* * * * ภาษาไทย * * * * บล็อกที่ 769










* ภาษาไทย *




ขอเชิญฟังเพลงไทยบรรเลง ‘ภาษาใจ’ ความยาว 3.04 นาที









2





3





4





5






ภาษาไทย เป็นภาษาแม่ของชาวไทย เป็นภาษาทางการของประเทศไทย (ผู้วางระเบียบคือราชบัณฑิตยสถาน) ภาษาไทยนอกจากจะพูดในประเทศไทยทุกภาคแล้ว ยังมีการพูดในประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ตอนใต้ของประเทศพม่า และตอนไต้ของประเทศจีน




ภาษาไทย นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติไทยที่ควรจะรักษาไว้ เสียงในภาษาไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ การออกเสียงของวรรณยุกต์นี่แหละ ที่เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติ แต่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยที่คนไทยจะผันเสียงวรรณยุกต์กันได้ และเข้าใจความหมายของคำ




เช่น คำว่า แก, แก่, แก้, ขา, ข่า, ข้า, เสือ, เสื่อ, เสื้อ, เกา, เก่า, เก้า, ตอ, ต่อ, ต้อ คนไทยจะออกเสียงคำเหล่านี้ได้ และรู้ด้วยว่าความหมายของคำเหล่านี้ไม่เหมือนกัน แต่คนฝรั่ง คนญี่ปุ่น ที่ฝึกเรียนภาษาไทยหลายคน จะงุนงงกับเสียงและความหมายของคำเหล่านี้ จะผันวรรณยุกต์ผิดบ่อยๆ .. นี่ละเอกลักษณ์ของภาษาไทย สมควรที่คนไทยจะชื่นชมและหวงแหนให้อยู่ประจำชาติไทยตลอดไป




จขบ.สนใจภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ เห็นภาษาอังกฤษจะเบือนหน้าหนี อาจจะเพราะอดีตเป็นนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนชนบทต่างจังหวัด ซึ่งไม่มีครูฝรั่ง ไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับภาษาอังกฤษในโรงเรียน เมื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพก็เลยเรียนภาษาอังกฤษตามเพื่อนๆที่เรียนและพูดภาษาอังกฤษบ่อยๆ ตามเขาไม่ทัน พาลเบื่อ พาลไม่ชอบภาษาอังกฤษ แต่กับภาษาไทยจะชอบจะสังเกตเสมอ .. ซึ่งทำให้เข้าใจที่บางคนบอกว่า ภาษาไทยยาก ภาษาอังกฤษง่ายกว่า นั่นก็เพราะพื้นฐานการใช้และการฝึกมาตั้งแต่เด็ก รวมทั้งการได้รับกำลังใจเมื่อเรียนและเมื่อสอบ ทำให้สนใจภาษาใดภาษาหนึ่งมากขึ้นกว่าอีกภาษาได้




บล็อกวันนี้ ขอนำภาษาไทย จากรายการ ‘รู้ รัก ภาษาไทย’ ของราชบัณฑิตยสถาน จขบ.นำมาจาก เว็บ royin.go.th ส่วนที่เกี่ยวกับคลังความรู้ – ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม มาเผยแพร่





#1 ญาติ



คำว่า ญาติ มาจากคำภาษาบาลี ญาติ (อ่านว่า ยา-ติ) ตามรูปศัพท์แปลว่า การรู้ หมายถึง ผู้ที่มีเชื้อสายเดียวกันและยังนับรู้กันได้ แต่ไม่รวม พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา.



ในภาษาไทยใช้ในความหมายใกล้เคียงกับในภาษาบาลี เช่น เขาเป็นคนมีญาติมาก. ลูกไม่ควรพูดล่วงเกินญาติผู้ใหญ่. งานทำบุญ ๑๐๐ วันคุณปู่ ถือได้ว่าเป็นงานรวมญาติ.



คำที่ใช้เรียกญาติ มีหลายคำ ได้แก่ เทียด ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หลาน เหลน ลื่อ ลืบ ลืด.



พ่อแม่และพี่น้องนั้น นับเป็นญาติสนิท.



นอกจากนี้ในสังคมไทย ยังนับญาติของผู้ที่มาแต่งงานกับญาติคนใดคนหนึ่งของเราเป็นญาติด้วย ญาติในลักษณะนี้บางถิ่นเรียกว่า ดอง.



การนับชั้นญาติ มีการนับเป็นญาติผู้ใหญ่และญาติผู้น้อย.



ญาติผู้ใหญ่ หมายถึง ญาติที่มีอายุมากกว่าหรือมีลำดับศักดิ์สูงกว่า ได้แก่ พี่ น้า อา ลุง ป้า ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด เทียด.



ญาติผู้น้อย หมายถึง ญาติที่มีอายุน้อยกว่าหรือมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่า ได้แก่ น้อง หลาน เหลน ลื่อ ลืบ ลืด



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.






#2 เชื้อชาติ - สัญชาติ



เชื้อชาติ หมายถึงลักษณะเฉพาะทางชีวภาพของคน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะรูปพรรณ สีผิว เส้นผม และนัยน์ตา



ผู้ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน จะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือดและทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้ายิ่งนับถือศาสนาเดียวกัน ก็จะรู้สึกผูกพันกันยิ่งขึ้น.



ส่วนสัญชาติ หมายถึงการเป็นสมาชิกหรือประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่งตามกฎหมาย แม้ลักษณะของบุคคลทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาจแตกต่างกัน



ผู้ที่เกิดในประเทศใดก็จะได้สัญชาติของประเทศนั้น ผู้ที่ถือสัญชาติของประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะเป็นประชาชนประเทศนั้นๆ ด้วย.



สัญชาติ เป็นสิ่งที่โอนย้ายได้ตามกฎหมาย เช่น เขาเป็นคนเชื้อชาติไทย เดิมมีสัญชาติไทย แต่ปัจจุบันไปก่อร่างสร้างตัวอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จนได้สัญชาติอเมริกันแล้ว. ผู้ที่บิดามารดามีเชื้อชาติอื่นแต่ได้สัญชาติไทย ลูกก็จะได้สัญชาติไทยตามกฎหมายและถือว่ามีเชื้อชาติไทยด้วย. คนเราแม้จะต่างเชื้อชาติและศาสนาแต่หากมีสัญชาติเดียวกันก็ควรสามัคคีปรองดองกัน



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#3 ครับ



ครับ เป็นคำลงท้ายแสดงความสุภาพในภาษาไทย เป็นคำที่ผู้ชายใช้ เช่น สวัสดีครับ, ท่านผู้ฟังครับ, ผมมาถึงแล้วครับ.



นอกจากจะใช้เป็นคำลงท้ายแล้ว ยังใช้เป็นคำตอบรับ เช่น ถามว่า คุณชื่อสมศักดิ์ใช่ไหม ตอบว่า ครับ ผมชื่อสมศักดิ์



คำว่า ครับ เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ขอรับ ซึ่งปรากฏในหนังสือเก่า เช่น ในบทละครเรื่อง กลแตก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายบุญ คนใช้ของหลวงวิศาลวัฒนากร รับคำสั่งเจ้านายว่า ขอรับ.



คำว่า ขอรับ เป็นคำย่อจากคำกราบบังคมทูลว่า ขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม หมายความว่า รับพระบรมราชโองการหรือพระราชดำรัสใส่เกล้าใส่กระหม่อมเพื่อนำไปปฏิบัติ



เมื่อใช้คำว่า ครับ ควรออกเสียงพยัญชนะควบ ให้ชัด มิฉะนั้นจะกลายเป็นคำว่า คับ ซึ่งมีความหมายว่า แน่น, ตึง, ไม่พอดี. คำลงท้ายเพื่อความสุภาพของผู้ชาย ใช้ว่า ครับ



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#4 ขุน



ขุน มีหลายความหมาย



ความหมายแรกใช้ในสมัยโบราณ หมายถึง เจ้าผู้ครองเมือง, ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, เช่น ขุนศรีอินทราทิตย์. ขุนสามชน.



