หมู่พีระมิดแห่งกิซ่า (Giza Pyramid Complex)

หมู่พีระมิดแห่งกิซ่า (Giza Pyramid Complex): ประกอบด้วย

1.พีระมิดคูฟู
พีระมิดคูฟู หรือ พีระมิดคีออปส์ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า มหาพีระมิดแห่งกีซา (The Great Pyramid of Giza) เป็น พีระมิดในประเทศอียิปต์ที่มีใหญ่โตและเก่าแก่ที่สุด ในหมู่พีระมิดทั้งสามแห่งกีซา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัย ฟาโรห์คูฟู (Khufu) แห่ง ราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งปกครองอียิปต์โบราณ เมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล หรือกว่า 4,600 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระศพ ไว้รอการกลับคืนชีพ ตามความเชื่อของชาวอียิปต์ในยุคนั้น มหาพีระมิดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นหนึ่งเดียว ในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณ ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

2.พีระมิดคาเฟร
พีระมิดคาเฟร หรือ คีเฟรน (Khafre, Chephren) เป็นพีระมิดในประเทศอียิปต์ ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงกีซา ชานกรุงไคโร สร้างโดย ฟาโรห์คาเฟร ผู้เป็นราชโอรสของ ฟาโรห์คูฟู โดยสร้างขึ้นเคียงข้าง พีระมิดของพระราชบิดา และสำเร็จด้วยขนาดใกล้เคียงกัน ที่ความสูง 144 เมตร (ปัจจุบันคงเหลือความสูง 136 เมตร) ฐานแต่ละด้านกว้างประมาณ 215 เมตร และเอียงทำมุมประมาณ 53 องศา
เนื่องจากพีระมิดนี้ ก่อสร้างอยู่บนพื้นหินที่สูงกว่า และตั้งอยู่เป็นองค์กลางของ พีระมิดทั้ง 3 แห่งกีซา ทำให้เมื่อมองด้วยตา พีระมิดคาเฟร จะมีขนาดใหญ่กว่า พีระมิดคูฟู ทั้งที่ในความเป็นจริงมีความสูงน้อยกว่า และมีขนาดฐานแคบกว่า ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ของพีระมิดคาเฟรคือ ส่วนยอดของพีระมิดยังคงมีชั้นหินปูนขัดมัน ที่ชาวอียิปต์โบราณก่อสร้าง ปิดเป็นผิวชั้นนอกของพีระมิดหลงเหลืออยู่ หินปูนขัดมันที่เป็นผิวชั้นนอกนี้ บางก้อนมีน้ำหนัก ถึง 7 เมตริกตัน
บริเวณใกล้เคียงกับพีระมิดคาเฟรจะมี มหาสฟิงซ์ ที่มักปรากฏอยู่ในภาพถ่ายพร้อมกับ พีระมิดคาเฟร มหาสฟิงซ์นี้เป็นรูปแกะสลักจากหินก้อนเดียว ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และยังนับเป็นอนุสาวรีย์แบบแกะสลักลอยตัวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย
มหาสฟิงซ์ (The Great Sphinx of Giza) คือ รูปสฟิงซ์แกะสลักด้วยหินขนาดใหญ่ที่สุด ใน ประเทศอียิปต์ มีตัวเป็น สิงโต และมีหัวเป็น มนุษย์ อยู่ในบริเวณหมู่พีระมิดทั้ง 3 แห่งกิซ่า หมอบเฝ้าอยู่ใกล้กับ พีระมิดคาเฟร โดยหันหน้าไปทาง ทิศตะวันออก
สฟิงซ์ คือชื่อ สัตว์ประหลาด ในตำนานไอยคุปต์วิทยา และมีในตำนานชนชาติอื่นด้วย มีลักษณะต่างกันไป แต่จะมีตัวเป็นสิงโตเหมือนกัน สฟิงซ์ในตำนานกรีก มีใบหน้าและช่วงอก เป็นหญิงสาว มีปีกแบบนกอินทรีย์ และสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ สฟิงซ์จะคอยถามคำถาม กับมนุษย์ที่หลงมาพบมันเข้า หากตอบคำถามไม่ได้ มนุษย์ผู้เคราะห์ร้ายนั้นก็จะถูกสังหาร ส่วนสฟิงซ์ของอียิปต์โบราณ ไม่มีปีกมีหน้าเป็นมนุษย์ผู้ชาย และยังมีแบบที่หัวเป็นแกะ (Criosphinx) และหัวเป็นนกเหยี่ยว (Hierocosphinx) อีกด้วย
ชาวอียิปต์โบราณ แกะสลักหินเป็นรูปสฟิงซ์ไว้เป็นจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ มหาสฟิงซ์แห่งกิซ่า นี้เอง โดยนักโบราณคดีเชื่อว่า มหาสฟิงซ์แห่งกิซ่าเป็นอนุสาวรีย์ของ ฟาโรห์คาเฟร (Khafre) หรือ คีเฟรน(Chephren) ฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 4 ผู้สร้างพีระมิดคาเฟร เมื่อประมาณ 2600 ปี ก่อนคริสตกาล โดยเชื่อว่าใบหน้าของมหาสฟิงซ์ จำลองมาจากใบหน้า ของฟาโรห์คีเฟรน และสามารถสังเกตว่าส่วนหัวของ มหาสฟิงซ์ มีสัญลักษณ์ของฟาโรห์อียิปต์ แสดงเอาไว้อย่างชัดเจน คือมีเคราที่คาง มีงูจงอางแผ่แม่เบี้ยที่หน้าผาก และยังมีเครื่องประดับ รัดเกล้าแบบฟาโรห์ ประกอบเข้ากับผ้าคลุมศีรษะ และคออีกด้วย จึงถือกันว่ามหาสฟิงซ์นี้ เป็นอนุสาวรีย์แกะสลักเก่าแก่ที่สุดที่รู้จักกัน อียิปต์โบราณถือกันว่า สฟิงซ์ เป็นร่างจำแลงภาคหนึ่งของเทพเจ้า การที่ฟาโรห์คาเฟร ให้แกะสลักใบหน้า สฟิงซ์ เป็นใบหน้าของพระองค์ จึงเป็นการแสดงว่าพระองค์เปรียบดังเทพเจ้านั่นเอง

