* * * * ภาษาไทย #2 * * * * บล็อกที่ 782








* ภาษาไทย #2 *




2





3





4





5





6





7





8





9






10






ภาษาไทย เป็นสมบัติของชาติ รักชาติ สมควรจะช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทย จริงอยู่ ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่อกับชาวต่างประเทศ และใช้ในการทำธุรกิจ แต่เมื่อใดที่มีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์หรือจะต้องกล่าวอะไรที่เป็นทางการต่อหน้าชาวต่างประเทศ จขบ.ขอสนับสนุนให้ใช้ภาษาไทย แล้วต่อด้วยการแปลให้ชาวต่างประเทศฟัง หรือมอบให้ผู้อื่นแปลให้แทน




รวมทั้ง เมื่อใดที่เจอคนไทยด้วยกันในต่างแดน จขบ.ขอสนับสนุนให้ใช้ภาษาไทยพูดคุยต่อกัน เป็นการสื่อถึงความรัก ความกลมเกลียว ความใกล้ชิดต่อกันแบบไทยๆ ที่ชาวต่างประเทศจะเกิดความรู้สึกที่ดี คนไทยควรจะเทอดทูนและภาคภูมิใจถึงเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของชาติ




หากมีลูกหลานในต่างแดน ก็สมควรจะสอนลูกหลานให้ ฟัง อ่าน เขียนภาษาไทยได้บ้าง เพราะ ภาษาไทยเป็นภาษาพ่อแม่ของชาวไทย




บล็อกวันนี้ เป็นภาคต่อของบล็อกเรื่อง “ภาษาไทย” .. ข้างล่างจะเป็น "คำไทย" ที่จะเสนอความหมายแบบสั้นๆ จำนวน 60 คำ ขอเชิญทำความรู้จัก





ขอเชิญฟังดนตรีไทย ‘การแสดงโขน ชุด ยกรบ’ ความยาว 10.21 นาที (ต้องการชมภาพใหญ่กดที่ Youtube)










#26. โอเลี้ยง


“โอเลี้ยง” เป็นคำมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว “โอ” แปลว่า ดำ, “เลี้ยง” แปลว่า เย็น


รวมความแปลว่า สิ่งที่มีสีดำและเย็น ก็คือ กาแฟดำเย็น นั่นเอง





#27. ตั้วโผ


“ตั้วโผ” มักใช้เรียก เจ้าของคณะหรือหัวหน้าคณะ บางครั้งเรียกเพี้ยนเป็น "โต้โผ"


“ตั้ว” แปลว่า ใหญ่ “โผ” แปลว่า บัญชี เพราะฉะนั้น “ตั้วโผ” จึงแปลว่า ผู้คุมบัญชีใหญ่





#28. เซ็น


“เซ็น” มาจากคำภาษาอังกฤษ “Sign” แปลว่า ลงลายมือชื่อ “เซ็น” คำนี้ ไม่มี "ต์" การันต์





#29. เทรนด์


“เทรนด์” มาจากคำภาษาอังกฤษ “Trend” แปลว่า กระแส หรือ แนวโน้ม ปัจจุบันนิยมพูดคำว่า “เทรนด์” ทับศัพท์ เช่น เทรนด์การแต่งกายของเด็กไทยคล้ายกับเด็กญี่ปุ่น





#30. ไอศกรีม


“ไอศกรีม” มาจากคำภาษาอังกฤษ “Ice-cream” แต่คำเขียนภาษาไทยที่ถูกต้อง ต้องเขียนว่า "ไอศกรีม"





#31. อีเมล


“อีเมล” เป็น คำย่อของคำภาษาอังกฤษ “E-mail” ซึ่งมาจากคำเต็มว่า “Electronic Mail“ .. ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติคำที่ใช้เรียก “อีเมล” ว่า “ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์”





#32. เฆี่ยน


“เฆี่ยน” เป็นการลงโทษอย่างหนึ่งในสมัยก่อน คือ การตีด้วยไม้หรือหวาย


คำว่า “เฆี่ยน” ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นคำสแลงและใช้ในวงการกีฬา หมายถึง การเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ “เฆี่ยน” จึงมีความหมายว่า ชนะ สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “Beat” ในภาษาอังกฤษ





#33. ลุ้น


“ลุ้น” เป็นคำสแลง ที่เกิดจากวิธีเล่นไพ่ในสมัยก่อน มีความหมายถึง ความรู้สึกตื่นเต้นที่คาดหวังว่า สิ่งนั้นจะเป็นอะไร หรือเหตุการณ์นั้นจะสำเร็จหรือไม่





#34. เชย


“เชย” เป็นคำพูดติดปากที่ใช้กันในสมัยก่อน หมายถึง เปิ่น, ไม่ทันสมัย ปัจจุบันมีใช้กันน้อย


แต่ความหมายตามพจนานุกรม “เชย” หมายถึง อาการช้อนขึ้นเบาๆ ด้วยความเอ็นดูรักใคร่ เช่น เชยคางขึ้นดูหน้า





#35. ลงขัน


“ลงขัน” มาจากคำไทยในสมัยก่อน ที่คนไทยนิยมให้ของขวัญแก่กันในงานสำคัญต่างๆ เช่น งานโกนจุกลูกหลาน ด้วยการเอาเงินหรือของมีค่า ใส่ลงในขันที่เจ้าภาพตั้งไว้ในงาน จึงเกิดคำว่า "ลงขัน" ขึ้น


ปัจจุบันคำว่า “ลงขัน” มีความหมายที่แสดงถึง การรวมน้ำใจเพื่อทำกิจการ หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น