ต่อมาใช้เป็นบรรดาศักดิ์ข้าราชการรองจากหลวงลงมา เช่น ขุนกิตติวาท. ขุนวิจิตรมาตรา แต่ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว.



ขุน อีกความหมายหนึ่ง เป็นคำเรียก หมากรุกตัวสำคัญที่สุด คือ ตัวพระราชา.



นอกจากนี้ ขุน ใช้เป็นคำเปรียบ หมายถึงผู้มีความสามารถในการใช้อาวุธชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ขุนขวาน. ขุนค้อน. ขุนดาบ.



คำว่า ขุน อีกคำหนึ่ง เป็นคำกริยา หมายถึง ให้อาหารแก่สัตว์, เลี้ยงดูให้สมบูรณ์, เช่น หมูเล้านี้อ้วนท้วนทุกตัว แสดงว่าเจ้าของขุนมาดี. โดยปริยายหมายถึง เลี้ยงดูอย่างดีเป็นพิเศษ เช่น เนื้อโคขุนมีราคาแพงเพราะมีคุณภาพดี.



สำนวนไทยใช้ว่า ขุนไม่ขึ้น หรือ ขุนไม่เชื่อง หมายความว่า เลี้ยงไม่เชื่อง มีแต่เนรคุณ เช่น ลูกน้องเก่ากลับมายกเค้าบ้านเจ้านาย เข้าทำนองขุนไม่เชื่อง



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#5 ฤกษ์



คำว่า ฤกษ์ มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ฤกฺษ (อ่านว่า ริกฺ-ษะ)



ความหมายหนึ่งหมายถึง กลุ่มดาวจระเข้, กลุ่มดาวต่างๆ ซึ่งเคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันในแต่ละคืน, ดาวหรือกลุ่มดาวที่ขึ้นเด่นบนท้องฟ้ายามที่คนตกฟาก ซึ่งจะมีผลต่อชะตาชีวิตของผู้นั้นไปตลอดชีวิตด้วย



คำว่า ฤกษ์ ในภาษาไทย มีความหมายแตกต่างกับคำภาษาสันสกฤตเล็กน้อย คือ



ฤกษ์ หมายถึง กลุ่มดาวนักษัตรกลุ่มหนึ่งๆ ไม่ได้หมายถึง กลุ่มดาวจระเข้ เช่น วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระจันทร์โคจรเข้าสู่มาฆฤกษ์ และเต็มดวงในขณะที่อยู่มาฆฤกษ์นั้น.



ฤกษ์ ในภาษาไทยหมายถึง ช่วงเวลาที่เชื่อว่าจะทำให้บุคคลได้รับผลดีหรือผลร้าย เช่น เวลาจะยกขันหมากมาสู่ขอ ต้องเป็นไปตามฤกษ์ที่เป็นมงคลแก่คู่บ่าวสาว.



คำว่า ฤกษ์ เมื่อใช้ตามลำพัง มักจะหมายถึงฤกษ์ที่ดี ที่เป็นมงคล เช่น หาฤกษ์ลงเสาเอก. โหรให้ฤกษ์แต่งงานมาแล้ว.



นอกจากนี้คำว่า ฤกษ์ ยังหมายถึง โอกาสที่ดีด้วย เช่น เห็นเขาควงสาวหน้าเดิมไปดูหนังบ่อยๆ ปีหน้าคงจะได้ฤกษ์สละโสดเสียที



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





6





7





8






#6 รอ



คำว่า รอ เมื่อเป็นคำนามมีความหมายถึง หลักที่ปักไว้เพื่อกันกระแสน้ำที่ไหลมาแรง ซึ่งอาจทำให้ตลิ่งพัง เช่น กระแสน้ำพุ่งมาตรงตลิ่งนั้น เขาจึงทำรอกันไว้.



รอ เมื่อเป็นคำกริยา มีความหมายว่า จ่อไว้ เช่น เขาเป็นลม พยาบาลจึงเอาสำลีชุบแอมโมเนียมารอที่จมูกให้เขาได้กลิ่น.



ถ้าใช้ว่า รอหน้า จะแปลว่า เผชิญหน้า เข้าหน้า เช่น เธอทำของเขาเสีย แล้วจะมาอยู่รอหน้าให้เขาด่าเอาหรือ.



รอ แปลว่า คอยเพื่อให้พบ ได้รับ หรือเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รอเข้าพบรัฐมนตรี. รอเวลาเข้าสอบ. รอให้ข้าวสุก. ศาลตัดสินว่าเขาผิดจริงแต่เป็นความผิดครั้งแรกจึงให้รอลงอาญาไว้ก่อน.



รอ มีความหมายคล้าย คอย คือ ปล่อยให้เวลาผ่านไปก่อนที่จะเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่คำว่า คอย บ่งความหมายว่า เฝ้า เฝ้าดู ด้วย เช่นที่ใช้ว่า หอคอย. คอยระวังเหตุ. การเฝ้าดูอาจเป็นไปเพื่อจับผิด เช่น ถ้าเธอคอยจับผิดสามี เธอก็จะไม่มีความสุข.



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#7 องค์



องค์ เป็นคำมาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า องฺค (อ่านว่า อัง-คะ) แปลว่า ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ตัว, ตน.



คำว่า องค์ ใช้เป็นคำลักษณนามราชาศัพท์ สำหรับนามที่เป็นอวัยวะต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ เช่น พระทนต์องค์หนึ่ง แปลว่า ฟันซี่หนึ่ง. ของใช้ส่วนพระองค์ เช่น พระสนับเพลาองค์ใหม่ แปลว่า กางเกงตัวใหม่, พระที่นั่ง ๒ องค์ แปลว่า พระที่นั่ง ๒ หลัง. ความคิดหรือคำพูดของพระมหากษัตริย์ เช่น พระบรมราโชวาทองค์นี้ แปลว่า พระบรมราโชวาทเรื่องนี้



คำว่า องค์ ใช้เป็นคำลักษณนาม ของสิ่งที่เกี่ยวกับศาสนา และสิ่งที่คนเคารพบูชาด้วย เช่น พระบรมสารีริกธาตุองค์หนึ่ง, พระอรหันต์องค์หนึ่ง, พระประธานองค์นี้, เจดีย์ ๓ องค์, เทวดา ๒ องค์



ปัจจุบันมักมีผู้นำคำว่า องค์ มานำหน้า คำนำหน้าพระนาม เช่นใช้ว่า *องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว *องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งไม่ถูกต้อง



คำว่า องค์ จะใช้นำหน้าพระนามในลักษณะดังกล่าวไม่ได้ เพราะเมื่อใช้คำว่า องค์ นำหน้าเช่นนั้น จะทำให้แปลว่า ตัวพระเจ้าอยู่หัว ความหมายผิดจากที่ต้องการใช้ ให้ใช้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถ



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#8 ใน



คำว่า ใน เมื่อใช้ในคำราชาศัพท์ แปลว่า แห่ง หรือ ของ ใช้เฉพาะบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องเป็นส่วนในพระองค์กับพระราชวงศ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล (อ่านว่า มะ -นัด -นิด วะ -นิก -กุน) เป็นราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ. ข้าราชบริพารในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี. ใช้กับคณะบุคคลก็ได้ เช่น รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.



