางสิ่งบางอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถผละไปทำอย่างอื่นได้






# 37 .. คอ



เมื่อนำมาใช้ในสำนวนไทย จะหมายถึง ความนิยม หรือความมีใจชอบ เช่น เขาเป็นพวกคอหนัง ไม่ว่าหนังเรื่องไหน เขาต้องไปดูทุกครั้ง



หรือหากใครชอบอะไรเหมือนกัน หรือมีรสนิยมในทางเดียวกัน จะเรียกว่า คอเดียวกัน






# 38 .. เบี้ย



เป็นหอยชนิดหนึ่ง คนไทยเคยนำมาใช้เป็นเงินปลีกย่อย



ต่อมาแม้จะใช้โลหะและกระดาษแทนเบี้ยแล้ว แต่เราก็ยังคงเรียกเงินบางชนิดในปัจจุบันว่า เบี้ย



เช่น เบี้ยเลี้ยง คือ เงินที่จ่ายให้เป็นค่าที่พักและอาหารในการทำงานนอกสถานที่



เบี้ยประชุม คือ เงินค่าตอบแทนในการเข้าประชุม หรือ เบี้ยน้อยหอยน้อย หมายถึง ยากจน มีเงินไม่พอค่าใช้จ่าย






# 39 .. เออออห่อหมก



เป็นสำนวน หมายถึง เห็นด้วย หรือ พลอยเห็นตามไปด้วย



ขุนวิจิตรมาตรา สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากประเพณีการแต่งงานในสมัยก่อน ที่เจ้าบ่าวจะนำขันหมากไปบ้านเจ้าสาวในวันสุกดิบ



โดยของสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้ในขันหมาก คือ ห่อหมก ที่แสดงถึงความตกลงร่วมกัน






คำไทยในบล็อกนี้ คำสุดท้าย # 40 .. เชิด



หมายถึง ยกขึ้นจนเห็นเด่น เช่น เชิดหน้า เชิดหุ่น เป็นต้น


แต่ต่อมา คำว่า เชิด หมายถึงอาการฉกฉวย หรือพาไปอย่างรวดเร็ว เช่น คนรับใช้หนีออกจากบ้านพร้อมกับเชิดเสื้อตัวแพงของฉันไปด้วย















ขอขอบคุณที่ติดตาม



จาก สิน yyswim



บล็อกนี้อยู่ในสาขา Topical Blog หากจะกรุณาโหวตให้ ขอขอบคุณครับ






Create Date : 21 สิงหาคม 2556
Last Update : 21 สิงหาคม 2556 16:21:31 น. 9 comments
Counter : 7694 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับคำไทยค่ะคุณสิน ^^
เห็นแล้วค่ะ ว่าเขียนคำว่าลายเซ็นผิด
ยังไม่ได้ไปแก้เลย

ขอบคุณมากๆนะคะ

ขอแชร์ด้วยนะคะ
มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ



โดย: lovereason วันที่: 21 สิงหาคม 2556 เวลา:23:37:58 น.  

 

มาอ่านคำไทยได้ประโยช์นมาก บางคำชักจะเลอะเลือนไป

ตามกาลเวลา เขียนและใช้ไม่ค่อยถูกแล้วดอกไม้สวย

สะอาดตาดีชอบมากค่ะ ขอบคุณที่นำมาให้ความรู้

ขอให้มีความสุขสุขภาพแข็งแรงทำบล็อกคุณภาพไปนานๆ

ค่ะ โหวตให้ด้วยค่ะ


โดย: พรไม้หอม วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:13:31:37 น.  

 
หลายๆคำก็เป็นคำที่คุ้นเคย แต่ก็ไม่รู้ที่มา
บางคำก็ไม่ค่อยได้ใช้เน๊อะ
ขอบคุณนะคะสำหรับความรู้ใหม่ๆ
อ่านจนจบรู้สึกว่ามีพลังมากขึ้น แบบว่ารับความรู้ไปเต็มๆ
เอ..หรือเราอ้วนก็ไม่รู้ 555


โดย: FreakGirL วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:13:47:30 น.  

 
ได้ความรู้เพิ่มเติมหลายคำเลยค่ะ
มีหลายคำที่นิคใช้ผิดอยู่ประจำ เช่น เซ็น
เขียนแบบผิดๆตลอดเลยเลยเนี่ย



โดย: ที่เห็นและเป็นมา วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:16:06:09 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่สิน
ขอบคุณที่แวะไปทักทายนะคะ
บล็อกนี้ภาพสวยและให้ความรู้ด้วยค่ะ
วันนี้หมดโควต้าแล้ว พรุ่งนี้แวะมาใหม่นะคะ


โดย: เนินน้ำ วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:16:08:43 น.  

 
ขอบคุณพี่สินครับ

ตามาอ่าน แต่มัวไพล่ไปสนใจภาพดอกไม้
สวยๆเสียนี่ สวยมากจริงๆ
ขอเก็บบล็อกนี้ไว้เป็น favorrit ด้วยครับ



โดย: nulaw.m (คนบ้า(น)ป่า ) วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:20:31:26 น.  

 


"คำไทย คนไทยควรรู้ที่มาและความหมาย"

ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้และความหมายด้วยค่ะ



newyorknurse


โดย: newyorknurse วันที่: 23 สิงหาคม 2556 เวลา:5:16:35 น.  

 
มาทบทวนความรู้ภาษาไทยด้วยคนครับพี่สิน หลายๆคำก็เผลอใช้ผิดเป็นประจำเลยครับ ^^


โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา วันที่: 23 สิงหาคม 2556 เวลา:12:00:30 น.  

 
บางคำยังเข้าใจผิดอยู่เลย

เข้าใจผิดตามๆกันเหมือนโรคติดต่อเลยค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ


โดย: คุณนายกุหลาบขาว (Sarang Sarang ) วันที่: 24 สิงหาคม 2556 เวลา:13:42:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yyswim
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 40 คน [?]





บล็อกสรรสาระนี้ จขบ.ไม่ได้เขียน-ไม่ได้ถ่ายภาพ-ไม่ได้อัพโหลดคลิปเอง หากแต่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบล็อก เสาะหาเรื่องดีๆ รูปสวยๆ คลิปแปลกๆ มาไว้ในบล็อก


ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม ขอเชิญชมหรืออ่านตามสบาย ไม่ต้องคอมเมนต์ก็ได้ จขบ.ชอบการเข้ามาเยี่ยม แบบกันเอง ง่ายๆ สบายๆ




เริ่มเขียนBlog เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2548


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2550 เวลา 23.30 น.


เริ่มนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม




Latest Blogs

New Comments
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
21 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add yyswim's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.