#36. ชิ่ง


“ชิ่ง” คำนี้เขียนด้วย ‘ช’ มาจากคำที่ใช้ในการเล่นสนุกเกอร์ ต่อมาเป็นคำสแลง ที่มีความหมายแตกต่างจากคำเดิม หมายถึง การที่ผู้ชายตีจากผู้หญิงคนหนึ่งไปคบผู้หญิงคนอื่น





#37. เกริ่น


“เกริ่น” หมายถึง พูดนำก่อนจะพูดเข้าเรื่อง แต่ในความหมายที่แท้จริง "เกริ่น" คือการพูดบอกให้รู้ล่วงหน้า





#38. แก่


“แก่” มีหลายความหมาย ในความหมายหนึ่งเป็นคำเชื่อมประโยค ใช้คำว่า “แก่” แสดงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับ


และสามารถใช้คำว่า “แก่” กับคำกริยาบางคำหรือบางสำนวน เช่น เห็นแก่ตัว เหมาะแก่ฐานะ และ เพียงพอแก่ความต้องการ





#39. เพียบ


“เพียบ” เป็นคำกริยาหมายความว่า หนัก, เกือบจม, เต็มแปล้ ตัวอย่างเช่น เขาถูกรถชนอาการเพียบ





#40. กินโต๊ะ


“กินโต๊ะ” มาจากการรับประทานอาหารจีนแบบนั่งโต๊ะ มีความหมายเป็นคำสแลง หมายถึง รุมกันทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมักเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม





#41. หัวเดียวกระเทียมลีบ


“หัวเดียวกระเทียมลีบ” หมายถึง คนที่อยู่คนเดียว ไม่มีพวก


เป็นสำนวนเปรียบเทียบคนกับลักษณะของกระเทียม โดยกระเทียมส่วนใหญ่ หัวหนึ่งจะมีหลายกลีบ แต่ "กระเทียมโทน" แต่ละหัวจะมีกลีบเดียว จึงกลายเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า "หัวเดียวกระเทียมลีบ"





#42. เถียงคำไม่ตกฟาก


“เถียงคำไม่ตกฟาก” หมายถึง โต้เถียงไม่หยุดปาก เมื่อคนหนึ่งว่า อึกคนหนึ่งก็แย้งสวนกลับทุกครั้ง





#43. ขึ้นหม้อ


“ขึ้นหม้อ” ใช้ในความหมายเชิงเปรียบเทียบ หมายถึง คนๆ นั้นโชคดี มีความดีความชอบเร็วกว่าปกติ เพราะมีผู้ใหญ่ในที่ทำงานสนับสนุน





#44. ขอโทษ


“ขอโทษ” แปลว่า ขอให้ยกเว้นโทษที่ตนทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ คำว่า “ขอโทษ” ยังสามารถใช้คำว่า "ขอประทานโทษ" เมื่อรู้สึกล่วงเกินผู้อื่นมากเกินไป และสามารถใช้คำว่า "ขออภัย" เมื่อต้องการใช้เป็นภาษาทางการ หรือภาษาเขียน





#45. รถเก๋ง


“รถเก๋ง” คือ รถยนต์ แต่ที่มักเรียกเช่นนี้ เพราะเรียกตามอย่างเรือในสมัยก่อน คือ เรือเก๋ง .. เก๋ง หมายถึง เครื่องบังมีฝาและหลังคาแบน


ต่อมาเมื่อมีรถยนต์เข้ามาในเมืองไทย จึงเรียก รถเก๋ง ซึ่งจะใช้เรียกเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น





11





12





13





14





15





16





17





18





19





20






#46. นางเลิ้ง


“นางเลิ้ง” เป็นชื่อย่านค้าขายแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าชื่อ "นางเลิ้ง" มาจากคำว่า "อีเลิ้ง" เพราะแต่ก่อนบริเวณนี้ เป็นแปลงที่ชาวมอญผลิต "โอ่งอีเลิ้ง" และบรรทุกใส่เรือออกไปขายเป็นประจำ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า "อีเลิ้ง" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "นางเลิ้ง" เพื่อความสุภาพ





#47. บาง


“บาง” .. ในกรุงเทพมหานคร เคยมีสมญาว่า เวนิสตะวันออก เพราะมีลำคลองมากมาย และหมู่บ้านหรือตำบลที่อยู่ริมคลองใหญ่หรือลำแม่น้ำใหญ่ในกรุงเทพฯ สมัยก่อน จะใช้คำว่า “บาง” ขึ้นต้นชื่อ เช่น บางจาก บางรัก บางพลัด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯปัจจุบัน


คำว่า "บางกอก" ซึ่งคนไทยแต่ก่อนใช้เรียกชื่อ กรุงเทพฯ นั้น มีหลักฐานว่า เคยเป็นชื่อตำบลที่ตั้งของเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก แต่ยังไม่มีการสรุปแน่นอนว่า “บางกอก” หมายถึงอะไร และมีที่มาจากอะไรกันแน่





#48. พระตำหนัก


“พระตำหนัก” หมายถึง อาคารที่เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน หรือเจ้านายที่เป็นผู้หญิง





#49. วัง


“วัง” หมายถึง ที่อยู่ของเจ้านายตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปถึงเจ้าฟ้า ถ้าเป็นที่อยู่ของพระมหากษัตริย์ จะเรียกว่า “พระราชวัง” เช่น พระราชวังไกลกังวล





#50. เครื่อง


“เครื่อง” หมายถึง สิ่งของ มักใช้นำหน้าในคำประสมที่เป็นของใช้ เช่น เครื่องเขียน, เครื่องบิน