ใน ใช้กับสิ่งที่เกิดจากพระองค์ หรือเป็นของพระองค์ด้วย เช่น พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. พระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ.



ถ้าเป็นบุคคลหรือสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นส่วนในพระองค์ ให้ใช้คำว่า ของ เช่น พระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. พระสหายของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ. พระอาจารย์ของพระเจ้าหลานเธอ. พระราชวังพญาไทเคยเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#9 หนึ่ง



หนึ่ง เป็นตัวเลขตัวแรกของจำนวนนับ ใช้ในความหมายว่า จำนวนเดียว คนเดียว สิ่งเดียว อาจใช้เน้นความหมายว่าหนึ่งเท่านั้น เช่น คุณเป็นหนึ่งในดวงใจของผม. เขาเป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัลนี้. หรือในกรณีตรงข้าม ใช้ในความหมายว่าเป็นแต่เพียงหนึ่งในจำนวนมาก เช่น เขาเป็นเพียงผู้ชายคนหนึ่งที่ฉันรู้จัก. เขาติดต่อกับผมผ่านเพื่อนคนหนึ่ง.



คำว่า หนึ่ง อาจขยายความหมายไปหมายถึง เป็นเลิศ ก็ได้ เช่น เพื่อนๆ ยกให้เขาเป็นหนึ่งในรุ่น. เขาเป็นเพชรน้ำหนึ่งในวงการกีฬา. นางโอบาม่าเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา



และหนึ่ง มักใช้เทียบกับสอง เช่น ฝีมือตำน้ำพริกของเขาเป็นหนึ่งไม่มีสอง. ผู้ชายคนนี้ไม่รู้จักพอ ได้หนึ่งจะเอาสอง.



นอกจากนั้นคำว่า หนึ่ง ยังประกอบกับคำอื่น ใช้เป็นสำนวน



นับหนึ่ง หมายถึง ตั้งต้น เช่น ธุรกิจของเขาล่มสลายต้องนับหนึ่งใหม่.



น้ำหนึ่งใจเดียว หมายถึง มีความกลมเกลียวคิดเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น พวกเราร่วมกันทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#10 สอง



สอง คือ จำนวนหนึ่งบวกหนึ่ง มักใช้ในความหมายว่า ไม่ใช่หนึ่ง เช่น สองใจ หมายถึง มีจิตใจไม่แน่นอนในเรื่องชู้สาว มักใช้แก่ผู้หญิง เช่น เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้หญิงสองใจ.



สองจิตสองใจ หมายความว่า ลังเล ตัดสินใจไม่ได้ เช่น ฉันสองจิตสองใจว่าจะเรียนต่อดีหรือหางานทำดี.



สองแง่สองง่าม หมายความว่า ตีความหมายได้ ๒ นัย คือพูดฟังดูเหมือนปรกติแต่มีนัยความหมายไปในทางหยาบโลน เช่น ในเพลงพื้นบ้านมักมีคำพูดสองแง่สองง่าม. ฉันไม่ชอบตลกคนนี้เพราะชอบพูดสองแง่สองง่าม.



สองต่อสอง เป็นสำนวนหมายถึง แต่ลำพัง ๒ คนโดยเฉพาะในที่ลับหูลับตา มักใช้แก่ชายหญิงที่อยู่กันตามลำพัง เช่น แม่เตือนลูกสาวไม่ให้อยู่กับเพื่อนชายสองต่อสอง.



ตีสองหน้า หมายถึง ทำตัวเข้าด้วยกับทั้ง ๒ ฝ่ายโดยหวังประโยชน์ เช่น เขาเป็นคนตีสองหน้า ต่อหน้าทำเป็นชอบพอรักใคร่ พอลับหลังก็เอาเราไปว่า.



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





ขอเชิญฟังเพลงไทยบรรเลง ‘คิดจะปลูกต้นรักสักกอ’ ความยาว 3.20 นาที









9





10





11






#11 ขวัญ



คำว่า ขวัญ มีหลายความหมาย ความหมายแรก หมายถึง ผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย.



อีกความหมายหนึ่งหมายถึง สิ่งที่ไม่มีตัวตน เชื่อว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิด โดยปรกติขวัญจะอยู่กับตัวก็จะเป็นสิริมงคล สุขสบาย จิตใจมั่นคง.



นอกจากจะมีขวัญประจำตัวบุคคลแล้ว สิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญ ก็ถือว่ามีขวัญประจำด้วย เช่น ขวัญบ้าน ขวัญเมือง ขวัญข้าว ขวัญช้าง.



นอกจากนี้ ข้าวที่บรรจุในบายศรี จะเรียกว่า ข้าวขวัญ และเรียกไข่ต้มปอกเปลือก เสียบไม้ปักไว้บนยอดบายศรีว่า ไข่ขวัญ เชื่อกันว่าใครได้กินไข่ขวัญจะเป็นคนฉลาด.



คำว่า ขวัญ ยังนำไปใช้ขยายคำอื่น เช่น ลูกแก้วลูกขวัญ หมายถึง ลูกที่พ่อแม่รักมากที่สุด. ขวัญตา หมายถึง สิ่งหรือบุคคลที่เห็นเป็นที่เจริญตา. ขวัญใจ หมายถึง เป็นที่ชื่นชมรักใคร่. เงินขวัญถุง หมายถึง เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้ใหญ่มอบให้ในงานแต่งงานเป็นต้น เพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคล.



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#12 ครั้ง - คราว



คำว่า ครั้ง กับ คราว มีความหมายเหมือนกัน และบางกรณีมีที่ใช้เหมือนกัน คือใช้เป็นลักษณนามบอกจำนวนของการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และใช้อ้างถึงการกระทำนั้นๆ ด้วย เช่น ปีนี้เขาไปเชียงใหม่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนตุลาคม. มากรุงเทพฯ คราวนี้เขาตั้งใจว่า ต้องไปกราบคุณยายให้ได้ เพราะเมื่อมา ๒ คราวก่อน ไม่มีเวลาแวะไปเลย.



คำว่า ครั้ง กับ คราว สามารถใช้คู่กันเป็น ครั้งคราว หมายถึง เป็นบางครั้ง ไม่บ่อยนัก หรือไม่สม่ำเสมอ เช่น ครอบครัวเราจะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นครั้งคราว. หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว เขายังไปเยี่ยมเพื่อนที่เคยร่วมงานเป็นครั้งคราว.



คำว่า คราว เมื่อประสมกับคำว่า ชั่ว ซึ่งแปลว่า ช่วงเวลา เป็นคำว่า ชั่วคราว มีความหมายว่า ระยะเวลาไม่นาน ไม่ถาวร ไม่ตลอดไป เช่น เขาพักอยู่ที่บ้านเพื่อนชั่วคราว ระหว่างที่ยังหาบ้านเช่าไม่ได้



นอกจากนี้คำว่า คราว ยังมีความหมายว่า รุ่น โดยถือเอาอายุที่เท่ากันหรือไล่เลี่ยกัน เป็นเครื่องกำหนด เช่น เด็ก ๒ คนนี้อายุคราวเดียวกัน. บางทีใช้ว่า รุ่นราวคราวกัน หรือ รุ่นราวคราวเดียวกัน เช่น คุณย่าและคุณยายของเขาเป็นคนรุ่นราวคราวกัน. เขาและเธอเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน. ในกรณีนี้จะใช้คำว่า ครั้ง แทนไม่ได้



คำว่า ครั้ง และ คราว มี ร เรือ ควบกล้ำ ควรออกเสียงให้ชัดเจนทั้ง ๒ คำ



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#13 แผ่



คำว่า แผ่ เป็นคำกริยา หมายความว่า กางออก ทำให้ขยายออก เช่น ต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปคลุมพื้นที่หลายตารางเมตร. แม่นกแผ่หางกางปีกออกป้องลูกน้อยไว้. เขารื้อข้าวของออกมาวางแผ่ไว้เต็มห้อง.