3.พีระมิดเมนคูเร
พีระมิดเมนคูเร หรือ เมนคาวเร (Menkaure) หนึ่งในพีระมิดในประเทศอียิปต์ ที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงกีซา ทางทิศตะวันตกนอกกรุงไคโร สร้างโดย ฟาโรห์เมนคูเร หรือชื่อในภาษากรีกคือ ฟาโรห์ไมซีรีนัส (Micerinus) ทรงเป็นราชโอรสของ ฟาโรห์คาเฟร ผู้สร้างพีระมิดคาเฟร และเป็นพระนัดดาของฟาโรห์คูฟู ผู้สร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ่า
ฟาโรห์เมนคูเรได้สร้างพีระมิด ขึ้นเป็นหลังที่สามที่ความสูง 65.5 เมตร (ปัจจุบันคงเหลือ ความสูง 62 เมตร) ฐานแต่ละด้านกว้างประมาณ 105 เมตร และเอียงทำมุมประมาณ 51 องศา ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กที่สุด ในหมู่พีระมิดทั้ง 3 แห่งกิซ่า แต่ก็ยังสูงประมาณอาคาร 18 ชั้น (เมื่อคิดความสูงที่ชั้นละ 3.5 เมตร)
ทางทิศใต้ของพีระมิดเมนคูเร มีการสร้างหมู่พีระมิดราชินีทั้ง 3 (The Three Queen's Pyramids) เป็นที่ไว้พระศพของราชินี 3 องค์ในสมัยของฟาโรห์เมนคูเร หมู่พีระมิดราชินีทั้ง 3 นี้มักปรากฏในภาพถ่ายร่วมกับพีระมิดเมนคูเร

วัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างพีระมิดแห่งกิซ่า
พีระมิดแห่งกิซ่า ในสมัย คริสต์ศตวรรษที่ 19 แหล่งหินที่นำมาสร้างพีระมิด ไม่อยู่ในบริเวณที่ก่อสร้างแต่ต้องขนส่งจากเหมืองหินที่อยู่ห่างไกลนับร้อยไมล์ มาตามแม่น้ำไนล์ แล้วขนส่งทางบกต่อไปอีกจนถึงบริเวณก่อสร้างซึ่งห่างจากริมฝั่งแม่น้ำไนล์ประมาณ 22 กิโลเมตร หินปูนซึ่งเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ห่างไปกว่า 200 กิโลเมตร เรียงรายตามแนวฝั่งแม่น้ำไนล์ เหมืองหินปูนใกล้ที่สุดอยู่บริเวณเมืองตูราห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร ส่วนหินแกรนิตที่ใช้สร้างห้องเก็บพระศพ และโลงพระศพ อยู่บริเวณตอนเหนือของเขื่อนอัสวานในปัจจุบัน ซึ่งห่างจากบริเวณก่อสร้างไปทางใต้กว่า 900 กิโลเมตร การขนย้ายหินจากระยะทางไกลขนาดนั้นต้องใช้พาหนะขนาดใหญ่ล่องตามแม่น้ำไนล์เป็นแรมเดือน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศไทยจะประมาณเท่ากับการล่องเรือจากเชียงรายลงมาถึงกรุงเทพฯ
การลำเลียงหินขึ้นลงจะใช้แคร่เลื่อนไม้และอาจใช้จังหวะที่มีน้ำท่วมเข้าถึงบริเวณเหมืองและพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนย้ายหิน มีข้อสังเกตว่าพาหนะที่ใช้บรรทุกหินจะต้องสามารถรับน้ำหนักได้มากถึงหลายสิบตัน จึงจะสามารถขนแท่งหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้าง พาหนะดังกล่าวอาจมีลักษณะคล้ายเรือใหญ่ ซึ่งมีคานให้เรือขนาดเล็กกว่าหลายๆ ลำช่วยกันพยุงรับน้ำหนักอยู่ด้านล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับเรือขุดขนาดใหญ่ของไทยขนาด 45-55 ฝีพายซึ่งยาวร่วม 30 เมตร ยังสามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 10 เมตริกตันต่อลำ พาหนะที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ขนส่งหินหนักถึง 70 เมตริกตันจะต้องรับน้ำหนักได้มากกว่าเรือขุดขนาดใหญ่ของไทยหลายเท่า มีการขุดพบเรือโบราณขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ในบริเวณเดียวกับ พีระมิดคูฟู ที่เป็นหลักฐานว่าชาวอียิปต์โบราณมีความสามารถในการต่อเรือขนาดใหญ่ได้ดี
แรงงานในการสร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ่า
หากประมาณจำนวนแรงงานที่ใช้ก่อสร้างพีระมิด จากจำนวนหินที่ใช้ก่อสร้าง 2,500,000 ก้อนหารด้วยระยะเวลาก่อสร้าง ปีละ 3-4 เดือนในฤดูน้ำหลาก รวม 20 ปี จะพบว่าต้องก่อสร้างให้ได้ประมาณ 1,000 ถึง 1,400 ก้อนต่อวัน หากต้องสกัดหินจากเหมืองหินให้ได้ขั้นต่ำวันละ 1,000 ก้อน และต้องมีแรงงานขนหินออกจากเหมืองมายังแม่น้ำ แรงงานสำหรับควบคุมการขนส่งมายังพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานสำหรับยกหินขึ้นฝั่งที่ปลายทาง ถ้าทั้งหมดนี้ใช้คนทั้งสิ้นประมาณ 10 คนต่อหิน 1 ก้อนจะต้องมีแรงงานในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน
นอกจากนี้ในบริเวณก่อสร้างยังต้องมีแรงงานสำหรับขนย้ายหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้างบนพีระมิด ผู้เขียนคิดเองว่าน่าจะเป็นแรงงานคนละชุด กับที่ขนย้ายหินมาจากแม่น้ำ และน่าจะต้องใช้คนมากว่า 8 คนต่อหิน 1 ก้อนเนื่องจากเป็นการขนย้ายหินขึ้นสู่ที่สูง ยิ่งการก่อสร้างดำเนินไประดับของพื้นที่ก่อสร้างก็จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่รวมช่างฝีมือในบริเวณก่อสร้างแต่ละชั้นซึ่งต้องตัดแต่งหินให้ได้ระดับแง่มุมที่ถูกต้องแบบก้อนต่อก้อน เชื่อว่าแรงงานขนย้ายหินรวมกับแรงงานประกอบหิน น่าจะไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นคนในระหว่างการก่อสร้างแต่ละปี และเป็นไปได้ว่าแรงงานที่หมุนเวียนกันมาก่อสร้างตลอด 20 ปีจะมีถึงกว่า 100,000 คน
มีเรื่องน่าสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อแต่เดิมที่ว่า พีระมิด ก่อสร้างขึ้นด้วยแรงงานทาส โดยมีการบังคับกดขี่ทาสอย่างทารุณ ทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการในวงการบันเทิง เมื่อหลักฐานที่พบในเวลาต่อมาบ่งชี้ว่า แรงงานที่มาก่อสร้างพีระมิดเป็นชาวอียิปต์ที่ทำงานด้วยความสมัครใจในระหว่างว่างเว้นจากงานเกษตรกรรม โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นอาหาร เช่น หัวไชเท้าและกระเทียม และในกรณีที่ทำงานได้มากจะมีการจดบัญชีเพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้ในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งจากหลักฐานที่พบใหม่ๆ คือแรงงานที่มาก่อสร้างมีการจัดตั้งกันแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลำดับชั้น และมีการกำหนดหน้าที่ให้กับแต่ละกลุ่ม คล้ายกับโครงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งสำหรับเมื่อ 4,600 ปีก่อนนับว่าชาวอียิปต์มีความล้ำหน้าอารยธรรมอื่นๆ ในยุคเดียวกันมาก



Create Date : 17 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2553 0:08:23 น. 0 comments
Counter : 429 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

youpade
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
17 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add youpade's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.