แต่ถ้านำคำว่า "เครื่อง" รวมกับคำอื่น เพื่อใช้เป็นคำราชาศัพท์ ก็จะมีความหมายเกี่ยวข้องกับ ของกินของใช้ของเจ้านาย ตัวอย่างเช่น “ทรงเครื่อง” หมายถึง แต่งตัว, “ตั้งเครื่อง” หมายถึง การตั้งของรับประทาน





#51. กระโถนท้องพระโรง


“กระโถง” เป็นภาชนะสำหรับบ้วนน้ำ และทิ้งสิ่งของต่างๆที่ไม่ต้องการ มักใช้ในบ้านคนไทยในสมัยก่อนหรือใช้ในวัง


“ท้องพระโรง” คือห้องโถงใหญ่ในพระราชวัง


“กระโถนท้องพระโรง” หมายถึง ผู้ที่ใครๆ ก็ใช้ได้ หรือผู้ที่ใครๆก็พากันรุมใช้อยู่คนเดียว





#52. ฉลองพระหัตถ์


“ฉลองพระหัตถ์” เป็นคำที่ใช้เรียก ช้อนและส้อม รวมกัน แต่ถ้าแยกใช้เฉพาะช้อน จะเรียกว่า “ฉลองพระหัตถ์ช้อน” และ ส้อม ก็เรียกว่า “ฉลองพระหัตถ์ส้อม”


ส่วนเครื่องใช้สำหรับคีบอาหาร เช่น ตะเกียบ จะเรียกว่า “ฉลองพระหัตถ์ตะเกียบ”





#53. ฉับพลัน – เฉียบพลัน


“ฉับพลัน” หมายถึง ในทันทีทันใด


“เฉียบพลัน” หมายถึง รุนแรงมาก .. ใช้ในวงการแพทย์ เช่น อาการหัวใจวายเฉียบพลัน





#54. กระบวนการ – ขบวนการ


“กระบวนการ” หมายถึง ลำดับการกระทำซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันไปจนสำเร็จลงในระดับหนึ่ง


“ขบวนการ” หมายถึง กลุ่มคนที่รวมกันเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง





#55. เลขาธิการ – เลขานุการ


“เลขาธิการ” คือ ชื่อเรียกตำแหน่งบริหารสำคัญในพรรคการเมืองหรือองค์การใหญ่ เช่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ


“เลขานุการ” คือ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือตามที่ผู้ใหญ่สั่ง





#56. แมง – แมลง


“แมง” มี 8 หรือ 10 ขา ไม่มีหนวด และไม่มีปีก อย่างเช่น แมงมุม


“แมลง” มี 6 ขา อาจมีปีก 1 หรือ 2 คู่ แต่บางชนิดก็ไม่มีปีก แมลงเป็นสัตว์ที่มีมากชนิดที่สุดในโลก





#57. พระบรมฉายาลักษณ์ – พระบรมสาทิสลักษณ์


“พระบรมฉายาลักษณ์” หมายถึง ภาพถ่ายพระมหากษัตริย์


“พระบรมสาทิสลักษณ์” หมายถึง ภาพเขียนที่เหมือนจริงของพระมหากษัตริย์





#58. หมายกำหนดการ - กำหนดการ


“หมายกำหนดการ” เป็นคำราชาศัพท์ หมายถึง ขั้นตอนงานพระราชพิธี เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


“กำหนดการ” หมายถึง ขั้นตอนงานทั่วไป เช่น กำหนดการงานแถลงข่าวเปิดตัวรายการมอเตอร์โชว์





#59. ทู่ซี้ – เซ้าซี้


“ทู่ซี้” หมายถึง ทนไปจนกว่าจะตาย


“เซ้าซี้” หมายถึง การแสดงออกทางการพูด รบเร้าเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ





#60. เผยแผ่ - เผยแพร่


“เผยแผ่” หมายถึง ทำให้ขยายออกไป ส่วนใหญ่ใช้กับศาสนาต่างๆ ที่มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก


“เผยแพร่” มีความหมายเช่นเดียวกัน แต่มักใช้กับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรู้ต่อๆกันไป เช่น กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับโรคหัวใจแก่ประชาชน





#61. ลิงได้แก้ว – ไก่ได้พลอย, ตาบอดได้แว่น – หัวล้านได้หวี


“ลิงได้แก้ว” หรือ “ไก่ได้พลอย” หมายถึง การไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ตนมีอยู่หรือได้มา


“ตาบอดได้แว่น” หรือ “หัวล้านได้หวี” หมายถึง การได้สิ่งที่ไม่มีประโยชน์แก่ตนเอง





#62. แบบ – แบบว่า


“แบบ” หรือ “แบบว่า” เป็นคำฟุ่มเฟือยและไม่มีความหมาย คนส่วนมากมักใช้พูดนำหน้าคำ หรือในเวลาที่ยังนึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร ตัวอย่างเช่น "ผมอยากทำงานแบบที่ต้องติดต่อผู้คน ไม่ชอบแบบนั่งอยู่กับโต๊ะทั้งวัน"





#63. รูป - องค์


“รูป’ กับ “องค์” เป็นคำลักษณนามที่ใช้เรียก พระภิกษุและพระพุทธรูป


“พระภิกษุ” จะใช้ว่า "พระภิกษุ 5 องค์" หรือ "พระภิกษุ 5 รูป" ก็ได้


แต่ถ้าเป็น "พระพุทธรูป" จะใช้คำว่า "องค์" เท่านั้น





#64. ผัด - ผลัด


“ผัด” หมายถึง ขอเลื่อนเวลาไป มักจะพบในคำว่า ผัดผ่อน, ผัดวันประกันพรุ่ง


“ผลัด” หมายถึง เปลี่ยน, แทนที่กัน จะใช้ในคำว่า ผลัดเปลี่ยน, ผลัดใบ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัยจะผลัดเปลี่ยนเวรกันตอนสองทุ่ม