คำว่า แผ่ หมายความว่า ขยายออกไป เช่น ในสมัยโบราณการสงครามมักเกิดเพราะการแผ่อำนาจของกษัตริย์บางพระองค์. ประเทศมหาอำนาจมักจะแผ่อาณาเขตของตนออกไปครอบครองประเทศเล็กๆ ที่อยู่ข้างเคียง. เราไม่ยอมให้เขามาแผ่อิทธิพลทางการเมืองในหมู่บ้านของเรา.



คำว่า แผ่ ใช้ในความหมายที่เป็นนามธรรมก็ได้ เช่น เมื่อเราทำบุญแล้วเราจะแผ่ส่วนบุญไปให้ผู้ที่มีทุกข์เพื่อช่วยให้เขาพ้นทุกข์. พระสอนให้เราแผ่เมตตาไปยังผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากทั่วโลก



คำว่า แผ่ อาจประสมกับคำอื่นได้เป็น ตีแผ่ เผื่อแผ่.



ตีแผ่ หมายถึง นำความลับออกมาแสดงหรือเปิดเผยให้รู้กันทั่วไป เช่น นำเรื่องลับของบุคคลสำคัญมาตีแผ่.



เผื่อแผ่ หมายถึง เอื้อเฟื้อ มีสิ่งใดดีสิ่งใดมีประโยชน์ก็นำมาแบ่งให้กัน เช่น โลกจะมีสันติสุขถ้าเรารู้จักเผื่อแผ่กันและกัน



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#14 เผย



คำว่า เผย เป็นคำกริยาหมายความว่า ค่อยๆ เปิดออก, ค่อยๆ แง้มออก, เปิดให้เห็นสิ่งที่ปิดอยู่ เช่น หญิงสาวเผยหน้าต่างออกมายืนชมจันทร์. ความเขินอายทำให้เธอนิ่งอยู่นานก่อนที่จะเผยปากพูดกับชายหนุ่ม. ลมแรงที่พัดกระโปรงของดาราสาวเผยให้เห็นเรียวขาที่งาม. เสื้อคอต่ำเผยให้เห็นผิวที่ขาวผ่องเหนือทรวงอกของเธอ. ฟ้าเผยแสงสีทองที่เป็นเสมือนม่านอยู่หลังปุยเมฆสีขาว



คำว่า เผย หมายความว่า บอกสิ่งที่เป็นความลับหรือสิ่งที่ยังไม่มีผู้รู้ เช่น ในที่สุดการกระทำของเขาก็เผยธาตุแท้ของเขาออกมาให้เรารู้จนได้. คุณมีความลับอะไรก็เผยออกมาซิ.



ถ้าใช้ว่า เผยตัว จะมีความหมายว่า แสดงตัว ปรากฏตัว เช่น ตราบใดที่ไอ้โม่งผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการประท้วงครั้งนี้ยังไม่เผยตัว เราก็ไม่ทราบว่ามีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่ด้วยหรือไม่



คำว่า เผย อาจใช้ประสมกับคำอื่น ทำให้เกิดเป็นคำประสมว่า เผยแผ่ เผยแพร่ เปิดเผย ล้วนมีความหมายว่า เปิดออก แสดงให้เห็น แสดงให้ปรากฏทั้งสิ้น



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#15 สงฆ์ – ภิกษุ - พระ



ในภาษาไทย คำว่า สงฆ์ ภิกษุ พระภิกษุ พระ ใช้หมายถึงผู้ที่เป็นศาสนทายาทของพระพุทธศาสนา ออกบิณฑบาตเวลาเช้าและไม่ฉันอาหารในเวลาวิกาล คือหลังเวลาเที่ยงวันไปจนถึงรุ่งเช้า.



แต่คำว่า สงฆ์ ภิกษุ และพระ นั้น ตามรูปศัพท์มีความหมายต่างกัน.



คำว่า สงฆ์ มาจากคำว่า สงฺฆ (อ่านว่า สัง-คะ) แปลว่า หมู่ หมายถึง หมู่ของภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งเป็นจำนวนภิกษุน้อยที่สุด ที่จะสามารถทำสังฆกรรมได้ตามพุทธบัญญัติ. ภิกษุจำนวนน้อยกว่านี้จะไม่เป็นคณะสงฆ์ ไม่สามารถประกอบสังฆกรรมใดๆ เช่น สวดปาฏิโมกข์ หรือ รับกฐิน.



คำว่า ภิกษุ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ภาษาบาลีใช้ว่า ภิกขุ แปลว่า ผู้ขอ หมายความว่า ภิกษุเป็นผู้ที่เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการขออาหารบิณฑบาต ซึ่งพุทธศาสนิกชนใส่ให้ในเวลาเช้า. ภิกษุเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติตนตามวินัยสงฆ์อย่างเคร่งครัด.



ส่วนคำว่า พระ มาจากคำว่า วร (อ่านว่า วะ -ระ) แปลว่า ประเสริฐ ใช้เป็นคำยกย่องพระภิกษุหรือพระสงฆ์ พระภิกษุหรือพระสงฆ์ ตัดใช้เฉพาะคำว่า พระ คำเดียวหมายถึง พระภิกษุ ก็ได้.



นอกจากนี้ คำว่า พระ ยังหมายถึง พระพุทธรูป ด้วย เช่นในคำว่า ไหว้พระ บูชาพระ.



คำที่ใช้เรียกศาสนทายาทในทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันใช้ทั้งคำว่า สงฆ์ พระสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ พระภิกษุ ภิกษุ และพระ แม้ว่าแต่ละคำจะมีความหมายเฉพาะต่างกัน



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





12





13





14






#16 บูชา



บูชา เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า ปูชา หมายถึง การเคารพ การให้เกียรติ การให้ความเคารพ. มักใช้หมายถึง การแสดงความเคารพบุคคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่นับถือ ด้วยสิ่งที่ดีๆเช่น ดอกไม้หอม ธูป เทียน ของหอมต่างๆ เป็นต้น. ในทางพระพุทธศาสนาจัดว่า การบูชาดังกล่าว เป็นอามิสบูชา (อ่าน อา-มิด-สะ-บู-ชา) คือการบูชาด้วยสิ่งของ. คำว่า อามิส แปลว่า สิ่งของอันเป็นเครื่องล่อใจให้หลงยินดี การบูชาแบบนี้แม้จะจัดว่าเป็นการกระทำที่ดี แต่ก็ถือว่ามีค่าน้อยกว่า การบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่า ปฏิบัติบูชา (อ่านว่า ปะ-ติ-บัด-บู-ชา) หรือ ปฏิปตฺติปูชา (อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ-ปู-ชา)



ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า การปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือละความชั่ว กระทำความดี และฝึกใจให้ผ่องแผ้ว คือไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง เป็นการแสดงความเคารพนับถือพระพุทธเจ้า เป็นการบูชาที่ถูกต้องที่สุด



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#17 สึก



ในภาษาไทยมีคำว่า สึก อยู่ ๓ คำ



สึก คำหนึ่งหมายถึง กร่อนไป เช่น เขานอนกัดฟันจนฟันสึก. รองเท้าคู่นี้ใช้มานานจนสึก.



สึก คำที่ ๒ แปลว่า รู้ ปรากฏในคำซ้อนว่า รู้สึก



ส่วน สึก อีกคำหนึ่งหมายถึง ละจากการเป็นพระภิกษุ สามเณร หรือชี เช่น เขากระทำสัตย์ต่อหน้าพระปฏิมาว่า จะบวชไม่สึก. หลานชาย ๒ คนบวชหน้าไฟให้คุณย่า อีกไม่กี่วันก็สึก.