#65. เห็นด้วย – เห็นชอบ


"เห็นด้วย" มีหมายความว่า มีความเห็นอย่างเดียวกัน


"เห็นชอบ" มีความหมายว่า ถูกต้อง





21





22





23





24





25





26





27





28





29





30






#66. วงการ - แวดวง


“วงการ” หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ประกอบอาชีพ อย่างเดียวกัน เช่น วงการบันเทิง, วงการธุรกิจ ตัวอย่างเช่น เขาเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุยังน้อย จึงเป็นนักแสดงที่มีประสบการณ์มากกว่าคนอื่น


“แวดวง” หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ดำเนินชีวิต เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น เขาเห็นคุณค่าของงานศิลปะ เพราะมีชีวิตอยู่ในแวดวงศิลปินมาตลอด





#67. สตางค์


“สตางค์” มาตรเงินของไทย 1 บาท มี 100 สตางค์ คำว่า สตางค์ เป็นคำเรียกหน่วยเล็กที่สุดของมาตรเงินไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน


นอกจากนี้ “สตางค์” ยังหมายถึง ตัวเงิน ตัวอย่างเช่น ฉันไม่อยากไปซื้อของเขาเลย เพราะวันนี้มีสตางค์น้อย หมายความว่า มีเงินน้อย


ในปัจจุบัน กลุ่มวัยรุ่นมักนิยมพูดตัดคำโดยพูดคำว่า "ตังค์" แทนคำว่า "สตางค์" ตัวอย่างเช่น เดือนนี้จนมาก สงสัยต้องขอตังค์แม่มาใช้แล้ว





#68. ฟอกเงิน


“ฟอก” แปลว่า ทำให้สะอาดหมดจด เช่น ฟอกตัว ฟอกสบู่ เป็นต้น


“ฟอกเงิน” หมายถึง การกระทำใดๆ ที่ทำให้เงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กลายสภาพเป็นเงินที่ได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย สรุปแล้ว “ฟอกเงิน” ก็คือการนำเงินสกปรกทำให้สะอาดนั่นเอง





#69. มืออาชีพ


“มืออาชีพ” ประกอบด้วยคำว่า “มือ” ซึ่งเป็นอวัยวะสำหรับจับ และคำว่า “อาชีพ” ซึ่งหมายถึง การเลี้ยงชีวิต การทำมาหากิน


เมื่อรวมเป็นคำว่า “มืออาชีพ” จะกลายเป็นสำนวนที่หมายความว่า การมีฝีมือระดับที่ใช้ทำมาหากินได้ ตัวอย่างเช่น เขาทำยอดขายสินค้าของบริษัทสูงขึ้นทุกเดือน อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า นักขายมืออาชีพ


ส่วนคนที่ไม่เป็นมืออาชีพ มักใช้คำว่า "มือสมัครเล่น"





#70. จุดยืน


“จุดยืน” หมายถึง ความคิดเห็นที่แท้จริง, ไม่เปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ แปลมาจากภาษาอังกฤษ คำว่า “Stand point”


"จุด" คือรอยหรือแต้ม "ยืน" เป็นอาการที่คนทรงตัวอย่างมั่นคง “จุดยืน” จึงมีความหมายเปรียบเทียบกับ ความคิดที่แน่วแน่





#71. ออมชอม


“ออมชอม” เป็นคำกริยา มีความหมายว่า ปรองดองกัน ตกลงกันด้วยการไกล่เกลี่ย


ตัวอย่างเช่น สามีภรรยาคู่นี้ทะเลาะกันได้ทุกวัน ไม่รู้จักออมชอม อย่างนี้ครอบครัวจะมีความสุขได้อย่างไร


คำว่า "รอมชอม" ที่สะกดด้วย "ร" และ “ลอมชอม” ที่สะกดด้วย "ล" มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ออมชอม’





#72. ตกแต่ง


“ตกแต่ง” หมายถึง ประดับ, ปรุงจัดให้ดี, ทำให้งาม ใช้ได้ทั้งกับคนและสถานที่ ตัวอย่างเช่น ตกแต่งบัญชี, ตกแต่งเรือนหอ, เธอตกแต่งด้วยเครื่องประดับมาอย่างเต็มที่


"ตบแต่ง" หมายถึง ทำให้งาม เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เธอตบแต่งหน้าเค๊กอย่างสวยงาม และคำว่า “ตบแต่ง” ยังใช้ในความหมายเพิ่มขึ้นอีกอย่าง คือ จัดให้ลูกสาวมีเรือนตามประเพณี เช่น ตบแต่งให้ลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝา





#73. ถลุง


“ถลุง” มีหลายความหมาย "ถลุงโลหะ" หมายถึง การใช้ความร้อนหลอมสินแร่ให้เหลือไว้แต่เนื้อโลหะ "ถลุงเงิน" หมายถึง ผลาญเงิน “ถลุง” ที่ใช้ในกีฬาต่อยมวย มีความหมายว่า ถูกต่อยจนเจ็บตัวมาก


คำว่า “ถลุง” ที่ใช้เป็นสำนวน จะมีความหมายทำนองว่า เสียหายหรือย่อยยับ





#74. กรอบ


“กรอบ” คือ การเปราะ แตก หัก เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ง่าย


“กรอบ” ยังหมายถึง ยากจนจนแทบจะดำรงตนไม่รอด ยิ่งถ้า “กรอบเป็นข้าวเกรียบ” ด้วย ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น





#75. จบเห่


“จบเห่” หมายถึง หมดเสียง, หมดท่า, หรือยุติ


คำว่า “จบเห่” สันนิษฐานว่า มาจากประเพณีการเห่เรือพระราชพิธีในสมัยก่อน เมื่อเรือออกจากท่าก็เริ่มเห่เป็นทำนอง เพื่อให้พายเรือเข้าจังหวะ เมื่อเรือถึงปลายทางที่กำหนดแล้ว ก็จะจบการเห่ จึงเกิดคำว่า “จบเห่’ เป็นสำนวนว่า หมดท่า, หรือยุติ





#76. เต็มเม็ดเต็มหน่วย


“เต็มเม็ดเต็มหน่วย” เป็นสำนวนที่ใช้ ในการทำสิ่งที่ได้ผลประโยชน์ออกมาอย่างเต็มที่


สำนวน “เต็มเม็ดเต็มหน่วย” หมายถึง ครบ ไม่ขาดตกบกพร่อง มีที่มาจากการทำนา เล่ากันว่าเวลาต้นข้าวตั้งท้อง ถ้าไม่มีฝนโชยมาเพื่อช่วยให้ชุ่มชื่น ก็จะทำให้ข้าวเม็ดใน โตไม่เต็มเปลือก ซึ่งจะเรียกว่า “ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย”





#77. เด็กเส้น


“เด็กเส้น” เป็นคำสแลงที่พูดกระทบกระเทียบถึงคนที่ได้ดีเกินกว่าคนปัจจุบันเพราะมีผู้มีอำนาจในงานนั้นช่วยเหลือ โดยเรียกคนประเภทนี้ว่า “เด็กเส้น”


“เด็ก” หมายถึง ผู้อ่อนวัย หรือผู้ที่อยู่ในอุปถัมภ์ “เส้น” มาจากคำว่า “เส้นสาย” เมื่อรวมกัน มีความหมายว่า พวกพ้อง หรือผู้ช่วยเหลือที่อยู่วงใน





#78. แจว


“แจว” มีลักษณะเหมือนพาย แต่มีขนาดยาวกว่า ใช้คล้องกับหลักท้ายเรือ อาการพายเรือด้วยแจว เรียกว่า "แจว" เพราะแจวคือ การพายเรือไปข้างหน้า จึงใช้คำว่า “แจว” ในความหมายว่า หนีไปโดยเร็ว ด้วย





#79. หยิบหย่ง


“หยิบหย่ง” มาจาก การนุ่งผ้าโจงกระเบนของไทย ซึ่งบางคนที่รักสวยรักงามจะเป็นห่วงว่าผ้าโจงกระเบนจะลีบแนบตัว จึงคอยหย่ง หรือดึงผ้าให้พองออก จึงเกิดคำว่า "หยิบหย่ง"


ปัจจุบันคำนี้มีความหมายถึง คนที่ไม่เอาการเอางาน กรีดกราย มักจะถูกผู้ใหญ่ตำหนิว่า "หยิบหย่ง"





#80. เหลือขอ


“เหลือขอ” หมายถึง เด็กที่ดื้อจนผู้ใหญ่บังคับไม่ได้ หรือเอาไม่อยู่


โดยเปรียบเทียบกับ ช้างที่ถูกควาญบังคับให้ทำตามคำสั่งโดยการใช้ขอสับ แต่บางครั้งถ้าช้างตกมันหนักๆ ก็ไม่กลัวตะขอ เลยเรียกกันว่า “ช้างเหลือขอ” ต่อมาจึงใช้เรียกเด็กว่า “เด็กเหลือขอ”





#81. ม้วนเสื่อ


"ม้วนเสื่อ" หมายถึง เสียการพนันจนหมดตัวจนต้องม้วนเสื่อเลิกเล่น หรือเลิกกิจการเพราะขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น เจ้าของธุรกิจอาหารช่วงนี้ม้วนเสื่อกันไปหลายรายแล้ว





#82. ติดพัน


“ติดพัน” หมายถึง ผู้หญิงที่มีผู้ชายมารักใคร่ชอบพอ


คำว่า “ติดพัน” เกิดจาก การเล่นว่าวไทย คือว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า โดยผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่างพยายามคว้า คือดึงว่าวคู่ต่อสู้ให้ตกลงมา การคว้านี้จะทำให้สายป่านพาดพันกัน จึงเรียกว่า “ติดพัน”


ปัจจุบันมีผู้ใช้คำว่า “ติดพัน” หมายถึง การทำบางสิ่งบางอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถผละไปทำอย่างอื่นได้





#83. ขึ้นคาน


“ขึ้นคาน” เป็นสำนวนหมายถึง ผู้ที่มีอายุแต่หาคู่แต่งงานที่คู่ควรไม่ได้ มักใช้พูดกับผู้หญิง


สำนวน “ขึ้นคาน” ขุนวิจิตรมาตรา สันนิษฐานว่า มาจากการนำเรือที่จะซ่อมขึ้นมาบนบก ซึ่งต้องทำฐานไว้รองเรือในขณะซ่อม เรียกว่า คานเรือ เรืออยู่บนคาน ไม่ได้นำลงไปใช้งาน เรียกว่า ”ขึ้นคาน”