คำว่า สึก คำหลังนี้ ยังมีอีกความหมายหนึ่งหมายถึง ทำให้พระภิกษุละสมณเพศ มักใช้ว่า สึกพระ เช่น พระวินยาธิการ (อ่านว่า วิ-นะ -ยา-ทิ-กาน) สึกพระนอกรีตที่ทำเสน่ห์ให้สีกา. หรือหมายความว่า ทำให้ละจากการเป็นชี เช่น พออิเหนารู้ว่า แอหนัง คือบุษบาซึ่งบวชเป็นชี ก็จัดการสึกชีโดยนำผ้ามาให้เปลี่ยน.



คำว่า สึก ในคำว่า พระสึก สึกพระ สึกชี กร่อนมาจากคำว่า สิกขา ผู้ที่บวชคือผู้ที่เข้าศึกษาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เมื่อเลิกบวชก็คือ ลาจากการศึกษาพระธรรมวินัย เรียกว่า ลาสิกขา. คำว่า ลาสิกขา กร่อนเป็น "ลาสิก" แล้วเปลี่ยนเสียงเป็น "ลาสึก" หรือ "สึก"



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#18 อาบน้ำศพ



ตามประเพณีไทยเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งสิ้นชีวิตลง ญาติพี่น้องจะทำพิธีอาบน้ำศพ คือชำระล้างร่างกายผู้ตายให้สะอาด แต่งกายด้วยเสื้อผ้าให้สวยงามเรียบร้อย.



ปัจจุบันเมื่ออาบน้ำศพเรียบร้อยแล้ว มักจะเชิญญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ผู้ที่เคารพนับถือมาอาบน้ำศพอีกครั้งหนึ่งด้วยน้ำอบไทย. การอาบน้ำศพในช่วงนี้ มักใช้วิธีรดน้ำลงที่มือของผู้ตาย และมักเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า รดน้ำศพ.



การรดน้ำศพ เป็นโอกาสให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และมิตรสหายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ขออโหสิกรรมจากผู้ตาย และได้เห็นหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย.



ผู้ที่เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป และข้าราชการฝ่ายทหารตำรวจยศชั้นร้อยตรีขึ้นไป อาจขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพได้ ตามวิธีการที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้กำหนดไว้



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#19 หลั่งน้ำ



หลั่งน้ำ หมายถึง การเทน้ำหรือประพรมน้ำ ซึ่งเป็นน้ำมนต์หรือน้ำหอมพร้อมกับคำพร ซึ่งเป็นคำแสดงความปรารถนาดีที่ให้แก่ผู้รับ. พระภิกษุหรือผู้ใหญ่ที่เคารพจะประพรมน้ำมนต์ให้โดยรดลงบนศีรษะของผู้ที่ต้องการรับ เรียกว่า หลั่งน้ำพระพุทธมนต์



การหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ที่กระทำแก่คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน อาจเรียกเป็นคำทั่วไปว่า รดน้ำสังข์ หรือ รดน้ำ. การรดน้ำแก่คู่บ่าวสาว ผู้ที่รดต้องมีอายุมากกว่า มีศักดิ์สูงกว่า หรือเป็นผู้ใหญ่กว่าคู่บ่าวสาว และจะรดน้ำที่ศีรษะหรือที่มือพร้อมกับให้พร ให้คู่บ่าวสาวมีชีวิตสมรสที่ราบรื่นเป็นสุขและเจริญมั่งคั่ง.



นอกจากการรดน้ำแก่คู่บ่าวสาวแล้ว ยังมีการรดน้ำแก่ผู้ที่มีอายุครบ ๖๐ ปีขึ้นไป ผู้ที่มีอายุไม่ถึง ๖๐ ปี ไม่นิยมให้ผู้อื่นมารดน้ำ. ผู้ที่มีอายุน้อยกว่าจะรดน้ำให้ที่มือพร้อมกับกล่าวคำแสดงความปรารถนาดี หรือขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาให้พรแก่ท่านผู้นั้นแทนตน. ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่าอาจรดน้ำให้ที่มือพร้อมกล่าวคำอวยพรได้



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#20 ไหว้ครู



ไหว้ครู หมายถึง ทำพิธีแสดงความเคารพครูบาอาจารย์ เป็นการฝากตัวเป็นศิษย์ก่อนเริ่มเรียน. ในสมัยก่อนพ่อแม่จะพาลูกหลานไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูในวันพฤหัสบดี และจะต้องเตรียมธูปเทียนดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของการบูชาครูไปไหว้ครูด้วย.



ปัจจุบันสถานศึกษามักจัดพิธีไหว้ครูในช่วงต้นปีการศึกษา โดยกำหนดวันพฤหัสบดีวันใดวันหนึ่งเป็นวันไหว้ครู นักเรียน นิสิต นักศึกษา จะนำพานดอกไม้ ธูปเทียน หญ้าแพรก ดอกเข็ม ดอกมะเขือ ไปกราบครูอาจารย์.



ดอกไม้ธูปเทียน เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความเคารพ.



หญ้าแพรก มีความหมายว่า ให้มีความรู้แตกฉานรวดเร็ว เพราะหญ้าแพรกเป็นหญ้าที่เจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว.



ดอกเข็ม มีความหมายว่า ให้มีปัญญาเฉียบแหลม เพราะดอกเข็มมีลักษณะเหมือนเข็มที่แหลมคม.



และดอกมะเขือ มีความหมายว่า ให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อวดดีกับครู เพราะดอกมะเขือเมื่อบานดอกจะโน้มลง.



ผู้ที่เรียนวิชาศิลปะ วิชาช่าง หรือวิชาใดๆ กับครู ก็จะมีพิธีไหว้ครูเพื่อบูชาครูที่ให้กำเนิดวิชาทั้งหลายเหล่านั้น เช่น พิธีไหว้ครูโขนละคร พิธีไหว้ครูดนตรีไทย พิธีไหว้ครูช่างสิบหมู่



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





ขอเชิญฟังเพลงไทยบรรเลง ‘ในฝัน’ ความยาว 4.37 นาที










15





16





17





18






#21 ประเพณี



คำว่า ประเพณี ยืมมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ปฺรเวณิ (อ่านว่า ปฺระ -เว-นิ) ใช้หมายถึงสิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบๆ กันมาจนเป็นแบบแผน



ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน กล่าวไว้ว่า ประเพณีแบ่งได้เป็น จารีตประเพณี ขนบประเพณี และธรรมเนียมประเพณี



จารีตประเพณี คือประเพณีที่สังคมถือว่า ถ้าใครในสังคมฝ่าฝืนหรืองดเว้นไม่กระทำตาม ถือว่าเป็นความผิดความชั่ว จารีตประเพณีเป็นจรรยาและศีลธรรมของสังคม เช่น หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีสามีถือว่า ผิดจารีตประเพณี



ขนบประเพณี คือประเพณีที่สังคมได้ตั้งหรือวางเป็นระเบียบแบบแผนขึ้นไว้ จะโดยตรงหรือโดยอ้อมแล้วแต่กรณี เช่น ลูกที่ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ถือว่าผิดขนบประเพณี



ส่วนธรรมเนียมประเพณี คือประเพณีที่สังคมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่ถือว่าผิด เป็นแต่นิยมกันว่าควรประพฤติ เช่น เมื่อผู้น้อยไปหาผู้ใหญ่ ก็มักจะมีของไปฝากตามธรรมเนียมประเพณี



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#22 สามัญ



คำว่า สามัญ มาจากคำภาษาบาลีว่า สามฺ (อ่าน สา-มัน-ญะ) แปลว่า ซึ่งเท่าๆ กัน, ซึ่งเหมือนๆ กัน. สิ่งใดก็ตามที่มี ขนาด รูปร่าง สีสัน และลักษณะต่างๆ เหมือนๆ กับสิ่งอื่นๆ ก็เรียกว่า สิ่งนั้นมีลักษณะแบบ สามฺ



ดังนั้น สามัญ จึงมีความหมายว่า ทั่วไป, ธรรมดา, ปรกติ เช่น



ที่จริงคนธรรมดาสามัญก็แยกความดีความชั่วได้,



ยาสามัญ หมายความว่า ยาที่ใช้ได้ทั่วไป เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ และยาลดกรด เป็นยาสามัญ.