#84. เออออห่อหมก


“เออออห่อหมก” เป็นสำนวนหมายถึง เห็นด้วย หรือ พลอยเห็นตามไปด้วย


ขุนวิจิตรมาตรา สันนิษฐานว่า สำนวน "เออออห่อหมก" น่าจะมาจากประเพณีการแต่งงาน ที่เจ้าบ่าวนำขันหมากไปบ้านเจ้าสาวในวันสุกดิบ โดยของสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในขันหมาก คือ ห่อหมก ที่แสดงถึงความตกลงร่วมกัน





#85. ลงเอย


“ลงเอย” แปลว่า ถึงที่สุด, สิ้น, จบ


“ลงเอย” มาจากการแต่งคำประพันธ์หลายชนิด เช่น ดอกสร้อย, สักวา, เพลงยาว ที่กำหนดให้ตอนจบ ต้องลงด้วยคำว่า “เอย’ จึงเกิดคำว่า “ลงเอย” แปลว่า จบ







บล็อกเรื่อง “ภาษาไทย” ตอนแรก เป็นบล็อกที่ 769 เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554






31





32





33





34





35





36






37





35



ขอขอบคุณที่ติดตาม


ขอขอบคุณมากๆ นะครับ ที่มีผู้กรุณาโหวตให้ ในสาขา Topical Blog



จาก สิน yyswim





 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2554
10 comments
Last Update : 6 กรกฎาคม 2554 20:35:29 น.
Counter : 4922 Pageviews.

 


สว้สดีค่ะ คุณสิน

ขอบคุณค่ะ น้อยเขียนผิดหลายคำ

ภาพพระ งามๆทั้งนั้นเลยค่ะ

 

โดย: newyorknurse IP: 108.41.82.209 6 กรกฎาคม 2554 19:32:21 น.  

 

ดูรูปชุดนี้แล้วชอบจังค่ะ วิถีชีวิตแต่ละคน บางคนสุข บางคนทุกข์นะคะ
ส่วนคำไทยยอมรับเลยว่ามีบางคำยังเขียนปิดอยู่
และบางคำก็ไม่ค่อยได้เขียนเลยค่ะ

 

โดย: ส้มแช่อิ่ม 6 กรกฎาคม 2554 20:13:07 น.  

 

วันนี้ได้รู้จักความหมายของคำหลายคำเลยค่ะีพี่สิน
ขอบคุณมากๆนะคะ อ่านเพลินเลยค่ะ
บล็อคดีมีสาระขอชื่นชมและขอโหวตให้ค่ะ

 

โดย: Shallow Grave 6 กรกฎาคม 2554 21:13:15 น.  

 



ข่าวจาก น.ส.พ.ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2554



เมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2554 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แถลงข่าว วันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2554 ว่า



“ภาษาไทยเป็นมรดกสำคัญของชาติที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์และถ่ายทอดไปยังคนรุ่นใหม่ รวมทั้งจะต้องมีการปลูกจิตสำนึกการใช้ภาษาไทยในเด็กและเยาวชนให้ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันภาษามีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย มีภาษาวัยรุ่นเกิดขึ้นมากจนทำให้ภาษาประจำชาติผิดเพี้ยนไป”



“วธ. จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องใน วันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 รวมทั้งได้คัดเลือกและยกย่องผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นแบบอย่างสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งมีกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการและกิจกรรมหมอภาษา การแสดงทางวัฒนธรรมโดยใช้ภาษาถิ่น รวมทั้งร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด จัดทำดวงตราไปรษณีย์ที่ระลึก เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เป็นครั้งแรกด้วย”



ปลัด วธ. กล่าวต่อว่า “สำหรับผลการประกาศรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และภาษาไทยถิ่นดีเด่น ปี 2554 มีดังนี้




ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 13 คน ได้แก่


พระธรรมโกศาจารย์ (ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร ธมฺมจิตโต)


ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร


คุณหญิงคณิตา เลขะกุล


นางชอุ่ม ปัญจพรรค์


นายช่วย พูลเพิ่ม


ศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล


ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น


ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิพุธ โสภวงศ์


พลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยเอกเสนีย์ วิลาวรรณ


และนายอาจิณ จันทรัมพร




ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 15 คน ได้แก่


นายกันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร


นายธีรภาพ โลหิตกุล


นางสาวนภา หวังในธรรม


นายนิติพงษ์ ห่อนาค


พลตรีประพาศ ศกุนตนาค


นายประภัสสร เสวิกุล


นายปราโมทย์ สัชฌุกร


นายศักดิ์สิริ มีสมสืบ


นายศุ บุญเลี้ยง


นางสินจัย เปล่งพานิช


นาวาอากาศโทสุมาลี วีระวงศ์


นายสัญญา คุณากร


นางอารีย์ นักดนตรี


และนายเอนก นาวิกมูล




ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นชาวต่างประเทศ 2 คน ได้แก่


ศาสนาจารย์ ดร. เอสเธอร์ เวคแมน


และนางศริสตี แอนน์ เคนนีย์ บราวน์ฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย




ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 9 คน ได้แก่


พระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร)


ดร.ฉันทัส ทองช่วย


นางสาวนฤมล มั่นวงศ์วิโรจน์


นายบุญธรรม เทิดเกียรติชาติ


นายพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ


นายมนัส สุขสาย


นายเมืองดี นนทะธรรม


ผู้ช่วยศาสตราจารย์สนิท บุญฤทธิ์


และนายอินตา เลาคำ”



นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดทำแสตมป์ชุดอักษรไทย ก.เอ๋ย ก.ไก่ ขึ้น ถือเป็นครั้งแรกของไปรษณีย์ไทย เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ประจำชาติ และร่วมสร้างจิตสำนึกในมรดกวัฒนธรรมทางภาษา โดยมีพยัญชนะทั้ง 44 ตัวในภาษาไทย พร้อมภาพประกอบของพยัญชนะแต่ละตัว รวม 44 ดวง เพื่อให้เป็นสื่อเรียนรู้อักษรไทย เริ่มแรกสำหรับเด็กเล็ก จำหน่ายในราคาดวงละ 100 บาท จัดทำคละแบบรวม 2 แผ่นๆ ละ 24 และ 20 ดวงตามลำดับ เริ่มจำหน่ายในวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ที่ไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ”




นายการุณ สุทธิภูล รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า


“คณะกรรมการโครงการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) ครั้งที่ 8 ได้คัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) ประจำปี 2554 เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อยกย่องบุคคลวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ทั้งนักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ด้านภาษา วรรณกรรม และนักร้องที่ร้องเพลงออกเสียงชัดเจน และถูกต้องตามหลักภาษาไทย ดังนี้




รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต


ประเภทเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลง “บ้านเรา” ประพันธ์โดย นายชาลี อินทรวิจิตร


ประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” ประพันธ์โดย นายไพบูลย์ บุตรขัน




รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย คำร้องเพลงไทยสากล


รางวัลชนะเลิศ เพลง “บ้านเราจะเหมือนเดิม” ประพันธ์โดย นายประภาส ชลศรานนท์


รางวัลชมเชย 2 รางวัล เพลง “กราบดิน” ประพันธ์โดย นายปฏิเวธ อุทัยเฉลิม (ฟองเบียร์) และเพลง “เพลงของเธอ” ประพันธ์โดย นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา




รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง


รางวัลชนะเลิศ เพลง “เทียนไขไฟฟ้า” ประพันธ์โดย นายสิปปภาส รักวงค์ (ปาน ประกาศิต)


รางวัลชมเชย 2 รางวัล คือเพลง “สัญญาก่อนนอน” ประพันธ์โดย นายสร่างศัลย์ เรืองศรี (หนู มิเตอร์ อาร์สยาม)


และเพลง “รางวัลคนสู้” ประพันธ์โดย นายศิวพล เพชรทอง (หลุยส์ ท่าศาลา)




รางวัลผู้ขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย เพลงไทยสากลชาย


รางวัลชนะเลิศ เพลง “ลิขิตรักจากเบื้องบน” ขับร้องโดย นายอุเทน พรหมมินทร์


รางวัลชมเชย เพลง “หวังดีประสงค์รัก” ขับร้องโดย นายนภัทร อินทร์ใจเอื้อ (กัน เดอะสตาร์)


และเพลง “เสียงในความเงียบ” ขับร้องโดย นายสุวีระ บุญรอด (คิว วงฟลัวร์)




รางวัลผู้ขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย เพลงไทยสากลหญิง


รางวัลชนะเลิศ เพลง “ขอไปให้ถึงดาว” ขับร้องโดย น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร)


รางวัลชมเชย เพลง “แค่คำๆ เดียว” ขับร้องโดย น.ส.วิชญาณี เปียกลิ่น (แก้ม เดอะสตาร์)


และเพลง “ดาวเรือง” ขับร้องโดย เด็กหญิงลวัศย์สร พลายสวาท




รางวัลผู้ขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย เพลงไทยลูกทุ่งชาย


รางวัลชนะเลิศ เพลง “สัญญาก่อนนอน” นายสร่างศัลย์ เรืองศรี (หนูมิเตอร์ อาร์สยาม)


รางวัลชมเชย เพลง “ทุกหยาดเหงื่อเพื่อเธอ” ขับร้องโดย พันจ่าอากาศเอก วีรยุทธิ์ นานช้า (บ่าววี อาร์สยาม)


และเพลง “หวานไม่เป็น” ขับร้องโดย นายจเร ภู่ทอง (สันติ ดวงสว่าง อาร์สยาม)




รางวัลผู้ขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย เพลงไทยลูกทุ่งหญิง


รางวัลชนะเลิศ เพลง “กลัว” ขับร้องโดย น.ส.เตือนใจ ศรีสุนทร (ฝน ธนสุนทร)


รางวัลชมเชย คือ เพลง “ผู้หญิงดั่งดอกไม้” ขับร้องโดย น.ส.ฐิตาภา ใต้ไธสง, น.ส.นววรรณ นนทโชติ (หญิง ธิติกานต์ อาร์สยาม, ทราย อาร์สยาม)


และเพลง “ไม่ร้องไห้ไม่ใช่ไม่เจ็บ” ขับร้องโดย น.ส.อรทัย ดาบคำ (ต่าย อรทัย)




ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษา ไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น รวมทั้งรางวัลโครงการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) จะเข้ารับโล่รางวัลจากนายกรัฐมนตรี ในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2554 คือ วันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จ.กรุงเทพ



 

โดย: yyswim 7 กรกฎาคม 2554 2:43:27 น.  

 

สวัสดีครับคุณพี่สิน

บล็อกนี้เสมือนเป็นบล็อครวมไทยเลยนะครับ ผมได้ความรู้เพิ่มจากความต่างของคำแมง กับ แมลง เผยแผ่ กับเผยแพร่ เพิ่งจะรู้ความหมายแท้จริงวันนี้ครับ

ขอเติมให้คุณพี่หน่อยครับ เดี๋ยวนี้ใช้ลงขันในทางไม่ดีก็มีแต่ถูกต้องไหมไม่รู้เหมือนกันครับ เช่น ลงขันกันให้มือปีนไปเก็บนาย...เป็นต้น น่าคิดอยู่ครับก็เลยเอามานำเสนอต่อ

ขอกราบขอบพระคุณคุณพี่สินที่ให้ความกรุณาเสมอมาด้วยนะครับ

 

โดย: find me pr 7 กรกฎาคม 2554 7:05:30 น.  