ชั้นสามัญ หมายความว่า ขั้นต้น เช่น พระราชาคณะมี ๔ ชั้น ชั้นสามัญเป็นชั้นแรก ชั้นธรรมเป็นชั้นสูงสุด.



คำว่า สามัญ ใช้ขยายคำนามอื่น มีความหมายว่า เป็นไปตามปรกติ มักคู่กับคำว่า วิสามัญ ซึ่งมีความหมายว่า ไม่เป็นไปตามปรกติ เช่น ลูกเสือสามัญ คู่กับ ลูกเสือวิสามัญ, การประชุมสมัยสามัญ คู่กับ การประชุมสมัยวิสามัญ, สมาชิกสามัญ คู่กับ สมาชิกวิสามัญ.



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#23 อัศจรรย์



อัศจรรย์ แปลว่า แปลก ประหลาด เช่น วันนี้เกิดอัศจรรย์มาก ทั้งๆ ที่เป็นหน้าหนาว อยู่ๆ ฝนก็ตกลงมาขณะที่แดดออกแจ๋. เธอก็รู้ว่าสุดาเขาโกรธฉันมานานแล้ว ฉันจึงอัศจรรย์ใจจริงว่า ทำไมสุดาจึงเอาขนมมาให้ฉันเมื่อวานนี้.



คำว่า อัศจรรย์ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า อาศฺจรฺย (อ่านว่า อาศ-จัร-ยะ) แปลว่า แปลกประหลาด พิสดาร ตรงกับคำภาษาบาลีใช้ว่า อจฺฉริย (อ่านว่า อัจ-ฉะ -ริ -ยะ)



นอกจากคำว่า อัศจรรย์ แล้ว ไทยนำคำนี้มาใช้ว่า มหัศจรรย์ ซึ่งแปลว่า อัศจรรย์มาก ยิ่งอัศจรรย์ เช่น ในโลกเรานี้มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นเสมอ. ถ้าเธอได้ไปเห็นเขาเป่าแก้วแล้วเธอจะตื่นเต้นมาก เป็นสิ่งมหัศจรรย์จริงๆ ที่เด็กอายุเพียง ๙ ขวบเท่านั้นเป่าแก้วเป็นเรือหงส์สวยงามมากแล้วทำได้เร็วด้วย. ถ้าคนโบราณมาเห็นตึกสูงเป็นร้อยชั้นอย่างนี้คงรู้สึกว่ามหัศจรรย์ทีเดียว



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#24 ระบำ - เต้นรำ



ระบำ เป็นคำนาม เรียกการแสดงท่ารำประกอบดนตรีและเพลงร้อง มักใช้ผู้แสดงหลายคน เป็นชุดที่มุ่งความสวยงามและความพร้อมเพรียงกัน.



ระบำ มักเป็นการแสดงที่ใช้ประกอบในการแสดงละคร อย่างในละครเรื่องพระลอ มีการแสดงระบำไก่, ละครเรื่องไกรทอง มีระบำมัจฉา, ในละครเรื่องรามเกียรติ์ มีระบำดาวดึงส์ เป็นต้น.



การแสดงระบำ ไม่ต้องประกอบกับการแสดงละครก็มี เช่น ระบำนพรัตน์, ระบำสี่ภาค, ระบำเก็บใบชา, ระบำกะลา.



นอกจากนี้คำว่า ระบำ ยังใช้เรียกการแสดงเต้นรำของชาวต่างชาติ เช่น ระบำปลายเท้า คือการเต้นบัลเล่ต์ที่ผู้แสดงเต้นรำแบบชาวตะวันตก ซึ่งมีท่าเต้นที่ผู้เต้นต้องยืนด้วยปลายเท้าด้วย



ระบำ ต่างกับ เต้นรำ ซึ่งเน้นการเคลื่อนตัวที่เป็นจังหวะในการก้าวเท้าให้เข้ากับจังหวะเพลงที่แตกต่างกันไป โดยการลงจังหวะหนึ่ง จะก้าวเท้าแบบหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนจังหวะเพลง การก้าวเท้าก็จะเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง.



การเต้นรำ จะเต้นเป็นคู่ชายหญิง เป็นกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานของผู้เต้นรำ ไม่ใช่การแสดงให้ผู้อื่นชม ปัจจุบันอาจจะจัดเป็นการแสดงเพื่อให้ผู้อื่นชมหรือจัดแข่งเป็นกีฬาประเภทหนึ่งด้วย



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





#25 ห้อยต่องแต่ง



คำว่า ห้อย หมายความว่า แขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ติดอยู่ แต่ปล่อยส่วนปลายให้เป็นอิสระ ทำให้เคลื่อนไปมาได้ เช่น ลูกมะม่วงห้อยลงมาจากกิ่ง เวลาลมพัดแรงๆ ก็จะไกวไปตามแรงลม.



กริยา ห้อย อาจใช้กับอวัยวะของคนได้ เช่น เด็กๆ นั่งห้อยเท้าอยู่ที่ท่าน้ำ.



ลักษณะของริมฝีปากล่างที่หนาและยื่นมากกว่า ปรกติมักจะเรียกว่า ปากห้อย



ถ้าใช้ว่า ลิ้นห้อย จะมีความหมายว่า เหนื่อยมากจนหายใจปรกติไม่ได้ ต้องอ้าปากหายใจเพื่อให้อากาศเข้าสู่ปอดได้มากๆ มักจะใช้ในความเปรียบ เช่น เขาเร่งทำงานจนลิ้นห้อย



คำว่า ห้อย มักจะใช้คำวิเศษณ์ขยายว่า ต่องแต่ง หรือ โตงเตง มีความหมายต่างกัน.



ห้อยต่องแต่ง หมายความว่า ห้อยอยู่หมิ่นๆ เกือบจะหลุด เช่น รูปห้อยต่องแต่งอยู่จะหลุดอยู่แล้ว.



ส่วน ห้อยโตงเตง หมายความว่า ห้อยอยู่แล้วแกว่งไปมา เช่น กระเช้าขึ้นยอดเขาห้อยโตงเตงอยู่บนลวดสะลิงที่แข็งแรง



ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





19





20




21




25 คำภาษาไทย .. บล็อกยาวหน่อย


แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบภาษาไทย การได้อ่านทบทวนจะเป็นสิ่งประเทืองปัญญา ขอขอบคุณที่ติดตาม


และขอขอบคุณมากๆ นะครับ ที่มีผู้กรุณาโหวตให้ ในสาขา Topical Blog



จาก สิน yyswim





 

Create Date : 03 มิถุนายน 2554
20 comments
Last Update : 3 มิถุนายน 2554 0:32:54 น.
Counter : 4559 Pageviews.

 

มาลงชื่อไว้...อ่านง่ายสวยด้วย

 

โดย: Alone. IP: 118.172.176.21 3 มิถุนายน 2554 2:02:14 น.  