 

ทหรา จ มหนฺตา จ เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
สพฺเพ มจฺจุวสํ ยนฺติ สพฺเพ มจฺจุปรายนา

ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเขลา ทั้งฉลาด
ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า

ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ด้วยความไม่ประมาท ตลอดไป...นะคะ


 

โดย: พรหมญาณี 7 กรกฎาคม 2554 9:46:59 น.  

 

เข้ากะวันภาษาไทยเลยพี่สิน

บล็อกจุใจเช่นเคย

ที่เห็นคนใช้กันผิดบ่อยที่สุดก็คงจะเป็น หมายกำหนดการ กับ กำหนดการ เนี่ยแหละนะครับ

เอาะ อีกคำนึง อันนี้ผมใช้ผิดเอง "เซ็น" ผมเผลอติด ต.การันต์ประจำ _ _"

 

โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา 7 กรกฎาคม 2554 10:52:22 น.  

 

///หากมีลูกหลานในต่างแดน ก็สมควรจะสอนลูกหลานให้ ฟัง อ่าน เขียนภาษาไทยได้บ้าง เพราะ ภาษาไทยเป็นภาษาพ่อแม่ของชาวไทย///

คนไทยต่างแดนทีนิวยอร์ค ส่วนมากเห็นความสำคัญของภาษาพ่อแม่ และวัฒนธรรม ของชาวไทยมากค่ะ

ว้นอาทิตย์ ทางวัดจะมีครูมาสอนภาษาไทย และ ดนตรีไทยหลายชนิด ขณะที่เด็กไปโรงเรียนตามปกติ ว้นอาทิตย์ก็ไปเรียนภาษาไทยตั้งแต่บ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น

เริ่มด้วยการเคารพธงชาติ ไหว้พระในโบสถ์ และฟ้งพระคุณท่านเทศสอน จากนั้นก้แยกกันไปเรียนตามระดับ มีแบ่งเป็นชั้นป 1 2 3 4 จากนั้น หน้าร้อนที่ปิดเทอมจะมีเรียนทุกว้น หนี่งเดือนเต็มตั้งแต่ แปดโมงเช้า ถึงสี่โมงเย็น มีการสอบเทียบได้ประกาศนียบัตร จากกระทรวงศีกษาที่ประเทศไทย เด็กบางคนเรียนติดต่อ จนสอบผ่านชั้นป 7 มีความสามารถในการเล่นดนตรี แสดงละคร โขน รำไทย มีวงดนตรี มีการแสดงประจำปี และไปแสดงให้คนต่างชาติได้ชม เป็นที่น่าชื่นชมมากค่ะ

แต่การที่จะทำได้อย่างนี้ ก็ต้องอาศัยกำลังใจและกำลังกายของคุณพ่อ คุณแม่ เพราะต้องเสียไปหนี่งวัน คือวันอาทิตย์หล้งจากที่ทำงานทุกว้น จันทร์ ถึงศุกร์ ออกบ้านแต่เช้าไปทำงาน เย็นกว่าจะทำอะไรเสร็จได้นอนก็ สี่ห้าทุ่ม
วันเสาร์ หยุดก้ต้องดุแลความสะอาดที่อยู่ ซักผ้า ซื้ออาหารไว้ เพื่อจะได้มีอาหารทั้งอาทิตย์
ว้นอาทิตย์ ทีเหลือ ถ้าอยากให้ลูกเรียนภาษาไทย ก็พาลูกไปรร
ชีวิตอเมริกา ทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาไปไหน ถ้าอยากให้ลูกเรียนภาษาไทยและดนตรี ก็ดี พ่อไม่มีเวลาเหลือมามายที่จะไปไหน ต้องช่วยกันในครอบครัว


 

โดย: newyorknurse (newyorknurse ) 7 กรกฎาคม 2554 20:13:52 น.  

 

สติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันผู้ประเสริฐอบรมบริบูรณ์ดีแล้ว
ทั้งกายทั้งจิตของผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว

มีสติ มีความสุข กับทุกวันดี ๆ ตลอดไป...นะคะ



 

โดย: พรหมญาณี 8 กรกฎาคม 2554 11:09:09 น.  

 


เพิ่งรู้ว่า เซ็น ไม่มี ต เต่า การันต์ค่ะ

อีเมล ไม่มีการันต์

และหยิบหย่ง ไม่ใช่ หยิบโหย่ง

เคยสงสัย เผยแผ่ กับ เผยแพร่ ความหมายเดียวกันนี่เอง....


ขอบคุณค่ะ



 

โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ 8 กรกฎาคม 2554 17:05:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


yyswim
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 40 คน [?]





บล็อกสรรสาระนี้ จขบ.ไม่ได้เขียน-ไม่ได้ถ่ายภาพ-ไม่ได้อัพโหลดคลิปเอง หากแต่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบล็อก เสาะหาเรื่องดีๆ รูปสวยๆ คลิปแปลกๆ มาไว้ในบล็อก


ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม ขอเชิญชมหรืออ่านตามสบาย ไม่ต้องคอมเมนต์ก็ได้ จขบ.ชอบการเข้ามาเยี่ยม แบบกันเอง ง่ายๆ สบายๆ




เริ่มเขียนBlog เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2548


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2550 เวลา 23.30 น.


เริ่มนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม




Latest Blogs

New Comments
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
6 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add yyswim's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.