 

ภาพสวยจังเลยค่ะพี่สิน
เมื่อวานมีแถลงข่าวการประกวดบ๊อกอวอร์ดครั้งที่ 2
พี่สินไม่ได้ไปเหรอคะ

 

โดย: อุ้มสี 3 มิถุนายน 2554 5:43:15 น.  

 

สวัสดีคะ

เข้ามารับความรู้และชมภาพสวยๆคะ

 

โดย: เจ้าช่อมาลี (PP_Skywalker ) 3 มิถุนายน 2554 7:33:39 น.  

 

ภาพสวย เรื่องสมใจที่เข้ามาอ่านค่ะพี่สิน

ขอบคุณที่รวบรวมมาให้ใช้ประโยชน์ ตอน

แต่งกลอน อิอิ

มาโหวตค่ะ

 

โดย: วาดฝันมธุรพจน์ 3 มิถุนายน 2554 8:39:47 น.  

 

น้องอุ้ม..

ไม่ได้ไปครับ กล่อง ชวนเหมือนกัน
พอดีไปว่ายน้ำบ่าย กลับมาเย็น ก็ยุ่งอยู่กับ
การต่อคลิปวีดิโอ นั่งทำเป็นชั่วโมง
ทำหลายโปรแกรม แต่ไม่สามารถต่อคลิปได้
สุดท้ายก็ต้องอัพเพลง ลงเว็บยูทูป แบบแยกเป็นเพลงๆ
แบบเดิม โฮะ โฮะ ประถมเหลือเกิน ทำอะไรไม่เป็น
ไม่กล้าถามใคร

น้องอุ้ม ไปเหรอ?
ไม่รู้จะมีใครอัพเรื่องราวและรูป ลงบล็อกบ้าง
เดี๋ยวจะลองไปบล็อกย่าดาดู

 

โดย: yyswim 3 มิถุนายน 2554 9:35:13 น.  

 

ขอขอบคุณ คุณAlone, คุณเจ้าช่อมาลี, คุณวาดฝันมธุรพจน์ นะครับ

 

โดย: yyswim 3 มิถุนายน 2554 9:35:34 น.  

 

ขอบคุณค่ะ ได้รู้เรื่องเพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะพี่สิน

 

โดย: ขวดแก้วสีฟ้า 3 มิถุนายน 2554 9:49:10 น.  

 

..สวัสดีคะ่ พี่สิน

..ภาพประกอบสวยมากเลยคะ
..พิงกี้เป็นคนหนึ่งที่มักเขียนภาษาไทยผิด อยู่บ่อยๆ ละอายใจจริง

มาโหวตให้บล็อกดีๆแบบนี้ค่ะ

 

โดย: pinkypunch 3 มิถุนายน 2554 10:02:47 น.  

 

ขอขอบคุณ คุณขวดแก้วสีฟ้า ขอขอบคุณน้องพิงกี้ นะครับ

 

โดย: yyswim 3 มิถุนายน 2554 12:08:13 น.  

 

โหย พี่สิน ขอดูรูปสวยๆอย่างเดียวก่อนนะครับ เอนทรี่ที่แล้วก็เข้าไปดูรูปสองสามหนที่เกีียวกะพระจันทน์

เอนทรี่วันนี้เนื้อหาแน่นมาก ต้องใช้เวลาพอสมควรเลย

ขอบคุณพี่สินที่เรียบเรียงรวบรวมมานะครับ แถมภาพสุดงามในทุกๆเอนทรี่ด้วย

 

โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา 3 มิถุนายน 2554 12:56:32 น.  

 

ขอบคุณ หยี .. ไม่ว่าง ก็ดูแค่รูป เน้อ

งานอาชีพ อิ่มท้องไปถึง โฟกัส

 

โดย: yyswim 3 มิถุนายน 2554 13:47:01 น.  

 

สวัสดีค่ะพี่สิน น้องรินเป็นเด็กภาษาไทยที่เคยได้เกรด 4 สมัยเรียนมาบ่อยๆ

แต่ทุกวันนี้ทั้งที่เลยวัยรุ่นมาแล้วกลับมาเขียนภาษาไทยแตกหน่อ

หรือเพี้ยนๆ ไปอีก ทั้ง ๆที่รู้ว่า คำถูกเขียนว่าอะไร อิอิ

บล้อกพี่สินมีประโยชน์มากจริงๆ ค่ะพี่สิน นำเสนอค้นหามาได้ดีมากเลย

อ้อชอบรูปด้วยค่ะ วัดอรุณที่นี้เอง ถ้าถ่ายในวัดออกมาไม่สวน มุมเยอะมาก

ต้องไปฝ่ายอีกฝั่งหนึ่งถึงสวย เชื่อแล้วค่ะ

มีภาพเมืองโบราณด้วย ไปกี่ทีก็ได้ภาพสวย ๆ กลับมาตลอด

 

โดย: Rinsa Yoyolive 3 มิถุนายน 2554 22:13:46 น.  

 

ขอบคุณ น้องริน ครับ

บล็อกเอนทรีนี้ ตั้งใจจะนำเสนอมานาน เพิ่งจะสบโอกาส

อันที่จริง บล็อกนี้ไม่ได้เขียนเองนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูล ‘รู้ รัก ภาษาไทย’ ของราชบัณฑิตยสถาน มา ณ โอกาสนี้


เรื่องเกรด 4 ขอยินดีด้วยนะ


การเขียนคำไทย บางครั้งพี่สินก็อยากจะเขียนให้ถูกต้อง

แต่อีกใจก็อยากจะให้ถูกใจวัยรุ่น

คำว่า ก้อ คำว่า มั๊ย คำว่า วู๊ ส์ ก็เลยมีออกมา เหมือนกัน

รวมทั้งจะถนัดพิมพ์เลขอารบิกมากกว่าเลขไทย เพราะกดแป้นง่ายกว่า



 

โดย: yyswim 3 มิถุนายน 2554 23:39:06 น.  

 

อ่านเม้นท์พี่สินข้างบน ว้าววว.. มีใช้คำวัยรุ่นด้วยนะคะพี่ิิสิน อิอิ..

เรื่องการใช้คำภาษาไทยให้ถูกรวมถึงการสะกดคำนี่ ป้าโซถูกกระหนาบมาแต่เด็กค่ะเพราะแม่เป็นครูสอนภาษาไทย( ณ ตอนนั้น) เรื่องการสะกดคำไม่ให้พลาดนี่พอไหวแต่เรื่องเรียงความนี่ ตอนเรียนหนังสือนี่กราบลา.. ไม่เคยได้คะแนนดีๆเลย มาแก่ตัวลงนี่(ว้ายยยย.. พูดอะไรออกไป) ชักพล่ามได้เยอะขึ้น อย่างที่เขาเรียกว่าประสบการณ์สะสมตามวัยกระมังคะ

คำวัยรุ่นบางคำที่เห็นใช้แช้ทกันอยู่ บางคำทำใจรับไม่ได้เลยจริงๆค่ะพี่สิน ถึงจะเป็นการใช้เพื่อให้รวดเร็วพิมพ์ง่ายก็เถอะ ภาษาไทยมีความสละสลวย ละเมียดละไมในการใช้มากกว่านั้น ป้าโซเองเลือกใช้เฉพาะบางคำที่รับไหวค่ะ ส่วนมากจะเน้นไปใ้ช้วรรณยุกต์ออกเสียงเพื่อแสดงอารมณ์มากกว่าจะใช้คำใหม่ๆ


เอ็นทรี่นี้ของพี่สินถูกใจอีกแล้วค่ะ รูปก็สวยมาก .. โหวตค่ะ

 

โดย: ป้าโซ 4 มิถุนายน 2554 0:24:09 น.  

 

ขอบคุณ ป้าโซ ครับ

ป้าโซเป็นคนใกล้ชิดกับคุณครูภาษาไทยถึงขนาดอยู่บ้านเดียวกันเลย !!

แบบนี้ พูดชัด สำนวนแจ่ม แน่นอน


เด็กที่เขาแชทกัน ด้วยภาษาอีโม กับภาษาพูดในกลุ่ม

บอกตรงๆ ผมเองก็ งง ครับ

แถมผมจะไม่ค่อยกล้าใช้ตัวอีโม ไปเขียนคอมเมนต์ตอบใครๆด้วย


วันนี้อ่านเจอว่าที่ญี่ปุ่น ศิลปินจะแบ่งเป็นสองสายคือ 1.ศิลปิน 2.ไอดอล

ป้าโซ เข้าใจเรื่องนี้ไหม? ผมไม่ค่อยรู้

เอ หรือว่าผมไม่ค่อยได้อ่าน ไม่ค่อยได้ชมทางทีวีในเมืองไทยก็ได้

//www.pantip.com/cafe/isolate/topic/M10639393/M10639393.html




 

โดย: yyswim 4 มิถุนายน 2554 1:16:28 น.  

 

เข้ามาอีกรอบครับ รอบนี้ตั้งใจมาอ่าน

ก่อนอื่นชอบภาพนี้มาก สวยจริงๆจังๆ



ได้ฟังรายการรู้รักภาษไทยทุกเช้าตอนขับรถไปทำงานเหมือนกันครับ
แล้วต้องยอมรับเลยว่าฟังแล้วก็ว่าภาษาไทยเนี่ยยากจริงๆ อ้าว ซะงั้น

ก็หลายคำที่นำมาออกรายการเกิดมายังไม่เคยได้ยินก็เยอะ ไม่รู้จักความหมายแฝงก็เยอะ

ภาษาไทยยิ่งยากเข้าไปใหญ่เมื่อรากบางคำมาจากการหยิบยืมจากบาลีบ้างสันสกฤตบ้าง บอกตามตรงผมยังแยกไม่ออกเลยว่าไหนบาลีไหนสันสกฤต 555 ที่ทำได้ทุกวันนี้ก็คือพยายามเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องมีเวบดิกไทยอยู่ข้างๆไว้เปิดดู ถ้าเป็นเวบของราชบัณฑิตเองบอกตามตรงใช้ยากมากไม่เหมาะ

 

โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา 4 มิถุนายน 2554 10:45:22 น.  

 

เป็นเรื่องราวที่เปี่ยมด้วยสาระน่ารู้ พร้อมภาพถ่ายที่สวยสดงดงามตระการตามากๆ ขอชื่นชมอย่างจริงใจ และขออนุญาตแบ่งปันภาพถ่ายสวยๆด้วยครับ

 

โดย: ธนวัฒน์ วงศ์พร้อมเดช IP: 223.207.98.86 4 มิถุนายน 2554 20:40:46 น.  

 

มาตอบเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่พี่สินถามค่ะ..

ตอบตามตรงว่าป้าโซก็ไม่ค่อยรู้เรื่องกับเค้าเท่าไหร่หรอกค่ะพี่สินเพราะไม่ค่อยไ้ด้ติดตาม (อ้าว..แล้วมันจะมาตอบได้ยังไงล่ะวะครับ? พี่ิสินนึกในใจ)

แต่เข้าใจพอเลาๆค่ะ อย่างที่เขาแยกไว้แหละค่ะพี่สินเรื่องสองสายของศิลปินและไอดอล สำหรับไอดอลนี่ตามความรู้สึกของป้าโซก็คือคนที่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เป็นอะไรที่น่ารักน่าเอ็นดู เป็นต้นแบบที่คนอยากเลียนแบบไม่ว่าจะเป็นลักษณะการแต่งเนื้อแต่งตัว ท่าทาง ไม่ว่าไอดอลคนนั้นจะเก่งหรือไม่ก็ตาม แต่ก็สามารถเป็นที่นิยมได้ตามยุคสมัยนั้นๆ

แต่ถ้าเป็นศิลปินนี่ออกจะรวมทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นดารา ตลก นักร้อง พิธีกร สำหรับศิลปินนี่จะเน้นความสามารถมากหน่อย บางคนอาจไม่สวยไม่หล่อ แต่มีจุดเด่นอื่นๆก็ขายได้เช่นกัน และที่สำคัญที่ป้าโซเห็นๆศิลปินพวกนี้ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ตาม พวกเขากล้าแสดงออกแล้วก็มีความสามารถกันจริงๆ ไม่ใ่ช่ขายแต่หน้าตาที่สวยงามเท่านั้น บางคนร้องเพลงด้วยความสามารถจริงๆ (ไม่ได้ร้องเพลงออกเทปขายด้วยหน้าตาแต่พลังเสียงน้อยนิด) บางคนมีความรู้เป็นถึงหมอก็มาอยู่ในวงการนี้ บางคนความสามารถเฉพาะตัวรอบทาง

คนเหล่านี้ส่วนมากเมื่ออยู่หน้าจอแล้วจะไม่ห่วงภาพตัวเองนัก อย่างเค้าให้ทำอะไรที่แปลกๆ น่าขำ หรือเปรอะเปื้อนเลอะเทอะอย่างไรก็ไม่ห่วงว่าชั้นจะไม่สวย อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวที่ป้าโซดูๆผ่านหน้าจอทีวีมานะคะ

สำหรับคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่อย่างป้าโซ (ยังไม่ยอมรับว่าเก่าซะทีเดียว เอิ้กกก..) จะชอบศิลปินมากกว่าไอดอลค่ะ เพราะดูสนุกมากกว่าน่ารัก เอ๊ะ..จะเป็นความเห็นแบบอิจฉาความสาวสดสวยหรือเปล่านี่? กร๊ากกกก..

 

โดย: ป้าโซ 4 มิถุนายน 2554 23:45:16 น.  

 

สวัสดีครับ เข้ามาทักทายครับผม อิอิ
ฟังวิทยุออนไลน์
ฟังวิทยุออนไลน์


 

โดย: konseo 5 มิถุนายน 2554 0:29:05 น.  

 

เป็นสาระน่ารู้ที่มากคุณค่าจริงๆครับ ภาษาไทยแม้จะเป็นภาษาของเราเอง ส่วนใหญ่ยังใช้พูดผิด เขียนผิดกันอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ มักง่ายกันจนน่าเป็นห่วง ผมขออนุญาตนำรูป และบทความของท่านไปเผยแพร่ต่อนะครับ ขอขอบพระคุณและชื่นชมจิตใจอันเอื้อเฟื้อและอ่อนโยนของท่านจากใจจริงครับ

 

โดย: ธนวัฒน์ วงศ์พร้อมเดช IP: 49.49.119.75 5 มิถุนายน 2554 10:00:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


yyswim
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 40 คน [?]





บล็อกสรรสาระนี้ จขบ.ไม่ได้เขียน-ไม่ได้ถ่ายภาพ-ไม่ได้อัพโหลดคลิปเอง หากแต่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบล็อก เสาะหาเรื่องดีๆ รูปสวยๆ คลิปแปลกๆ มาไว้ในบล็อก


ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม ขอเชิญชมหรืออ่านตามสบาย ไม่ต้องคอมเมนต์ก็ได้ จขบ.ชอบการเข้ามาเยี่ยม แบบกันเอง ง่ายๆ สบายๆ




เริ่มเขียนBlog เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2548


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2550 เวลา 23.30 น.


เริ่มนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม




Latest Blogs

New Comments
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
3 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add yyswim's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.